5 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ยูเครน บทบาทและความสัมพันธ์ต่อทั้งสหรัฐและรัสเซีย
เป็นที่รู้กันดีว่า หากไม่จำเป็นจริงๆ สหรัฐฯ และรัสเซีย คงจะไม่อยากให้ข้อพิพากเรื่องยูเครนต้องเลยเถิด จนถึงขั้นต้องมีการใช้ความรุนแรงโดยตรง แต่คงอยากเลือกเส้นทางของการเจรจามากกว่า จากที่บทเรียนในอดีตที่เราเคยเรียนรู้มา
แต่การเคลื่อนไหวทั้งทางการทหารและทางการทูต ที่ตอบโต้กันอย่างดุเดือดจากทั้งสองประเทศในช่วงนี้ ก็เป็นสัญญาณที่ทำให้เราไม่อาจเพิกเฉยได้ ต้องจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และสัญญาณนี้ก็ยังชี้ให้เห็นเลยว่า “ยูเครน” มีความสำคัญกับทั้งสองฝ่ายไม่น้อย
ดังนั้น ในบทความนี้ Bnomics จะพาทุกท่านไปศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศยูเครนกัน ซึ่งรวมถึงบทบาทและการสานความสัมพันธ์กับทั้งรัสเซียและอเมริกา เพื่อให้เราเข้าใจว่า ทำไมดินแดนแห่งนี้จึงเกิดข้อพิพากกันอยู่ในปัจจุบัน
📌 รากฐานของยูเครนและความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซียในอดีต
ตัวตนของชาติยูเครนในรูปแบบเป็นรัฐที่รู้จักกันในปัจจุบัน พึ่งจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1991 หลังจากแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต
แต่แม้แยกตัวออกมาแล้ว ก็ไม่สามารถสลัดทิ้ง “กลิ่นอายของโซเวียต” ออกไปได้ โดยในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ สัดส่วนของประชากรชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในยูเครนในปัจจุบัน ก็ยังเหลือมากถึงเกือบประมาณ 20% เลยทีเดียว
ที่เป็นแบบนี้ครับ ก็เพราะว่าขณะที่ยูเครนอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตนั้น ยูเครนเป็นดินแดนที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของโซเวียตพอสมควรเลย
ตั้งแต่เม็ดเงินที่ทางโซเวียตลงทุนไปในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในยูเครน ที่ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นกำไร (ขณะนั้นโซเวียตใช้จ่ายงบให้ยูเครน 16% ของงบทั้งหมด แต่ได้ผลตอบแทนอุตสาหกรรม 17% และเกษตรกรรม 21% ของทั้งดินแดน)
นอกจากนี้ ดินแดนของยูเครนยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ที่ถูกนำขึ้นมาใช้เป็นแหล่งรายได้ของสหภาพฯ ไม่น้อย ทั้งแก๊สปิโตรเลียม แร่เหล็ก แร่ทองแดง และแร่มีมูลค่าอีกหลายประเภท
อีกบทบาทหนึ่ง ที่ในปัจจุบันก็ยังถูกพูดถึงกันอยู่ คือ การเป็นเส้นทางตัดผ่านท่อส่งแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียเข้าสู่ยุโรปด้วย ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยสร้างความอบอุ่น และช่วยในการอบขนมปัง อาหารหลักของชาวยุโรป
(เกร็ด: ด้วยความที่มีความขัดแย้งและความไม่แน่นอนในบริเวณมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทางรัสเซียทำการสร้างท่อส่งปิโตรเลียมใหม่ที่ไม่ตัดผ่านยูเครนเพิ่มขึ้นอีก 2 ท่อด้วย)
นอกจากมุมมองทางเศรษฐกิจข้างต้น เมื่อมองทางด้านรากฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งสองประเทศก็มีรากเหง้าร่วมกันไม่น้อย โดยผู้นำคนปัจจุบันของรัสเซียอย่างวลาดิเมียร์ ปูติน ก็เคยกล่าวไว้ว่า รัสเซียและยูเครนเหมือนเป็นเป็นดังประเทศเดียวกัน เป็นผู้คนกลุ่มเดียวกัน (Russian and Ukrainians were one people)
จากรากฐานที่มีต้นกำเนิดเหมือนกัน ที่เป็น “ทายาทของอาณาจักร Ancient Rus” เคยผูกพันกันด้านภาษา ที่เมื่อก่อนทั้งบริเวณก็ใช้ภาษา “Old Russian (หรือบางคนอาจจะเรียก Old East Slavic)”
ถึงแม้จะมีช่วงเวลาที่อาณาจักรเก่าเสื่อมสลายไป พื้นที่ของยูเครนตกไปอยู่ในอำนาจของอาณาจักรข้างเคียงบ้าง แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของทั้งรัสเซียและยูเครนก็แลกเปลี่ยนกันไปมาตลอด ซึ่งสุดท้ายก็กลับมารวมกันอีกครั้ง โดยท่านปูตินเล่าว่า ที่กลับมารวมกันนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเพราะเหตุผลทางด้านการเมืองและการทูตเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “ศรัทธา” และ “รากฐานวัฒนธรรมและภาษา” ที่พวกเขามีเหมือนกันมาตลอด
📌 บทบาทของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร NATO
เราเริ่มเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียชัดพอสมควร คราวนี้เพื่อให้ปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างครบถ้วนมากขึ้น เราจะหันไปมองการสานความสัมพันธ์ของยูเครนกับประเทศสหรัฐอเมริกาและ NATO กันบ้าง
หลังจากที่ยูเครนแยกตัวเป็นอิสรภาพจากรัสเซีย ก็ได้มีการทำสนธิสัญญาครั้งสำคัญ “Budapest Memorandrum” กับอีกสามประเทศในปี 1994 คือ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มีใจความสำคัญว่า
“ทั้งสามประเทศนี้จะไม่เข้าไปรุกรานยูเครน หากยูเครนยอมยุติและทำลายขีปนาวุธทั้งหมดที่ได้รับมาจากรัสเซีย”
ช่วงแรก เหมือนจะไม่ได้มีเรื่องข้อขาดบาดตาย ทั้ง 3 ประเทศก็ปฏิบัติตามเรื่อยมา จนกระทั่งถึงช่วงวิกฤติการณ์ไครเมียร์ในปี 2014 ที่รัสเซียได้ส่งกองกำลังเข้ามาผนวกพื้นที่บริเวณนี้เป็นของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ทางสหรัฐฯ ออกมาวิจารณ์รัสเซียว่า ละเมิดข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันไว้
ในเรื่องนี้ คงต้องเล่าเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า ในบริเวณคาบสมุทรไครเมียร์ประชากรส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นชาวรัสเซีย จึงเกิดการทำประชามติกัน ได้ผลลัพธ์ว่า พวกเขาอยากจะกลับเข้าไปรวมกับรัสเซียแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง จึงไปบอกทางรัฐบาลรัสเซีย ดังนั้นในมุมมองรัสเซีย พวกเขาก็มองว่า ตัวเองไม่ได้ผิด แต่ทำเพื่อปกป้องคนชนชาติตัวเอง
ประเด็นความขัดแย้งในด้านอธิปไตยเชิงพื้นที่แบบนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ทางยูเครนยากจะยอมรับได้ แต่ด้วยตนเองไม่มีกำลังมากพอจะต่อกรได้ จึงจำเป็นต้องหาตัวช่วย ซึ่งพอลองมองซ้ายแลขวา ตัวเลือกที่เห็นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีกองกำลังทหารด้วยและมีพี่ใหญ่สุดก็คือ อเมริกา
ต้องเล่าเพิ่มเติมอีกนิดว่า ในช่วงก่อนหน้าปี 2014 ทางยูเครนก็เคยมีความคิดที่จะเข้าร่วมกับ NATO มาก่อน แต่ก็ยังกลับไปกลับมา เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทีหนึ่งก็เปลี่ยนแนวคิดทีหนึ่ง จากอยากเข้าร่วมเป็นไม่อยากเข้าร่วม และจากไม่อยากเข้าร่วมเป็นอยากเข้าร่วม
ส่วนทางอเมริกาขณะนั้น ถึงจะมีการสนับสนุนบ้างว่า อยากให้ยูเครนเข้ามาร่วมกับ NATO โดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิล ยู. บุช ที่ประกาศกร้าวเลยว่า จะพายูเครนเข้ามาร่วม NATO ให้ได้ แต่ทางอเมริกาก็ไม่เคยเสนอแผนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ยูเครนอย่างชัดเจนว่า อะไรที่พวกเขาต้องทำบ้างเพื่อให้สามารถเข้าร่วมกับ NATO ได้จริงๆ
ที่บอกว่า NATO จะสามารถช่วยเหลือยูเครนได้ ก็เพราะว่าในสนธิสัญญาของพวกเขามีข้อตกลงอยู่ข้อหนึ่งที่ระบุว่า “ถ้าเกิดภัยหรือการบุกรุกกับประเทศสมาชิก กองกำลังของ NATO ก็มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ” แต่ถ้ายูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ทาง NATO ก็อาจจะไม่ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือก็ได้ ดังนั้นถ้าอยากการันตีว่ามีคนคุ้มกัน ก็ต้องเข้าร่วม NATO ให้ได้
นอกจากประโยชน์ทางการทางทหารแล้ว การเข้าร่วม NATO ก็อาจจะเปิดทางให้กับยูเครนเพื่อเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป หรือทำการค้าในรูปแบบทวิภาคีกับประเทศอื่นได้มากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันนี้ พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการค้ากับประเทศรัสเซียเป็นอันดับที่ 1 อยู่
ความต้องการเข้าร่วม NATO ของยูเครนนี่เอง เป็นต้นเหตุของความไม่สบายใจของรัสเซีย ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปที่ที่มาของ NATO ก็จะยิ่งเข้าใจว่า ทำไมรัสเซียถึงเป็นกังวลใจต่อเรื่องนี้พอสมควร
หากจะเล่าโดยย่อ บทบาทของ NATO ในช่วงสงครามเย็นก็มีขึ้นเพื่อเป็นกองกำลังสำหรับถ่วงดุลกองทัพของโซเวียต แม้ช่วงหลังจากจบสงครามเย็นไปแล้ว ที่ทางรัสเซียไม่ได้ประกาศว่า NATO เป็นศัตรูคนสำคัญอีกต่อไป แต่การที่จะให้ยูเครนที่เป็นเหมือน “สนามหลังบ้าน” ของตนเองไปอยู่ในเครือข่ายของ NATO ซึ่งสามารถใช้เป็นที่ตั้งของฐานกำลังและอาวุธต่างๆ จึงนับเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อรัสเซีย
หากดูจากบทบาทของ NATO หลังสงครามเย็น จะเห็นได้ว่า พวกเขาพยายามผูกมิตรกับประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตเก่า และพยายามดึงประเทศเหล่านั้นให้เข้ามาร่วมกับ NATO เพราะพวกเขาเชื่อว่า วิธีนี้เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่จะสร้างเสถียรภาพการปกครอง สร้างแนวกันชน และช่วยป้องกันความขัดแย้งในระยะยาวในดินแดนทวีปยุโรป
แต่ในกรณีของยูเครน มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านออกมาตั้งคำถามเช่นกันว่า การเข้าไปสู่ยูเครนของ NATO อาจจะไม่ใช่หนทางสู่เสถียรภาพ แต่จะเป็นการกวนน้ำให้ขุ่น และทำให้รัสเซียไม่พอใจแทน
📌 หนทางต่อไปข้างหน้า
สำหรับหนทางต่อไปข้างหน้า ก็จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในหลายเรื่อง ทำให้ยากที่จะบอกว่า เรื่องนี้จะยืดเยื้อแค่ไหนและจบลงที่ใด
การที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO เอง แม้จะไม่มีเรื่องของรัสเซียมาเกี่ยวข้องเลยก็ทำได้ยากพอสมควรอยู่แล้ว เพราะทาง NATO ก็มีกฎเกณฑ์ที่สูงพอควร บางประเทศกว่าจะเข้าร่วมได้ก็ใช้เวลาปรับปรุงตัวเป็นสิบปี
ถ้าจะเข้าร่วมได้ ประเทศสมาชิก NATO ทุกประเทศก็ต้องยกมืออย่างพร้อมเพรียง จะขาดประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ ทำให้ถ้าบางประเทศยังมีความกังวลใจว่า จะสร้างความขุ่นเคืองให้รัสเซียก็อาจจะไม่สนับสนุนยูเครนก็ได้
ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่ต้องใช้ความรุนแรงจริงๆ ก็จะยิ่งทำให้หลายประเทศต้องคิดหนักขึ้นกว่าเดิมอีกในการจะส่งกองกำลังเข้าไป
หนึ่งในประเทศที่แสดงความกังวลใจออกมาอย่างชัดเจน ก็คือ ประเทศเยอรมนี ที่มีบาดแผลในจิตใจจากการเคยไปทำสงครามในอดีต ทำให้พวกเขาพูดชัดว่า พวกเขาไม่สนับสนุนความรุนแรง และไม่อยากส่งอาวุธหรือกองทัพเข้าไป ถ้าจะช่วยเหลือก็คงจะเป็นการสนับสนุนเงิน หรือการรักษาผู้บาดเจ็บ
นอกจากนี้ เยอรมนีก็พึ่งจะมีการเปลี่ยนถ่ายยุคสมัยจากนายกรัฐมนตรีหญิงแกร่ง อังเกลา แมร์เคิล มาสู่ โอลาฟ โชลซ์ ทำให้จะทำอะไรก็อาจจะขยับได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเมื่อเบอร์หนึ่งของสหภาพยุโรป say “no” แบบนี้ คนอื่นๆ ก็ต้องคิดหนักมากขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน คือ เรื่องของการส่งพลังงานจากรัสเซียมาสู่ยุโรป ซึ่งประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่ส่งผลส่วนหนึ่งต่อราคาน้ำมันและปิโตรเลียมที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทางสหรัฐฯ เองก็ได้พยายามหาทางเลือกสำรองไว้ให้กับประเทศพันธมิตรในยุโรปอยู่ แต่ถ้ารัสเซียตัดสินใจหยุดส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติขึ้นมาจริงๆ ก็ย่อมส่งผลต่อราคาในตลาดโลกแน่นอน
1
ในกรณีเลวร้ายที่เกิดการใช้อาวุธขึ้นมาจริงๆ นี่ก็จะเป็นความเสี่ยงที่ซ้ำเติมให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นฟู กลับไปสู่จุดตกต่ำอีกครั้ง แล้วภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยคาดการณ์กันไว้ ก็อาจจะต้องกินระยะเวลากันมากกว่าเดิมถึงจะไปถึงจุดที่หวังได้
#ยูเครน #รัสเซีย #สหรัฐ #Ukraine #USA #Russsia #NATO
#Bnomics #All_About_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Reference :
เครดิตภาพ : United Nations Office for Project Services, Getty Image

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา