4 มี.ค. 2022 เวลา 05:53 • ความงาม
เสริมหน้าอก (breast augmentation) ตอนที่ 2
2
สวัสดีครับ วันนี้มาต่อกันเรื่องผ่าตัดเสริมหน้าอกต่อจากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเราได้คุยกันเรื่องแผลผ่าตัด ชั้นของการใส่ซิลิโคนและรูปทรงซิลิโคน วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องความสูง ขนาดและพื้นผิวของซิลิโคน รวมถึงการฉีดไขมันกันครับ
ข้อมูลสำคัญที่ควรทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัดทั้ง 6 ข้อ (ต่อ)
4. ความสูงของซิลิโคนแบ่งได้เป็น สูงน้อย ปานกลาง สูงมาก และสูงมากที่สุด จะใช้แบบไหนก็ขึ้นกับสองปัจจัย คือความต้องการของผู้เข้ารับการผ่าตัดว่าต้องการให้หน้าอกใหญ่มากแค่ไหน และปริมาณเนื้อหน้าอกของผู้เข้ารับการผ่าตัด คนที่มีเนื้อหน้าอกมากก็จะใส่ซิลิโคนได้สูงกว่าคนที่มีเนื้อหน้าอกน้อยครับ
ส่วนขนาดหรือปริมาตรของซิลิโคนที่เหมาะสมจะคำนวณจากความสูงของซิลิโคนและความกว้างของฐานหน้าอกซึ่งวัดโดยแพทย์ บางท่านอาจคิดว่าไหนๆผ่าตัดแล้วก็อยากได้ขนาดใหญ่ไว้ก่อน แต่ในความเป็นจริงถ้าใส่ซิลิโคนที่มีขนาดใหญ่เกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หลายอย่าง เช่น ทรงหน้าอกดูไม่เป็นธรรมชาติ หน้าอกคล้อยออกด้านข้าง คลำได้ขอบซิลิโคน ชาบริเวณหัวนม ปวดคอและหลัง เป็นต้น
5. พื้นผิวของซิลิโคน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผิวเรียบ (Smooth/nanotexture) และผิวทราย (Texture)
• ซิลิโคนผิวเรียบ มีโอกาสคลำได้ขอบน้อยกว่าผิวทราย แต่พบว่าเกิดพังผืดรัดนมได้มากกว่าผิวทรายเล็กน้อยหากเสริมในชั้นใต้เนื้อนม และในระยะยาวพบว่าเต้านมส่วนที่อยู่ใต้ต่อหัวนมยืดขยายออกทำให้รูปทรงเต้านมผิดสัดส่วน หัวนมดูลอยสูงได้มากกว่าแบบผิวทราย
• ซิลิโคนผิวทราย พบพังผืดรัดนมได้น้อยกว่าผิวเรียบ แต่มีโอกาสคลำได้ขอบมากกว่า ในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของต่อมนํ้าเหลือง (Anaplastic Large Cell Lymphoma หรือ ALCL) มากขึ้นเล็กน้อย โดยในชนิดที่มีความละเอียดน้อย (Macrotexture) จะมีความเสี่ยงมากกว่าเมื่อเทียบกับชนิดที่มีความละเอียดมาก (Microtexture) สำหรับการใช้ซิลิโคนผิวเรียบยังไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งชนิดนี้
6. การเติมไขมันหน้าอก คือการดูดไขมันจากบริเวณหน้าท้อง ต้นขาหรือก้นมาฉีดเข้าไปที่ชั้นใต้ผิวหนังที่ปกคลุมซิลิโคน ทำให้หน้าอกดูเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นก้อนหรือเห็นขอบซิลิโคน เหมาะสำหรับการเสริมซิลิโคนในชั้นใต้เนื้อนม (Subglandular) หรือระหว่างชั้นกล้ามเนื้อกับเนื้อนม (Subfascial) คนที่มีเนื้อหน้าอกน้อย หรือต้องการใส่ซิลิโคนทรงสูงมาก
ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้ภายหลังการผ่าตัด มีดังนี้ครับ
• มีเลือดออกบริเวณใต้แผลผ่าตัด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นก็จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด
• แผลเป็น ในบางคนอาจพบแผลเป็นนูนได้ แต่สามารถแก้ไขด้วยการฉีดสเตียรอยด์ที่บริเวณแผลเป็นนูน
• หัวนมชา โดยส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี มีส่วนน้อยประมาณ 15-20% ที่ความรู้สึกอาจจะกลับมาไม่เหมือนปกติก่อนผ่าตัด
• การคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคน (Rippling) มักพบในรายที่ใช้ซิลิโคนผิวทรายและซิลิโคนขนาดใหญ่เกินไป หากต้องการแก้ไขต้องผ่าตัดลดขนาดของซิลิโคนลง, เปลี่ยนโพรงให้ลึกขึ้น และเปลี่ยนเป็นซิลิโคนผิวเรียบ ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งครับ
• เต้านมส่วนที่อยู่ใต้ต่อหัวนมยืดขยายออกทำให้รูปทรงเต้านมผิดสัดส่วน หัวนมดูลอยสูง (Bottoming out) เกิดจากน้ำหนักของซิลิโคนที่ถ่วงลงมาทำให้เนื้อเต้านมส่วนล่างยืดขยายออก ภาวะนี้จะพบได้มากกว่าในซิลิโคนชนิดผิวเรียบ
• ผิวซิลิโคนรั่ว/ปริแตก ในซิลิโคนรุ่นใหม่ๆ พบอัตราการเกิดปัญหานี้น้อยมาก ประมาณ 1% ต่อปี มักจะต้องวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพ MRI ถ้ามีภาวะนี้เกิดขึ้นแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเอาซิลิโคนออก
• พังผืดรัดนม (Capsular contracture) มีหลายระดับ หากเป็นในระดับที่รุนแรงอาจมีอาการปวด หรือมีเต้านมผิดรูปได้ พิจารณาพบแพทย์เพื่อผ่าตัดแก้ไข
• มะเร็งของต่อมนํ้าเหลือง (BIA-ALCL) จากการศึกษาพบว่ามักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดหลายปี ผู้เข้ารับการผ่าตัดมักจะมาด้วยเต้านมบวมนํ้าหรือคลำได้ก้อนที่เต้านม การรักษาได้แก่การผ่าตัดเอาซิลิโคนและถุงหุ้มซิลิโคน (Capsule) ออก ในบางรายอาจต้องได้รับการฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัด
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าการเสริมหน้าอกมีสิ่งที่ต้องคิดและวางแผนค่อนข้างมากเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จากผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ และเกิดปัญหาตามมาน้อยที่สุด ดังนั้นหากใครสนใจเข้ารับผ่าตัดเสริมหน้าอก ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุย ซักถามทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดนะครับ
หวังว่าบทความนี้จะทำให้พอเห็นภาพรวมของการผ่าตัดเสริมหน้าอกมากขึ้น เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจจะเสริมหน้าอก …..สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่สละเวลาอ่านจนจบนะครับ 😘
โฆษณา