3 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ศึกชิงเจ้าอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถือเป็นกุญแจชิ้นสำคัญที่ทำให้อารยธรรมหรือประเทศต่างๆ ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญเป็นมหาอำนาจของโลกได้ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์
อย่างเช่น อาณาจักรบาบิโลน ซึ่งเป็นอารยธรรมแรกของโลกที่คิดค้นล้อ สารถี เรือใบ และแผนที่ขึ้นมา ก็เป็นศูนย์กลางอารยธรรมสำคัญของโลกในยุคก่อนคริสตกาล
หรืออาณาจักรจีนโบราณที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก สามารถคิดค้นกระดาษ การพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศ เป็นประเทศแรกของโลก และก็เป็นหนึ่งในมหาอำนาจในอดีต
หรือแม้แต่ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ได้ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มากมาย และทำให้อังกฤษมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก จนก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจของโลกได้สำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นเป็นกุญแจหรือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ไม่ว่าผู้ใดพิชิตไว้ได้ก็จะสามารถใช้ไขประตูที่ทำให้ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจได้สำเร็จทั้งสิ้น
และเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ ก็เกิดศึกการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เข้มข้น และดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์ ระหว่างสหภาพโซเวียด และสหรัฐอเมริกา และศึกที่ว่านี้คือ Space Race หรือศึกการแข่งขันทางอวกาศนั่นเอง
ก่อนอื่น ต้องเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปที่นำไปสู่การแข่งขันทางอวกาศของทั้งสองประเทศก่อน จุดเริ่มต้นที่ว่ามีต้นตอมาจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บรรดาประเทศสัมพันธมิตรต่างๆ ได้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางทหารของนาซีเยอรมัน สามารถประดิษฐ์ คิดค้น จรวดและขีปนาวุธเป็นของตัวเองได้
 
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเหล่านี้ที่ได้ชนะสงครามก็เร่งดำเนินปฏิบัติการต่างๆ เพื่อจัดการนำนักวิทยาศาสตร์ชาวนาซีเยอรมันมาทำงานให้กับตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียด ด้วยความคิดว่าจะต้องผลิตจรวดขีปนาวุธเป็นของตัวเองให้ได้ เฉกเช่นกับนาซีเยอรมัน
จากแรกเริ่มเดิมทีที่มีความคิดเพียงแค่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางทหารของชาติตัวเองให้ดีขึ้น ก็เริ่มพัฒนาไปสู่การแข่งขันที่ดุเดือดมากยิ่งขึ้น
เมื่อโลกได้เปลี่ยนผ่านจากสภาวะสงบสันติหลังสงครามเพียงชั่วครู่ เข้าสู่สงครามเย็น ซึ่งเป็นสงครามอุดมการณ์ (Ideological War) ระหว่างค่ายตะวันตก (Western bloc) ที่เชื่อในเรื่องทุนนิยมและประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา และค่ายตะวันออก (Eastern bloc) ที่เชื่อในเรื่องระบบคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียด
ผลของการแข่งขันเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่จะดึงดูดจูงใจชาวโลกว่าระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจแบบไหนที่เวิร์ค และประเทศที่เหลือควรที่จะเลือกเข้าค่ายอุดมการณ์ฝ่ายไหนแทน
การแข่งขันทางด้านอวกาศก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม ต้องเล่าก่อนว่า ความจริง การแข่งขันด้านอวกาศนั้นไม่ได้เป็นอะไรที่ทั้งสองประเทศให้ความสนใจเท่ากัน
ในช่วงแรก กลับเป็นสหภาพโซเวียดที่เอาจริงเอาจังกับการลงทุน พัฒนา เพื่อส่งวัตถุและสิ่งมีชีวิตไปสำรวจอวกาศได้ก่อน ในขณะที่ด้านสหรัฐฯ เอง ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก
ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศก็ต่างประกาศต่อสาธารณะชนอย่างชัดเจนในปี 1955 ว่าทั้งสองประเทศกำลังเร่งสร้างขีปนาวุธนำวิถีเพื่อส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลกภายในไม่กี่ปีต่อจากนี้
ผลคือภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปีให้หลัง เป็นสหภาพโซเวียดที่ได้คว้าชัยชนะไปสำเร็จ โดยสามารถส่งดาวเทียมดวงแรก “สปุตนิต 1” ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้
เสียงสัญญาณวิทยุที่ดัง “บิ๊บ บิ๊บ บิ๊บ” ได้กลายเป็นเสียงแห่งความปิติยินดีของบรรดาสหายในสหภาพโซเวียด และประเทศใน Eastern Bloc
แต่ในขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นเสียงแห่งความหวาดกลัวในประเทศค่ายตะวันตก โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ที่มีประชาชนจำนวนมาก คิดว่า สหภาพโซเวียดได้พัฒนาเทคโนโลยีแซงหน้าสหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผลที่ตามมาคือสหรัฐฯก็ได้เร่งปรับแผนเพื่อตอบโต้อย่างทันควัน โดยประธานาธิบดี Eisenhower ได้เร่งผลักดันให้แผนการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรเร็วขึ้นไปอีก
แต่ทว่า หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อถึงกำหนดปล่อยจรวดนำดาวเทียมขึ้น ก็กลับเกิดเหตุร้าย จรวดระเบิดขณะปล่อยตัว ทำให้ภารกิจดังกล่าวล้มเหลวไม่เป็นท่า จนกลายเป็นเหตุการณ์อับอายขายหน้าต่อประชาคมโลก
สหรัฐฯ ถึงกลับโดนดูถูกเหยียดหยามจากผู้แทนทูตของสหภาพโซเวียดในการประชุมสหประชาชาติว่า สหภาพโซเวียดพร้อมหยิบยื่นความช่วยเหลือสหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่ล้าหลังกว่า
ความล้มเหลวในครั้งนั้นได้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ หันมาเอาจริงเอาจังกับโครงการอวกาศ (Space Program) โดยในต้นปี 1958 สหรัฐฯ ก็ได้สามารถส่งดาวเทียม Explorer I ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จ และต่อมา ในเดือนเมษายน ประธานาธิบดี Eisenhower ก็ได้สั่งการให้มีการจัดตั้ง National Aeronautics And Space Administration หรือ NASA ขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานพลเรือนที่ดูแลพัฒนาด้านการแข่งขันทางอวกาศโดยเฉพาะ
1
ต่อมา การแข่งขันก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองประเทศได้พัฒนาแผนในการส่งวัตถุสำรวจไปโคจรดวงจันทร์ ไปจนถึงการพาสิ่งมีชีวิตขึ้นไปอวกาศให้ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะหันมาเอาจริงด้านอวกาศมากยิ่งขึ้น แต่ผลงานในช่วงต่อมา ก็ยังตกเป็นของสหภาพโซเวียดมาโดยตลอด เพราะก็เป็นสหภาพโซเวียดอีกครั้งที่สามารถส่งยานสำรวจอวกาศไปดวงจันทร์ได้ก่อน เป็นสหภาพโซเวียดที่สามารถส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นไปบนอวกาศได้ก่อน ซึ่งก็คือเจ้าหมาไลก้า และก็เป็นสหภาพโซเวียดที่สามารถส่งยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกขึ้นไปท่องอวกาศได้ก่อน
เมื่อเป็นเช่นนั้น สหรัฐฯ ก็ต้องปรับแผนการของตัวเองใหม่ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในยุคนั้น John F. Kennedy ก็รับไม่ได้กับความอับอายขายหน้าที่ต้องแพ้สหภาพโซเวียดอย่างต่อเนื่อง จึงได้ประกาศแผนการที่จะส่งคนไปดวงจันทร์ โดยหลักคิดคือว่า หากจะตั้งเป้าหมายครั้งนี้ อย่างน้อย ก็จะต้องให้เวลาสหรัฐฯ มากพอที่จะสู้กับสหภาพโซเวียดที่ไปไกลแล้วได้
 
