6 มี.ค. 2022 เวลา 02:30 • ความคิดเห็น
“สงครามยูเครนอาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง” – Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens
3
เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา TED ได้สัมภาษณ์ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind เกี่ยวกับมุมมองที่เขามีต่อสงครามยูเครนในตอนนี้
2
หากใครอยากฟังยูวาลเต็มๆ ก็เข้ายูทูบแล้วค้นหา The War in Ukraine Could Change Everything ได้เลย
9
ส่วนผมเองได้แปลบางช่วงตอนมาฝากไว้ตรงนี้ครับ [ส่วนที่ผมขยายความ จะใส่ไว้ในวงเล็บสี่เหลี่ยมแบบนี้นะครับ]
1
.
2
[ถาม] อะไรคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับยูเครนเพื่อจะได้เข้าใจว่าสงครามครั้งนี้มีเดิมพันอะไรบ้าง?
6
สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องรู้ก็คือชาวยูเครนไม่ใช่ชาวรัสเซีย และยูเครนคือประเทศอธิปไตยที่มีมาตั้งแต่โบราณ
5
ยูเครนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี เคียฟ [Kyiv เมืองหลวงของยูเครน] เป็นมหานครและศูนย์กลางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ตอนที่มอสโกยังไม่ได้เป็นหมู่บ้านด้วยซ้ำ
4
ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคียฟไม่ได้อยู่ในการปกครองของมอสโก เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เคียฟมีสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและเป็นสหภาพเดียวกับลิทูเนียและโปแลนด์ก่อนจะถูกยึดครองโดยอาณาจักรซาร์ของรัสเซีย
5
แต่ความเป็นชนชาติของยูเครนก็ยังคงอยู่ตลอดมา และเราจำเป็นต้องเข้าใจประเด็นนี้ เพราะนี่แหละคือสิ่งที่เป็นเดิมพันในสงครามครั้งนี้
3
ประเด็นสำคัญของการทำสงคราม อย่างน้อยก็ในมุมของปูติน คือยูเครนเป็นประเทศเอกราชหรือไม่ หรือแม้กระทั่งว่ายูเครนเป็น “ประเทศ” รึเปล่า เพราะปูตินมีจินตภาพ (fantasy) ว่ายูเครนไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัสเซีย และชาวยูเครนก็คือชาวรัสเซีย
5
ในจินตภาพของปูติน ชาวยูเครนอยากกลับสู่อ้อมอกแม่ที่มีนามว่ารัสเซีย และอุปสรรคเพียงอย่างเดียวก็คือแก๊งค์เล็กๆ ที่กุมอำนาจสูงสุดของที่ปูตินสร้างภาพว่าเป็นพวกนาซี ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีของยูเครนนั้นเป็นยิว…คนยิวที่เป็นนาซี…เอาอย่างนั้นก็ได้
16
และสิ่งที่ปูตินเชื่อก็คือ ถ้าเพียงรัสเซียบุกเข้ายูเครน เซเลนสกี้ [ประธานาธิบดีของยูเครน] ก็จะลี้ภัย รัฐบาลจะล้ม ทหารจะวางอาวุธ และชาวยูเครนจะโปรยดอกไม้ให้เหล่าทหารรัสเซียผู้มาปลดแอก
6
แต่จินตภาพนั้นก็ถูกทำลายลงไปเรียบร้อย เซเลนสกี้ไม่ได้หนีไปไหน กองทัพยูเครนยังคงสู้รบ และชาวยูเครนไม่ได้โปรยดอกไม้ให้รถถังของรัสเซีย แต่ปาระเบิดขวดให้แทน
9
.
[ถาม] ในหนังสือเล่มล่าสุดที่คุณเขียน [21 Lessons for the 21st Century] คุณบอกว่ารัสเซียไม่ได้ถูกนำทางด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง มันเป็นเพียงการรวบอำนาจและความมั่งคั่งไว้ที่คนเพียงกลุ่มเดียว แต่ดูจากสิ่งที่ปูตินทำกับยูเครนแล้ว เหมือนเขากำลังใช้อุดมการณ์การสร้างอาณาจักรรัสเซีย ด้วยการปฏิเสธความมีตัวตนของประเทศยูเครน อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปใน 4 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่คุณเขียนหนังสือเล่มนั้น?
5
ความฝันในการสร้างจักรวรรดินั้นมีมาโดยตลอด แต่คุณก็รู้ว่าจักรวรรดินั้นถูกสร้างโดยแก๊งค์ของคนไม่กี่คนที่กุมอำนาจสูงสุด ผมไม่คิดว่าประชาชนชาวรัสเซียสนใจอยากทำสงครามนี้ ผมไม่คิดว่าพวกเขาอยากจะยึดครองยูเครน หรืออยากจะเข่นฆ่าประชาชนในเคียฟ ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนมาจากกลุ่มผู้นำสูงสุดเท่านั้น
6
เมื่อเปรียบกับตอนที่เป็นสหภาพโซเวียต อย่างน้อยตอนนั้นก็มีอุดมการณ์บางอย่างที่ผู้คนในสหภาพยึดถือร่วมกัน แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว
4
คุณก็รู้ว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากร แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เพราะอำนาจและความมั่งคั่งถูกดูดไปที่ส่วนบนหมดเลย
12
นี่จึงเป็นสภาพการณ์ที่ไม่ต่างจากจักรวรรดิภายใต้จักรพรรดิที่กุมอำนาจประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พูดว่า “เฮ่ย แค่นี้มันไม่พอนะ ข้ายังต้องการมากกว่านี้” ว่าแล้วก็เลยส่งกองทัพมาเพื่อขยายอาณาจักร
3
.
[ถาม] เมื่อวานนี้คุณเขียนบทความลง The Guardian ว่า เหตุใดปูตินจึงแพ้สงครามครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยขยายความหน่อย
2
เพื่อความชัดเจน ผมไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะแพ้ในทันที ปูตินมีกองทัพที่สามารถยึดครองเคียฟได้ และเผลอๆ จะยึดครองยูเครนทั้งประเทศได้ แต่เป้าหมายระยะยาวของปูตินคือการปฏิเสธความเป็นชาติของยูเครน และผนวกยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งหากจะทำอย่างนั้น แค่ยึดครองเคียฟยังไม่พอ แต่ต้องรักษาเคียฟเอาไว้ให้ได้ด้วย
1
ซึ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนจินตภาพหรือการเดิมพันที่ว่าชาวยูเครนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย หรือแม้กระทั่งยินดีกับการกระทำของรัสเซีย แต่ตอนนี้เราก็ได้รู้แล้วว่ามันไม่จริง ชาวยูเครนเป็นชนชาติที่หวงแหนเอกราชของตัวเองมาก พวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และพวกเขาพร้อมจะสู้ตาย
8
คุณอาจจะยึดครองประเทศได้ แต่อย่างที่รัสเซียได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถาน และอย่างที่อเมริกาได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถานและอิรัก การยึดครองนั้นง่ายกว่าการรักษาประเทศเอาไว้มากนัก
6
ก่อนสงครามจะเริ่ม เรารู้อะไรหลายอย่างอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่ากองทัพของรัสเซียนั้นแข็งแกร่งกว่ากองทัพของยูเครนหลายเท่า ทุกคนรู้ว่านาโต้ (NATO) จะไม่ส่งกองกำลังมาในยูเครน ทุกคนรู้ว่าอเมริกาและยุโรปจะไม่กล้าคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงเกินไปเพราะมันจะส่งเสียต่อตัวเอง เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในแผนสงครามของปูติน
2
มีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่มีใครแน่ใจ ก็คือชาวยูเครนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร มันยังมีความเป็นไปได้ที่จินตภาพของปูตินจะเกิดขึ้นจริง เมื่อรัสเซียบุกเข้ามา เซเลนสกี้อาจจะหนี กองทัพยูเครนอาจจะล่ม และชาวยูเครนอาจจะปล่อยเลยตามเลยก็ได้
3
แต่ตอนนี้เราได้รู้แล้วว่ามันเป็นเพียงเรื่องเพ้อเจ้อ ชาวยูเครนกำลังสู้และจะสู้ต่อไป และความจริงข้อนี้ก็ลดความชอบธรรมในการทำสงครามของปูติน เพราะแม้คุณจะเอาชนะได้ แต่คุณไม่สามารถจะผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้
7
สิ่งเดียวที่ปูตินจะบรรลุคือการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความแค้นในใจของชาวยูเครน แต่ละศพของชาวยูเครนที่ต้องสังเวยในสงครามคือเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่จะคงอยู่ไปอีกหลายชั่วอายุคน
7
ก่อนเกิดสงคราม ชาวยูเครนกับชาวรัสเซียไม่ได้โกรธเกลียดกัน พวกเขาคือบ้านพี่เมืองน้อง แต่ปูตินกำลังทำให้ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นศัตรู และถ้าปูตินยังไม่หยุด นี่จะกลายเป็นมรดกบาปของเขา
3
ผมอยากให้สงครามคราวนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด เพราะหากมันไม่จบ คนที่เดือดร้อนจะไม่ใช่แค่ยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น ทุกคน ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างเลวร้าย
4
.
[ถาม] ช่วยขยายความหน่อยว่าเพราะอะไร
ขอเริ่มจาก “บรรทัดสุดท้าย” ก็แล้วกัน นั่นก็คือเรื่องงบประมาณ พวกเราได้อยู่ในช่วงเวลาที่โลกสงบสุขอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในยุโรปงบประมาณกลาโหมนั้นเป็นเพียง 3% ของงบประมาณทั้งหมด นี่แทบจะเป็นปาฎิหาริย์ เพราะตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา งบประมาณ 50%-80% ของจักรพรรรดิและสุลต่านนั้นถูกใช้ไปกับการสงครามและการเลี้ยงกองทัพ แต่ตอนนี้ในยุโรปใช้งบประมาณแค่ 3% เท่านั้น ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ฝากเช็คข้อมูลนี้เพื่อความถูกต้องด้วย แต่ 6% คือตัวเลขที่ผมจำได้
12
สิ่งที่เราได้เห็นภายในไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือเยอรมันนีเพิ่งเพิ่มงบกลาโหมเป็นสองเท่า ซึ่งผมไม่ได้ต่อต้านนะ เพราะเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ต้องเผชิญมันก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่เยอรมันนี โปแลนด์ และทุกประเทศในยุโรปจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นเท่าตัว แต่นี่คือเกมที่ทุกคนจะแพ้ (race to the bottom)
6
เพราะเมื่อคุณเห็นประเทศอื่นๆ เพิ่มงบประมาณการทหาร คุณก็จะเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้นประเทศของคุณก็ต้องเพิ่มงบกลาโหมเช่นกัน และแทนที่งบเหล่านี้จะไปลงที่สาธารณสุข การศึกษา หรือการต่อสู้กับโลกร้อน มันกลับถูกนำไปซื้อรถถัง มิสไซล์ และใช้ในการสู้รบ
4
ประชาชนจะได้รับสวัสดิการสุขภาพที่แย่ลง และเราจะไม่มีทางออกสำหรับภาวะโลกร้อน ดังนั้นทุกคนจะได้รับผลกระทบแม้ว่าคุณจะอยู่ที่บราซิลหรือออสเตรเลียก็ตาม
3
.
[ถาม] ถ้าหนึ่งในเป้าหมายของปูตินคือการแบ่งแยกยุโรป คือการลดทอนกำลังของนาโต้ และระเบียบเสรีโลก (global liberal order) ก็ดูเหมือนว่าปูตินจะทำให้กลุ่มเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นมายิ่งกว่าเดิมเสียอีก
3
ถ้าเป้าหมายคือการแบ่งแยกยุโรปและนาโต้ สิ่งที่เขาทำกลับให้ผลตรงกันข้ามเลย ผมเองก็แปลกใจว่าทำไมยุโรปถึงตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพขนาดนี้ ผมว่าแม้แต่ยุโรปก็ยังแปลกใจตัวเอง แม้กระทั่งฟินแลนด์หรือสวีเดนยังส่งอาวุธไปให้ยูเครน เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็นเลย
4
.
