11 ก.พ. 2022 เวลา 11:12 • ไลฟ์สไตล์
“กระบวนการพัฒนาตัวเอง”
เหตุและวิธีแก้ใจร้อน โกรธง่าย
1
คำถาม : โยมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนใจร้อน เอาแต่ใจตนเอง เป็นคนโกรธง่าย จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้างเจ้าคะ ?​
“ …​ เริ่มต้นรู้ตัวก็ดีแล้ว ว่าเรามีข้อบกพร่อง มีจุดอ่อนเรื่องอะไร มันก็จะได้นำไปสู่การแก้ปัญหา การพัฒนาขึ้นมาได้
เริ่มต้นจากการที่เข้าใจ แล้วก็ยอมรับความเป็นไปของตัวเองนั่นเอง
ทุกคนมีจุดเปราะบางอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อเราได้รู้ เราก็จะได้เข้าไปสู่การพัฒนานั่นเอง
การที่เป็นคนใจร้อน โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย รากเหง้าจริง ๆ ก็เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า พยาบาทวิตก หรือ วิหิงสาวิตก การตรึกในเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกโกรธ รู้สึกขุ่นเคืองใจนั่นเอง
ให้สังเกตว่าเรามักจะมีอารมณ์ความคิดที่มันขุ่นเคืองพวกนี้ แล้วมันทำให้เราเกิดความโกรธ ความหงุดหงิดใจขึ้นมาอยู่เสมอ
มันมากจาก คนเราหลัก ๆ มันจะมีวิตกอยู่ ๓ อย่าง
กามวิตก : ตรึกอยู่ในกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ
รูป เสียง กลิ่น รส ที่น่าใคร่น่าปรารถนาต่าง ๆ
อารมณ์ต่าง ๆ ในโลกนั่นเอง
3
พยาบาทวิตก : การตรึกอยู่ในเรื่องของความอาฆาตพยาบาท
ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความคับแค้นใจ
จากการที่เราถูกเขากระทำก็ดี
บางคนมาว่าเรา การว่าเรามันจบไปแล้วนะ แต่สิ่งที่ดำเนินไปมันยังไม่จบ ก็คือ พยาบาทวิตกมันเกิดขึ้น ทำไมมาว่าเรา … มาทำอย่างนี้กับเราทำไม …​ เอ๊ะ ทำไมต้องมาทำกับเรา …​ เดี๋ยวต้องเอาคืน …​ มันเริ่มไปแล้ว … ใช่ไหม ?​
การที่ถูกเขาทำนี่มันจบไปแล้ว แต่ว่าสิ่งที่ไม่ยอมจบ ก็คือ มันเกิดพยาบาทวิตกตามมานั่นเอง ยิ่งคนที่มาโกงเรานี่ ยิ่งเลย มันเจ็บช้ำ มันเจ้าคิดเจ้าแค้น มันอยากเอาคืน มันจะตามมาเรื่องของความวิตกนั่นเอง
ถูกเขาใส่ร้าย ถูกเขาว่า ถูกเขาตำหนิ ปุ๊บ มันไม่ได้จบแค่ตรงนั้นนะ เราจะมาตรึกนึกอีกแล้ว …​ ทำไมมาตำหนิเรา …​ มาว่าเรา …. มันก็จะเริ่มคิดไปต่าง ๆ นานา
วิหิงสาวิตก : การตรึกนึกในเรื่องของการเบียดเบียน
อยากจะเอาคืน อยากจะเอาให้สาสม อยากจะแก้แค้น หรืออะไรก็ตาม
รวมความแล้ว มันก็มาจากความคิด ที่มันเป็นอกุศลธรรมในใจของเรานั่นเอง
“คิดไม่ดี” ภาษาทางโลกง่าย ๆ มันเริ่มคิดไม่ดี ตรงนี้ก็จะ build อารมณ์ของเราให้กรุ่นขึ้นมาอยู่เสมอ กลายเป็นคนโกรธง่าย หงุดหงิดง่ายต่าง ๆ กระบวนการมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้เราจะพัฒนาเพื่อละสิ่งนี้ได้อย่างไร ?​
กามวิตก ก็มีคู่ปรับของมันอยู่ ก็คือ เรื่องของพอเราตรึกอารมณ์ที่รูปสวย กลิ่น รสที่มันงาม เราจะละสิ่งนี้ เราก็ละด้วย “อรูปสัญญา” เรียกว่า อสุภสัญญา การตรึกอยู่ในความไม่งามต่าง ๆ เพื่อละกามราคะออกไป อันนั้นคือส่วนคนที่มักเกิดกามวิตก
ส่วนพยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ก็ละได้ด้วยการหมั่นเจริญเมตตา รู้จักการให้อภัย รู้จักความรัก ความปรารถนาดี
การเมตตาที่แท้ ก็เริ่มจากเมตตาตัวเองก่อน เห็นคุณค่าในตนเอง ให้ตนเองได้เข้าถึงสิ่งที่มันมีคุณค่าที่แท้จริง ก็คือตัวเองต้องอิ่มก่อนนั่นเอง ด้วยการฝึกหัดปฏิบัติธรรม
อบรมตนเองด้วยสติปัฏฐาน 4
ด้วยการดำเนินในมรรควิธีที่ถูกต้อง อริยมรรคมีองค์ 8
สงสารตัวเองให้มาก เพราะว่าถ้าเราเดินทางผิด ชีวิตเราก็ตกต่ำ มันไม่ได้ตกต่ำเฉพาะในช่วงที่เรายังมีชีวิตเท่านั้น ชีวิตหลังความตาย มันยิ่งแสนสาหัสกว่านี้อีกมากนั่นเอง โทษของการหลงทางผิด หลงเดินผิดทาง
เพราะฉะนั้นก็สงสารตัวเอง ดึงตัวเองเข้าสู่ในวิธีที่ถูกต้อง ตรงทางตรงธรรม มันถึงจะหลุดรอดปลอดภัย จากเภทภัยในวัฏสงสารทั้งปวงได้
ถึงแม้ชีวิตปัจจุบัน เราอาจจะต้องประสบความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานต่าง ๆ แต่ถ้าเราเดินบนวิถีที่ถูกต้อง อย่างน้อยชีวิตหลังความตาย เราก็ไม่ตกต่ำ ไม่ตกอบายภูมิ ไม่ตกทุคติภูมินั่นเอง
ยิ่งเราเมตตาตัวเอง ด้วยการมอบคุณค่าที่แท้จริงให้ตัวเองได้เข้าถึง ด้วยการฝึกหัดปฏิบัติธรรมอยู่เนือง ๆ จนจิตมันคลายจากอกุศลธรรมทั้งปวง
กามวิตกก็หลุดออกไป
พยาบาทวิตกก็หลุดออกไป
วิหิงสาวิตกก็หลุดออกไป
สงัดจากกามและอกุศลธรรม
จิตเข้าถึงสมาธิ ได้สัมผัสความสงบวิเวกจากภายใน
เกิดปีติ สุข เกิดความเบิกบาน เกิดความชุ่มฉ่ำ
ให้ตัวเองได้ซึมซาบไปกับความสุขในสมาธิ
เข้าถึงความสุขที่ประณีตที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
พอตัวเองได้เติมเต็มตัวเองด้วยความสุข
ด้วยปีติ ด้วยสุข จนมันเอ่อล้นออกมา
เหมือนน้ำที่เติมจนเต็มตุ่มแล้ว
มันก็จะเอ่อล้นออกมา
ก็จะเริ่มเผื่อแผ่ผู้อื่นได้ แบ่งปันผู้อื่นได้นั่นเอง
เมตตาที่แท้ มันต้องเริ่มจากตัวเองก่อน
แล้วมันถึงจะเอ่อล้น แล้วก็แผ่ออกไปให้กับผู้อื่น
ใจเรามันจะอิ่มก่อน
อิ่มไปด้วยความสงบสุข อิ่มไปด้วยปีติ
อิ่มไปด้วยรสแห่งความวิเวกก่อน
แล้วใจมันจะแผ่ออกมาเองโดยธรรมชาตินั่นเอง
โดยสภาวะเป็นเช่นนั้น
เมื่อใจเราแผ่ออกมาแบบนั้น
นั่นแหละเมตตาตัวจริงมันเกิดขึ้น
เราจะรู้จักการให้อภัย
การไม่ผูกโกรธ การไม่จองเวร
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
1
จิตเรามันจะกลายเป็นจิตที่อ่อนโยนนั่นเอง
เรื่องความหงุดหงิด ความโกรธ จะหายออกไปเลย
แล้วใจเรามันจะเป็นจิตใจที่อ่อนโยน
เป็นจิตใจที่เบิกบานในธรรม
1
ค่อย ๆ ขัดเกลาไป
ด้วยการฝึกปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั่นเอง
บทสรุป ก็คือ เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร ?
ก็น้อมนำคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มาฝึกหัดปฏิบัติตนเอง ขัดเกลาตนเอง
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั่นเอง
นั่นคือกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองที่แท้จริง … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา