15 มี.ค. 2022 เวลา 13:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ
┍ ┑
Inflation-linked bonds 📃
ตราสารหนี้พิเศษที่กลับมาพร้อมเงินเฟ้อ
┕ ┙
ในตอนนี้ เงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำลายสถิติสูงที่สุดในรอบหลายสิบปีไปแล้ว 📈
นำมาด้วยเงินเฟ้อของฝั่งอเมริกาและยุโรป ตามมาด้วยเงินเฟ้อของฝั่ง emerging market อย่างประเทศไทยที่พุ่งขึ้นมา 5% ในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีตัวเร่งอย่างประเด็น ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ซึ่งทำให้ราคาของสินค้าหลายชนิดเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ⛽ ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ทำให้ในช่วงต้นเดือนนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี
เทรนด์เงินเฟ้อขาขึ้นนี้ ทำให้สินทรัพย์หนึ่งกลับมาฮิตอีกครั้ง ทั้งจากกลุ่มที่กลัวเงินเฟ้อจึงอยากป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และอีกกลุ่มที่หาทางทำกำไรจากเงินเฟ้อ
‘Inflation-linked bonds’ 📃 ตราสารหนี้พิเศษที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับเงินเฟ้อ เป็นเครื่องมือสำคัญของคน 2 กลุ่มนี้
และในบทความนี้ Macro Snap จะพาทุกคนไปรู้จักกับ Inflation-linked bonds ในแบบที่สนุกและเข้าใจง่าย 🧩
แล้วเศรษฐศาสตร์จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป 😉
[ Inflation-linked bonds คืออะไร 🤔 ]
Inflation-linked bonds 📃 คือ ตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อให้แก่นักลงทุน
เนื่องจากคนบางกลุ่มกลัวเงินเฟ้อ เพราะทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและเงินที่เราถืออยู่มีค่าน้อยลง
นอกจากนี้สำหรับการลงทุน เงินเฟ้อจะทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (real return) ลดลง เช่น ถ้านักลงทุนได้ผลตอบแทนจากหุ้น 10% แต่เงินเฟ้อขณะนั้นอยู่ที่ 7.9% (ระดับเงินเฟ้อของอเมริกาเดือนที่แล้ว) เท่ากับว่าผลตอบแทนที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อ จะเหลือแค่ 2.1% เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเป็นกรณีของพันธบัตรรัฐบาลที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% แน่นอนว่าต้องแพ้เงินเฟ้อ 7.9% และมีผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบไปเลย
ทั้งนี้ Inflation-linked bonds ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล โดยจะแตกต่างจากพันธบัตรรัฐบาลปกติตรงที่
สมมติว่าพันธบัตร มีราคาพาร์ (Par value) 1,000 ดอลลาร์ และดอกเบี้ย 5% พันธบัตรนี้จะให้ผลตอบแทน คือ เงินต้น 1,000 บาทเมื่อครบอายุ และดอกเบี้ยทุกปี ปีละ 5 ดอลลาร์
แต่สำหรับ Inflation-linked bonds เงินต้น 1,000 บาท จะขึ้นลงตามเงินเฟ้อ เช่น ถ้าปีแรกมีเงินเฟ้อ 5% เงินต้นก็จะปรับมาเป็น 1,050 ดอลลาร์ ส่วนดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะคำนวณจาก 5% ของเงินต้นที่ปรับแล้ว เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยปีแรกจึงเป็น 52.5 ดอลลาร์ (5% x 1,050)
จากนั้นในปีต่อๆ ไป เงินต้นและดอกเบี้ยจะปรับขึ้น-ลงตามเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ
ดังนั้น จากตัวอย่างจะเห็นว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะไม่ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงของ Inflation-linked bonds ลดลง นักลงทุนจึงไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในการลงทุนนี้ เพราะ Inflation-linked bonds ได้ป้องกันความเสี่ยงนี้ไว้แล้ว
[ Inflation-linked bonds ของประเทศต่างๆ 🌐 ]
🇬🇧 อังกฤษ
พันธบัตรที่ใช้ชื่อว่า ‘Linkers’ ซึ่งอ้างอิงกับดัชนีเงินเฟ้อของอังกฤษ (Retail Price Index ; RPI)
