14 มี.ค. 2022 เวลา 08:00 • ประวัติศาสตร์
รอยเท้าพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์
EP.19 วัดพระบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
เชียงใหม่ จังหวัดที่ถูกรายล้อมไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดเรื่องราวต่างๆ ของอารยธรรมท้องถิ่น มีความผูกพันกับเทือกเขาเหล่านี้ อย่างแน่นแฟ้น เป็นทั้งต้นน้ำ ที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และสถานที่ศักดิสิทธิ์
แนวเทือกเขาถนนธงชัย พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่บริเวณนี้ จึงมีภูเขาสำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง ผ่านเรื่องราวตำนานท้องถิ่น และหลักฐานทางโบราณคดี อย่างดอยสุเทพ ดอยจอมทอง ดอยอินทนนท์ และดอยเชียงดาว
พระพุทธบาทสี่รอย ตั้งอยู่บนภูเขาลึก เป็นพื้นที่ป่าดิบชื้น อุดมสมบูรณ์ สถานที่ ซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของชาวพื้นเมืองมาหลายพันปี
วัดพระพุทธบาทสี่รอย ตั้งอยู่ ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อันเป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์ ตามการเล่าขานจากตำนานท้องถิ่น
เป็นรอยเท้าพระพุทธเจ้าแห่งแรก (รอยพระพุทธบาท) จากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ ถูกพบครั้งแรกสมัยพระญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ เมื่อประมาณเกือบ 800 มาแล้ว
EP.นี้ ข้าพเจ้าขอพาพวกท่าน มาเยี่ยมชมวัดพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้ และรับรู้เรื่องราว ประวัติความเป็นมา ไปพร้อมๆกัน...
วัดพระพุทธบาทสี่รอย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ ทางด้านเหนือสุด ของกลุ่มอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ถัดจากกลุ่มดอยม่อนแจ่ม
เราเดินทางจากเมืองเชียงใหม่ ขึ้นเหนือไปทางอำเภอแม่ริม ตามทางหลวง107 ผ่านสามแยกอำเภอสะเมิงให้ตรงไป จากนั้นเลี้ยวซ้าย ตรง อบต.แม่ริมเหนือ
จะเป็นทางแยกทางซ้าย มุ่งสู่วัดพระบาทสี่รอย
จากแยก อบต.แม่ริมเหนือ จนถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอย ประมาณ 34 กิโลเมตร ตลอดทางมีป้ายบอก หากใช้พิกัดจาก GPS จะสะดวกมาก
ข้าพเจ้าเริ่มเดินทาง จากวัดหนองก๋าย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างทางขึ้นวัดพระบาทสี่รอย 10 กิโลเมตร (จากบทความ EP.1) โดยความเมตตาของ ครูบาประเสริฐ ท่านเจ้าอาวาส ให้ข้าพเจ้าค้างแรมที่วัด1คืน
ได้ร่วมปฏิบัติธรรมกับพระสงฆ์ เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ก่อนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท
07.30 เดินทางผ่านหมู่บ้านต่างๆ ของตำบลสะลวง ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบเชิงเขา และหุบเขา สองข้างทางจะมองเห็นวิวทิวทัศน์ ทุ่งนา มีห้วยแม่ริมเป็นแหล่งน้ำสำคัญ
ระหว่างเดินทางจะมองเห็นภูเขาเป็นฉากหลัง มีรีสอร์ท ร้านกาแฟ ร้านอาหารสวยๆอยู่หลายแห่ง ถือเป็นจุดแวะพักระหว่างทาง ได้เป็นอย่างดี
1 คืน ก่อนขึ้นวัดพระพุทธบาทสี่รอย มีฝนตกหนักทำให้พบเศษกิ่งไม้ตกอยู่เกลื่อนถนน และเปียกลื่น ทำให้การเดินทางครั้งนี้ ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
เส้นทางนี้ มีความลาดชันสูง บางช่วงจะเป็นช่องแคบ โค้งหักศอก และเป็นจุดอับสายตา ผู้ขับขี่ต้องคอยระวังรถที่สวนมา หากไม่ชำนาญเส้นทาง อาจเกิดอุบัติเหตุได้
ควรขับช้าๆ และให้สัญญาณเสียงบ่อยๆ
แต่ข้อดี เราจะเห็นธรรมชาติบริเวณแถบนี้ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีธารน้ำไหลมาจากต้นน้ำ มีน้ำตก มีจุดชมวิว และจุดชมทะเลหมอกในยามเช้า
ให้ความรู้สึกสงบ ร่มรื่น ราวกับเราเดินทางอยู่ในของภาพเขียน
เราถึงที่หมายค่อนข้างช้า เพราะต้องการสัมผัสบรรยากาศให้มากที่สุด จนถึงหน้าประตูทางเข้าวัดพระพุทธบาทสี่รอย เวลา 08.30 (ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม.)
