10 ก.พ. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ต้องยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในระยะยาว
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับนักวางกลยุทธ์องค์กร หรือ Corporate Foresight จะช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการบริหารจัดการองค์กรได้ ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่า องค์กรที่ใช้เครื่องมือนี้ สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นถึง 30% และมีการเติบโตของมูลค่าตลาดสูงขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับองค์กรอื่นๆ ที่อยู่ในค่าเฉลี่ยทั่วไป โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการมองอนาคตชาวอิตาลี Catino Maurizio แนะนำว่าควรเริ่มต้นที่การพิจารณาระดับความรู้เกี่ยวกับอนาคต และระดับความรู้ขององค์กรในการปรับตัวตามภาพอนาคตที่ปรากฏ ก่อนตัดสินใจเลือกเทคนิคในการจัดการอนาคต ที่สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
- เทคนิคการคาดการณ์ (forecasting) ใช้ในการคาดการณ์อนาคตที่มีความมั่นคงค่อนข้างมาก เปลี่ยนแปลงยาก และองค์กรมีความรู้ในการจัดการสูง วิธีนี้มักได้รับความนิยมเพราะช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางทรัพยากรและเวลาในการมองแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง
- เทคนิคการให้เหตุผลเชิงอุปมา (Analogical reasoning) เหมาะสำหรับการวางแผนอนาคตที่สามารถเห็นได้ชัดแต่องค์กรยังขาดความรู้ในการจัดการ การพูดคุยถกเถียงช่วยให้เกิดการระดมสมอง มองเห็นบรรทัดฐาน คุณค่า และสิ่งที่อาจมองข้ามไป ผลลัพธ์ที่ได้มักเป็นการสร้างกลยุทธ์ใหม่หรือปรับโครงสร้างตอบรับกับเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง
- เทคนิคการวางแผนในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Contingency planning) ช่วยลดข้อจำกัดของอนาคตที่ไม่ชัดเจน แต่องค์กรมีความรู้ในการจัดการความไม่แน่นอน โดยทีมวางแผนมักใช้วิธีนี้ในการวางแผนสถานการณ์เตรียมรับฉุกเฉิน เช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ช่วยให้สามารถสร้างแผนรองรับอย่างมีประสิทธิภาพเตรียมไว้ได้
- เทคนิคการเรียนรู้จากฉากทัศน์ (Scenario-based learning) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการมองอนาคตที่คาดเดาได้ยาก และองค์กรยังไม่มีความรู้ในการรับมือ อย่างการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างกะทันหัน การใช้ฉากทัศน์อาจช่วยให้เห็นภาพใหม่หรือแนวความคิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งเสริมการหามาตรการที่ครอบคลุม และรองรับกับสถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนสูงได้
ความเข้าใจอนาคตมักขึ้นอยู่กับความรู้เชิงกลยุทธ์ที่ช่วยให้เห็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นและวิธีในการปรับตัว ซึ่งมีเทคนิคแตกต่างออกไปตามข้อจำกัดของสถานการณ์ภายในและภายนอกองค์กร คำแนะนำข้างต้นสามารถเป็นแนวทางให้องค์กรเลือกเครื่องมือการมองไกลที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ได้
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต
- ในยุคปัจจุบันที่สังคมกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว องค์กรที่ใช้วิธีการคาดการณ์อนาคตแบบเดิมโดยอ้างอิงเพียงข้อมูลทางสถิติ หรือ วิธีการเดียวในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงมีแนวโน้มที่จะพ่ายแพ้ต่อองค์กรที่ใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคตได้อย่างหลากหลาย
- ทักษะการรู้เท่าทันอนาคตจะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำให้องค์กรอยู่รอดทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว
- การคาดการณ์อนาคตต้องดูและจับสัญญาณหลายมิติ เช่น ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง ด้านเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการวางกลยุทธ์ระยะกลาง ถึง ระยะยาวได้อย่างชัดเจน และ จะช่วยให้องค์กรสามารถเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ตามที่คาดการณ์ไว้
อ้างอิงจาก: Catino, Maurizio (2013) Organizational myopia problems of rationality and foresight in organizations. Cambridge: Cambridge University Press. Rohrbeck, René. & Kum, Menes Etingue (2018) Corporate foresight and its impact on firm performance: A longitudinal analysis. Technological forecasting & social change. [Online] 129105–116.
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofLiving #FutureUpdate #CorporateForesight #MQDC
โฆษณา