โดยมีอีกหลายประเทศที่ Inflation-linked bonds ใช้ชื่อว่า Linkers เหมือนอังกฤษ
🇺🇸 สหรัฐอเมริกา
พันธบัตรที่ใช้ชื่อว่า ‘TIPS’ (Treasury Inflation-Protected Securities) ซึ่งอ้างอิงกับ Consumer Price Index (CPI)
🇹🇭 ประเทศไทย
ในประเทศไทยก็มีพันธบัตรชนิดนี้อยู่เหมือนกัน ในชื่อ ‘พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ’ และเคยออกมา 2 ครั้งเท่านั้น คือ ในปี 2554 และ 2556
[ Inflation-linked bonds กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ]
▪ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำมาตลอด จึงทำให้ Inflation-linked bonds เงียบหายไปด้วย เพราะถ้าเงินเฟ้อต่ำและคงที่ เช่น ในอเมริกาที่เงินเฟ้ออยู่ระดับใกล้ๆ 2% มาตลอด 10 ปี นักลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
นอกจากนี้การทำกำไรจากสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อก็หายไปด้วย เพราะเงินเฟ้อผันผวนน้อยมาก
แต่ในปีที่แล้ว เมื่อเงินเฟ้อกลับมาและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณการซื้อขาย Inflation-linked bonds ก็กลับมาสูงอีกครั้ง
โดยปริมาณการซื้อ-ขายต่อวันของ Inflation-linked bond อายุไม่เกิน 5 ปี ในยูโรโซน สูงขึ้นมาเกือบเท่าตัว (YoY) ในเดือนมกราคมปีนี้
ส่วนปริมาณการซื้อ-ขายต่อวันของ TIPS ทำสถิติสูงที่สุด ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
ซึ่งนอกจากเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อแล้ว ความผันผวนของเงินเฟ้อที่กลับมาครั้งนี้ ได้สร้างโอกาสให้ธนาคารและ Hedge fund กลับมาทำกำไรจากเงินเฟ้ออีกครั้ง
โดย 15 ธนาคารขนาดใหญ่ทั่วโลก ทำกำไรจากการซื้อ-ขายสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อได้มากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงเป็น 2 เท่าเทียบกับปี 2019
▪ ในการกำไรจากเงินเฟ้อ นอกจากการซื้อ-ขาย Inflation-linked bonds เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคาของพันธบัตรแล้ว ยังมีเครื่องมืออีกชิ้นที่ซับซ้อนกว่าอย่าง Zero-coupon inflation swap ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่ทำให้นักลงทุนต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราคงที่แลกกับดอกเบี้ยอัตราลอยตัวที่อิงกับเงินเฟ้อ
เช่น เราคาดเดาว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น จึงซื้อ Zero-coupon inflation swap เพื่อจ่ายดอกเบี้ยคงที่ 2% และหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยที่ขึ้นตามเงินเฟ้อมาแทน
โดย Inflation swap ก็กลับมาเป็นที่นิยมเช่นกัน และราคาทะยานขึ้นไปทำสถิติสูงสุดไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
▪ ในขณะที่ความต้องการสินทรัพย์ทางการเงินที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ปริมาณสินทรัพย์เหล่านี้ในตลาดมีจำกัด
และยังมีความท้าทายอีกอย่าง คือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มีน้อยมาก เพราะที่ผ่านมาสินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้เป็นที่สนใจและมีปริมาณการซื้อ-ขายต่ำ
ทำให้ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อ เป็นที่ต้องการตัวมากๆ ในตลาดการเงิน การลงทุน
1
สุดท้ายนี้ Macro Snap หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่า Inflation-linked bonds มากขึ้น
รอติดตามเรื่องที่สนุกและเข้าใจง่ายได้อีกในบทความต่อไป
แล้วเศรษฐศาสตร์จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป 😉
🌐 ช่องทางการติดตามอื่น
📎 Sources
การคำนวณผลตอบแทนของ Inflation-linked bonds
Inflation-linked bonds ของประเทศไทย
โฆษณา