24 ก.พ. 2022 เวลา 11:45 • ข่าว
กรมการขนส่งทางบกแนะนำ 9 อาการควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียว
สำนักงานสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก เผยแพร่ข้อมูลแนะนำ 9 อาการที่มีผลต่อการขับขี่ และควรหลีกเลี่ยงการขับขี่รถตามลำพังซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและเพื่อนร่วมทาง
1.อาการเกี่ยวกับสายตา ควรหลีกเลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืน โดยเฉพาะผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมซึ่งจะทำให้การมองเห็นในเวลาการคืนแย่ลง และผู้ที่เป็นต้อหิน ต้อกระจก อาจเกิดอาการเห็นไฟจราจรพล่ามัว
2.อาการป่วยซึ่งต้องกินยาที่มีผลให้เกิดอาการง่วงนอนที่จะส่งผลให้การสนองช้าลง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่
3.โรคลมชัก(epilepsy)พบได้หลายสาเหตุทั้งความผิดปกติในเนื้อสมองและผู้เป็นโรคตับ ไต ความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ ยาและสารพิษ หากเกิดอาการจะสูญเสียการควบคุมตนเองไปชั่วขณะ ไม่ควรขับรถด้วยตนเอง
4.โรคเบาหวาน(Diabetes mellitus) คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ เมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว ใจสั่น หน้ามืด และอาจหมดสติได้ ผู้ที่อาการไม่รุนแรงควรพกลูกอมทานเพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
5.โรคหัวใจ(Heart Disease) โดยปกติแล้วมีหลายประเภทและมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ความเครียดจากการจราจรหรือเหตุการณ์ที่ตกใจ อาจทำให้แน่นเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายหายใจถี่ และอาจหัวใจวายเฉียบพลันได้ ควรให้ผู้อื่นขับรถแทน
6.โรคหลอดเลือดในสมอง(stroke) คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงซึ่งเกิดจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน อาจทำให้การตอบสนองช้าลง ขาดแรงในการขับขี่ ควรปรึกษาแพทย์หากจำเป็นต้องขับรถ
7.โรคพาร์กินสัน(Parkinson's disease) เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง มักจะมีอาการสั่นขณะอยู่เฉยๆหากมีอาการรุนแรงอาจเกิดภาพหลอนทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
8.อาการหลงลืม มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดการสับสนเส้นทางและก็อุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้
9.อาการปวดบริเวณต่างๆ เช่นปวดกล้ามเนื้อขา มีอาการเกร็ง ควรหลีกเลี่ยงการขับรถทางไกลหรือการเดินทางที่ใช้เวลานาน และมีการพักเป็นระยะตลอดการเดินทาง
อย่างไรก็ตามแม้ผู้ขับขี่ที่ไม่มีอาการทั้ง9นี้ ก็ควรหมั่นตรวจสอบตนเองระหว่างขับขี่ มีสติระหว่างขับรถเพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทางด้วยนะครับ
เครดิต : สำนักงานสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก
เรียบเรียง : Marshall
ภาพปก : Marshall
โฆษณา