14 มี.ค. 2022 เวลา 14:39 • ประวัติศาสตร์
สวัสดีครับ วันนี้กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้นำเรื่องราวในอดีตของพื้นที่บริเวณปลายด้ามขวานผ่านดวงแสตมป์ที่นับว่าหายากมากๆ ครับ เอาว่า ราคาต่อดวง 10,000++ บาทกันเลยทีเดียว
1
แสตมป์ไทยยึดครองกลันตัน
แสตมป์ชุดนี้คือชุด
✨“ไทยยึดครองรัฐกลันตัน”✨
มาดูกันว่าทำไม กระดาษแผ่นเล็กๆ นี้ราคาถึงพุ่งได้ขนาดนี้ เราไปดูที่มาที่ไปกันเลยครับ
รัฐกลันตันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี ประกอบด้วย ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู เป็นประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการ พร้อมด้วยต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายพระมหากษัตริย์อยุธยา 3 ปีต่อครั้ง
"บุหงามาศ" (bunga mas) หรือ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง บรรณาการแด่สยาม Cr. wikipedia
หากอยุธยาต้องการความช่วยเหลือทางทหารหรืออาวุธกระสุนดินดำ หัวเมืองมลายูจะต้องจัดหาให้ตามที่ต้องการ ส่วนอยุธยามีภาระผูกพันในการดูแลความสงบเรียบร้อยของหัวเมืองมลายู หากหัวเมืองมลายูได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหรือถูกรุกรานจากศัตรู อยุธยามีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ
⏳⏳⌛️⌛️
แต่เมื่อถึงสมัย รัชกาลที่ 5 เราได้สูญเสียดินแดนนี้ให้กับอังกฤษ (เป็นการเสียดินแดน ครั้งที่ 13) เสียรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิศ เมื่อ 10 มีนาคม 2451 พื้นที่ 80,000 ตร.กม. สยามได้ทำสัญญากับอังกฤษ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ศาลไทยที่จะบังคับคดีความผิดของคนอังกฤษในสยาม
ต่อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยได้รับดินแดนส่วนนี้คืนจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อตอบแทนที่ไทยยอมร่วมกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2486
ทำให้ทั้ง 4 รัฐที่อังกฤษเคยแย่งชิงไปจากไทยจึงตกมาอยู่ในครอบครองของไทยอีกครั้ง รัฐบาลไทยได้ส่งข้าหลวงใหญ่ทหารไปประจำทุกรัฐใน ”สี่รัฐมาลัย” โดยขึ้นตรงต่อผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด
1
เมื่อรัฐบาลไทยได้รับมอบดินแดนสี่รัฐในแหลมมลายูแล้ว ก็ได้ประกาศรวมเอากลันตัน ตรังกานู ปลิศ และไทรบุรี เข้าไว้ในราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486 กำเนิดแสตมป์ไทยยึดครองรัฐกลันตัน ข้าหลวงไทยประจำรัฐกลันตันมีคำสั่งให้ ดาโต๊ะ เสรี เสเตีย (นิก กามิล) นายกรัฐมนตรีของรัฐกลันตัน จัดพิมพ์แสตมป์ขึ้นใช้เองเรียกว่า “แสตมป์ชุดไทยยึดครองรัฐกลันตัน” ประกอบด้วยชนิดราคา 1, 2, 4, 8 และ 10 เซนต์ อันเป็นหน่วยเงินมลายู
และนี่คือหน้าตา แสตมป์ชุดไทยยึดครองรัฐกลันตัน ราคาในคู่มือเมื่อปี พ.ศ.2554 ราคาดวงละ 14,000 บาท🤩🤩😱😱
แสตมป์ชุดไทยยึดครองรัฐกลันตัน ครบชุด
แสตมป์ชุดไทยยึดครองรัฐกลันตัน (ชุดที่1) ได้รับการพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของรัฐกลันตัน ด้วยกระดาษสีขาวที่ใช้ในราชการช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผลิตโดยคราวน์เอเย่นต์ (Crown Agent) ประเทศอังกฤษ ด้านบนพิมพ์ชื่อรัฐเป็นตัวอักษรอาหรับภาษามลายู และด้านล่างพิมพ์บอกชนิดราคาด้วยหมึกสีดำ ปรุรู ขนาด 11 ด้านหลังไม่มีกาว แต่มีลายน้ำเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ คำว่า “(Crown Agent)” และ “Standard” เป็นรูปไข่ (Oval)
1
ใน 1 แผ่นมีแสตมป์ทั้งสิ้น 84 ดวง โดยแต่ละแผ่นจะมีลายน้ำปรากฏอยู่ 4 แห่ง และมีลายน้ำรูปไข่อยู่ 1 รูปเสมอ ซึ่งมักปรากฏให้เห็นในแสตมป์บล็อค 6 ดวง ส่วนแสตมป์ดวงที่เหลือจะไม่มีลายน้ำ เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งนอกลายน้ำของทั้ง 4 แห่ง
แสตมป์ชุดไทยยึดครองรัฐกลันตันนี้ถือเป็นแสตมป์ไทยเพียงชุดเดียวที่ไม่มีตัวอักษรไทยปรากฏอยู่บนหน้าดวง
หลังจากโรงพิมพ์ของรัฐกลันตันพิมพ์แสตมป์ชุดนี้เสร็จแล้ว ก็จะนำมาให้ ดาโต๊ะ เสรี เสเตีย ยังกองคลังของรัฐ ซึ่งจะมีเสมียนนายหนึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ กันกับท่านดาโต๊ะ คอยทำหน้าที่ประทับตราอาร์มประจำรัฐกลันตันด้วยตรายางลงบริเวณพื้นที่ว่างตรงกลางของแสตมป์แต่ละดวงด้วยหมึกสีม่วง
📌ตราอาร์มประจำรัฐกลันตันที่ประทับด้วยหมึกสีแดงใช้เป็นอากร ถ้าประทับสีม่วงใช้เป็นแสตมป์📌
อากรแสตมป์ ไทยยึดครองรัฐกลันตัน
แสตมป์ชุดไทยยึดครองรัฐกลันตัน ถูกนำออกจำหน่ายยังที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขของรัฐกลันตัน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทราบเรื่องก็ได้สั่งให้ระงับใช้แสตมป์ชุดดังกล่าวนี้เสีย
นอกจากนี้ยังมีการจัดพิมพ์แสตมป์รัฐกลันตัน ชุดที่ 2 ด้วย รัฐบาลไทยได้อาศัยแสตมป์สุลต่านแห่งรัฐกลันตัน ชนิดราคา 12 เซ็นต์ เป็นต้นแบบในการแกะแม่พิมพ์เป็นภาพบุคคลสำคัญ เข้าใจว่าเป็นภาพของสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน ในช่วงที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครอง ด้านล่างเป็นอักษรอาหรับ ส่วนด้านบนมีคำว่า “รัถกลันตัน” โดยสะกดคำตามแบบอักขรวิบัติในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
แสตมป์รัฐกลันตัน ชุด 2 Cr. https://m.pantip.com/topic/34150658?
แสตมป์รัฐกลันตัน ชุด 2
ข้อมูลของแสตมป์ชุดนี้น้อยมากครับ ทั้งยังไม่ค่อยมีใครปล่อย ทำให้หาราคาของแสตมป์ชุดนี้ไม่ได้เลยครับ รู้แค่ว่าราคาสูงแน่นอนครับ
🌱🌿🍂
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลไทยประกาศว่ามิได้มีภาวะสงครามอันแท้จริงกับประเทศอังกฤษ จึงจำต้องส่งคืนดินแดนสี่รัฐในแหลมมลายูให้กับรัฐบาลอังกฤษตาม
“ความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทย อังกฤษ และอินเดีย” ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2489
เมื่อคืนดินแดนให้อังกฤษ การครอบครองสี่รัฐมาลัยของไทยเป็นอันสิ้นสุดลงด้วย ส่งผลให้แสตมป์ อากรแสตมป์ และไปรษณียบัตรของรัฐไทยในแหลมมลายูจำต้องยุติการใช้ไปโดยปริยาย…
📌สาเหตุที่สิ่งสะสมในข่วงนี้มีราคาแพงมาก เนื่องจากช่วงเวลานั้นข้าวยากหมากแพง แม้กระทั่งซองจดหมายส่วนใหญ่ก็จะใช้กระดาษรีไซเคิล การสะสมมีน้อย หรือถูกทำลายไปหมด ประวัติศาสตร์ของ สี่รัถมาลัย เกี่ยวโยงทางด้านการเมืองอย่างน้อยถึง 4 ประเทศ📌
ต้นเหตุของบทความนี้ มาจากบทความของพี่ฮาม “เพจเรียนรู้..ไปพร้อมๆ กัน” ว่าด้วยการเดินทางของปินใหญ่
ถ้าพี่ฮามมี จะแบ่งผมก็ไม่ขัดครับ😁😁
เนื้อเรื่อง และรูปแสตมป์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา