11 มี.ค. 2022 เวลา 12:30
จากกรณีดาราสาวนักแสดง “แตงโม นิดา” เสียชีวิต เป็นช่วงที่สังคมไทยร่วมตระหนักในการค้นหาความจริง ตามหลักการ “ความยุติธรรมเป็นของทุกคน แล้วทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมได้” (Justice for All, All for Justice) แต่ขณะเดียวกัน สังคมไทยจะเจอกับการขาดความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมในการค้นหาความจริงของรัฐ
'ความยุติธรรม' เป็นของทุกคนไม่ควรเป็นเรื่อง 'ความลับในสำนวน'
สาเหตุหลัก คือ การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมองว่าเป็นความลับในทางคดี แต่หากเชิงโครงสร้างของอำนาจรัฐเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้เป็นความท้าท้ายว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องการเปิดเผยความจริงทุกระยะ เพื่อร่วมกันค้นหาความจริง
โดยเฉพาะบางกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานและค้นหาความจริงได้อย่างทั่วถึง แต่บางกรณีการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาความจริง จึงเป็นสิ่งท้าท้ายในกระบวนการยุติธรรม ที่ส่งผลต่อการทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการค้นหาความจริง เพราะความยุติธรรมเป็นของทุกคนแล้วทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมได้
หากผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมมีทัศนเชิงอำนาจนิยม และยึดติดในระบบราชการเจ้าขุนมูลนาย ความเจริญก้าวในหน้าที่การงานอยู่กับนายเป็นหลัก จะทำให้มีช่องว่างบริการนายมากกว่าประชาชน อาจทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นอุปสรรค การบริหารงานยุติธรรมในยุคท้าทายจึงเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างความเข้าใจกับประชาชน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงอำนาจกันต่อไป
1
กรณีการเสียชีวิตของดารานักแสดง “แตงโม นิดา” ประเด็นหลักคือ ถือเป็นการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิต เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุแห่งการเสียชีวิต เสียชีวิตที่ไหน เสียชีวิตเมื่อใด ถ้ามีผู้ใดทำให้เสียชีวิตก็จะได้ทราบด้วยว่าเป็นใคร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการเสียชีวิตที่มีมูลมาจากการกระทำความผิดทางอาญา เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับเหตุและพฤติการณ์ที่ตายมากที่สุด ซึ่งการชันสูตรพลิกศพดังกล่าว เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนและอาจนำไปสู่การสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน
1
ดังนั้น ในการสอบสวนคดีที่มีการชันสูตรพลิกศพ พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิด
โดยการรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนซึ่งมีผลต่อรูปคดีที่อันอาจสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียชีวิตได้ที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้เกี่ยวข้องซึ่งสามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพยานเอกสาร พยานวัตถุ หรือพยาน
การดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นการชันสูตรพลิกศพ การสอบสวน หรือการดำเนินการในทางศาล จำต้องเป็นไปตามหลักการคุ้มครองผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียชีวิต กล่าวคือ ผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียชีวิต มีสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการทางอาญา มีสิทธิรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างถูกต้องและชัดเจนในทุกขั้นตอน
ในประเทศไทย กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ เช่น การร้องทุกข์ การฟ้องคดี การเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย เป็นต้น แต่ยังคงละเลยในเรื่องโอกาสการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาอันถือเป็นสิทธิส่วนหนึ่งของผู้เสียหาย หรือประชาชน
โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนให้ความจริงใจที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น สิทธิที่จะทราบสาเหตุและพฤติการณ์การเสียชีวิตที่แท้จริงจากการชันสูตรพลิกศพควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และได้รับความพึงพอใจจากกระบวนการชันสูตรพลิกศพ
หากพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 (2) ให้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดีอาญา
การสรุปสำนวนผลการชันสูตรพลิกศพจากการเสียชีวิตเพื่อทราบถึงสาเหตุการเสียชีวิต จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จำต้องสร้างความเชื่อมั่นและเป็นธรรมอย่างเพียงพอให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นของความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความโปร่งใสของพนักงานสอบสวนในการค้นหาความจริง รวมถึงการชันสูตรพลิกศพ ต้องตระหนักว่า การชันสูตรพลิกศพเป็นกระบวนการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิต และเป็นการใช้อำนาจรัฐรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งผลต่อความเป็นธรรม
ในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจเต็มฝ่ายเดียวในการชัดสูตรพลิกศพ ปราศจากการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก เช่นนี้ทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ย่อมส่งผลให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในการปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมในการค้นหาความจริง
ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงต้องกระทำการชันสูตรพลิกศพ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เสียหาย ญาติของผู้เสียชีวิต และประชาชน
บทความโดย: ศ.ดร.กรกฎ ทองขะโชค คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โฆษณา