[ถาม] คุณได้เขียนบทความลง The Economist ไว้ด้วยว่า สิ่งที่เป็นเดิมพันอยู่ในตอนนี้คือ “ทิศทางของประวัติศาสตร์ เพราะเรากำลังทำลายความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติในยุคสมัยใหม่ นั่นก็คือการลดลงของสงคราม”
1
ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการสู้รบกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก
และตั้งแต่ 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีประเทศใดถูกทำให้หายไปจากแผนที่โลกเพราะการรุกรานจากประเทศอื่น
1
นี่เป็นความสำเร็จที่สุดยอดมาก และมันคือพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์หรือการศึกษา แต่เรื่องเหล่านี้กำลังตกอยู่ในอันตราย
1
สันติภาพไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์ใดๆ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนไปของกฎธรรมชาติ แต่เกิดจาการที่มนุษย์เราเลือกทางที่ถูกต้องมากขึ้นและสร้างองค์การ (institutions) ที่ดีขึ้น
4
ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่า ไม่มีอะไรจะการันตีได้ว่าความสงบสุขนี้จะคงอยู่ตลอดไป หากมีใครบางคนตัดสินใจโง่ๆ และทำลายองค์การที่ช่วยสร้างสันติภาพให้โลก เราก็จะกลับไปอยู่ในยุคของสงครามอีกครั้ง ในวันนั้นงบกระทรวงกลาโหมอาจจะคิดเป็น 20% 30% หรือ 40% ของงบประมาณทั้งหมดก็ได้
1
เราจึงควรเข้าใจว่าสงครามในยูเครนไม่ใช่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์เพียงคนเดียว ชาวรัสเซียไม่ได้ต้องการสงครามนี้ แค่การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้น
4
.
[ถาม] สิ่งหนึ่งที่เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปูตินก็พูดถึงมันอยู่หลายครั้ง เขาสั่งให้ฐานทัพอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มระดับความระมัดระวัง และประธานาธิบดีเซเลนสกี้ก็ยอมรับว่ายูเครนพลาดไปที่ปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้มาตั้งแต่สมัยเป็นสหภาพโซเวียต คุณคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้
6
ผมว่ามันน่ากลัวสุดๆ ไปเลย เราเคยคิดว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงเรื่องของยุค 60s ที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตอนนี้มันกลับมาแล้ว ตอนนี้คุณเริ่มเห็นผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายว่าอาวุธนิวเคลียร์แต่ละชนิดจะสร้างความเสียหายให้กับเมืองเมืองหนึ่งได้ในระดับไหน
1
ในทางหนึ่ง อาวุธนิวเคลียร์ได้รักษาสันติภาพของโลกเอาไว้ ผมอยู่ในกลุ่มคนที่เชื่อว่าถ้าเราไม่ได้มีอาวุธนิวเคลียร์ เราน่าจะมีสงครามโลกครั้งที่สามไปนานแล้ว นั่นก็คือสงครามระหว่างสหภาพโซเวียต อเมริกา และนาโต้ในนยุค 50s หรือ 60s
2
เพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ เราจึงไม่มีการปะทะกันของมหาอำนาจ เพราะมันจะเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ของทุกคน (collective suicide) แต่ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ตลอดมา หากมีการคาดการณ์หรือประเมินผิดพลาด ผลลัพธ์จะเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง
.
[ถาม] ในยุค 70s เราเริ่มสร้างองค์การนานาชาติเพื่อลดความเสี่ยงของการปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และเราก็มีการร่างสนธิสัญญาเรื่องการควบคุมอาวุธ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้ สถานการณ์ตอนนี้จึงน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าตอนขึ้นสหัสวรรษใหม่เสียอีก
1
นี่คือวิบากจากความประมาทตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่รวมไปถึงองค์การนานาชาติและความร่วมมือกันระดับโลก (international institutions and global cooperation)
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เราได้สร้างบ้านของมนุษยชาติที่วางอยู่บนรากฐานของความร่วมมือและความเข้าใจกัน เพราะเรารู้ดีว่าอนาคตตของเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นเราจะทำลายล้างกันเองจนสูญพันธุ์
3
และเราทุกคนก็อยู่ในบ้านหลังนี้ แต่หลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ใส่ใจ เราไม่ได้ซ่อมแซมบ้าน เราปล่อยให้มันทรุดโทรม และสุดท้ายบ้านก็จะพังครืนลงมา
ผมเลยหวังว่าผู้คนจะเข้าใจเรื่องนี้ก่อนที่มันจะสายเกินแก้ ว่าเราจำเป็นต้องหยุดสงครามครั้งนี้ และเราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับองค์การนานาชาติ เราต้องซ่อมบ้านหลังใหญ่หลังนี้ เพราะถ้ามันพังลงมา พวกเราจะตายกันหมด
3
.
[ถาม] คุณเขียนไว้ในบทความเดียวกันว่าสุดท้ายแล้วประเทศชาตินั้นถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวที่แต่งขึ้น (nations are ultimately built on stories) ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่เรากำลังหว่านอยู่ตอนนี้คือเรื่องราวใหม่ๆ ที่เรากำลังแต่งขึ้น ซึ่งมันจะมีผลต่ออนาคตอย่างนั้นใช่มั้ย
2
ใช่ เมล็ดพันธุ์ของสงครามในยูเครนถูกหว่านเอาไว้ตั้งแต่การล้อมเลนินกราด [Siege of Leningrad ที่นาซีทำกับโซเวียตช่วงปี 1941-1944] ผลของมันคือการบุกรุกเคียฟในวันนี้ ซึ่งก็จะเป็นการหว่านเมล็ดที่อาจส่งผลอันเลวร้ายอีกครั้งใน 50 ปีข้างหน้า เราจึงต้องหยุดวงจรนี้ให้ได้
ในฐานะนักประวัติศาสตร์ บางทีผมก็รู้สึกผิดเหมือนกันเมื่อเห็นว่าประวัติศาสตร์ได้ทำอะไรกับผู้คนบ้าง หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเห็นผู้นำประเทศเข้าพบและพูดคุยกับปูติน และหลายครั้งปูตินก็ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการเทศนาเรื่องประวัติศาสตร์ ตอนที่มาครง [Emmanuel Macron ปธน.ฝรั่งเศส] เข้าพบปูตินนั้น พวกเขาคุยกันถึง 5 ชั่วโมง และมาครงก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าปูตินใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสั่งสอนเขาเรื่องประวัติศาสตร์
9
ผมก็เลยรู้สึกผิดที่วิชาชีพของผมอาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ อย่างประเทศอิสราเอลของผมเอง ผมก็รู้สึกว่าเรากำลังทุกข์ทนเพราะประวัติศาสตร์มากเกินไป ผมเชื่อว่าคนเราควรจะได้รับการปลดปล่อยจากอดีต ไม่ใช่ย้อนรอยอดีตซ้ำๆ ทุกคนควรจะละทิ้งความทรงจำของสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นชาวรัสเซียหรือชาวเยอรมันก็ตามที
9
สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับชาวเยอรมันที่รับชมอยู่ตอนนี้ก็คือ พวกเรารู้ว่าพวกคุณไม่ใช่นาซี ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรอก สิ่งที่เราต้องการจากเยอรมันนีในตอนนี้คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทัพในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
12
แต่ดูเหมือนเยอรมันนียังห่วงสายตาประชาคมโลก ยังกลัวว่าถ้าพวกเขาพูดจาขึงขังหรือจับอาวุธขึ้นมา พวกเขาจะถูกประณามว่า “นี่ไง พวกนาซีมาอีกแล้ว” ผมจะบอกว่าผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย
2
ตอนนี้เยอรมันนีเป็นผู้นำของยุโรปแล้ว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ Brexit ผมจึงอยากเห็นเยอรมันนีที่ปล่อยวางอดีตและอยู่กับปัจจุบัน
3
พูดในฐานะที่ผมเป็นชาวยิว เป็นชาวอิสราเอล และเป็นนักประวัติศาสตร์นะ ถ้าจะมีประเทศไหนที่ผมมั่นใจว่าจะไม่ซ้ำรอยสิ่งที่นาซีเคยได้ทำเอาไว้ ประเทศนั้นคือเยอรมันนีนี่แหละ
6
.
