14 ก.พ. 2022 เวลา 05:00 • ธุรกิจ
ธุรกิจค้าปลีกในมาเลเซียมีแนวโน้มปรับเพิ่มราคาสินค้า
ห้างสรรพสินค้าและธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งในมาเลเซีย มีแนวโน้มปรับเพิ่มราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหารและสินค้าทั่วไปจะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 หลังเทศกาลตรุษจีน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2564 และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
Datuk Ali Ameer Mydin ผู้ก่อตั้ง Mydin Mohamed และกรรมการผู้จัดการบริษัท Mydin Mohamed Holdings Bhd บริษัทบริหารจัดการห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตได้รับแจ้งจาก Supplier หลายแห่งว่าราคาสินค้าหลายรายการ จะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่หลังเทศกาลตรุษจีนเป็นต้นไป โดยเฉพาะสินค้าอาหารกระป๋องและซอสปรุงรสต่างๆ ปรับเพิ่มราวร้อยละ 8 ถึง 12 สอดคล้องกับแนวโน้มของราคาผักและอาหารสดประเภทอื่นๆ ที่ปรับตัวเพิ่มก่อนหน้า
ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่มาเลเซียหรือภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกตามทิศทางของเงินเฟ้อและดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย (DOSM) ได้แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคของมาเลเซียประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 โดยมีปัจจัยมาจากดัชนีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของภาคการขนส่ง (ร้อยละ 2.7) สาธารณูปโภคและเชื้อเพลิง (ร้อยละ 3.4) อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 2.7) เป็นสำคัญ
Tan Hai Hsin กรรมการผู้จัดการบริษัท Retail Group Malaysia Sdn Bhd (RGM) บริษัทวิจัยด้านธุรกิจค้าปลีกในมาเลเซีย ระบุว่าราคาสินค้าที่วางจำหน่ายตามห้างค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้นแทบทุกรายการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยมีสาเหตุหลักจากต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบที่สะสมต่อ เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วิกฤตทางพลังงาน ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ
ปัจจัยดังกล่าวทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เลือกแบรนด์ที่ถูกกว่าหรือสินค้าคุณภาพต่ำกว่าทดแทน อีกทั้งเป็นสาเหตุให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายสินค้าต้องหาวิธีในการลดต้นทุนของสินค้ารูปแบบต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนวัตถุดิบ ลดขนาดของบรรจุภัณฑ์หรือปริมาณของสินค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มกำไรในอีกทางหนึ่ง
รายชื่อสินค้าที่ปรับขึ้นราคาล่าสุด
- ขนมปังของแบรนด์ Gardenia ปรับขึ้นราคา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักสูงขึ้น
- ขนมปังของแบรนด์ Massimo ปรับขึ้นราคา เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักสูงขึ้น
- แป้ง (25 กิโลกรัม/แพ็ก) สำหรับทำขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว เค้ก และขนมอบ ตลอดจนผลิตภัณฑ์อบอื่นๆ ปรับราคาเพิ่มขึ้น 1 ริงกิต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565
- เนื้อไก่และไข่ไก่ คาดว่าจะปรับขึ้นราคาหลังวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565
- สินค้าทั่วไป (ร้านค้าทุกอย่าง 2 ริงกิต / ร้านค้า fixed price): ร้าน Eco-Shop และ ร้าน Ninso ปรับราคาสินค้าเป็น 2.20 ริงกิต จากเดิม 2.10 ริงกิต และร้าน Setia ปรับราคาสินค้าเป็น 2.30 ริงกิต จากเดิม 2.20 ริงกิต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564
- สหพันธ์เครื่องเขียนและอุตสาหกรรมหนังสือแห่งมาเลเซีย (The Federation of Malaysian Stationery and Book Industry) ระบุว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วราคาเครื่องเขียนจะปรับขึ้น ระหว่างร้อยละ 10 ถึง 25 อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า และต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น
- IKEA ประกาศว่าจะปรับราคาสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งเฉลี่ยร้อยละ 9 เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
- สมาคมร้านกาแฟแห่งมาเลเซียสิงคโปร์ (The Malaysia Singapore Coffee Shop Proprietors General Association) กล่าวว่าเดือนธันวาคม 2564 ราคาเครื่องดื่มร้านกาแฟ/คาเฟ่ จะปรับขึ้นระหว่าง 20 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลจากต้นทุนของวัตถุดิบที่สูงขึ้น อาทิ นมข้น นมข้นจืด ผงกาแฟ แก๊ส เงินเดือนพนักงาน และค่าเช่าที่
- สมาคมพ่อค้าหาบเร่แผงลอยในปีนัง (The Penang Hawkers’ Association ) กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายน 2564 ราคาอาหารหาบเร่ปรับเพิ่มขึ้น 1 ริงกิต เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้แก่ บะหมี่ ไข่ น้ำมันปรุงอาหาร ไก่ และผัก
- McDonald's ปรับขึ้นราคาของหวาน อาทิ vanilla sundae cones, Choco Top, Oreo McFlurry และ sundae cup และเฟรนช์ฟราย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564
ปัจจุบันมาเลเซียกำลังประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งก็คือ ขาดแคลนวัตถุดิบ ขาดแคลนแรงงาน และค่าขนส่งสูงขึ้น แม้ความต้องการสินค้าในตลาดคงที่ แต่ปริมาณสินค้ากลับมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในขณะที่เดือนธันวาคมอยู่ที่ 3.2
สถานการณ์ดังกล่าว ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทย ในการขยายการค้าเข้ามาในตลาดมาเลเซียเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกวัตถุดิบเพื่อผลิตในอุตสาหกรรม และการส่งออกสินค้า/ผลิตภัณฑ์ เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งไทยและมาเลเซียต่างเป็นคู่ค้าสำคัญของกันและกัน ไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าอาหารที่เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ทั้งด้านราคาและคุณภาพที่สมเหตุสมผล มีความสามารถในการผลิตสินค้าหลายรายการ อีกทั้งผู้บริโภคชาวมาเลเซียก็นิยมบริโภคสินค้าไทย นอกจากนี้ เส้นทางการค้าที่เชื่อมถึงกัน ทำให้สะดวกสบายในการนำเข้าสินค้า
 
ขณะนี้ไทยมีข้อได้เปรียบด้านการขนส่งเป็นสำคัญ ควรใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซียได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรมองหาเส้นทางการค้าใหม่ๆ เช่น e-commerce เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าในระยะยาว
โฆษณา