5 มี.ค. 2022 เวลา 09:32 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้าจะเห็นไตรลักษณ์ได้ จิตต้องไม่เผลอ จิตต้องไม่เพ่ง
ถ้าเผลอไม่เห็นสภาวะเลย ถ้าเพ่งไม่เห็นไตรลักษณ์”
“ … เราภาวนาจะเอามรรคผลนิพพาน
ดูสภาวะแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ของสภาวะ
เวลาเราภาวนาจะเอามรรคผลนิพพาน
ดูสภาวะแล้วก็เห็นไตรลักษณ์ของสภาวะ
สภาวะก็เอาของที่เราเห็นจริงๆ ไม่ต้องใช้มโนเอา
คิดเอาๆ ไม่ได้ หรือเรียนเยอะแล้วก็ท่องมา
กิเลสไม่กลัวตำรา กิเลสมันกลัวการเห็น
ถ้าเราเห็นกิเลส กิเลสดับทันที
ถ้ากิเลสเกิดใจฟุ้งซ่านแล้วก็พลิกตำรา
ฟุ้งซ่านมาจากอันนี้ ทำอาการอย่างนี้ เกิดจากอันนี้
ก็ยังฟุ้งยิ่งกว่าเก่าอีก
ฉะนั้นดูของจริงๆ ต้องเห็นเอา
ฉะนั้นเราเห็นกายรู้สึก
ทีแรกก็ต้องรู้สึกในกายก่อน ถึงจะเห็นกายได้
ถ้าเราใจลอยเราก็ไม่เห็นกาย
ถ้าเรานั่งเพ่งกายอยู่ กายก็ไม่แสดงไตรลักษณ์ให้ดู
ฉะนั้นถ้าเมื่อไรเราเผลอเราจะไม่เห็นสภาวะ
ถ้าเมื่อไรเราเพ่งเห็นสภาวะแต่จะไม่เห็นไตรลักษณ์
ฉะนั้นเผลอกับเพ่งก็จะทำงานอย่างนี้
ถ้าเผลอลืมสภาวะไป
อย่างเวลาเราใจลอยเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน
อะไรเราไม่รู้แล้ว
ขณะที่เราใจลอย
เราหายใจออกหายใจเข้าเราไม่รู้แล้ว
เพราะฉะนั้นเวลาเราใจลอยเราจะลืมสภาวะไปเลย
ทิ้งมันไป แล้วไป ไปอยู่ในโลกของความคิด
ส่วนใหญ่ไปอยู่กับอารมณ์บัญญัติ
อย่างเวลาตาเราเห็นรูป
ถ้าเราภาวนาอยู่เราก็เห็นว่าแค่วัตถุธาตุที่จิตไปเห็น
แล้วถ้ารู้ไม่ทัน นี่ผู้หญิงสวยจังเลย
ลืมไปแล้วว่าจริงๆ ที่เห็นแค่สีเท่านั้นเอง
สีที่มาตัดกันเป็นรูปร่างอย่างนี้
1
ฉะนั้นเมื่อไรที่เราขาดสติ เราหลง
เราจะไม่เห็นตัวสภาวะ จะเห็นแต่บัญญัติ
แต่เมื่อไรเราเพ่งอยู่ เพ่งสภาวะอยู่
เราเห็นสภาวะแต่เราจะไม่เห็นไตรลักษณ์
ฉะนั้นอย่างเรานั่งเพ่งจิตเรารวมลงไปอยู่กับลมหายใจ
สิ่งที่ได้คือความสงบ จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
คือแนบลงไปในลมหายใจ
จะเห็นไตรลักษณ์ไหม จะไม่เห็น
หรือเราดูท้องพองยุบ จิตเราไหลลงไปจมอยู่ที่ท้อง
เราเพ่งท้องได้ความสงบแต่จะไม่เห็นไตรลักษณ์
ถ้าจะเห็นไตรลักษณ์ได้ จิตต้องไม่เผลอ จิตต้องไม่เพ่ง
ถ้าเผลอไม่เห็นสภาวะเลย ถ้าเพ่งไม่เห็นไตรลักษณ์
ถ้าไม่เผลอ ถ้าไม่เพ่ง
จะเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์
ฉะนั้นสภาวะจิตที่มันไม่เผลอ สภาวะจิตที่มันไม่เพ่ง
ตัวนี้สำคัญ
พวกที่เรียนกับหลวงพ่อแรกๆ หลวงพ่อจะสอน 2 อันนี้
เรื่องเผลอกับเพ่ง เพราะว่าผิดตลอด
แล้วมันผิดตลอดสายของการปฏิบัติด้วย
ไม่เผลอก็เพ่งมีเท่านี้ล่ะ
จนถึงได้พระอนาคามี ก็ยังมีเรื่องเผลอเรื่องเพ่ง
ไม่พ้นหรอก
การเผลอ จิตมันมีพฤติกรรมมันหลงไป หรือมันฟุ้งซ่าน
การเพ่งก็จิตมีพฤติกรรมจดจ้องลงไป
ตราบใดที่จิตยังมีพฤติกรรมอยู่
เบื้องหลังก็มีตัณหาซ่อนอยู่
หัดรู้ หัดรู้สภาวะไปด้วยจิตที่ไม่เผลอไป ไม่เพ่งไป
จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่
ทำอย่างไรจะมีจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว ก็ต้องฝึก
ทำอย่างไรจะมีสติรู้สภาวะได้ ก็ต้องฝึก
วิธีฝึกหลวงพ่อก็สอนอยู่แทบทุกวัน
สติเกิดจากถิรสัญญา การที่จิตจำสภาวะได้แม่น
ทีแรกจำไม่แม่นหรอก เห็นสภาวะไปเรื่อยๆ
ทีแรกอย่างเราหายใจเข้าพุทหายใจออกโธอยู่อย่างนี้
อยู่ๆ จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น
จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่นก็เผลอไปยาวมากเลย
เป็นชั่วโมงเลยเพิ่งนึกได้
อ้าวลืมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธเสียแล้ว
เผลอไปชั่วโมงหนึ่งถึงจำได้ ระลึกได้
เอาใหม่ๆ หายใจเข้าพุทหายใจออกโธใหม่
คราวนี้พัฒนาขึ้นเผลอไป 50 นาทีแล้วรู้
ถือว่าเก่งขึ้นแล้ว
อย่างหลายคนส่งการบ้าน
แล้วหลวงพ่อบอก เออ ดีๆ
ดีคือเคยเผลอ 60 นาทีตอนนี้เผลอ 58 นาที
ดีไหม ก็ดี ดีขึ้น
ดีจริงไหม ยังต้องฝึกอีกเยอะเลย
ฉะนั้นหลวงพ่อชมว่าดีๆ อย่าย่ามใจ
ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนอีกเยอะเลย
ถ้าหลวงพ่อบอกนี่ก็ผิดๆ ท้อแท้ใจเลิกปฏิบัติ
ทริกอันนี้หลวงปู่เทสก์ท่านสอน
มีวันหนึ่งนั่งอยู่กับท่าน มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาส่งการบ้าน ท่านก็ฟังท่านเป็นนักฟังที่ดี ใครพูดอะไรท่านก็ตั้งใจฟัง ฟังก็พยักหน้าไปยิ้มไป ท่านเมตตาสูง ดีๆ นี้ก็ดีๆ
เราดู ดีตรงไหนมันหลงจะตายไป หลวงปู่ว่ามันดี๊ดี ก็ดีๆ อยู่อย่างนี้นานเลยจนเขาไป ท่านก็แนะให้ทำอย่างนี้อีกๆ แนะให้นิดหน่อย
พอเขาไปแล้วหลวงปู่ก็หันมาบอก “เขาภาวนา เขาดีขึ้นนิดหนึ่งเราก็บอกว่าดี เขาจะได้มีกำลังใจ”
หลวงพ่อก็ใช้หลักนี้
เพราะฉะนั้นถ้าส่งการบ้านแล้วหลวงพ่อว่าดี
อย่านึกว่าดีจริง ดีนิดหน่อย ดีกว่าเก่าอะไรอย่างนี้
ไม่เผลอ-ไม่เพ่ง
มาหัดหัดรู้สภาวะแล้วต่อไปก็เห็นสภาวะ
จะรู้สภาวะได้ต้องไม่เผลอ ต้องไม่เพ่งเอาไว้
ถ้าเผลอจะไม่เห็นสภาวะ ถ้าเพ่งจะไม่เห็นไตรลักษณ์
2 ตัวนี้ ฉะนั้นที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญพวกเรามากมาย
ว่าต้องไม่เผลอ ต้องไม่เพ่ง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ไม่ใช่พูดส่งเดช หาสินค้าตัวใหม่มาพูด
ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านไม่เห็นเคยสอนเลย
ท่านสอนแต่ว่าพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ 10 ปีแล้วก็ค่อยเข้าใจว่าท่านสอนอะไร
จริงๆ ให้พุทโธ พุทโธไปหรือหายใจไป
พอจิตมันเผลอแล้วรู้ จิตมันเผลอแล้วรู้
พอรู้บ่อยๆ เข้าต่อไปมันจะรู้ได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงจุดหนึ่งเผลอปุ๊บรู้ปั๊บ
เผลอปุ๊บรู้ปั๊บเลย จิตขยับตัวนิดเดียวเห็นแล้ว
สติมันเร็ว ฉะนั้นก่อนสติจะเร็ว สติมันก็ช้ามาก่อนแล้ว
ไม่มีใครวิเศษมาแต่ไหนแต่ไรหรอก
เริ่มต้นก็ล้มลุกคลุกคลานเหมือนๆ กันล่ะ
เพราะฉะนั้นเราหัดทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ
เช่น อยู่กับลมหายใจเข้าออกอะไรอย่างนี้
อยู่กับพุทโธ อยู่กับร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน
ให้มันอยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่ง
แล้วอ่านจิตตัวเองให้ออก
จิตเผลอทอดทิ้งอารมณ์กรรมฐานไปแล้ว
ทิ้งบ้านไปแล้ว ทิ้งวิหารธรรมไปแล้ว
รู้ทันว่าเผลอ เผลอแล้วรู้ เผลอแล้วรู้ไป
ต่อไปจิตจำสภาวะการเผลอได้
อ๋อ เผลอมันเป็นอย่างนี้เองจิตมันไหลไป
พอมันจำได้แล้ว ต่อไปพอมันเริ่มเคลื่อนนิดเดียว
เริ่มไหลนิดเดียวมันเห็นแล้ว
ฉะนั้นสติจะเกิดอัตโนมัติ
สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น
อย่างเราจำสภาวะที่ไหลไปเผลอไปได้แม่น
พอเผลอปุ๊บสติจะเกิดเองเลย
เพราะฉะนั้นต้องทำกรรมฐาน ต้องมีวิหารธรรม
วิหารธรรมมันเหมือนเป็นที่สังเกต
พอจิตมันอยู่กับวิหารธรรมอยู่เรารู้
เคลื่อนไปจากวิหารธรรมเราก็จะเห็น
แต่ถ้าไม่มีวิหารธรรมเลยเหมือนเคลื่อนอยู่ในอวกาศเลย
ถ้าไม่มีฉากหลังเป็นดาวต่างๆ
เราจะไม่รู้ว่ามีความเคลื่อนไป
ที่เราเห็นเครื่องบินมันบินในท้องฟ้า มันเคลื่อนไป
มันมีฉากหลังเราถึงเห็นอย่างนั้น
ฉากหลังมันเปลี่ยน
เช่น เมฆก้อนนี้เคยอยู่ตรงนี้
เครื่องบินมันทะลุอยู่ในเมฆแล้ว
หรือกลางคืนเครื่องบินบินมาเห็นมันเลื่อนเคลื่อนที่
เพราะมันผ่านดาวแต่ละดวง มันมีที่สังเกต
ถ้ามันอยู่ในอวกาศที่ว่างเปล่า
เราจะไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนเลย จะไม่รู้หรอก
เพราะฉะนั้นจิตถ้าไปอยู่ในอวกาศจะไม่เห็นการเคลื่อน
อวกาศของจิตอยู่ตรงไหน
ในอากาสานัญจายตนะ อยู่ในช่องว่าง
จิตไปอยู่ในความว่าง
จะไม่เห็นหรอกว่ามันเคลื่อน
แล้วทรงสบายอยู่อย่างนั้นเป็นปีก็อยู่ได้
แต่ถ้าเรามีเครื่องอยู่จิตตั้งไว้อย่างนี้
พอมันเคลื่อนจะเห็นแล้วมีการเคลื่อน
มีระยะทางขึ้นมา มีเวลาเกิดขึ้น
ทำไมมีระยะทางมีเวลาเกิดขึ้น
มีสเปซ มีไทม์เกิดขึ้น
เพราะมันมี 2 จุดที่แตกต่างกัน
1
ฉะนั้นเราต้องมีเครื่องอยู่ มีวิหารธรรม
พอจิตทิ้งวิหารธรรมนั่นคือจิตขาดสติไปแล้ว เรารู้ทัน
พอรู้ทันปุ๊บ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาใหม่
ตั้งขึ้นใหม่ หนีไปอีก รู้ รู้แล้วก็ตั้งใหม่
ต่อไปนี้มันจะหลงสั้นลงๆ
จนกระทั่งแค่มันไหวตัวเพื่อจะหลุดออกไป
ไหวตัวนิดเดียวก็เห็นแล้ว
สติเร็วไม่เผลอแล้ว
พอมันตั้งอยู่อย่างนี้ไม่เผลอแล้ว มันจะเพ่ง
เพ่งก็คือจ้องไว้กลัวจะเผลอ
ก็จ้องเอาไว้ไม่ให้คลาดสายตาเลย
จ้องไว้มันก็ไม่หนีไปไหนเลยนิ่งๆ อยู่
ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดู ไม่มีเกิดดับอะไรให้ดูหรอก
เพราะฉะนั้นเผลอกับเพ่งมันขวางการเจริญปัญญาของเราอยู่
เผลอก็คือไม่เห็นสภาวะ ลืมสภาวะไป
เพ่งก็ไม่เห็นไตรลักษณ์ มันนิ่งๆ
หัดรู้ ไม่ว่าจะเป็นการรู้รูปธรรม
หรือการรู้นามธรรมก็ใช้หลักอันนี้ล่ะ
อย่างถ้าเราดูจิตดูใจเรา
บางคนดูจิต บอกว่าดูจิตๆ แล้วว่างอยู่กับสุญญตา
ไม่ใช่สุญญตา ว่างอันนั้นยังไกลจากสุญญตามากเลย
แล้วก็ไม่เกี่ยวกับสุญญตาตัวจริงเลย
ว่างๆ นั้นเป็นช่องว่างเท่านั้นเอง
สเปซเฉยๆ เป็นแค่ช่องว่างเท่านั้นเอง
ไม่ได้เป็นสุญญตา คนละเรื่องเลย
ถ้าจิตหลงอยู่ในช่องว่าง รู้
จิตที่จะอยู่ในช่องว่างนี้มันมีการเคลื่อนไปแล้ว
มันเคลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องว่าง
ฉะนั้นถ้าจิตที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ จิตถึงฐาน
เราต้องฝึก จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ
ต่อไปพอจิตมันจะเคลื่อนเข้าไปในช่องว่างเราจะเห็น
พอเห็นปุ๊บการเคลื่อนจะดับ
ความตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้นอีก
เพราะฉะนั้นเวลารู้รูป
ถ้าจิตจมลงไปในรูปมันคือเพ่ง
รู้นามอย่างความว่างเป็นนามธรรม
เป็นอากาศ เรียกอากาสานัญจายตนะ
ถ้าจิตมันถลำลงไปเพ่งช่องว่าง
เพ่งความว่างอันนั้นเรารู้ นี่จิตส่งออกนอกแล้ว
จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นจิตก็จมลงไปในอารมณ์โน้นอารมณ์นี้
ถ้าไปแช่อยู่ในอารมณ์เดียวก็ได้สมถะ เพ่งเอาไว้เฉยๆ
ถ้าจับอารมณ์นี้กระโดดไปอารมณ์นั้น ไปอารมณ์นี้ก็ฟุ้งซ่าน ก็ไม่เห็นอะไรหรอกมันลืมสภาวะไป ลืมรูปธรรม ลืมนามธรรม กระโดดไปกระโดดมา
ถ้ามีสติอยู่รู้ทันจิตที่กระโดดปุ๊บ
การกระโดดนั้นดับทันที การไหลนั้นดับทันที
จิตก็รู้อยู่ที่ตัวสภาวะ
ฉะนั้นเบื้องต้นเราก็อยู่กับสภาวะของเรา
รูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้
อย่างเรารู้ร่างกายหายใจออก รู้ร่างกายหายใจเข้า
พอมันลืม มันลืมร่างกาย เรารู้นี่หลงไปแล้ว
หรือรู้ร่างกายหายใจออกหายใจเข้า
แล้วจิตมันหลงใหลเข้าไปเพ่งลมหายใจ
รู้ว่าจิตมันไหลลงไปจมอยู่ในลมหายใจ
จิตก็จะเลิกเพ่ง ถอนตัวออกมาเป็นแค่คนดู
ใช้หลักอย่างนี้
แล้วสุดท้ายไม่เผลอไม่เพ่ง
จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ก็ใช้จิตนี้ไปเจริญปัญญา เจริญอย่างไร
ถ้าจิตมันเป็นผู้รู้แล้ว
ทุกสิ่งที่ถูกรู้ จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม
ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ให้ดูได้ทั้งนั้น
เราบอกจิตเป็นผู้รู้แล้วไปรู้บัญญัติได้ไหม
รู้บัญญัติไม่มีไตรลักษณ์ เรื่องที่คิด
เพราะฉะนั้นกรรมฐานอย่าไปคิดเอา
ถ้าคิดเอาไม่มีทางเข้าใจธรรมะ
ความคิดไม่ใช่รูปธรรม ความคิดไม่ใช่นามธรรม
ความคิดมันภาพลวงตาหลอกๆ ไม่มีของจริงหรอก
ค่อยๆ ฝึกเอา ฉะนั้นขั้นต้นก็หัดเห็นสภาวะ
รู้สึกอยู่ในรูปธรรมนามธรรมนี้
ไม่เผลอไป ไม่เพ่งไป
ต่อมารูปธรรม นามธรรมมันจะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู
อย่างร่างกายนี้เรารู้สึกอยู่ในร่างกาย
เดี๋ยวก็เห็นร่างกายไม่เที่ยง
เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า
เดี๋ยวขยับซ้ายขยับขวา เปลี่ยนแปลงตลอด
เดี๋ยวยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนแปลงตลอด
ไม่เที่ยงเลย
หรือร่างกายมันเป็นทุกข์
หายใจออกก็ทุกข์ หายใจเข้าก็ทุกข์
ยืนนานก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์
เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์
ร่างกายมีแต่ทุกข์ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย
หรือร่างกายเป็นแค่วัตถุ
มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก
เป็นแค่วัตถุธาตุของโลก
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่เห็น อนัตตา
ถ้าดูจิตดูใจเราก็เห็น
จิตใจเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์
เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง
ดีก็ดีชั่วคราว ชั่วก็ชั่วชั่วคราว
โกรธก็ชั่วคราว โลภก็ชั่วคราว หลงก็ชั่วคราว
มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมดเลย
สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว
นี่จิตใจ ไปดูรูปก็ดูชั่วคราว
ไปฟังเสียงก็ชั่วคราว
ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายก็ชั่วคราว
ไปคิดก็คิดชั่วคราว
ไปเพ่งก็เพ่งชั่วคราว
ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เห็นมีแต่ของไม่เที่ยง
มีแต่ของไม่เที่ยง จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง
จิตดีจิตชั่วก็ไม่เที่ยง
จิตดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย
รู้ธรรมารมณ์ทางใจก็ไม่เที่ยง
สุดท้ายก็เข้าใจขึ้นมา
รู้แจ้งขึ้นมาว่ามันไม่เที่ยง
มันไม่ใช่ตัวตนอะไรที่แท้จริง
เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้หรอก
ฉะนั้นความสุข ความดี ความสงบ
เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้
มันเป็นของไม่เที่ยง
หรือดูจิตดูใจก็เห็น มันสุขเราก็ไม่ได้เจตนา
มันทุกข์เราก็ไม่ได้เจตนา
มันจะดีหรือมันจะโลภ โกรธ หลง
เราไม่ได้เจตนาให้มันเป็น
มันทำงานของมันได้เอง
ตรงนี้เราเห็นอนัตตา
จิตจะไปดูรูป หรือจิตจะไปฟังเสียง
หรือจิตจะไปดมกลิ่น หรือจะไปลิ้มรส
หรือจะไปคิดทางใจ
เราก็เลือกไม่ได้จิตมันทำของมันเอง
ฉะนั้นเราใช้กรรมฐานเราก็รู้จัก เห็น ดูไปเรื่อยๆ
ก็จะสังเกต ในที่สุดเราจะเห็นสภาวะได้ชัดเจน
ทำกรรมฐานไปจิตเคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนแล้วรู้
ทรงตัวขึ้นมาแล้วก็ค่อยเห็นไตรลักษณ์ของมัน
ไม่ยากหรอกอยู่ที่อดทนพากเพียรทำเอา
แล้วถ้าทำเก่งๆ แล้ว ดูให้เห็นพฤติกรรม
พฤติกรรมของจิต สังเกตพฤติกรรม มันละเอียด
มันละเอียดกว่าการดูกาย
ละเอียดกว่าการดูเวทนา
จะเห็นพฤติกรรมของมัน
เดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว
เดี๋ยวก็พยายามจะไม่ปรุงอะไรอย่างนี้ เห็นไป
พฤติกรรมของจิตมีตัณหาอุปาทานผลักดัน
ตัณหาอุปาทานมีอวิชชาซ่อนอยู่เบื้องหลัง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กุมภาพันธ์ 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา