5 ก.พ. 2022 เวลา 06:35 • ประวัติศาสตร์
ประตูผี ...มีอะไร?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เมื่อวานผ่านมาแถวประตูผี ก็เลยแวะกินเย็นตาโฟเจ้าประจำ เป็นร้านที่กินมานานน่าจะไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีเห็นจะได้ นั่งกินไปก็ดูผู้คนผ่านไปผ่านมา ทำให้นึกถึงคอมเมนต์ที่แฟนเพจสาระนอกจานเคยแนะนำให้เขียนถึงย่านประตูผีบ้าง วันนี้ก็เลยจะมาพูดถึงย่านนี้สักหน่อย เพราะเป็นย่านเก่าแก่ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของพระนคร มีเรื่องราวมากมาย รวมทั้งของกินร้านเด็ดประเทศไทยเยอะแยะให้เลือกหามาลองกิน
“ประตูผี” ทำไมถึงได้ชื่อว่าประตูผี ชื่อที่ฟังดูน่ากลัวแบบนี้ทำไมถึงกลายเป็นชื่อย่านนามเมืองไปได้ อันที่จริงเรื่องผีๆก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอะไรสำหรับชาวพุทธ โดยเฉพาะพุทธแบบคนไทย ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักร ผังเมืองในสมัยนั้นจะมีการก่อกำแพงรอบเมือง เพื่อแบ่งชัดเจนระหว่างเขตเวียงหรือชุมชนที่อยู่อาศัย และเขตนาที่อยู่นอกกำแพงซึ่งใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ยุคนั้นถ้ามีคนตายจะต้องนำศพออกไปเผานอกกำแพงเมือง ซึ่งทางออกสำหรับนำศพออกไปมีชื่อเรียกว่า ประตูผี (ซึ่งก็คือบริเวณแยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบัน) หลังจากนำศพออกไปแล้ว ก็จะไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสระเกศต่อไป
ตามบันทึกประวัติศาสตร์ของการสร้างบ้านแปลงเมืองของกลุ่มคนตระกูลไท ก็มักจะมีการสร้างกำแพงค่ายคูประตูหอรบมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นกำแพงบ้าง เป็นคันดินบ้าง เป็นคูน้ำบ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จะมีช่องประตูหนึ่งที่เป็นประตูผีอยู่เช่นนี้ในทุกสมัยของบ้านเมืองสมัยโบราณ ซึ่งประตูผีนั้นจะเป็นประตูที่ไม่มีการลงคาถาอาคมอะไรกำกับไว้ เพื่อให้วิญญาณหรือขวัญที่ยังไม่ประกอบพิธีกรรมสามารถออกจากเมืองไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประดิษฐานพระแก้วมรกตหันตรงประจันหน้าไปทางประตูผี เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งอัปมงคลทั้งหลายย้อนกลับเข้ามาสู่พระนครทางประตูผีได้
อย่างที่กล่าวไว้ว่าเมืองโบราณไหนๆก็มีประตูผีทั้งนั้น นอกจากกรุงเทพฯแล้ว กรุงธนบุรีก็มี กรุงศรีอยุธยาก็มี กรุงสุโขทัยก็มี เมืองเชียงใหม่ก็มี อย่างประตูผีของเมืองเชียงใหม่ ก็คือประตูสวนปรุง ซึ่งจะมีวัดพระสิงห์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษาเช่นกัน (พระอุโบสถวัดพระสิงห์จะมีแผนผังตั้งเป็นแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นทิศเดียวกับที่ตั้งประตูสวนปรุง ไม่เหมือนกับพระอุโบสถที่วัดพุทธอื่นๆที่มักจะตั้งแผนผังตามขนบเป็นแนวตะวันออก-ตะวันตก)
ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯต้องพบเจอกับโรคห่าระบาดถึงหลายรอบ แต่ละรอบก็มีคนป่วยตายกันมากมาย อย่างในสมัยรัชกาลที่ 2 มีคนป่วยตายประมาณสามหมื่นคน ศพจำนวนมากถูกลำเลียงออกไปทางประตูผีเพื่อไปยังวัดสระเกศ แต่เมื่อศพมีมากจนทำพิธีฌาปณกิจไม่ทัน จึงทำให้ต้องใช้วิธีขุดหลุมฝังแทน แต่ก็ยังทำไม่ทันอยู่ดี ร่างที่กองพะเนินกันอยู่ก็ทำให้มีฝูงแร้งมากมายลงมาจิกกิน สร้างความสยดสยองเป็นอย่างมาก พอถึงสมัย ร.5 มีการระบาดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งก็ประสบปัญหาเผาศพไม่ทันเช่นเดิม จำนวนศพที่นำมาเผาที่วัดสูงสุดถึงวันละ 600 กว่าศพ บริเวณนี้จึงกลายเป็นแหล่งหากินของฝูงแร้งในที่สุด ตั้งแต่ประตูผีไปจนถึงวัดสระเกศ จะมีแร้งบินไปเกาะรออยูู่ตามต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิ คำว่า แร้งวัดสระเกศ ก็เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้เอง
มาถึงยุคปัจจุบัน จะไม่เห็นสภาพดั้งเดิมของประตูผีแล้ว เพราะมีการรื้อกำแพงเมือง สร้างถนนบำรุงเมืองตัดผ่าน รวมถึงการเปลี่ยนชื่อจากประตูผีเป็น “สำราญราษฎร์” แทนเพื่อความเป็นสิริมงคล และกลายเป็นย่านที่คึกคักด้วยผู้คน ภาพความน่ากลัวในสมัยก่อนจึงค่อยๆจางหายไปตามกาลเวลา ร้านอาหารอร่อยดังๆที่คนไทยและชาวต่างชาติตั้งใจเดินทางมาลิ้มลองมากมายก็มาตั้งที่นี่กันเยอะ ไม่ว่าจะเป็น ร้านเจ๊ไฝ ที่เป็นสตรีทฟู๊ดระดับมิชลิน 1 ดาว, ร้านทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี, ร้านตี๋เย็นตาโฟ, ร้านเจี่ยอ้วนข้าวต้มเป็ด, ร้านโตซาลาเปา, ร้านหมูสะเต๊ะป้าสม, ร้านราดหน้าชิ้งกี่, หรือจะเป็นขนมไทยอย่างร้านสิริรัช ขนมเบื้องไทยชาววัง และร้านบัวลอยสมหวังทรงเครื่อง ก็อยู่ที่อยู่แถวย่านประตูผีทั้งนั้น
ไม่แน่ใจว่าร้านดังๆเหล่านี้ยังคงขายกันอยู่ครบทุกร้านไหม ยังไม่ได้ไปอัพเดทหลายร้านเลย ใครพอทราบก็อัพเดทกันมาได้นะ ส่วนใครมีเรื่องราวที่อยากกล่าวถึงย่านนี้ หรือมีร้านเด็ดที่ควรต้องบอกกล่าวให้เพื่อนๆได้รู้จักกันอีกบ้าง บอกได้เลยนะขอรับ จักเป็นพระคุณต่อใจและลิ้นของนักชิมต่างๆเป็นแน่แท้เทียว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[Credit-ที่มา]…
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
[Credit-ภาพ]…
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#สาระนอกจาน #saranokchan #sidedish #ย่าน #ประตูผี #ย่านประตูผี #แยกสำราญราษฎร์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตาม สาระนอกจาน ได้ที่ :
โฆษณา