ด้วยเหตุนี้ หลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้ริเริ่มโครงการ Apollo ขึ้นมา เพื่อส่งคนไปดวงจันทร์ และแน่นอน ผลลัพธ์สุดท้าย เราทุกคนก็ทราบกันดีว่าสหรัฐฯ สามารถส่งคนไปดวงจันทร์ได้สำเร็จก่อน โดยใช้ยาน Apollo 11 ซึ่งมี Buzz Aldrin, Michael Collins และ Neil Armstrong เป็นนักบินอวกาศผู้ควบคุม
Neil Armstrong ได้เป็นมนุษย์คนแรกที่ก้าวเท้าเหยียบดวงจันทร์ และเปล่งคำพูดประวัติศาสตร์ที่ว่า “ก้าวเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” พร้อมกับปักธงชาติสหรัฐฯ ไว้บนดวงจันทร์ เพื่อประกาศชัยและสิ้นสุดศึกการแข่งขันทางอวกาศระหว่างสองชาติ
ชัยชนะในครั้งนั้นได้ทำให้ประชาชนในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ใน Western Bloc ต่างฉลองความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมีความมั่นใจกลับคืนมาว่าแนวคิด อุดมการณ์ของฝ่ายตัวเองนี่แหละที่เวิร์คที่สุด โดยหลังจากที่การแข่งขันทางอวกาศสิ้นสุดลง ทั้งสองประเทศก็หันมาให้ความร่วมมือทางด้านอวกาศกันมากยิ่งขึ้น แต่ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังคงมีไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสหภาพโซเวียดล่มสลายลงในปี 1991
เมื่อหันกลับมามองปัจจุบัน เราได้เห็นการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีอีกครั้ง และครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเป็นการแข่งขันด้านอวกาศเพียงอย่างเดียว แต่การแข่งขันด้านเทคโนโลยี ระหว่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และจีน ซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และพร้อมที่ก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก ดังเช่นที่เคยเป็นมา
1
ทั้งนี้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่ว่านี้ มีตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างพวกแอพต่างๆ ของใช้ในบ้าน ไปจนถึง รถยนต์ไฟฟ้า การเป็นผู้นำด้านโครงข่าย 5G รวมถึงกระทั่ง การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอีกด้วย
 
บทสรุปของการแข่งขันจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป แต่คงเดาได้ไม่ยากว่าใครก็ตามที่ชนะศึกครั้งนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยนำพาสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกอย่างแน่แท้ ดังเช่นที่เคยเป็นในอดีตเสมอมา
#Space_Race #อวกาศ #NASA #อเมริกา #จีน #รัสเซีย
#Bnomics #All_About_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา