3 มี.ค. 2022 เวลา 01:19 • ไลฟ์สไตล์
“เมื่อท่านมีความทุกข์ ท่านจะออกจากมันได้”
เรื่องง่ายๆ เลยที่ผมมักจะชี้ให้คนเห็น วันนี้เรามักจะรู้สึกว่าเราเองเราก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไรนะ ทำไมเราจะต้องเข้ามาปฏิบัติธรรมด้วย เราก็ไม่ได้ทุกข์อะไรมาก
เอาล่ะ ทุกข์ขนาดที่ผมโดนถ้ามีใครโดนเขาคงเดินเข้าทางธรรมะได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนทั่วไปธรรมดาๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาทุกข์อะไร
จะทะเลาะกับแฟนจะทะเลาะกับลูก หรือโดนเจ้านายด่าหรือตกงานบ้าง ทุกคนก็สีทนได้ คือมันยังทนได้ ต่อให้มันจะทุกข์เขาเข้าใจว่าก็ทุกข์แต่มันก็ทนได้ มันไม่ใช่ว่ามันทนไม่ได้
แต่ถ้าเราไม่ต้องทนล่ะ ถ้ามันมีความสุขโดยที่เรื่องก็เกิดเหมือนเดิม แต่เราไม่ทุกข์ล่ะ มาลองดูกันหน่อยไหมล่ะ
วันนี้ที่ทุกครั้งที่รถติดไฟแดง ทุกคนจะมีความทุกข์กับไฟแดงที่รถกำลังติด วันนี้ผู้ฟังฟังผมก็อาจจะ “ฉันก็ไม่ได้ทุกข์อะไร”
งั้นผมเพิ่มโจทย์เข้าไปอีกหน่อย มีคนที่ท่านรักอาจจะเป็นลูก อาจจะเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ นอนป่วยอยู่หลังรถที่ต้องไปถึงโรงพยาบาลให้ทัน เพิ่มโจทย์เข้าไปอีกหน่อยตอนนี้ท่านจะรู้แล้วว่าทุกข์ ถ้างั้นทุกข์แล้ว
ยิ่งไฟแดงนานขึ้นเท่าไหร่ ใจท่านจะร้อนรนขึ้นเท่านั้น ตอนนี้เข้าใจได้แล้ว แล้ววันนี้ทุกไฟแดงมันก็มีตัวเลขถอยกลับให้เราดูด้วย CountDown งั้นแสดงว่าเรารู้ว่าเมื่อไหร่มันจะเขียว 10 9 8 7 6 5 4 3 2 1 0 ปั้ง! เขียวเลย แล้วไปได้เลย
แต่ขณะที่กำลัง 59 58 57 คนข้างหลังก็ เป็นยังไงบ้างเนี่ย “เมื่อไหร่มันจะ 0 ซักที”
เอาล่ะผมเบรกภาพไว้แค่นี้ ผมย้อนถาม
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นที่ท่านในขณะที่ท่านกำลังถือพวงมาลัย
มันจะทำให้ไฟแดงเปลี่ยนเป็นไฟเขียวเร็วขึ้นไหม ?
ไม่
แล้วคนบนถนนต่อให้มีความทุกข์เหมือนกันพร้อมกันทั้งถนน ไฟแดงจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียวเร็วขึ้นไหม ?
ไม่
แล้วทุกข์ทำไม ?
คุณห่วงโดยไม่ทุกข์ไม่ได้หรือ
ผมบอกให้เลยว่ามันทำได้ แต่เราไม่รู้
เรายังคงรักแล้วก็ห่วงใยคนที่เรารัก แต่เราไม่ทุกข์ก็ได้
ตรงนี้ล่ะที่มันเหนือขึ้นไปอีก
โดยที่เรามัวแต่อยู่กับของเก่า
เราเองนึกว่าชีวิตต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าทุกข์นะฉันทนได้
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้แล้ว มีหนทางออกแล้ว มีทางที่จะไปให้ถึงแล้วโดยที่เราไม่ต้องทุกข์เลยก็ได้ แต่เรากลับไม่เชื่อ แล้วเราก็คิดว่าทั้งหมดมันต้องเป็นอย่างนี้ คนเจ็ดพันล้านคนก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว
ทีนี้ประเด็นก็อยู่ตรงที่ว่า แล้วทำไมในเมื่อทุกข์แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ทำไมถึงต้องทุกข์กันต่อไป แล้วทำไมถึงไม่ไปจัดการกับทุกข์นี้ซะล่ะ
ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่ามันไม่เกิดประโยชน์ มันกลายเป็นว่าเพราะเราชินกับไปกับมันจนเราไม่เห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหา
เขาบอกว่าอย่างนี้ ถ้าเราจับเขียดตัวหนึ่งใส่ลงไปในหม้อที่อุณหภูมิ ๕๐ เขียดตัวนั้นจะตายทันที
แต่ถ้าเราเอาเขียดตัวนั้นใส่ไว้ตั้งแต่อุณหภูมิน้ำปกติซัก ๒๐ แล้วค่อยๆ Heat น้ำขึ้นไปจนกระทั่งถึงอุณหภูมิ ๕๐ เขียดจะไม่ตาย เพราะเขียดจะค่อยๆ ปรับตัวแล้วชินไปกับสภาพความร้อนนั้น
วันนี้ตั้งแต่เราเกิดมา เราอยู่กับทุกข์มาจนเป็นอย่างนี้ เป็นเหมือนเขียดในน้ำร้อนแล้ว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่มันคือน้ำร้อน
ถ้าอยู่ๆ มีใครจับเราไปใส่ตอน ๕๐ เรากระเด้งตายไปเลย มันจะ “โหยทุกข์เว้ย” ทั้งๆ ที่มันทุกข์เท่าเดิม
วันนี้การเข้าสู่การปฏิบัติธรรม จะทำให้เราพ้นไปจากความเคยชินนั้น ก็เหมือนการเอามือออกจากน้ำร้อน แล้วมาจุ่มในน้ำธรรมดา
เมื่อไหร่ท่านเข้ามาถึงน้ำธรรมดา แล้วก็คุ้นเคยกับน้ำธรรมดา วันใดก็ตามที่ท่านกลับไปจุ่มน้ำนั้นอีก ท่านจะรู้แล้ว “โอ..ร้อนมาก” แล้วท่านจะชักมือออก
แต่วันนี้ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในทุกคน ไม่มีคนรู้เลย เพราะท่านชินไปกับมัน
ลองเข้ามาปฏิบัติธรรมดู ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ท่านจะเปลี่ยนเอามือออกจากน้ำร้อน มาอยู่ในน้ำธรรมดา แรกๆ ท่านจะฝืนมาก แต่เมื่ออยู่ไปเรื่อยๆ ท่านจะชินกับน้ำธรรมดา วันนั้นล่ะที่ทุกอย่างจะบอกว่า อะไรอุ่น อะไรร้อน
เมื่อไหร่มีความทุกข์ ท่านจะหาทางออกจากมันได้
ไม่ใช่แปลว่า เอ้ยอย่างนี้ไม่ร้อนก็ดีกว่า ไม่ใช่
ไม่ทุกข์ ไม่ได้แปลว่า ไม่มีทุกข์
แต่ท่านชินกับทุกข์ อันนี้อันตราย
เมื่อเรามีสติรู้ทัน สมมุติว่าอกุศล
หรือความโลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้น มีสติ มันจะดับไป
หรือว่ามันจะลดลงไปในระดับต้น
แล้วเราก็เปลี่ยนมาทำกุศลแทน
เปลี่ยนมาทำกุศลแทน
อกุศล ความโลภ โกรธ หลง ที่เกิดขึ้นในใจก็เริ่มละ
ถูกบรรเทา เบาคลาย
จิตใจเราจะค่อยๆ สุข สงบขึ้น
วันนี้ความสุขที่เราบอกว่าเรามีความสุขจากการได้กระเป๋า โทรศัพท์ใหม่ หรืออะไรก็ตาม มันเป็นความสุขที่ประกอบด้วยความบีบคั้นของจิตใจ เขาเรียกว่า ตัณหา เราได้ของมาก็จริงแต่เราไม่เคยมีความสุขกับมันเลย
แต่วันหนึ่งที่เราเข้ามาสู่การปฏิบัติธรรม
ถึงแม้จะไม่มีของนี้แต่เราจัดการกับตัณหาลงได้
เมื่อจัดการกับตัณหาลงได้ความบีบคั้นของจิตใจจะไม่มี
เมื่อความบีบคั้นของจิตใจไม่มี
จิตจะโปร่ง โล่ง เบาสบาย
มันจะพบความสุขลึกๆ ความสุขเล็กๆ
ความสุขเย็นๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อน
เมื่อไม่มีความบีบคั้นที่เรียกว่า ตัณหา
จิตจะค่อยๆ พบกับความสุขที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ไม่อย่างนั้นเราจะถูกตัณหาบีบคั้นตลอดเวลา
ที่ปากเราบอกว่าเรามีความสุขที่ได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ สิ่งโน้นมา
แต่จริงๆ แล้วมันเต็มไปด้วยใจที่บีบคั้นเป็นทุกข์ตลอดเวลา
เราไม่เคยได้พบความสุข สงบ เย็น ที่แท้จริงเลย
เราก็อยากได้สิ่งอื่นๆ อยากได้สิ่งอื่นๆ
ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
จากวันที่ผมพอจะเริ่มเข้าใจในธรรมะ
ว่าสามารถที่ทุกข์จะลดลงได้
ผมเชื่อเลยว่าไม่ว่าใครก็ตาม
ไม่ว่าจะทุกข์ลดลงในระดับเท่าไหร่ก็ตาม
จะลองสังเกตได้เลยคนที่เข้ามาสู่คอร์สปฏิบัติธรรม
ทุกคนจะอยากให้คนที่เขารักเข้ามาได้สัมผัสด้วย
ก็ลองคิดดู ผมก็เช่นกันเมื่อผมได้เข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าขึ้นมาบ้าง แล้วก็ได้เห็นจริงๆ ว่าสามารถทำให้ทุกข์ลดลงได้ มันไม่มีใครที่จะอดได้ที่จะเผยแผ่ที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป
แล้วผมก็อยากให้ทุกๆ คนหันกลับมาแล้วก็สนใจ ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไม่อยากให้ปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์ท่านสูญหายไป
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
แต่วันนี้ชาวพุทธทั้งหมดกลับไม่รู้เลยว่ามรรคมีองค์ ๘ คืออะไร
ผมก็จะฝากชาวพุทธทั้งหมดเอาไว้เพียงแค่นี้
อย่างน้อยที่สุดให้เรากลับมาเข้าใจได้สอนลูกหลานของเรา
.
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ในรายการ ทรูปลูกปัญญา
สามารถดูคลิปวีดีโอฉบับเต็มได้ที่นี่
หรืออ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา