17 มี.ค. 2022 เวลา 13:30 • หนังสือ
ANOTHER BOOK THAT : ตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจโลกและตัวเอง
พลังแห่งการตั้งคำถาม
โดย โมงิ เคนอิจิโร่
..........
#What_I_Get
 
ภายในหนังสือได้กล่าวไว้ว่าคนญี่ปุ่นนั้นตั้งคำถามกันไม่เก่งหรือกลัวการตั้งคำถามกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะกลัวการโดนดูถูกว่าเป็นคนที่ไม่รู้หรือเรื่องแค่นี้ยังไม่เข้าใจอีก และเป็นการการเปิดเผยความอ่อนด้อยของตัวเองออกมา
ซ้ำยังระบบการศึกษาภายในประเทศนั้นยังมีรูปแบบการเรียนแบบเน้นให้นักเรียนเป็นเฉพาะผู้ตอบคำถามให้ถูกต้องเท่านั้น ทักษะการตั้งคำถามที่ดีจึงเป็นสิ่งที่มีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่ทำได้
จากมุมมองของผมภายในประเทศไทยเราก็มีสถานะการณ์ไม่ต่างจากญี่ปุ่นมากนัก เนื่องจากระบบการเรียนการสอนและการรูปแบบสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ในปัจจุบัน
ทั้งที่การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์นั้นจะช่วยให้ชีวิตเราและโลกดีขึ้นได้อย่างมาก คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้ที่ชอบตั้งคำถาม ยอมรับอยู่เสมอว่ายังมีเรื่องที่ตัวเองยังไม่รู้ และหาหนทางทำความเข้าใจเรื่องราวใหม่ ๆ ตลอดเวลา
ผู้คนที่ยิ่งใหญ่มักเกิดมาจากการคิดถึงคำถามที่คนอื่นนึกไม่ถึง และหาหนทางแก้ไขมัน เพื่อช่วยให้โลกเราดีขึ้นทีละนิดไปในทุกวัน เช่น การเกิดขึ้นมาของ Facebook ก็มาจากวิสัยทัศน์จากคำถามที่ว่า “จะทำยังไงให้ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันได้มากที่สุด”
โดยคำถามนั้นมีทั้งคำถามที่ดีและคำถามที่ไม่ดี คำถามที่ไม่นั้นส่วนมากจะมาจากการมีความรู้ที่ไม่เพียงพอ และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เรื่องราวต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันคำตอบของเรื่องราวต่าง ๆ นั้นมีความเป็นได้อย่างมากมาย เพราะคำถามที่ดีนั้นจะไม่ตื้นเขินจนเกินไป
คำถามที่ไม่ดี จะมีคุณสมบัติดัง 5 ข้อต่อไปนี้
1. ต้องการคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน
เพราะโลกเราในปัจจุบันไม่มีอะไรที่ถูกต้อง 100% แม้กระทั่งความรู้วิทยาศาสตร์ก็ตาม การถามหาความแน่นอนแล้วทำตามโดยไม่ยั้งคิดจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เกิดจากคำถามนั้นอย่างถูกต้องนัก
เช่น การถามว่า “ควรเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อายุเท่าไร” เนื่องจากแต่คนมีช่วงอายุในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีจะไม่ตอบด้วยการบอกอายุที่แน่นอนออกไปอย่างแน่นอน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าอายุเท่าไรถึงจะดีที่สุด
2. ขอให้ช่วยแนะนำสิ่งดี ๆ
เนื่องจากการขอคำแนะนำแบบไม่มีบริบทนั้นจะทำให้ผู้ตอบไม่สามารถเลือกสิ่งที่สอดคล้องกับผู้ถามคำถามได้ ทำให้ถึงจะแนะนำอะไรไปก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดีได้เสมอเพราะว่าสิ่งนั้นเป็นที่ไม่เหมาะสมกับผู้ถาม ถึงแม้ผู้ตอบจะชอบสิ่งนั้นมากเท่าไรก็ตาม คำถามลักษณะนี้จึงเป็นคำถามที่ให้ผลเสียกับทั้งสองฝ่ายมากกว่า
3. ต้องการให้อีกฝ่ายเห็นด้วย
คนบางคนจะยึดติดกับความคิดแบบดั้งเดิม และจะพูดในขอบเขตที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องเท่านั้น คนแบบนี้จะตั้งคำถามเพื่อต้องการให้คนอื่นยอมรับความคิดของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ต้องการรับความคิดเห็นของคนอื่นแต่อย่างใด
ดังนั้นในทางตรงกันข้ามคือ เราควรเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเพื่อให้เราได้เรียนรู้มุมมองจากบุคคลภายนอกอย่างสม่ำเสมอ
4. คาดคั้นอีกฝ่าย
การตั้งคำถามที่ละเลยจิตใจของอีกฝ่ายถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างมาก นอกจากอาจเป็นการเสียมารยาทแล้วยังทำให้ผู้ที่ถูกถามรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งมุ่งไม่สู่การสนทนากันอย่างใช้อารมณ์แทนที่จะเป็นการพูดคุยด้วยเหตผล คำถามที่ดีจะให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นอิสระแก่อีกฝ่ายเสมอ
5. ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
การถามเพื่อให้เลือกด้วยความกดดันจะทำให้เกิดความลำบากใจและก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น การที่คู่รักมักจะถามว่า “ระหว่างงานกับฉัน อะไรสำคัญกว่ากัน” ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่ว่าอีกฝ่ายจะตอบว่าอะไรก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคู่ทั้งนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แนวทางการตั้งคำถามที่ดีกว่านั้นคือการถามให้เห็นถึงปัญหาและขอความคิดเห็นเพื่อสร้างแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น “คุณคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพื่อให้คุณสามารถให้ความสำคัญกับงานและฉันควบคู่กันไปได้”
คำถามที่ไม่ดีส่วนใหญ่จะทำให้เกิดข้อขัดแย้ง ความไม่ปลอดภัย การยืนยันอคติของตัวเอง หรือ ความคลุมเครือ
คำถามที่ดีนั้นจะช่วยกำจัดความคลุมเครือของเรื่องราว ช่วยทำให้เห็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขได้อย่างชัดเจนขึ้น
คำถามที่ดีจะมีคุณสมบัติ 5 ข้อดังต่อไปนี้
1. ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศ
การตั้งคำถามที่ช่วยให้บรรยากาศระหว่างผู้ถามและผู้ถูกถามดีขึ้นส่วนมากจะเป็นคำถามที่ไม่เถรตรงจนเกินไป และมองเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในทิศทางที่ดีด้วย เช่น การตั้งคำถามที่ห่างไกลจากประเด็นที่แท้จริงที่ต้องการถามก่อน ด้วยเรื่องใกล้ตัวทั่วไปเพื่อสร้างบรรยากาศพูดคุยที่มีความสบายใจกันทั้งสองฝ่าย แล้วจึงโยงเรื่องราวเข้าสู่ประเด็นหลักอีกทีหนึ่ง เป็นต้น
2. ถามประสบการณ์ของอีกฝ่าย
การถามเพื่อรับฟังประสบการณ์ของอีกฝ่ายจะช่วยให้ผู้ตอบสามารถเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองได้อย่างสะดวกใจ เพราะไม่มีข้อบังคับในการตอบอย่างชัดเจน และสามารถเล่าถึงเรื่องราวที่ตนเองรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมา
ส่วนผู้ถามถ้าฟังอย่างตั้งใจและถามต่อในจุดที่สนใจจะทำให้ผู้ตอบอยากเล่าเรื่องมากขึ้นเองอย่างอัตโนมัติ โดยในระหว่างขั้นตอนนี้ผู้ถามไม่ควรไปยัดเยียดความคิดเห็นที่แตกต่างของตัวเอง
3. ถามเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ
แทนที่จะถามว่า “คุณแนะนำสิ่งไหน” แต่ให้ถามว่า “คุณชอบสิ่งไหนแทน” เนื่องจากการแนะนำสิ่งต่าง ๆ นั้นไม่สามารถตอบแนะนำได้อย่างถูกต้องถ้าไม่มีข้อมูลบริบทที่เพียงพอ แต่การให้พูดถึงสิ่งที่ชอบนั้นไม่มีถูกหรือผิด และยังช่วยให้ผู้ตอบเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังความชอบนั้นได้อีกด้วย
4. ช่วยให้ตระหนักถึงความรู้สึกที่แท้จริง
การถามคำถามที่ดีจะช่วยให้เราฉุกคิดขึ้นมาเกี่ยวกับปัญหาที่เราประสบอยู่ในมุมที่แตกต่างออกไป และยังช่วยให้เรามองหาวิธีการแก้ปัญหาหรือคำตอบที่แตกต่างจากเดิมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่คุณใช้ถามตัวเองเพื่อกำจัดความรู้สึกคลุมเครือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ
คนเราส่วนมากย่อมเคยเกิดความรู้สึกคลุมเครือต่อปัญหาที่เราเผชิญอยู่ไม่มากก็น้อย เช่น “ทำไมฉันถึงเลือกเรียนสาขานี้” , “ทำไมฉันถึงทำงานนี้” และ “ทำไมฉันถึงเลือกทำแบบนี้” คำถามเหล่านี้อาจวนเวียนอยู่กับเราเป็นเวลานาน แต่การตั้งคำถามที่ดีจะช่วยให้เรามองปัญหานั้นให้ลึกขึ้นแล้วค่อย ๆ สร้างความชัดเจนขึ้นในจิตใจเราได้แล้วช่วยให้เรามองหาวิธีแก้ปัญหาได้ในที่สุด
5. ถามเกี่ยวกับวิธีใช้ชีวิตของตัวเอง
“ต้องใช้ชีวิตแบบไหน เราถึงจะรู้สึกดีที่สุด” เป็นหนึ่งในคำถามที่ดี ที่จะช่วยให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเราให้เชื่อมโยงเข้าสู่ความรู้สึกของเราและช่วยให้เราค่อย ๆ ได้จัดการกับสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีไปทีละอย่าง แล้วคุณจะพบว่าชีวิตของคุณค่อย ๆ ดีขึ้นไปได้ทุกวัน
นอกจากนี้คุณยังควรตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตเพื่อมองหาหนทางที่จะช่วยให้ความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นกับคุณหมดไป และสร้างความชัดเจนในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้การตั้งคำถามที่ดีควรจะค้นหาอย่างจริงจังด้วยว่าเรากับอีกฝ่ายต้องการ (หรือไม่ต้องการ) อะไร
โดยการตั้งคำถามที่ดีนั้นควรจะควบคู่กับการรับฟังผู้ตอบที่ดีด้วย การรับฟังโดยไม่ตัดสินผู้อื่นก่อนจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ของคุณให้เพิ่มพูนขึ้น และเข้าใจโลกนี้ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
..........
#How_I_Feel
 
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านง่าย อ่านสนุก ใช้เวลาอ่านเพียงไม่นานก็จบเล่ม แต่เต็มไปด้วยการใช้คำถามเพื่อพัฒนาชีวิต การเข้าใจผู้อื่น การเข้าใจตัวเอง และยังช่วยให้เห็นถึงการตั้งคำถามเพื่อช่วยให้โลกดีขึ้นอีกด้วย (ถึงแม้จะดีขึ้นแค่สักนิดก็ยังดี)
..........
#Who_Should_Read
 
- ผู้ที่มีคำถามคาใจอยู่
- ผู้ที่อยากเพิ่มทักษะการพูดคุย
- ผู้ที่ดำเนินรายการต่าง ๆ
- ผู้ที่อยากทำให้โลกดีขึ้นอีกสักนิด
Review by Another Book
ถ้าชอบบทความ กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
สำหรับวันนี้ Another Book สวัสดีครับ
โฆษณา