เมื่อมาถึงจะพบกับซุ้มประตูทางเข้า อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง กำแพงพญานาคเก้าเศียร สิงทองเหลืองอร่าม ปฏิมากรรมภายในวัด สร้างด้วยงานศิลป์มีความวิจิตรงดงาม และใหญ่โตมหึมา
บนกำแพงมีภาพสลักลายนูน สร้างด้วยปูนปั้นภาพ 12 นักษัตร เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปด้านใน จะมีซุ้มศาลาสีเขียวคล้ายลำตัวพญานาค ด้านในตกแต่งด้วยภาพพุทธประวัติ ด้านตรงข้ามเป็นลานกว้าง ใช้สำหรับเป็นลานจอดรถ
1
บริเวณวัดจะเป็นพื้นที่ราบกลางหุบเขา ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของป่า มีสิ่งปลูกสร้างของวัด สถานปฏิบัติธรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงบุญ มีร้านอาหาร เครื่องดื่ม และของชำร่วย รวมทั้งห้องพักให้เช่าสำหรับนักเดินทาง
หลังจากดื่มกาแฟแล้วเสร็จ ข้าพเจ้าวางแผน จะเดินสำรวจพื้นที่บริเวณอื่นๆก่อน เพื่อจะไปกราบนมัสการพระพุทธบาทเป็นลำดับสุดท้าย โดยจะขอเก็บภาพสถานที่สำคัญ และส่วนที่น่าสนใจของวัดแห่งนี้มาให้รับชม
จุดนี้จะเป็นหน้าผา และจุดชมวิวมุมสูงของวัดพระพุทธบาทสี่รอย เมื่อยืนตรงนี้ จะสามารถมองเห็นได้เกือบทุกส่วนของวัด
อันเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่กวนอิม ศาลเทพเจ้าเห้งเจีย และเหล่าบรรดาเณรน้อย แบบศาสนาพุทธมหายาน
ส่วนด้านบน ชั้นถัดไป จะเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางห้ามมาร สร้างด้วยหินชนิดเดียวกันเกือบทั้งหมด
ส่วนด้านหลังจะเป็นที่ราบเนินเขา มีพระพุทธศิลาช้างบ้านถ้ำ งานศิลปะที่สร้างด้วยหิน บรรยากาศข้างบนค่อนข้างสงบ แฝงไปด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรมทางศาสนา
เมื่อเดินขึ้นมา ตามบันไดทางขึ้นพระพุทธบาทสี่รอย ด้านซ้ายมือ จะพบที่ประดิษฐาน อนุสาวรีย์ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ส่วนบุคคลด้านซ้าย - ขวา ของครูบาฯ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ สมเด็กพระนเรศวรมหาราช
1
ครูบาศรีวิชัย ท่านได้มีส่วนสำคัญในการสร้างถนน เพื่อขึ้นไปยังวัดพระพุทธบาทได้โดยสะดวก และบูรณะพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทขึ้นมาใหม่ โดยได้ฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย เพื่อป้องกันการสึกกร่อน
ด้านหลังของวัด เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถวัดพระพุทธบาทสี่รอย เป็นอุโบสถ์ที่มีพุทธศิลป์งดงามมาก มีลวดลายในแบบฉบับล้านนา ทั้งด้านนอก และด้านใน ดูสวยงามและโอ่โถง
ภายในอุโบส มีพระพุทธรูปและภาพจิตรกรรมต่างๆ เป็นรูปพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายองค์ ให้เราชื่นชมและกราบบูชา
โดยรอบๆอุโบสถนี้ จะมีลูกนิมิตรให้เราได้ปิดทอง ส่วนกำแพงโบสถ์ จะมีข้อความปริศนาธรรม ให้นักแสวงบุญได้อ่านตีความ
บริเวณนี้ ตั้งอยู่ด้านหลังของวิหารพระพุทธบาท เป็นศาลาเรือนไม้เก่า สำหรับเก็บพระพุทธรูปมากมาย
เมื่อข้าพเจ้าเดินลึกเข้าไป สะดุดตากับอะไรบางอย่าง จนต้องยืนนิ่งอยู่นาน จึงก้มลงกราบ ทั้งๆที่ร่างกายยังขนลุกไปทั้งตัว
2
เพราะคืนที่นอนวัดหนองก๋าย ก่อนการเดินทางมาที่นี่ ข้าพเจ้าได้ฝันว่าได้เดินไปที่แคบๆแห่งหนึ่งของวัด ซึ่งเต็มไปด้วยพระพุทธรูป ในฝันได้มีพระสงฆ์2รูป เดินมาถามข้าพเจ้าว่า อันนี้เรียกว่าพระพุทธรูปอะไร ? และข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า "พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์"
ภาพในฝัน นั้นก็คือพระพุทธรูป องค์ประธานด้านในสุดที่อยู่ตรงหน้า ข้าพเจ้าจึงได้อฐิษธานขอพร ด้วยความปิติยินดี จึงรีบโทรไลน์ไปเล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟังด้วยความอัศจรรย์ใจ แม่จึงตอบกลับมาว่า ถือเป็นเรื่องมงคลกับชีวิต
จึงอยากแนะนำ หากท่านได้มีโอกาส ได้มากราบพระพุทธบาทสี่รอย ให้แวะมากราบขอพรประประธานองค์นี้ด้วยนะครับ...
1
เราเดินมาถึงพระวิหาร ครอบพระพุทธบาทสี่รอย จุดที่เป็นที่ตั้งของหิน อันเป็นที่ประทับรอยพระพุทธบาท โดยมีโครงสร้างเป็นหินอ่อนเสริมภายนอก ครอบไว้เป็นพระวิหาร และมีบันไดทางหน้ามุขทั้งสองข้าง เชื่อมกับบันไดกลาง เพื่อขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาท
ข้อความจากป้ายด้านหน้า พระวิหาร
" เมื่อปี พ.ศ.2472 ครูบาศรีวิชัย ทำการได้บูรณะ โดยรื้อวิหารเดิม และสร้างขึ้นมาใหม่ ต่อมา ปี พ.ศ.2536 พระพรชัย ปิยะวัณโณ พุทธศาสนิกชน และ ชาวบ้าน ได้ร่วมกันบูรณะขึ้นมาใหม่ จนปัจจุบัน "
กล่าวถึงที่มา และตำนานการสร้างพระพุทธบาทสี่รอย
ในเชิงตำนาน และการบันทึกทางประวัติศาสตร์
อ้างอิง : ตำนานพระพุทธบาทสี่รอย (ฉบับล้านนา)
พระครูพุทธบทเจติยารักษ์ (พระครูบาพรชัย ปิยะวัณโณ)
ย้อนไปในอดีตกาลอันไกลโพ้น นับได้ 92 กัป ที่ล่วงมาแล้ว ( 1 กัป ในยุคพุทธกาล 1 อายุกัปของมนุษย์ ประมาณ 100 ปี) ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง สมัยนั้นทรงพระนามว่า “พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า” เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ให้ล่วงพ้นวัฏฏสงสาร เฉกเช่นเดียวกับพระสมณโคดมพุทธเจ้าของเราในปัจจุบันสมัยเรา
ในครั้งนั้น บังเกิดมีพระสาวกองค์หนึ่งในพระวิปัสสีพุทธเจ้า มีฐานะเป็นพระสังฆนายก ปกครองพระภิกษุเถรานุเถระเป็นอันมาก แต่พระสังฆนายกองค์นี้ กลับแสวงหาปัจจัยทั้งสี่ อันได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย มากเกินสมควร
ได้มีคำสั่งออกไปทั่วสังฆมณฑลว่า “วัดของเรานี้ไม่เหมือนวัดอื่นๆ ด้วยเป็นที่ชุมนุมของพระมหาเถระเจ้าทั้งหลายอยู่เป็นเนืองนิตย์ฉะนั้นขอให้พระภิกษุทั้งหลาย จงนำเอาปัจจัยสี่อันเป็นของสงฆ์ทั้งหลาย
อันได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
รวมทั้งแก้วแหวนเงินทองทั้งปวงมาให้แก่วัดของเรา
เพื่อว่าเราจะได้นำมาถวายทาน แก่พระมหาเถระเจ้าทั้งหลายต่อไป”
เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้รับคำสั่งของพระสังฆนายกดังนี้แล้ว ต่างก็ล้วนลำบากใจ แต่ไม่กล้าทักท้วงคัดค้าน ด้วยเกรงจะมีความผิด คงได้แต่จำใจ นำของมามอบให้ที่วัดของพระสังฆนายก จนเต็มโบสถ์เต็มวิหารไปหมด
ท้ายที่สุดเมื่อพระสังฆนายกองค์นั้นได้มรณภาพลงไปแล้ว ก็ได้ตกนรก จมลงไปหมกไหม้อยู่ในอบายภูมิทั้ง 4 ตลอดกาลนาน
ด้วยผลกรรมที่ได้เบียดเบียนพระสงฆ์ทั้งหลายให้ต้องได้รับความลำบาก เมื่อชดใช้กรรมในนรกแล้ว อดีตพระสังฆนายกองค์นั้น
ก็ได้เกิดมาเป็นเปรต มีนามว่า “มหาศิลาลวงใหญ่” (เปรตหิน)
พูดวาจาใดใดไม่ได้ ด้วยสรีระกลายเป็นหิน
อันเป็นจุดกำเนิด
ของตำนานรอยพระพุทธบาท ทั้ง 4
รอยเท้าพระพุทธเจ้าองค์ที่ 1
"พระพุทธเจ้ากกุสันโธ
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกาลเวลาได้ล่วงเลยมาถึง 92 กัป ถึงสมัย “พระพุทธเจ้ากกุสันโธ”
ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 1 ในมหาภัทรกัปนี้
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ได้เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรตแล้ว จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้เหนือก้อนหินมหาศิลาเปรตนั้นเป็นรอยแรก
และทรงมีพระมหากรุณาตรัสสอนมหาศิลาเปรต
และให้ภาวนาบริกรรมคาถาว่า “อัปปะกิจโจ อัปปะกิจโจ” ซึ่งหมายถึง เป็นนักบวชควรทำตนเป็นผู้มีภาระน้อย เพราการมีภาระมากไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผลนิพพาน จะกลายมาเป็นมารมาผูกมัดจิตใจ
ทำให้ตนต้องได้ตกอยู่ในอบายภูมิ
รอยเท้าพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2
พระพุทธเจ้าโกนาคมโน
ภายหลังที่พระพุทธเจ้ากกุสันโธได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็มาถึงสมัยของ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระองค์ก็ได้เสด็จมาที่มหาศิลาเปรต
ให้ภาวนาบริกรรมคาถาว่า “สัลละหุกะวุตติ” ไปตลอด
จะได้หลุดพ้นจากความเป็นเปรตในภายภาคหน้า
จากนั้นพระพุทธเจ้าโกนาคมโนก็ได้ประทับรอยพระบาทซ้อนไว้ ในรอยพระบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันโธเป็นรอยที่ 2(ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารอยที่ 1)
รอยเท้าพระพุทธเจ้าองค์ที่ 3
พระพุทธเจ้ากัสสโป
ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าโกนาคมโน ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็มาถึงสมัย พระพุทธเจ้ากัสสโป
ซึ่งพระองค์ก็ได้เสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรต
ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
เพื่อทรงชี้แนวทางตรงไปสู่พระนิพานหนึ่ง
และเพื่อให้มหาศิลาเปรตนั้น พ้นจากปิติวิสัย (ภูมิแห่งเปรต) อีกประการหนึ่ง
พระพุทธเจ้ากัสสโป จึงเสด็จมาโปรดมหาศิลาเปรตเป็นพระองค์ที่ 3และได้ทรงมีระพุทธดำรัสตรัส ชี้แนะ ให้มหาศิลาเปรตนั้น ภาวนาบริกรรมคาถาว่า “อัปปะคัพโภ อัปปะคัพโภ” ด้วยทรงมีพระมหากรุณาให้พ้นจากความเป็นหิน
แล้วจึงได้ทรงประทับรอยพระบาท
ซ้อนไว้ในรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ ปรากฏเป็นรอยที่ 3 ขึ้นมา (ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารอยพระพุทธบาททั้ง 2 รอย)
รอยเท้าพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4
พระพุทธเจ้าโคตโม (พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน)
ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้ากัสสโป ได้เสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว ก็มาถึงพุทธสมัยแห่งพระศาสนาของ พระพุทธเจ้าโคตโม (พระสมณโคดม)
ได้เสด็จจาริกประกาศธรรมโปรดเวไนยสัตว์
ไปตามสถานที่ต่างๆ พร้อมด้วยพุทธสาวก 500 องค์
อันมี พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระอานนท์ เป็นต้น จนกระทั่งเสด็จมายัง ปัจจันตยประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน)
ถึงเทือกเขาตอนเหนือของประเทศชื่อ เวภารบรรพต (สถานที่แห่งนี้) และได้แวะเสวยจังหันอยู่บนเขาเวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อพระพุทธองค์เสวยจังหันสร็จ
ขณะประทับอยู่ที่นั่น ก็ได้ทรงทราบด้วยพระญาณสมบัติว่า ในเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่มาตรัสรู้ก่อนในภัทรกัปนี้ประทับอยุ่บนก้อนหินก้อนใหญ่
พระองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกคมโน พระพุทธเจ้ากัสสโป
ในวาระนั้น พระพุทธเจ้าโคตโม
ได้มีพระพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่า
“ดูกร อานนท์ ก้อนศิลาอันงามวิเศษ
ที่เป็นเหตุแห่งการโปรดสัตว์ทั้งหลายยังปรากฏมีอยู่ฤา”
พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก จึงกราบทูลว่า“ภันเต ภะคะวา ก้อนหินนี้มีรอยพระพุทธบาทใหญ่ 3รอย
งดงามยิ่งนัก เหมือนรอยพระพุทธบาทของพระศาสดาพระพุทธเจ้าข้า”
จากนั้น พระพุทธเจ้าโคตโม จึงได้ตรัสถึงอดีตกาลที่ได้ผ่านมาแล้วแต่ปางบรรพ์ แก่พระอานนท์และพุทธสาวกว่า “ดูกรอานนท์ ก้อนศิลานี้มิใช่ศิลาแท้จริงดอก
แต่เป็นก้อนอสุราที่กลับกลายเป็นก้อนศิลา (เป็นศิลาเปรต) ศิลานี้เคยเป็นพุทธสาวกในพระพุทธเจ้า วิปัสสี
สมัยนั้นท่านเป็นพระสังฆนายก ถืออำนาจบาตรใหญ่
บังคับเอาของของคนอื่นมาเป็นของตน
ตนเองเป็นพระภิกษุ แต่มักมาก ถือว่าตนเองฉลาด
คิดว่าตนเองได้ของมาโดยบริสุทธิ์ โดยมิได้คำนึงถึงความผิดถูกตามพระธรรมวินัย ถือว่าตนเองเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า และเป็นใหญ่ เอาของของสงฆ์มาใช้ตามอำเภอใจ จึงทำให้เป็นศิลาเปรตอยู่ในบัดนี้
พระศรีอริยเมตไตรย
พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่ล่วงมาแล้วในอดีตกาล
ได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นี้ ทุกพระองค์
และแม้ พระศรีอริยเมตไตรย ก็จะเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นี้ และจักประทับรอยพระพุทธบาทสี่รอยนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว
(คือ ประทับลบทั้งสี่รอยให้เหลือรอยเดียว)”
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแก่สาวกทั้งหลายเสร็จแล้ว
พระองค์ก็เสด็จประทับพระบาทซ้อนรอยพระบาท
ของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ แล้วก็ทรงอธิษฐานว่า
ในเมื่อกูตถาคตนิพพานไปแล้ว
เทวดาทั้งหลายก็จักนำเอาพระธาตุของกูตถาคต
มาบรรจุไว้ที่รอยพระพุทธบาทนี้
ในเมื่อกูตถาคตนิพพานไปแล้ว 2,000 ปี
พระพุทธบาทสี่รอยนี้ ก็จักปรากฏแก่ปวงมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย เพื่อมนุษย์และเทวดาทั้งหลายจักได้มากราบไหว้และสักการะบูชา เมื่อทรงอธิษฐานและทำนายไว้ดังนี้แล้ว จึงมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์
จึงกำเนิดเป็นพระพุทธบาทสี่รอย
เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทแล้ว
ก็เสด็จไปเขตวันอาราม อันมีในเมืองสาวัตถีนั้นแล
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
เทวดาทั้งหลายก็นำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ มาบรรจุไว้ที่พระพุทธบาทสี่รอย
ประวัติความเป็นมา ทางบันทึกประวัติศาสตร์
และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานล่วงมาแล้ว 2,000 ปี
เทวดาทั้งหลายต้องการให้พระพุทธบาทสี่รอยปรากฏแก่คนทั้งหลาย ตามที่พระองค์ทรงอธิษฐานไว้
ก็จึงเนรมิตเป็นรุ้ง (เหยี่ยว) ตัวใหญ่ บินลงมาจาก
เวภารบรรพต อันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธบาทสี่รอยในปัจจุบันนี้ ไปจับลูกไก่ของชาวบ้าน (พรานป่า) ที่อาศัยอยู่เชิงเขา เวภารบรรพต แล้วบินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา
พรานป่าโกรธมากจึงติดตามขึ้นไป
คิดว่าจะยิงเสียให้ตาย มันก็ติดตามไปค้นหาดู
แต่ก็ไม่เห็นรุ้งตัวนั้นอีก เห็นแต่รอยพระพุทธบาทสี่รอย
อันอยู่บนพื้นใต้ต้นไม้และเถาวัลย์
พรานป่าผู้นั้นจึงทำการสักการะบูชา
เสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา พอมาถึงหมู่บ้านก็บอกเล่าแก่ชาวบ้านทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ทราบก็พากันไปสักการะบูชา และเรียกขานพระพุทธบาทนั้นว่า “พระบาทรังรุ้ง (รังเหยี่ยว)”
" เหยี่ยวตัวนี้ใหญ่มาก ยืนขวางทาง กลางถนนระหว่างทาง ไปวัดพระพุทธบาทสี่รอย ก่อนถึง อีก 1 กิโลเมตร
แต่พอจะถ่ายภาพ มันก็บินหนีไปเกาะกิ่งไม้เสียแล้ว ถือเป็นนิมิตรหมาย อันดีมากๆ ในการเดินทางครั้งนี้
ประมาณ 760 ปีก่อน
พ่อขุนเม็งรายมหาราช
บูรพมหากษัตริย์ในอดีตของล้านนา และเชื้อพระวงศ์
และบูรพมหากษัตริย์ของไทย ที่เคยเสด็จไปกราบไหว้
และสักการบูชารอยพระพุทธบาทสี่รอย
ในสมัยนั้นมีพระยาตนหนึ่งชื่อว่า พระยาเม็งราย
เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราชศรัทธาประสงค์ จะเสด็จขึ้นไปกราบบูชาพระพุทธบาทสี่รอย
ครั้นแล้วได้เสด็จพร้อมด้วยพระราชเทวี
และเสนาอำมาตย์พร้อมกับบริวารทั้งหลาย
และเมื่อทรงกราบนมัสการเสร็จแล้ว
พระองค์พร้อมด้วยพระราชเทวี
และบริวารทั้งหลายจึงเสด็จกลับสู่เชียงใหม่
เสวยราชสมบัติตราบเมี้ยน (สิ้น) อายุขัยแล้ว
พระโอรสและพระนัดดาที่สืบราชสมบัติต่อมา
ก็เจริญตามรอยพระยุคลบาทก็ได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาทสี่รอบทุกพระองค์
หลังจากนั้นมา พระบาทรังรุ้ง หรือ รังเหยี่ยว นี้
ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “พระพุทธบาทสี่รอย”
มาในสมัยยุคหลัง คนทั้งหลายจึงเรียกขานกันว่า พระพุทธบาทสี่รอย เพราะมีรอยพระพุทธบาทประทับซ้อนกันถึงสี่รอย
คือมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว ในภัทรกัป นี้คือ
1 รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ
ซึ่งเป็นรอยแรก เป็นรอยใหญ่ยาว 12 ศอก
2 รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมโน
ซึ่งเป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก
3 รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสโป
ซึ่งเป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก
4 รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตโม (องค์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นรอยที่ 4 ยาว 4 ศอก
ประมาณ 430 ปีก่อน
“คำให้การของขุนหลวงหาวัด”
ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ต้นจนอวสาน
ที่ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่ามีพระบัญชา
ให้อาลักษณ์บันทึกจากถ้อยรับสั่งของ เจ้าฟ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 ไว้อย่างละเอียด
โดยตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึงเมื่อคราวที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย (สมัยโบราณเรียก รอยพระบาทรังรุ้ง หรือ รอบพระบาทเขารังรุ้ง) ไว้อย่างชัดเจนว่า
“สมัยสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปรบที่เมืองหาง
พระองค์ทรงทราบว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา เรียกว่า เขารังรุ้ง จึงได้เสด็จขึ้นไปนมัสการ
ทรงเปลื้องเครื่องทรง ทั้งสังวาลย์และภูษาแล้ว
ทรงถวายไว้ในรอยพระพุทธบาท และทำสักการบูชาด้วย ธง ธูป เทียน ข้าวตอกดอกไม้ มีเครื่องทั้งปวงเป็นอันมาก แล้วจึงทำการพิธีสมโภชอยู่ถึง เจ็ดราตรี”
จากข้อความประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้เอง
ทำให้เราได้ทราบข้อเท็จจริงในทางโบราณคดี เพิ่มเติมอีกประการหนึ่งว่า โดยแท้จริงแล้ว รอยพระพุทธบาทในประเทศไทยรอยแรก
ที่คนไทยได้รู้จักและมักคุ้นนั้นก็คือ พระพุทธบาทสี่รอย อันประดิษฐานอยู่ ณ เขต อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน
ในขณะที่ รอยพระพุทธบาท ที่ สระบุรี เขาสัจจพันธุ์ นั้น ได้รับการค้นพบเจอในรัชสมัย พระเจ้าทรงธรรม
ซึ่งเป็นยุคหลังรัชสมัยแห่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถึงกว่า 5 ทศวรรษ
จากสาส์นของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยทรงบันทึกไว้ว่า
