5 ก.พ. 2022 เวลา 01:42 • ประวัติศาสตร์
じゃんけん!(จังเคน) มาเป่ายิงฉุบกัน
เครดิตภาพ : https://jpnculture.net/janken/
หากเคยดูการ์ตูนโดราเอม่อน จะมีฉากอาหารกลางวันในห้องเรียนที่เด็ก ๆ ออกมาแย่งชิงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของขนมชิ้นสุดท้ายด้วยการ “เป่ายิงฉุบ” นี่คงจะเป็นวิธีสุดคลาสสิคที่ใช้กำหนดผู้แพ้-ชนะที่รวดเร็วและง่ายที่สุด ที่สำคัญการเป่ายิงฉุบยังเป็นการละเล่นด้วยมือที่แม้ว่าต่างฝ่ายจะคุยกันคนละภาษา หรือเติบโตมาจากคนละวัฒนธรรมก็สามารถเข้าใจกันและกันได้โดยไม่ต้องใช้วัจนภาษา
6
เป่ายิงฉุบเพื่อขนมชิ้นสุดท้าย เครดิตภาพ : http://sonmin-soul.com/janken-2072
รู้หรือไม่! เป่ายิงฉุบที่เล่นกันในปัจจุบันกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่น
เป่ายิงฉุบในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า จังเคน (じゃんけん) สันนิษฐานว่าแต่เดิมเรียกการละเล่นที่ต่างฝ่ายต่างแสดงลักษณะมือแบบกำปั้นแก่กัน ก่อนที่จะเสี่ยงมือออกเป็นสัญลักษณ์ก้อนหิน (石), กรรไกร (ハサミ), ผ้า (風呂敷) เรียกว่า เรียวเคน (両拳) จนกระทั่งเข้าสู่ยุคเอโดะตอนกลาง การละเล่นในลักษณะนี้กลายเป็นที่นิยม มีการเรียกเพี้ยนเสียงเป็น จะคุเคน (石拳) และเพี้ยนมาเป็น จังเคน (じゃんけん) ในยุคเมจิไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมีการออกเสียง ป้ง (ぽん) ต่อท้ายเป็น จังเคนป้ง (じゃんけんぽん) ในเวลาที่จะตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อให้เสี่ยงมือออกมาได้พร้อมกัน
2
เครดิตภาพ : https://tabizine.jp/2020/03/21/328790/
จังเคนหรือเป่ายิงฉุบได้รับอิทธิพลมาจากจีน
ว่ากันว่าการละเล่นเสี่ยงมือออกมาเพื่อเอาชนะกันใน 3 แบบ คล้ายการเล่นเป่ายิงฉุบในปัจจุบันนั้นมีมาตั้งแต่ยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ซึ่งเรียกว่า ซังซุคุมิ-เคน (三すくみ拳) และหนึ่งในการละเล่นซังซุคุมิที่น่าสนใจและเป็นที่นิยมในขณะนั้นก็คือ มุชิเคน (虫拳) โดยทำสัญลักษณ์มือเป็น ทาก(ナメクジ), กบ(カエル) และงู(へび) เอาชนะกันซึ่งงูกินกบ : คนที่เสี่ยงมือด้วยนิ้วชี้จะชนะนิ้วโป้ง, กบกินทาก : คนที่เสี่ยงมือด้วยนิ้วโป้งจะชนะนิ้วก้อย, เมือกบนตัวทากเป็นพิษต่อผิวงู : คนที่เสี่ยงมือด้วยนิ้วก้อยจะชนะนิ้วโป้ง
2
มุชิเคน (虫拳) เรียงลำดับจากซ้ายคือทาก, กบ และงู เครดิตภาพ : wikipedia
จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุคมุโรมาจิ (ค.ศ. 1336-1573) การละเล่นเสี่ยงมือแบบนับตัวเลขที่เรียกว่า ซูเคน (数拳) จากประเทศจีนได้เข้ามายังประเทศญี่ปุ่นทางเมืองนางาซากิ โดยให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายเสี่ยงมือเป็นตัวเลขตั้งแต่ 0-5 พร้อมกับพูดทายตัวเลขที่คาดว่าจะเป็นเมื่อรวมจำนวนนิ้วของทั้งสองฝ่ายแล้ว ฝ่ายที่คาดเดาได้ถูกต้องจะเป็นฝ่ายชนะ ต่อมาได้เรียกการเล่นซูเคนนี้ว่า นางาซากิเคน (長崎拳) บ้างก็เรียกว่า คิโยเคน (崎陽拳) ซึ่งนิยมเล่นกันในวงเหล้า
4
ภาพบรรยากาศการเล่นซูเคน (数拳) ขณะดื่มสังสรรค์ เครดิตภาพ : http://ddogs38.livedoor.blog/
นอกจากมุชิเคน (虫拳) และซูเคน (数拳) แล้ว การละเล่นแบบซังซุคุมิ (三すくみ) ยังมีอีกมากมาย อาทิเช่น การละเล่นคิทสึเนะเคน (狐拳) มีสุนัขจิ้งจอก (狐), นายพราน (猟師), หัวหน้าหมู่บ้าน (庄屋) การละเล่นโทระเคน (虎拳) มีเสือ (虎), นายพล (武将), ยายแก่ (老婆) เป็นต้น
2
หนึ่งในการละเล่นซังซุคุมิ, คิทสึเนะเคน (狐拳) เครดิตภาพ : https://twitter.com/kura_sushipet/status/1306798612551098368
การละเล่นเป่ายิงฉุบกลายเป็นการละเล่นยอดนิยมของเด็ก ๆ ที่แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว จนเมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) เริ่มมีชาวต่างขาติเข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและเห็นการละเล่นเป่ายิงฉุบเกิดเป็นความสนใจ อย่างหมอสอนศาสนา William E. Griffis ที่เดินทางเข้ามาในปีเมจิที่ 4-8 (ค.ศ. 1871-1875) ก็ได้เขียนบันทึกสภาพบ้านเมืองในช่วงนั้นที่มีเด็ก ๆ เล่นเป่ายิงฉุบกันทั่วไปลงในหนังสือ “The Mikado’s Empire” หรือนักสัตววิทยาชาวอเมริกัน Edward S. Morse ที่เข้ามาทำหน้าที่อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียวในปีเมจิที่ 10-12 (ค.ศ. 1877-1879) ก็ได้อธิบายวิธีการเล่นเป่ายิงฉุบลงในหนังสือที่มีชื่อว่า “Japan Day by Day (1917)” ด้วย สันนิษฐานว่า การเล่นเป่ายิงฉุบแบบในยุคปัจจุบันได้แพร่กระจายไปสู่ต่างประเทศในช่วงเวลานี้
2
โฆษณา