1 เม.ย. 2022 เวลา 00:00 • ธุรกิจ
ของมันต้องมี! 5 สิ่งที่ SME ยุค Post-Covid ไม่มีไม่ได้แล้วววว
🗓นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุจกิจจำนวนมาก
5 อาวุธลับที่ SME ต้องมี รู้ทันตลาด ได้เปรียบคู่แข่ง
ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่กรรมวิธีผลิต จนถึงวิธีการขาย ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภค
รวมถึงเทรนด์โลกอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นอีกด้วย
วันนี้ KSME ได้รวบรวม 5 สิ่งที่ SME ควรมีติดตัวไว้เพื่อปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง และต่อยอดธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน จะมีทักษะไหนบ้าง ไปดูกันเลยครับ
การคิดนวัตกรรมใหม่
การคิดเชิงนวัตกรรม
นิยามของ การคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) คือ การคิดสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหา หรือพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ตอบสนองผู้คนหรือลูกค้า
ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือบริการใหม่ๆ หรือกระบวนการใหม่ ที่มีคุณค่า และสามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ได้
ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการท่านใด มีทักษะด้านนี้ไว้ติดตัว เชื่อได้เลยว่า จะครองใจผู้บริโภคไว้ได้อย่างแน่นอน เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกได้เลยว่า ผู้ประกอบการเจ้านี้ มีการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาได้ตลอดเวลา
ในทางกลับกัน ถ้าผู้ประกอบการไม่มีทักษะนี้ ทั้งผลิตภัณฑ์ ทั้งสินค้า ของเขาก็จะค่อยๆเสื่อมความนิยมและตายไป เพราะไม่ได้รับการพัฒนา ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาด้วย
โดย ผู้ประกอบการยุค Post-covid ที่อยากบ่มเพาะทักษะนี้ขึ้นในตัวเองหรือในทีมงานของตน สามารถมองหาหลักสูตร Reskill หรือ Upskill ที่เปิดสอนด้านนี้ และหาเวลาเข้าไปเรียนรู้ และเมื่อจบคอร์สนั้น ก็ควรนำความรู้นั้นมาปรับใช้ในการพัฒนาโปรดักส์ของตนจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์ที่สุด
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analysis
สำหรับทักษะด้านนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับผู้ประกอบการที่ทำอาชีพค้าขายเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการทุกธุรกิจ ควรมีทักษะนี้ไว้ติดตัวด้วย
อย่างล่าสุด ได้เข้าไปดูข้อมูล หรือ Data base ในเว็บไซต์ของ สสว. หรือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก็พบว่า
ในปีล่าสุดนี้ มีผู้ประกอบการรายย่อย ที่จัดอยู่ในนิยามของ Micro Business เกิดขึ้นมากกว่า 60,000 ราย และเมื่อค้นลึกลงไป ผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นใหม่นี้ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นธุรกิจทางการเกษตร
เมื่อเราได้ทราบข้อมูลนี้แล้ว เราย่อมเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ว่า จะทำธุรกิจอย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้
ยกตัวอย่าง ถ้าทำธุรกิจโลจิสติกส์อยู่ เมื่อทราบข้อมูลนี้มาก็ต้องนำมาวิเคราะห์ว่าจะปรับเอาข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการขยับขยายธุรกิจ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเพื่อเอื้อต่อกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร
ต้องยอมรับว่าในตอนนี้ ผู้ประกอบการไทย ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จาก Big data หรือ ใช้ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analysis เท่าที่ควร ทั้งที่ถ้ารู้วิธีในการนำไปปรับใช้ ก็จะได้ประโยชน์ในการปรับธุรกิจได้ไม่น้อยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลที่กล่าวข้างต้นว่า ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรเกิดขึ้นจำนวนมาก ดังนั้น การปรับใช้ Data Analysis เพื่อเพิ่มผลผลิตก็สามารถทำได้ไม่ยาก
เช่น การนำข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำฝนในพื้นที่หนึ่ง มาปรับใช้เพื่อวิเคราะห์ว่า ในช่วงเวลานี้ควรปลูกพืชอะไร จึงจะได้ผลผลิตที่ดี หรือสามารถนำมาใช้บริหารจัดการ ป้องกันวิกฤตที่จะเกิดขึ้น
เช่น ที่ดินของเราเป็นที่ลุ่ม และข้อมูลปริมาณน้ำฝนชี้ว่าจะมีฝนตกมากและเสี่ยงน้ำท่วม ก็ต้องมาคิดวางแผนแล้วว่าจะปลูกพืชอะไรถึงจะเหมาะสมกับสภาพนี้
โดยตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล
  • 1.
    SPSS ใช้วิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขด้านสถิติที่มีความแม่นยำ สามารถนำไปเป็นข้อมูลอ้างอิงกับงานวิชาการได้ดี
  • 2.
    ArcGIS โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ สามารถใช้วิเคราะห์ร่วมกันกับโลจิสตกส์ได้ แต่จะวิเคราะห์ได้ดีทางด้านพื้นที่
  • 3.
    Excel ด้วย Feature ที่มีประสิทธิภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง Form, PivotTable, VBA เป็นต้น ระบบของ Excel มีขนาดใหญ่มากเสียจนไม่มีเครื่องมือวิเคราะห์ใดที่สามารถทำได้โดดเด่นกว่าอีกแล้ว ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้คนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ตามความต้องการ
ความรู้เรื่องโลจิสติกส์
ความรู้เรื่องโลจิสติกส์
ทันทีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสอย่างมากนั่นคือ ธุรกิจโลจิสติกส์
เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องเปลี่ยนไปเพราะวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ นอกจากจะต้องปรับไปขายออนไลน์แล้ว ยังต้องพึ่งพาการส่งของหรือธุรกิจโลจิสติกส์ด้วย
และแม้ว่าเราไม่ได้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ ก็มีความจำเป็นต้องเรียนรู้หลักการพื้นฐานของการขนส่งโลจิสติกส์ไว้ด้วย
เช่น การวางแผนในการส่งสินค้าอย่างไรถึงจะช่วยประหยัดต้นทุน และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้มากที่สุด
นอกจากนั้นทักษะนี้ยังรวมไปถึง ทักษะในการบริหารจัดการคลังสินค้า หรือ Warehouse ในกรณีที่ของธุรกิจที่ต้องมี stock สินค้าด้วย
ที่สุดแล้ว ประโยชน์สูงสุดของการเรียนรู้ ทักษะการจัดการโลจิสติกส์ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการแน่นอน คือ การทำให้สามารถคำนวณต้นทุนสินค้า ต้นทุนการส่ง การจัดเก็บสินค้า stock ได้
นำสู่การตัดสินใจว่า จะ outsource การจัดการโลจิสติกส์นี้ไปยังธุรกิจที่เขารับดูแลและจัดการโลจิสติกส์นี้ไหม หรือจะเรียนรู้เพิ่มขึ้นเพื่อบริหารจัดการเอง ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถเลย
Soft Skill
ทักษะ Soft skill เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค
นอกเหนือจากทักษะ ที่ดูจะเป็น Technical skill เพื่อสร้างยอดขายและปรับปรุงบริการให้โดนใจผู้บริโภคแล้ว ผู้ประกอบการ ยุค Post-covid จำเป็นต้องมี Soft skill ในการเข้าถึงใจผู้บริโภคด้วย
ยกตัวอย่าง การขายสินค้าในยุคนี้ น่าจะหมดยุคของการมุ่งไปขายสินค้า เมื่อขายได้แล้วก็ปิดการขาย จบและแยกย้าย
เพราะการสร้างความประทับใจให้ลูกค้ามีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเสนอบริการหลังการขาย หรือการเป็นที่ปรึกษาแนะนำช่องทางการขยายธุรกิจให้ลูกค้า
ถ้าทำได้เช่นนี้ย่อมได้ใจลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การแนะนำลูกค้าแบบปากต่อปากอีกด้วย
การหา Partner
การเสาะหาความร่วมมือเพื่อต่อยอดขยายธุรกิจ
ทักษะนี้น่าจะเป็นทักษะที่ผู้ประกอบการควรพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจาก ทักษะ Soft skill นั่นคือการแสวงหาความร่วมมือเพื่อต่อยอดขยายธุรกิจ เพราะวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้เราได้รู้ว่า การทำธุรกิจแบบรอดคนเดียว เติบโตคนเดียว จะไม่ยั่งยืน
และต่อจากนี้ไปการทำธุรกิจไม่ใช่ “การแข่งขัน” กันอีกแล้ว ด้วยเหตุนี้ การจับคู่ธุรกิจ มาร่วมมือกัน
เพื่อวางแนวทางไปสู่ความสำเร็จของการทำธุรกิจในอีกระดับหนึ่ง จึงกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในยุค Post-covid ไปแล้ว
ทั้งนี้ ทักษะนี้ ผู้ประกอบการควรที่จะมาเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะผู้ประกอบการบางคนอาจยังไม่ทราบวิธีในการพูดคุย เจรจา เพื่อให้เกิดการพัฒนาโปรดักส์ หรือการขายสินค้าร่วมกัน
ในส่วนนี้ทางสถาบันการศึกษา ควรจัดการอบรมให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อจุดประกายให้เขาเกิดทักษะด้านนี้ขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า บางเรื่องที่เขาได้เรียนรู้ อาจเป็นเรื่องที่เขาคิดไปไม่ถึง
ขณะเดียวกัน ทักษะนี้ยังมีส่วนทำให้เกิดความร่วมมือ และเกิดธุรกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการหรือเกษตรกรได้ด้วย
เช่น การพูดคุยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล โรงเรียน เพื่อเปิดทางให้เกษตรกรผู้ปลูกผัก ทำปศุสัตว์ มาเป็นผู้ผลิตและส่งวัตถุดิบเหล่านี้ให้กับภาครัฐ ซึ่งทุกวันนี้โมเดลนี้ได้ถูกนำไปใช้และเกิดประโยชน์ในรูปแบบของ Win : Win Situation แล้ว
ที่มา: Salika
🛎ติดตามคลิปความรู้ดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://kbank.co/2Kcjank
#KSME #KBankLive
โฆษณา