พระพุทธบาทสี่รอย แห่งนี้ เป็นพระพุทธบาทเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แม้กรุงศรีอยุธยาก็ยังจำลองรอยพระพุทธบาท ไปไว้ที่ ปราสาทนครหลวง (วัดจันทร์ลอย) จ.พระนครศรีอยุธยา
ประมาณ 217 ปีก่อน
พระยาธรรมช้างเผือก ผู้ครองนครเชียงใหม่
เมื่อมาถึง พระยาธรรมช้างเผือก ผู้ครองนครเชียงใหม่
พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน ก็เสด็จขึ้นไปกราบสักการบูชารอยพระพุทธบาทสี่รอย และได้สร้างครอบพระวิหารรอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้ชั่วคราว
โดยแต่เดิม ถ้าใครจะดูรอยพระพุทธบาทสี่รอยจะต้องใช้บันไดพาดขึ้นไปดู ซึ่งก็คงขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น
ดังนั้น พระยาธรรมช้างเผือก
จึงรับสั่งให้สร้างแท่นยืนคล้ายๆ นั่งร้าน
รอบก้อนหินที่มีพระพุทธบาทสี่รอย
เพื่อที่ผู้หญิงจะได้เห็นรอยพระพุทธบาทด้วย
และได้สร้างหลังคาชั่วคาราวมุงไว้
ประมาณ 130 ปีก่อน
ต่อมา พระชายาเจ้าดารารัศมี
ได้เสด็จขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย
และได้มีศรัทธาสร้างวิหารเพื่อเป็นการสักการบูชารอยพระพุทธบาทไว้ 1 หลัง หลังเล็กถวายเป็นพุทธบูชา
ปัจจุบันได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วทั้งหลัง
จะเหลือไว้แต่ผนังวิหาร พื้นวิหาร และแท่นพระ ซึ่งยังเป็นของเดิมอยู่ ถ้าหากท่านมีโอกาสขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ก็จะเห็นวิหารแห่งนี้
พระอริยสงฆ์ที่สำคัญ และของประเทศไทย
ต่างก็เคยธุดงค์เพื่อไปกราบสักการบูชารอยพระพุทธบาทสี่รอย
ประมาณ 93 ปีก่อน
เมื่อปี พ.ศ. 2475 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย
ก็ได้ขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย
และได้รื้อพระวิหารที่ เจ้าพระยาธรรมช้างเผือก สร้างไว้ชั่วคราวนั้นเสีย แล้วได้สร้างวิหารใหม่ครอบรอยพระพุทธบาทไว้ และได้ฉาบปูนครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย เพื่อรักษาให้อยู่ค้ำชูพระศาสนาสืบไปตลอดกาลนาน
ในอดีตป่าเขาแถบนี้ อันเป็นทางผ่านไปวัดพระพุทธบาทสี่รอย ยังเคยเป็นเส้นทางธุดงค์ ปลีกวิเวก ของพระอริยะสงฆ์ ผู้ได้บำเพ็ญเพียร และได้ขึ้นมากราบนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ อย่างพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระธุดงค์กรรมฐานในสายหลวงปู่มั่นอีกหลายท่าน
นอกจากนี้ยังมี หลวงปู่สี ฉนทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค นครสวรรค์(ได้ยาอายุวัฒนะจากบริเวณป่าใกล้วัดพระพุทธบาทสี่รอย),
หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร,
หลวงพ่ออุตตมะ , หลวงปู่ตื้อ วัดป่าอรัญญวิเวก , หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง ต่างก็เคยเดินเท้าขึ้นมากราบรอยพระบาท
ทุกท่านที่กล่าวมา ได้รับรองว่าเป็นรอยพระพุทธบาทนี้เป็นของจริง
และกล่าวว่ารอยพระพุทธบาทดังกล่าวเป็นรอยพระพุทธบาทสี่รอย ของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ในมหาภัทรกัปนี้จริง
ณ ที่แห่งนี้ เป็นสัญญลักษณ์แห่งมหาภัทรกัปที่สำคัญสูงสุดในจักรวาล
หากจะตั้งคำถามทางโบราณคดีถึงผู้สร้างรอยพระพุทธบาท หรือเริ่มสร้างตั้งแต่สมัยใดนั้น
ถ้าให้ข้าพเจ้าคาดเดา อาจต้องเชื่อมโยงถึงชาวพื้นเมืองโบราณ ผู้ตั้งถิ่นฐาน ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรอยู่บนพื้นที่ บริเวณขุนเขาแห่งนี้
อาจจะเป็นยุคสมัย ห้วงแรกๆ ของการรับพระพุทธศาสนาเข้ามาในภูมิภาคนี้ อย่างพวกชาวลัวะโบราณ และชาวยางโบราณ
สืบจากตำนานท้องถิ่น และเสมาหินที่พบบริเวณนี้
การสร้างรอยเท้า เพื่อเป็นสิ่งเคารพบูชา เหมือนเป็นตัวแทนพระพุทธองค์นั้น ถูกสืบต่อกันทางวัฒนธรรมทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่สมัย ทวารวดี จนถึงสมัยขอม
มักสร้างอยู่กลางหุบเขาเร้นลับ ยากเข้าถึง เสมือนเป็นสรวงสวรรค์ หรือเป็นเขาหิมพานต์ ภพภูมิของเทวดา ตามคติความเชื่อที่รับเข้ามาจากอารยธรรมอินเดียโบราณ
โดยมีความเชื่อว่าหากดูแลรักษา เคารพสักการะรอยพระพุทธบาทแล้ว ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาลเป็นอันดี ด้วยพุทธานุภาพ
การกล่าวถึงชุมชนโบราณที่พบในป่าบริเวณนี้ ข้าพเจ้าได้เผยแพร่ในเรื่อง "ลับแล แม่ริม"
หากจะตั้งคำถามถึง ความเป็นมา เกี่ยวกับเรื่องราวตามตำนานเป็นจริงอย่างไร และการเสด็จมาเยือนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจริงหรือไม่นั้น
ล้วนเป็นเรื่องความศรัทธา ความเชื่อส่วนบุคคล และท้องถิ่น ร้อยพระบาทนี้ มีความผูกพันกับชาวพุทธมายาวนาน ด้วยเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป
และหมู่บ้านระหว่างทางขึ้นวัดพระพุทธบาทสี่รอย ต่างก็มีเรื่องเล่าของพระพุทธเจ้า
"หมู่บ้านส้มสุก" กล่าวถึงการเสด็จมาเยือน ณ ทวีปแห่งนี้ ของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระสาวก เพื่อมาโปรดสัตว์ยังดินแดนล้านนาในอดีต
แสดงถึงความศรัทธา ความผูกพันกับพระพุทธศาสน ของชาวเอเชียอาคเนย์ มานับพันปี ตามความเชื่อที่รับ ต่อๆกันมา จากอารยธรรมที่เจริญกว่า
ณ ป่าแห่งนี้ ภูเขาที่มีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ไม่ขาดทั้งกลางวันกลางคืน พื้นที่แห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า ป่าหิมพานต์
ธรรมชาติของเปรตทั้งหลาย ก็ไม่เคยมีตัวตนในเมืองมนุษย์ แต่ธรรมชาติของเปรตทั้งหลาย ย่อมเกิดเป็นตัวเป็นตนในป่าหิมพานต์ หรืออยู่ป่าลึก ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความกลัวของมนุษย์
โดยมีหินก้อนใหญ่ ที่ปรากฎรอยเท้าทั้ง 4 ประทับอยู่ อันเป็นที่คุมขังของเปรต ทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นกุศโลบายให้เห็นถึงกรรมดี กรรมชั่ว
การที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์
เสด็จมาประทับรอยพระบาทในที่นี้
เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย เพื่อเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน
การที่เราได้กราบนมัสการรอยพระพุทธบาท
ด้วยเครื่องสักการะบูชา มีดอกไม้ ธูปเทียน
 
แม้จะยังไม่ได้เจริญตามรอยพระบาท
ของพระพุทธองค์
แต่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวังให้เราทั้งหลาย
เจริญรอยตาม คำสอน....
ด้วยการให้ทาน ถือศีล เจริญสมาธิภาวนา
ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงโปรดให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย เช่นเดียวกับเปรตตนนี้
การหาความจริงทางประวัติศาสตร์
จะต้องใช้องค์ความรู้ในทางโลก เพื่อทำให้เราเข้าใจถึงความเป็นมาในอดีต ให้เข้าใจ ในสิ่งที่เราสงสัย เพื่อนำความรู้นั้น ไปพัฒนาตนเอง ให้โลกนี้ศิวิไลซ์
ส่วนการหาความจริงในทางธรรม
ต้องใช้ความเชื่อ ความศรัทธา เสียก่อน ทำให้เราเข้าใจถึงหลักธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมนำมาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาจิตใจ ให้โลกสงบสุข
และบางครั้ง ต้องใช้หัวใจ ทำความเข้าใจ...
ขอทุกท่านปลอดภัยจากโรคร้ายทั้งปวง
……………ไซตามะ
โฆษณา