7 ก.พ. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ภาวะเศรษฐกิจแย่ แต่ของแพง เป็นยังไง ?
ถ้าถามคนทั่วไปว่าปัญหาอะไรน่ากังวลที่สุดตอนนี้ หนึ่งในนั้นคงต้องมี…ปัญหาของแพง
4
โดยเฉพาะบรรดาสินค้าและบริการจำเป็นต่าง ๆ ที่พร้อมใจกันขึ้นราคา จนคนเริ่มไม่ถามแล้วว่าอะไรขึ้นราคา แต่เปลี่ยนไปถามแทนว่าเหลืออะไรบ้างที่ยังไม่ขึ้น
🔸 ถึงสินค้าหลายอย่างจะขึ้นราคา แต่ปัญหาเงินเฟ้อในไทยก็ยังเป็นที่ถกเถียง
ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้น 2.17% (YoY) และล่าสุดในเดือนมกราคมตัวเลขก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 3.23% (YoY) สาเหตุหลักเกิดจากสินค้ากลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น 19.22% (YoY)
หลายคนน่าจะสงสัยว่า ทำไมเรารู้สึกว่าสินค้าจำเป็นแพงขึ้นหลายอย่าง แต่เงินเฟ้อโดยรวมที่ออกมากลับไม่เพิ่มเท่านั้น
1
ที่เป็นแบบนี้เพราะดัชนีราคาผู้บริโภคจะวัดจากการเปลี่ยนแปลงราคาของกลุ่มสินค้าและบริการโดยเฉลี่ย จากสินค้าในตะกร้าสินค้าที่ถูกกำหนดขึ้น ไม่ได้วัดจากสินค้าชนิดเดียวและสินค้าแต่ละอย่างก็มีน้ำหนักไม่เท่ากัน
ดังนั้น ถึงราคาสินค้าบางอย่างจะขึ้นมาเยอะ แต่ถ้าราคาสินค้าอื่นไม่ค่อยเพิ่ม ดัชนีราคาผู้บริโภคก็จะเพิ่มไม่มาก
2
แต่ประเด็นมันอยู่ที่แต่ละคนก็มีสัดส่วนสินค้าในตะกร้าไม่เท่ากัน ในตะกร้าสินค้าของคนหนึ่งอาหารสดหรือพลังงานอาจมีน้ำหนักมากกว่าของอีกคนก็ได้
ดังนั้น พอราคาอาหารสดหรือพลังงานเพิ่มขึ้นมามาก เลยมีคนบางกลุ่มรู้สึกถึงเงินเฟ้อที่มากกว่าตัวเลขเงินเฟ้อทางการที่ออกมา
🔸 แล้วตอนนี้เศรษฐกิจไทยเป็นยังไง ?
ถึงไม่เกิดปัญหาของแพง ตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด 19 แบงก์ชาติประมาณไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 0.9% ในปี 2564
3
และลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 3.4% จากเดิมที่ประมาณไว้ที่ 3.9% ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าไม่สูง เมื่อเทียบกับการหดตัวในปี 2563 ที่ 6.1%
และกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดคงต้องรอถึงในช่วงต้นปี 2566 เพราะไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และตอนนี้การท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
1
อีกทั้งในไตรมาส 3 ของปีที่แล้วไทยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 870,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.25% สูงสุดตั้งแต่มีโควิด 19 มา สวนทางกับหนี้สินครัวเรือนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูตัวเลขในไตรมาส 4 ว่าจะเป็นยังไง
2
และพอปัญหาเศรษฐกิจมาเจอกับภาวะของแพงที่บอกไปข้างต้น หลายฝ่ายเลยกังวลว่าไทยจะเข้าสู่ภาวะในทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า “Stagflation”
Stagflation เกิดจากการรวมกันของคำว่า “Stagnation” ที่สื่อถึงภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว กับคำว่า “Inflation” ที่หมายถึง ภาวะเงินเฟ้อ พอเอามารวมกันเลยเกิดเป็นคำที่ใช้สื่อถึงภาวะ “เศรษฐกิจแย่ แต่ของแพง”
2
ซึ่งล่าสุดทางแบงก์ชาติก็ได้ออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้ไทยไม่ได้อยู่ในภาวะดังกล่าว เพราะเงินเฟ้อไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจในปีนี้ก็น่าจะยังโตได้
🔸 ถ้าปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว
คำถามที่สำคัญตอนนี้คงไม่ใช่ ไทยกำลังอยู่ในภาวะ Stagflation หรือไม่ เพราะคงไม่เป็นไรถ้าราคาสินค้าที่แพงขึ้นนี้เป็นแค่ภาวะชั่วคราว สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ ถ้าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว
ช่วงต้นปีที่ผ่านมาบรรดาร้านอาหารต่าง ๆ เริ่มปรับราคาอาหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแบกรับต้นทุนเองต่อไปไม่ไหว จนต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้มายังผู้บริโภค
1
จุดที่น่ากังวล คือ ราคาอาหารเหล่านี้มักจะขึ้นแล้วขึ้นเลย
สุดท้ายภาระก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเรา ที่หากรายได้ยังเท่าเดิมแต่ของราคาแพงขึ้น อำนาจซื้อของเราก็จะลดลง
2
ยิ่งไปกว่านั้นตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียม มีคนบางกลุ่มที่รายได้ยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ถ้าปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นต่อเนื่องก็จะยิ่งกระทบคนกลุ่มนี้มากไปอีก
ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าปัญหาของแพงจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว และเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวตามระดับปกติได้โดยเร็วครับ
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
1
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา