7 ก.พ. 2022 เวลา 11:00 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
“มัธยมซอมบี้” All of Us Are Dead เป็นวัยรุ่นหรือซอมบี้..แบบไหนเจ็บปวดกว่ากัน
1
กำลังติดเทรนด์ฮิตประเทศไทย “มัธยมซอมบี้” ซีรีส์เกาหลีแนวซอมบี้เรื่องใหม่ที่คราวนี้ศูนย์กลางการแพร่ระบาดคือโรงเรียน ซึ่งนอกจากการหนีตายตามสไตล์หนังซอมบี้แล้ว ยังสะท้อนภาพความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ปัญหาการบูลลี่กัน และการท้องในวัยเรียนอีกด้วย
เรื่องโดย ทัศนีย์ สาลีโภชน์
“มัธยมซอมบี้” All of Us Are Dead เป็นวัยรุ่นหรือซอมบี้..แบบไหนเจ็บปวดกว่ากัน
หลังจากที่ซีรีส์ซอมบี้สัญชาติเกาหลีเรื่อง ผีดิบคลั่งบัลลังก์เดือด (Kingdom) สร้างปรากฏการณ์ทั่วโลกด้วยเรื่องราวของซอมบี้ที่แปลกใหม่ในสมัยราชวงศ์โชซอน K-Zombie ก็กลายเป็นคอนเทนต์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ และไม่เคยห่างหายไปจาก Netflix เลย ไม่ว่าจะเป็น #ALIVE คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ หรือ Kingdom ซีซั่น 2 ไม่นับรวมคอนเทนต์สัญชาติอื่นอีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับปี 2022 ทาง Netflix ก็ยังมีความมั่นใจใน K-Zombie และเลือกมาเป็นคอนเทนต์เด่นประจำเดือนมกราคมกับ มัธยมซอมบี้ (All of Us Are Dead) ที่ติดเทรนด์ฮิตประเทศไทยทันทีหลังจากที่ออนแอร์ไปเมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา
มัธยมซอมบี้ (All of Us Are Dead) เป็นซีรีส์ที่สร้างจากเว็บตูนเขย่าขวัญชื่อดังเรื่อง “ตอนนี้ โรงเรียนของเรา...” (Now at Our School) โดยนักเขียน “จูดงกึน” (Joo Dong-geun) มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเมืองฮโยซาน ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีไวรัสซอมบี้ระบาด ทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามอย่างรวดเร็ว
เหล่านักเรียนต้องหาทางเอาชีวิตรอดกันเองท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ นานา ทำให้พวกเขาต้องพบเจอกับบททดสอบเรื่องมิตรภาพ ความรัก รวมไปถึงความเกลียดชัง การทรยศหักหลัง และเรื่องราวสุดสะเทือนใจในหลากหลายรูปแบบ
เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
นอกเหนือไปจากการหนีตายจากฝูงซอมบี้แล้ว “มัธยมซอมบี้” ยังสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เช่น การกลั่นแกล้งเด็กที่อ่อนแอ การอัดคลิปแบล็คเมล์ เด็กท้องก่อนวัยเรียน ช่องว่างระหว่างเด็กรวย-เด็กจน เด็กเก่ง-เด็กฉลาด ปัญหาของเด็กนักกีฬา ฯลฯ ในขณะที่คุณครูเองก็จะมีทั้งครูที่รักเด็ก ครูที่ไม่รับฟังเด็ก และครูที่เห็นแก่ตัว ฯลฯ
แต่ประเด็นที่เจ็บปวด และได้รับการตอกย้ำตลอดทั้งเรื่องเลยก็คือ การที่ผู้ใหญ่ในสังคมทอดทิ้งเด็กๆ ไม่เห็นความสำคัญของพวกเขา เราจึงได้เห็นภาพนักเรียนโรงเรียนมัธยมโฮซานต้องดิ้นรนหาทางเอาชีวิตรอดกันเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนออกมาในคำพูดของตัวละครที่บอกว่า “ไม่เชื่อพวกผู้ใหญ่” หรือ “นับแต่นี้ต่อไปจะไม่ขอให้ (ผู้ใหญ่) ช่วยอะไรอีกแล้ว
มี “ซอมบี้โชซอน” ย่อมมี “ซอมบี้ Gen-Z”
แน่นอนว่าซีรีส์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องในโรงเรียนมัธยม จึงต้องใช้เหล่านักแสดงดาวรุ่งเลือดใหม่มาถ่ายทอดเรื่องราวของซอมบี้ Gen-Z ไม่ว่าจะเป็น พัคจีฮู, ยุนชานยอง, โจอีฮยอน, โรมน, ยูอินซู, อียูมี, อิมแจฮยอก
1
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่บรรดาตัวเอกของ “มัธยมซอมบี้” ยังเด็กกันอยู่ ดังนั้นการกระทำของพวกเขาจึงค่อนข้างที่จะหุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยจะรอบคอบตามประสา “วัยรุ่นเลือดร้อน” ทำให้ผู้ชมอาจรู้สึกรำคาญกับการตัดสินใจหรือปฏิกิริยาเวลาเจอซอมบี้ของตัวละครบางตัวจนพาลหงุดหงิด
1
แต่ไม่แน่ว่าเรื่องนี้อาจเป็นความตั้งใจของทีมผู้สร้างก็เป็นได้
สังเกตได้จากการที่ผู้กำกับ “อีแจคยู” ออกมาชี้แจงว่า พฤติกรรม “วัยรุ่นเลือดร้อน” ของเหล่านักเรียนฮโยซอนนั่นแหละที่มีส่วนทำให้ซีรีส์ยิ่งคาดเดาไม่ได้มากขึ้น เพราะ “ในสถานการณ์อันตราย ผู้ใหญ่มีแนวโน้มจะเลือกทางที่ความเสี่ยงต่ำ แต่ในทางกลับกัน วัยรุ่นจะกล้าเสี่ยงและทำตามอารมณ์มากกว่า ซึ่งคุณสมบัตินี้แสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อบรรดาเด็กนักเรียนต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆ จากฝูงซอมบี้”
เนรมิตอาคาร 4 ชั้นเพื่อความสมจริง
ด้วยความที่ต้องการให้ภาพในซีรีส์มีความงดงาม สมจริง ผู้กำกับจึงลงทุนสร้างอาคารสูง 4 ชั้น ขนาดเท่าโรงเรียนจริงขึ้นมาใช้ถ่ายทำโดยเฉพาะ พร้อมห้องต่างๆ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นห้องโสตทัศนศึกษา ห้องดนตรี โรงอาหาร ห้องสมุด หอประชุม โถงทางเดิน
โดยเฉพาะฉากโรงอาหาร ตอนที่ฝูงซอมบี้วิ่งกรูเข้ามากัดกินนักเรียนจนเกิดการหนีตายกันจ้าละหวั่นในตอนต้นเรื่องนั้น เฉพาะฉากนี้ฉากเดียวใช้นักแสดงจริงถึงกว่า 200 ชีวิต โดยใช้ CG ประกอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และภาพที่ออกมาก็มีความซีเนมาติกเป็นอย่างมาก
โฆษณา