15 มี.ค. 2022 เวลา 14:11 • ปรัชญา
ที่จริงก็ไม่อยากจะมาเขียนเรื่องที่ไปพัวพันในพระไตรปิฏก เพราะเรื่องราวในพระสูตรต่างๆเป็นเรื่องราวที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัส ให้แก่ภิกษุที่ล้วนแล้วมีบารมีที่จะบรรลุธรรมสำเร็จเป็นองค์พระอรหันต์ ท่านล้วนมีสติปัญญา ฟังเพียงนิดเดียว แล้วกระแสของพระสุรเสียงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ประกอบด้วยแสงของรัตนะ ที่สามารถส่งต่อไปถึงจิตของผู้ที่ที่สะสมบุญบารมีมากมาย เพียงฟังธรรมสะกิดจิตนิดเดียว อุปสรรคอะไรที่ปกปิดอยู่ก็สามารถเปิดออกมาได้ เหมือนดอกบัวพร้อมจะบานเมื่อต้องแสงพระอาทิตย์
เรื่องคำภีร์ตำรา เราเองก็มีเยอะพอควร พระไตรปิฏกก็อุตส่าห์ ไปหามาไว้หนึ่งชุด ก็เพราะความอยากรู้ คุ้นเคยกับการเรียนหนังสือต้องมีตำรับตำรา พอมาเจอพระที่นับถือ ก็ฝึกหัดไป ปฏิบัติไป เจออะไรในสมาธิ เจอปัญหาอะไร ก็ค้นหาตามตำรา ยิ่งท่านมาสอนเรื่องราวของอารมณ์ให้ลดละอารมณ์ นั่งสมาธิ เค้าบอกให้ภาวนา แค่พุทโธ แต่สัญญาของสิ่งที่จำมา ก็เข้ามา คิดไปตามคำภีร์ตำรา คิดว่าเป็นวิปัสสนา ก็หลงตรงนี้อยู่นานพอควร
เอ๊ะ..ทุกครั้งที่พบท่าน ท่านก็เตือนเรื่องคำภีร์ตำรา เรื่องความยึดถือ ก็เลยต้องมาทบทวนใหม่ ท่านบอกว่า อารมณ์มันมีมากมายหลายตัวนัก เราลดละทั้งหมดไม่ได้หรอก เอ้า..เอาตัวนี้ไปทำ ตัวติเตียน ไปทำจะไปติเตียนใครก็ ..บอกตัวเองนี่ ตัวติเตียนเกิดขึ้น จะไปคล้องเวรกรรมหรือไง เราก็หยุดติเตียน ..เราก็ค่อยๆทำไปในชีวิตประจำวัน คราวหลังท่านก็บอกเพิ่มมาอีก เอาตัวพอใจไม่พอใจ ไปทำ เวลามันเกิดขึ้น ก็บอกตัวเอง นี่ตัวไม่พอใจนะ ตัวอารมณ์พวกนี้ มันก็มีอาการมีพิษสงของเค้า ทำให้มึนงง ซึ่งเมื่อเราได้เรียนรู้มากขึ้น ท่านก็ค่อยต่อให้ไปทำ ตัวนี้น่ะ พอมาเทียบเคียงเรื่องราวของอภิธรรม มันก็เป็นเรื่องราวของจิตที่ยึดอารมณ์อะไรอยู่ เสวยอารมณ์อะไรอยู่ การที่ได้ศึกษาแบบนี้ เราจะได้รู้จักอาการของอารมณ์กับจิตที่เกิดขึ้น แล้วเราจะสลัดอารมณ์เหล่านั้นออกไปอย่างไร
ที่เขียนมานี้ เพียงอยากจะบอกว่า การศึกษาเรื่องราวของพระไตรปิฏกนั้นก็ดี แต่ว่าเวลาปฏิบัติธรรมจริง เรื่องราวของคำว่า กายเวทนาจิตธรรม มันไม่ได้ไปอยู่ที่ตัวหนังสือในพระไตรปิฏก แต่เราต้องมาเปิดอ่านเรื่องราว กายเวทนาจิตธรรม โดยใช้กายเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เกิดเป็นสมาธิ สมาธิรักษากายนิ่งจิตนิ่ง อะไรทำให้กายไม่นิ่ง จิตไม่นิ่งก็ปฏิเสธออกไป เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นอารมณ์ อารมณ์ก็เป็นนามธรรม จิตก็เป็นนามธรรม กายนั่นเป็นรูปธรรมนำกายมานั่ง เหมือนพระปฏิมากรรม เมื่อกายนิ่ง จิตก็จะนิ่งตามกาย แล้วในเรื่องนำกายมาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ยังเมื่อเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฏก ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ต้องอาศัยผู้ที่ปฏิบัติธรรมมา เคยผ่านมาแล้ว ชี้ทางแก้ไขให้
ยิ่งเป็นเรื่องราวที่ละเอียด เรื่องการสร้างบุญกุศล ว่าทำอย่างไร ถึงจะเป็นบุญที่แท้จริง แล้วบุญนั้นเป็นลักษณะอย่างไร บุญทำให้เกิดอะไรขึ้นต่อกายต่อจิต เรื่องราวของจิตที่มาอนุโมทนาบุญเป็นอย่างไร เรื่องราวของการอโหสิกรรม เรื่องราวสิ่งที่ปกปิด ให้จิตหลงจมอยู่กับทุกข์ ล้วนต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรม จึงจะสามารถเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้ แล้วกลั่นกรองเหตุผลในเรื่องราวกรรมต่างๆ ที่เคยทำมา ต้องแก้ไขให้แก่จิตของตน เรื่องราวเหล่านี้ ก็ต้องอาศัยคำในพระไตรปิฏก เรื่องขันธ์ห้า เรื่องคำว่า วิญญาณ ว่าที่มันอยู่ในกายนี้ แท้จริงมันเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร ทำงานอย่างไร มีอะไรบ้างที่อยู่กับคำว่าวิญญาณ ที่เราใช้อยู่
แล้วเรื่องของคำว่าจิตยึดถือ ยึดสิ่งที่มีขีวิตไม่มีชีวิต ทรัพย์สินเงินทอง พ่อแม่ สามีภรรยา บุตรธิดา จิตมันยึดมันหวง มันทำให้เกิดอะไร ทำไมถึงยึด สละเรื่องราวเหล่านี้ออกไปจากจิตทำได้อย่างไร อะไรที่หนุนนำให้ต้องสละเรื่องราวเหล่านี้ สละออกไปแล้วมีอะไรเกิดขึ้นแก่จิต เรื่องราวของแสงสีรัตนะ มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดแสงรัตนะ ซึ่งก็มีเรื่องราวมากมาย โดยส่วนตัวก็ไม่ใช่ผู้ที่รู้จริง ก็เป็นเหมือนเด็กนักเรียนฝึกหัดเรียนรู้คนหนึ่งเท่านั้น ที่อยากจะเรียนรู้
แล้วเรื่องอารมณ์สั่งจิตให้ใช้กายเคลื่อนไหว นั้นมันเป็นอย่างไร เรื่องเหล่าล้วนเป็นนามธรรมทั้งสิ้น แล้วจิตของเราจริงๆ เป็นอย่างไร เราต้องขุดคุ้ยที่ตัวเราในกายเรา ไม่ใช่รู้แค่เกิดมาก็ตายแค่นั้นเอง แล้วใช้กายวาจาใจไปทำอะไรบ้าง เราก็ไม่ได้เอาศึกษาตัวตนของเราเอง ไปคล้องเวรกรรม ทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง ไปทำตนเค้าเดือดร้อน อะไรมันเกิดขึ้นที่เราบ้าง บางคนก็ไม่สามารถรับรู้ผลของการกระทำนั้น แต่จิตที่เค้าประพฤติปฏิบัติธรรมจริงเค้าก็รู้ของเค้าเองว่า กรรมมันเกิดแล้วนะ เรื่องราวทำนองนี้ ไม่ใช้ว่าทุกคนจะสนใจศึกษาได้ มันจึงมีเรื่องราวที่ว่า จิตนั้นถือกรรมกันมาคนละแบบ สะสมมาไม่เหมือนกัน
อีกเรื่องราวหนึ่ง ที่เค้าว่าตัวหลงนั้นเป็นอย่างไร เรื่องราวของคำว่า เวทมนต์คาถา ไสยศาสตร์ เรื่องของจิตที่ถูกกระทำด้วยไสยศาสตร์ เรื่องเจ้าพ่อเจ้าแม่ เรื่องคนทรง กุมารอะไรอีกมากมาย ในเรื่องราวเหล่านี้ มันก็เกี่ยวพันกับเรื่องของกรรมอีก อะไรมันทำให้คนหลงใหล มันเป็นอย่างไรกัน เรื่องเจ้าเวรนายกรรม เมื่อประพฤติปฏิบัติธรรมเค้าก็ให้เราเรียนรู้ เพื่อแก้ไขตัวเอง เมื่อเราต้องไปสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้ แต่เราไม่ใช่คนไปกระทำเรื่องราวเหล่านี้ เค้าเพียงให้รู้จักว่ามันเกิดอะไรขึ้นมาแก่จิต มีความวิปริตของนิสัยที่เคยใช้อย่างไร มีความทุกข์อย่างไร
เมื่อสิ่งนั้นมาเกิดขึ้นที่ตัวเรา นั้นก็เป็นเรื่องการศึกษาอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราจะได้หลีกหนีเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งการเรียนการศึกษา มันก็คล้ายเรียนรู้เป็นชั้นๆ เรืองโลก เรื่องกรรม เรื่องธรรม เรื่องจิต ก็ต้องเรียนรู้ขึ้นว่าเป็นอย่างไร เอาจิตมาเรียนเป็นมโนทะศึกษา ไม่ใช่เอากายกับอารมณ์มาเรียน
นั่นก็เป็นเรื่องราวที่เราต้องประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมาเอง เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ประกอบเป็นตัวตนเป็นกายที่จิตเราอาศัยอยู่ ซึ่งพระไตรปิฏกไม่ได้มาประกอบอยู่ในกายนี้ เพียงแต่ชี้ให้ศึกษาที่กายเราอาศัย
เรื่องของประพฤติปฏิบัติธรรมตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทเจ้า เปรียบเหมือนเดินขึ้นบันไดแก้ว ทำไม่ดีก็ลื่นไถลตีลังกาล้มระเนระนาด ไม่สามารถขึ้นไปได้ เมื่อจะมาเดินในรอยนี้ ก็ต้องขจัดเรื่องต่างๆออกไป คืออารมณ์ที่หนัก ความโลภโกรธหลงที่ซ่อนเร้นอยู่ในกาย หมั่นพิจารณาขจัดออกไป ไม่งั้นก็ถูกกระชากลื่นไถลเดินไปทางนี้ไม่ได้
โฆษณา