3 มี.ค. 2022 เวลา 12:59 • ประวัติศาสตร์
• ความเป็นเพื่อนมนุษย์อยู่เหนือสงคราม
เรื่องราวของชายสองคนที่ช่วยชีวิตผู้คน จากเหตุสังหารหมู่ในสงครามโลกครั้งที่ 2
1
ขึ้นชื่อว่าสงคราม เราจะต้องนึกถึงภาพของความสูญเสีย ความโหดร้าย และการล้มตายของผู้คน แต่ในบางแง่มุม สงครามก็มีสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แม้แต่กับคนที่เป็นศัตรูของเรา อย่างเช่นเรื่องราวของชายสองคนนี้
1
ชิอุเนะ สุกิฮาระ (Chiune Sugihara) เป็นนักการทูตชาวญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเคานัส (Kaunas) ในประเทศลิทัวเนีย
1
ชิอุเนะ สุกิฮาระ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมันได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในทวีปยุโรป (โฮโลคอสต์ Holocaust) ทำให้ชาวยิวจำนวนมากต้องหาทางเอาชีวิตรอด ซึ่งก็รวมถึงกลุ่มชาวยิวที่อยู่ในลิทัวเนียรวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างโปแลนด์
แม้ว่าญี่ปุ่นจะถือเป็นฝ่ายเดียวกันกับนาซีเยอรมัน แต่ด้วยมนุษยธรรมและฐานะของการเป็นมนุษย์ ตัวของสุกิฮาระก็ได้ตัดสินใจที่จะช่วยเหลือชาวยิวให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
การช่วยเหลือของสุกิฮาระ ก็คือการมอบ Transit Visa หรือวีซ่าระยะสั้นสำหรับเดินทางไปญี่ปุ่นให้กับชาวยิวเหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกเขาสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และยังเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าพวกเขาเป็นคนในกำกับของญี่ปุ่น นาซีเยอรมันจะไม่สามารถทำอะไรกับพวกเขาได้
สุกิฮาระและภรรยาของเขาช่วยกันออก Transit Visa เป็นจำนวนกว่าหลายหมื่นฉบับเพื่อแจกจ่ายให้กับชาวยิว แต่การกระทำของสุกิฮาระก็ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่พอใจ สุกิฮาระจึงถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และสถานทูตญี่ปุ่นประจำลิทัวเนียก็ถูกสั่งปิด
แม้ว่าจะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่สุกิฮาระยังคงทำ Transit Visa เพื่อช่วยเหลือชาวยิวต่อไป จวบจนวินาทีสุดท้ายที่เขาอยู่ในลิทัวเนีย ระหว่างที่สุกิฮาระกำลังนั่งรถไฟเพื่อออกเดินทางจากลิทัวเนีย เขาก็ได้โปรย Transit Visa ออกนอกหน้าต่างให้กับชาวยิวที่อยู่ด้านนอกขณะที่รถไฟกำลังแล่นผ่านอีกด้วย
เรื่องราวของสุกิฮาระไม่เคยถูกพูดถึงเลย จนกระทั่งในปี 1984 เมื่อทางการอิสราเอลได้มอบรางวัล The Righteous of Nations ให้กับสุกิฮาระในฐานะบุคคลที่ช่วยเหลือชีวิตชาวยิว คาดการณ์ว่า มีชาวยิวที่รอดชีวิตภายใต้การช่วยเหลือของสุกิฮาระประมาณ 6,000 ถึง 10,000 คน
สุกิฮาระ ภรรยา และตัวแทนของอิสราเอลที่มอบรางวัลให้กับเขา
จอห์น ราเบ (John Rabe) เป็นนักธุรกิจชาวเยอรมันที่ทำงานอยู่ในบริษัทซีเมนส์ (Siemens) และเขายังเป็นสมาชิกของพรรคนาซี โดยตั้งแต่ช่วงปี 1910 จนถึง 1938 ราเบได้มาประจำการอยู่ในบริษัทซีเมนต์ที่ตั้งอยู่ในจีน
1
เมื่อญี่ปุ่นบุกโจมตีจีน และก่อโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ชาวจีนในเมืองนานกิง (Nanking) ราเบที่อยู่ในนานกิงก็ได้หาทางช่วยเหลือชาวจีนให้รอดพ้นจากการสังหารโหดของทหารญี่ปุ่น
โดยสิ่งที่ราเบทำ ก็คือเขาได้สร้างเขตปลอดภัยภายในนานกิง เพื่อให้ชาวจีนที่เหลือรอดชีวิตเข้าไปอยู่ เขาได้ใช้สถานะของการเป็นสมาชิกพรรคนาซี เพื่อคุ้มครองชาวจีนและการันตีว่า ทหารญี่ปุ่นจะไม่สามารถทำอะไรกับชาวจีนที่อยู่ในเขตปลอดภัยนี้ได้
ธงนาซีเยอรมันที่เป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้าย แต่สำหรับชาวจีนในนานกิง ธงผืนนี้กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการเอาชีวิตรอดของพวกเขา คาดการณ์ว่า มีชาวจีนที่รอดชีวิตจากการช่วยเหลือของราเบมากถึง 200,000 คน
หลังสงครามโลกจบลง ด้วยสถานะของสมาชิกพรรคนาซี ก็ได้ทำให้ราเบถูกตั้งข้อหาว่า เขามีส่วนกับความโหดร้ายที่นาซีกระทำ แต่สุดท้ายสิ่งที่เขากระทำก็ได้พิสูจน์แล้วว่า 'เขาไม่ใช่นาซี' ทำให้ราเบรอดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าว
จอห์น ราเบ
และในฐานะของวีรบุรุษผู้ช่วยชีวิตชาวจีน ทำให้ในช่วงปี 1948 จนถึง 1949 ชาวเมืองนานกิงก็ได้ส่งอาหารชั้นดีจากจีนให้กับเขาเป็นประจำทุกเดือน รวมถึงยังระดมเงินได้กว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อมอบให้กับราเบอีกด้วย
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา