3 มี.ค. 2022 เวลา 11:20 • หนังสือ
"บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ หนังสือที่จะทำให้เราเข้าใจ และรู้สึกรู้สากับทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกนี้ ไม่มีใครสมควรตาย เพียงเพราะว่าศาสนา ความเชื่อ เผ่าพันธุ์ หรือแม้แต่การมีความคิดในเรื่องใดก็ตามที่ต่างกัน"
“ฉันต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไปแม้หลังความตายของฉัน ฉันปรารถนาจะยังมีชีวิตอยู่แม้ตัวเองตายไปแล้ว”
...ข้อเขียนข้างต้นเป็นคำกล่าวของ แอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เธอเกิด 12 มิถุนายน 1929 และเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อนของสงคราม
ผมหยิบหนังสือ The Diary of a Young Girl หรือชื่อภาษาไทยว่าบันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ ขึ้นมาอ่านในช่วงเวลาที่โลกของเรากำลังเกิดสงครามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย สงครามเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใหญ่ระดับโลกจากคนไม่กี่คน แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นเหล่าคนตัวเล็กตัวน้อย คือประชาชนที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากสงคราม เหมือนกับเหล่าผู้มีอำนาจ
แอนน์ แฟร้งค์ คือเด็กสาวคนหนึ่งที่ต้องจากไปเพราะสงคราม และคงมีเด็กอีกมากมายในยูเครนตอนนี้ ที่กำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผมรู้สึกรู้สากับสิ่งที่เกิดขึ้นในสงคราม ที่ห่างไกลจากเรานับหมื่นไมล์ แต่ข้อเขียนในหนังสือกลับทำให้ผมใกล้ชิด และเข้าใจความโหดร้ายของสงคราม เหมือนมันกำลังเกิดขึ้นกับเพื่อนของเรา
“มีใครอีกไหมหนอที่จะได้อ่านจดหมายในสมุดบันทึกนี้ นอกจากตัวฉัน มีใครบ้างไหมหนอที่จะปลอบโยนฉัน” ...ผมคงต้องขีดเส้นใต้คำว่า บันทึกลับ ไว้ตัวใหญ่ๆ เพราะทุกตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนหนังสือเล่มนี้ เป็นความลับของเธอ คือความรัก ความโกรธ ความสิ้นหวัง และการกลับมามีความหวัง แต่สุดท้ายมันคือความตายที่เธอได้รับ
เมื่ออ่านไปถึงตอนจบผมกลับรู้สึกว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้น มันใกล้ชิดมากกว่าความตายของเด็กสาวชาวยิวคนหนึ่ง ในจำนวนรวมกว่า 6 ล้านคนที่ต้องตายในสงคราม แต่มันคือการสูญเสียเพื่อนคนหนึ่งไป เมื่อเราได้อ่านบันทึกของเธอ ก็เหมือนเรากำลังทำความรู้จักเธอ
“ฉันจะทำให้สมุดบันทึกเล่มนี้เป็นเสมือนเพื่อนสนิทคนเดียวของฉัน จึงขอตั้งชื่อสมุดนี้ว่า คิตตี้” ...แอนน์ แฟร้งค์ จะแทนคนที่เธอเขียนคุยด้วยในบันทึกว่า “คิตตี้” คิตตี้คือเพื่อนในจินตนาการของเธอ ในขณะเดียวกันคิตตี้คือคนอ่าน คือคุณและผมที่กำลังเปิดอ่านบันทึกลับฉบับนี้ ดังนั้นหลายอย่างที่เกิดขึ้นในหนังสือ ก็เป็นความลับของแอนน์ แฟร้งค์กับผู้อ่าน
บันทึกหน้าแรกเริ่มต้นขึ้นในวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 1942 ในวันที่เธอยังใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอกอย่างเกือบปกติสุข แอนน์ แฟร้งค์ เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะ ชีวิตเธอเข้าขั้นสมบูรณ์แบบ ผิดเพียงอย่างเดียวที่เธอเกิดมาเป็นชาวยิว ในยุคสมัยที่พรรคนาซี ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เรืองอำนาจ และกำลังจะกวาดล้างชาวยิวให้สิ้นซาก
แอนน์ แฟร้งค์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องถูกจัดการ เธออพยพไปอยู่เนเธอร์แลนด์กับครอบครัว ด้วยความหวังแต่เพียงว่าจะรอดจากเงื้อมมือของพวกนาซี
“พวกเราแต่ละคนล้วนเดินไปสู่ความตายทั้งสิ้น และทั้งหมดนี้เพียงเพราะพวกเราเกิดเป็นชาวยิว”
แอนน์ แฟรงค์ เล่าให้คนอ่านฟังว่าเธอย้ายเข้ามาอยู่ในที่ซ่อนลับ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1942 จากบ้านเกิดเยอรมัน ต้องอพยพมาอยู่เนเธอร์แลนด์ จากเนเธอร์แลนด์ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้าไปอยู่ในที่ซ่อนลับ “ชาวยิวผู้ลำเค็ญเหล่านี้จะถูกส่งตัวไปยังสถานที่สกปรกโสโครก เพื่อเอาไปฆ่าเหมือนวัวเหมือนควาย ฉันไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้เลย เพียงนึกถึงก็รู้สึกเหมือนฝันร้ายจริงๆ”
สำหรับใครที่คิดว่าหนังสือเล่มนี้คงเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง หดหู่ ผมอยากจะบอกว่ามันไม่จริงเลย ส่วนใหญ่แล้ว แอนน์เลือกบรรยายชีวิตความเป็นอยู่ของเธอร่วมกับสมาชิกในที่ซ่อนลับอีกทั้งหมด 8 คน แอนน์บรรยายทุกอย่างได้เห็นภาพ จนบางครั้งผมคิดว่าตัวเองคือสมาชิกคนที่ 9 ในที่ซ่อนแห่งนี้
- มาร์กอท แฟรงค์ พี่สาวของแอนน์ เธอเป็นเด็กสาวเรียบร้อย พูดจาไพเราะ และหัวอ่อนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามของแอนน์
- อ็อตโต แฟรงค์ พ่อของแอนน์ เขาคือผู้นำครอบครัว อ็อตโตคือคนที่คอยวางแผนจัดการ ให้ทุกอย่างในที่ซ่อนลับดำเนินต่อไป เขาเป็นคนที่แอนน์รักและเคารพที่สุด
- อีดิธ แฟรงค์ แม่ของแอนน์ แอนน์มักทะเลาะกับแม่ของเธอเสมอ และเธอขาดความเคารพนับถือในตัวแม่ สืบเนื่องจากสิ่งที่แม่ปฏิบัติต่อเธอ แต่อย่างไรแอนน์ก็ยังคงรักแม่ของเธอ
- หมอดุสเซิล สมาชิกคนสุดท้ายที่เข้ามาในที่ซ่อนลับ เขาเป็นหมอฟันอายุ 50 ปี เจ้าระเบียบและมักจะทะเลาะกับคนอื่นๆ ในที่ซ่อนลับเป็นประจำ เขาเข้ากับใครไม่ค่อยได้
- นายวานดาน เป็นอีกครอบครัวที่อาศัยอยู่กับแอนน์ แอนน์ไม่ได้กล่าวถึงเขามากนัก
- นางวานดาน ภรรยาของนายวานดาน หญิงสาวเจ้าอารมณ์ ที่มักจะร้องโวยวายต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะเถียงกับทุกคน รวมถึงแอนน์
- ปีเตอร์ วานดาน เด็กหนุ่มอายุ 17 ปี ผู้เงียบขรึม ไม่สุงสิงกับใคร และในตอนท้ายของบันทึกเขาได้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากขึ้นกับแอนน์
“เขากอดฉันแน่นกระชับ ไหล่ซ้ายของฉันแนบกับแผ่นอกของเขา หัวใจเริ่มเต้นเร็ว เขาจับศีรษะของฉันให้ซบอยู่บนบ่าเขา และแล้วโดยไม่ทันรู้ตัว เขาก็จูบฉัน จูบนั้นสัมผัสผ่านเส้นผมไปต้องแก้มและหู”
...อย่างที่กล่าวไปตอนต้น บันทึกของแอนน์ไม่ได้เต็มไปด้วยเรื่องราวของสงคราม กลับกันมันคือบันทึกของชีวิต ที่มีเรื่องราวมากมายเกินกว่าจะเล่าออกมาให้ทุกคนฟังได้หมด ดังนั้นผมจึงหยิบเรื่องราวของความรัก ระหว่างแอนน์กับปีเตอร์มาเล่าสู่กันฟัง
ในความรู้สึกของผู้อ่านเช่นผม ความรักของเขาทั้งสองเกิดขึ้นจากความสับสนและสิ้นหวัง บางครั้งสิ่งที่แอนน์เจอ มันยากเกินกว่าที่เธอจะอยู่คนเดียว การมีปีเตอร์ที่ช่วงวัยใกล้เคียงกันเข้ามาแชร์ความรู้สึกซึ่งกันและกัน ช่วยปลอมประโลมให้แอนน์รู้สึกไม่ว้าเหว่สิ้นหวังไปมากกว่าเดิม และบางครั้งรอยจูบก็ส่งพลัง และความหวังให้เรามีชีวิตต่อในวันที่สิ้นไร้หนทาง
“ความรักคือการได้ร่วมบางสิ่งบางอย่าง ให้บางสิ่งไปและรับบางสิ่งตอบมา การเสียเกียรติไม่สำคัญนักหรอก ตราบใดที่รู้ว่าชีวิตเรามีคนอยู่เคียงแนบข้าง คนที่เข้าใจเราและคนที่ไม่ต้องไปแบ่งให้แก่ใครอื่น ฉันเป็นสุขทุกครั้งที่เห็นเขาและเป็นสุขมากยิ่งขึ้น หากยามใดที่มีเขาอยู่ด้วยดวงอาทิตย์ส่องแสงสดใส”
การได้อ่านเรื่องราวของแอนน์ ช่วยให้ผมมีความหวัง มันทำให้ผมรู้สึกว่า ชีวิตที่กำลังเจอนั้น ก็ไม่ได้แย่นักหรอก แม้เราไม่สามารถนำความทุกข์มาเปรียบเทียบซึ่งกันและกันได้ คนทุกคนต่างมีความทุกข์ และสิ่งที่ต้องก้าวผ่านเป็นของตัวเอง แต่อย่างน้อยมันทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้กำลังก้าวผ่านความทุกข์อยู่คนเดียว การได้อ่านบันทึกของเธอ เหมือนการได้แชร์แบ่งปันความทุกข์ซึ่งกันและกัน
“ตอนกลางคืนขณะอยู่บนเตียง ฉันมักเห็นภาพตัวเองอยู่ในห้องใต้ดินขังนักโทษ หรือไม่ก็เห็นภาพที่ซ่อนลับ ของเรากำลังถูกไฟไหม้ บางทีจะเห็นพวกใจเหี้ยมมาจับเราไปในตอนกลางคืน ภาพทุกภาพราวกับเกิดขึ้นจริงๆ จึงทำให้ฉันรู้สึกว่า คงจะเกิดขึ้นจริงในวันใดวันหนึ่งไม่ช้านี้”
เธอเขียนบันทึกนี้เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 1943 ในช่วงเวลาที่สิ้นหวังสุดขีด ฝ่ายสัมพันธมิตร ยังไม่สามารถยกพลขึ้นบกได้ มีเพียงการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตามจุดต่างๆ ในเยอรมัน และประเทศที่นาซีปกครอง เธอได้รับข่าวชาวยิว ที่หลบซ่อนอยู่ไม่ไกลจากเธอถูกจับและส่งไปค่ายกักกัน
เพียงแค่ได้อ่านความรู้สึกของเธอ ผมก็สัมผัสความรู้สึกบางส่วนแม้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยว แต่ชีวิตที่ต้องรอความตาย ต้องตายในค่ายกักกันอย่างทรมาน และเป็นความตายที่เราไม่ได้กระทำอะไรผิด มันเจ็บปวดและสิ้นหวังเป็นที่สุด
“ฉันยังคงหวัง หวัง หวังทุกสิ่ง ฉันหวังว่าจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ขอให้วาระสุดท้ายมาถึงเถิด”
แต่แล้วแอนก็เริ่มมีความหวัง 6 มิ.ย. 1944 วันดี-เดย์ ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่อ่าวนอร์มังดี ฝรั่งเศส วันนี้ถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นการยุติยึดครองยุโรปของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ รวมทั้งการบุกโต้กลับของสหภาพโซเวียตทางฝั่งตะวันออก นาซี เยอรมันกำลังอ่อนแอและแตกพ่าย ความหวังในอิสรภาพของแอนน์กำลังอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว
“เนื่องจากเธอไม่เคยใช้ชีวิตยามสงคราม ฉันจะเล่าให้ฟังสนุกๆ ว่าใครปรารถนาจะทำอะไรเป็นสิ่งแรก เมื่อได้รับอิสรภาพ มาร์กอทกับนายวาดานอยากอาบน้ำอุ่นเต็มอ่างจนล้น แช่น้ำซักครึ่งชั่วโมงให้หนำใจ นางวานดานจะกินเค้กทันที หมอดุสเซิ่ลไม่คิดถึงอะไรอื่น นอกจากอยากพบชาร์ล็อตเต่อภรรยาของเขา แม่อยากกินกาแฟดีๆ สักถ้วย พ่ออยากไปเยี่ยมคุณวอสคุยล์ก่อนสิ่งอื่น ปีเตอร์อยากจะเข้าเมือง สำหรับฉันนั้นเพียงการได้รับอิสรภาพก็แสนจะเป็นสุข ฉันอยากกลับบ้าน เดินเหินอย่างเสรี มีใครสักคนช่วยทำการบ้าน เท่านั้นแหละ”
...พวกเขาขอเพียงเท่านี้ แต่มันก็มากเกินไปสำหรับพวกนาซี สิ่งเดียวที่พวกเขาจะมอบให้ทุกคนในที่ซ่อนลับคือความตาย เช้าวันที่ 4 สิงหาคม 1944 เวลาระหว่าง 10.00 น. - 10.30 น. รถยนต์คันหนึ่งมาหยุด ณ บ้านเลขที่ 263 ถนนพริ้นเซิ่นกรัคต์ อัมสเตอร์ดัม สิบตำรวจเอกแห่งหน่วยราชการลับ พร้อมตำรวจหน่วยสวัสติกะ มีอาวุธครบมือลงมาจากรถ
กลุ่มคนดังกล่าวได้จับกุมคนทั้ง 8 คนในที่ซ่อนลับ พวกเขาถูกส่งตัวไปยังคุกอัมสเตอร์ดัม และถูกย้ายไปยังค่ายกักกันเอ๊าส์ชวิตส์ในโปแลนด์ นายวานดานถูกส่งตัวเข้าเตาแก๊ส นางวานดานเสียชีวิตในค่ายกักกันอีกแห่งหนึ่ง ปีเตอร์ วานดาน ถูกบังคับให้ร่วมเดินแถวสู่ความตาย แม่ของแอนน์ตายเพราะขาดสารอาหาร มาร์กอทพี่สาวของแอนน์ ตายเพราะโรคไทฟอยด์ระบาด เนื่องจากขาดสารอาหารและความสกปรก หลังจากมาร์กอทเสียชีวิตไม่กี่วัน แอนน์ก็เสียชีวิตตามไปด้วยโรคเดียวกัน…
แม้ทุกคนจะรู้ตอนจบของหนังสือเล่มนี้อยู่แล้วว่าแอนน์ตาย แต่การได้อ่านความรู้สึกนึกคิดของแอนน์ มันทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของชีวิตเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่งได้เต็มเปี่ยม ไม่มีใครในโลกนี้สมควรตาย เพียงเพราะต่างศาสนา ความเชื่อ เผ่าพันธุ์ หรือแม้แต่การมีความคิดในเรื่องหนึ่งเรื่องใดต่างกัน คนทุกคนสมควรมีชีวิตอยู่ต่อไป หากเรารักชีวิตของเราเช่นใด คนอื่นก็รักชีวิตและมีความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่แตกต่างไปจากเรา เพราะเราล้วนเกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจ และมนุษย์ที่มีหัวใจจะไม่เข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ที่มีหัวใจเหมือนกัน…คงเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกหลังอ่าน The Diary of a Young Girl จบลง
ผมคิดว่าหนังสือบันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านง่าย แต่ในความเรียบง่ายนั้น ก็แฝงไปด้วยเรื่องราวของชีวิต ที่จะทำให้เรามีความหวัง เรื่องราวของสงครามที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าจุดจบของมันไม่เคยส่งผลดีกับใคร เรื่องราวของความรักในวันที่ชีวิตหมดหวัง หรือแม้แต่เรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวันที่แอนน์พบเจอมาและเล่าสู่กันฟัง มันเป็นหนังสือที่อ่านจบแล้ว ผู้อ่านจะได้เพื่อนผู้แข็งแกร่ง ตรงไปตรงมา และสดใสร่าเริง เพิ่มอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า แอนน์ แฟร้งค์ น่าเสียดายที่เพื่อนคนนี้เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่เช่นนั้นโลกใบนี้อาจจะมีนักคิด นักเขียน ที่ยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน เพราะนั่นคือความใฝ่ฝันของเธอ
ถ้าหากวันนี้แอนน์ แฟร้งค์ ยังมีชีวิตอยู่เธอคงจะภาวนาให้สงครามจบลง เหมือนที่มีประชากรในยูเครนอีกนับล้านคนตอนนี้ รวมทั้งเพื่อนบ้านในประเทศเมียนมาร์ ที่ก็ต่างภาวนาให้สงครามที่เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาสิ้นสุดลงสักที
//PODNATHAPHOB
โฆษณา