1
[ถาม] มีคำถามจากในห้องแชทเกี่ยวกับจีน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ และจีนเองก็มีนโยบายที่ต่อต้านการรุกล้ำอาณาเขตของชาติอื่น แต่จีนเองก็สนิทสนมกับรัสเซีย สี จิ้นผิงกับปูตินก็ได้พบกันก่อนงานโอลิมปิกที่ปักกิ่ง และเป็นภาพที่ทำให้ทั่วโลกรับรู้ว่าทั้งสองเป็นมิตรกัน คุณมองยังไงเกี่ยวกับบทบาทของจีนในความขัดแย้งครั้งนี้
ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน การอ่านข่าวไม่ได้ทำให้คุณเข้าใจวิธีคิดและความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำในจีนได้
2
จีนใกล้ชิดกับรัสเซีย จึงน่าจะโน้มน้าวรัสเซียได้ไม่น้อย ผมจึงหวังว่าจีนจะทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ที่ช่วยไกล่เกลี่ยและช่วยรดน้ำเพื่อดับไฟสงครามครั้งนี้
3
จีนจะสูญเสียประโยชน์ไม่น้อยหากระเบียบโลกพังทลายลง (they have a lot to lose from a breakdown of the global order) และถ้าสันติภาพกลับคืนมา จีนก็จะได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งรวมไปถึงความรู้สึกขอบคุณจากนานาชาติด้วย
6
ผมไม่อาจรู้ได้ว่าจีนจะทำรึเปล่า แต่ผมหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น
.
[ถาม] ถ้าไม่นับเรื่องโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อะไรที่ทำให้สงครามยูเครนครั้งนี้แตกต่างจากสงครามอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก
2
อย่างที่ได้กล่าวไป นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1945 ที่เราได้เห็นประเทศมหาอำนาจพยายามที่จะลบประเทศเอกราชให้หายไปจากแผนที่โลก
ตอนที่อเมริกาบุกยึดครองอัฟกานิสถานหรืออิรัก เราอาจจะวิจารณ์อเมริกาได้มากมาย แต่เรารู้ว่าอเมริกาไม่เคยคิดจะผนวกอิรักหรือตั้งอิรักเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา
4
แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับยูเครน เป้าหมายที่แท้จริงคือการผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งถ้ารัสเซียทำสำเร็จ ยุคสมัยแห่งสงครามอาจจะกลับมา
3
ผมยังจำได้ไม่ลืมกับสิ่งที่ตัวแทนจากประเทศเคนยาเคยกล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและตัวแทนจากหลากหลายประเทศในแอฟริกา
1
เขาบอกว่า “เราเองก็เป็นผลผลิตที่ตกค้างจากยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม การที่โซเวียตล่มสลายและแตกเป็นประเทศต่างๆ ฉันใด ประเทศในแอฟริกาเองก็เกิดจากการล่มสลายของจักรวรรดิยุโรปฉันนั้น และหลักการสำคัญที่ชาติแอฟริกายึดถือนับแต่นั้นมาก็คือ ไม่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับชายแดนประเทศที่ถูกขีดเอาไว้มากแค่ไหน แต่เราจำเป็นต้องรักษาชายแดนเหล่านั้นเอาไว้ อย่าไปแตะต้องมัน เพราะถ้าเราเริ่มรุกล้ำประเทศเพื่อนบ้านเพราะเราเอาแต่คิดว่า 'เฮ้ย จริงๆ แล้วนี่คือแผ่นดินของฉัน' เราจะทะเลาะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น"
11
และถ้ารัสเซียบุกยูเครนได้สำเร็จ มันอาจจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้ชาติอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มทำแบบนั้นบ้าง
5
อีกสิ่งหนึ่งที่สงครามนี้ต่างออกไป ก็คือเรากำลังพูดถึงการปะทะกันของประเทศมหาอำนาจ สงครามครั้งนี้ไม่เหมือนการปะทะกันของอิสราเอลกับฮิซบุลลอฮ์ (มุสลิมชีอะห์ในเลบานอน) สงครามครั้งนี้อาจขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต้ และต่อให้ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ มันก็ยังทำให้สันติภาพทั่วโลกสั่นคลอนได้อยู่ดี
2
ผมจึงขอย้ำเรื่องงบประมาณอีกครั้ง ถ้าเยอรมันนีเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นสองเท่า และโปแลนด์ก็ทำอย่างนั้นบ้าง สุดท้ายทุกประเทศก็จะทำตาม และนี่จะเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง
4
.
2
[ถาม] หลายประเทศในยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย คุณคิดว่าสงครามครั้งนี้จะส่งผลให้ยุโรปหันมาสนใจพลังงานสะอาดมากขึ้นมั้ย
1
ผมก็หวังว่ายุโรปจะเข้าใจความเสี่ยงนี้แล้ว และเริ่มต้น “โปรเจคแมนฮัตตันสีเขียว” (a green Manhattan project) [Manhattan คือชื่อโปรเจ็คลับในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง] เพื่อเร่งเครื่องพัฒนาแหล่งพลังงานที่ดีกว่านี้ โลกจะได้ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเท่าแต่ก่อน
2
ซึ่งนั่นย่อมลดอำนาจของระบอบบปูตินและกองทัพของเขา เพราะรัสเซียมีแค่น้ำมันกับก๊าซเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นแล้ว จำได้มั้ยว่าคุณซื้อของที่ Made in Russia ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
1
ทุกคนก็รู้ว่าน้ำมันนั้นเหมือนมีคำสาป มันคือขุมทรัพย์แห่งความมั่งคั่ง แต่มันก็มักจะถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะการจะได้ประโยชน์จากน้ำมัน คุณไม่จำเป็นต้องแบ่งอะไรให้ประชาชน คุณไม่จำเป็นต้องมีสังคมที่เปิดกว้าง คุณไม่ต้องให้การศึกษา คุณก็แค่ต้องขุดเจาะน้ำมันเท่านั้น
6
หากน้ำมันและก๊าซราคาตก นอกจากจะทำให้การเงินและการทหารของรัสเซียสั่นคลอนแล้ว ยังอาจส่งผลให้รัสเซียต้องผลัดใบระบอบการเมืองด้วย
2
.
[ถาม] ขอพูดถึงอีกหนึ่งตัวละคร ที่หลายคนในห้องแชทรูมรู้สึกว่าเป็นวีรบุรุษ นั่นก็คือเซเลนสกี้ ซึ่งเคยเป็นนักแสดงตลก ก่อนจะมาเป็นประธานาธิบดีแบบงงๆ และตอนนี้ก็กลายเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางศึกสงคราม และเขาก็แสดงบทบาทได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอนที่อเมริกาเสนอให้เขาลี้ภัยและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เซเลนสกี้กลับตอบไปว่า ‘ผม่ได้ไม่ต้องการตั๋วเครื่องบิน ผมต้องการกระสุนเพิ่ม’ (‘I don’t need a ride, I need more ammunition’)
5
สิ่งที่เซเลนสกี้ทำนั้นน่าชื่นชมจริงๆ และมันได้ปลุกเร้าความกล้าหาญและสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวยูเครนแต่มันยังส่งผลไปทั่วโลก ปฏิกิริยาของยุโรป ทั้งการคว่ำบาตรและการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ผมคิดว่าเซเลนสกี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้
5
เพราะนักการเมืองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ผู้นำหลายคนเคยได้เจอหน้ากับเซเลนสกี้ และเข้าใจว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่เขาเพียงคนเดียว แต่ครอบครัวเขาด้วยเช่นกัน [ครอบครัวของเซเลนสกี้ไม่มีใครหนีไปไหน] เขาจะพูดเสมอว่า นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้คุยกัน เพราะวันนี้หรือพรุ่งนี้เขาอาจจะตายจากการโดนลอบสังหารหรือถูกระเบิดถล่มก็ได้
1
ขอบคุณข้อมูลจาก The War in Ukraine Could Change Everything | Yuval Noah Harari | TED
โฆษณา