18 มี.ค. 2022 เวลา 06:59 • ประวัติศาสตร์
• รู้หรือไม่คำว่า 'อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ' ถูกใช้ครั้งแรกกับกษัตริย์ของเบลเยี่ยม
อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against Humanity) เป็นหนึ่งในข้อหาที่มีความร้ายแรงที่สุดในทางกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ นิยามของคำ ๆ นี้ไม่แน่ชัด แต่มีความหมายโดยรวม หมายถึงการกระทำที่โหดร้ายทารุณที่มีเป้าหมายหลักคือพลเรือน
1
ส่วนที่มาของคำนี้ บ้างก็ว่าถูกใช้ครั้งแรกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 โดยกลุ่มที่ต่อต้านการค้าทาส แต่ถ้ามีการบันทึกแบบจริง ๆ จัง ๆ คำว่า อาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้ถูกใช้ครั้งแรกโดย จอร์จ วอชิงตัน วิลเลียมส์ (George Washington Williams) นักการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ในช่วงทศวรรษที่ 1890
George Washington Williams
วิลเลียมส์ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปหารัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ในจดหมายเขาได้บรรยายถึงความโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้นในดินแดนที่เรียกว่า เสรีรัฐคองโก (Congo Free State) และวิลเลียมส์ก็ได้ใช้คำว่า อาชญากรรมต่อมนุษยชาติเพื่อใช้เรียกการกระทำที่โหดร้ายทารุณของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 กษัตริย์ของเบลเยี่ยมในขณะนั้น
1
ในช่วงปี 1885 จนถึง 1908 คองโกหรือที่ในปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ประเทศในภูมิภาคแอฟริกากลางได้ตกเป็นอาณานิคมของเบลเยี่ยมในชื่อเสรีรัฐคองโก
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเสรีรัฐ แต่ความเป็นจริงกลับตรงข้าม เพราะเบลเยี่ยมปกครองดินแดนแห่งนี้ด้วยความโหดร้ายทารุณอย่างมาก ที่สำคัญก็คือเสรีรัฐคองโกยังถูกปกครองโดยตรงจากพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 คองโกมีสถานะเป็นอาณานิคมส่วนตัวที่พระองค์จะสามารถทำอะไรก็ได้
Leopold II of Belgium
คองโกสร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้กับเบลเยี่ยม จากการที่เป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญ ผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ยางพาราเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นยางรถยนต์และยางรถจักรยาน
ด้วยความมั่งคั่งเช่นนี้ จึงทำให้เบลเยี่ยมบังคับชาวคองโกท้องถิ่นมาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมยางพารา แต่เบลเยี่ยมก็กระทำกับแรงงานเหล่านี้ไม่ต่างจากการเป็นทาส แรงงานชาวคองโกต่างก็ได้รับความทุกข์ทรมานและกดขี่อย่างสาหัส
เบลเยี่ยมยังกำหนดโควต้าให้กับหมู่บ้านต่าง ๆ ในคองโก โดยหมู่บ้านเหล่านี้จะต้องมีปริมาณยางพาราตามที่กำหนดไว้ ซึ่งปริมาณที่กำหนดมาให้ก็เป็นจำนวนที่ไม่ใช่น้อย ๆ
ถ้าหมู่บ้านไหนมีปริมาณยางพาราไม่ครบตามที่เบลเยี่ยมต้องการ หรือมีแรงงานคนไหนไม่ยอมให้ความร่วมมือหรือคิดต่อต้าน แรงงานในหมู่บ้านจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก ซึ่งก็คือถูกตัดมือหรือถูกตัดเท้า มีการบันทึกว่า สาเหตุที่เบลเยี่ยมสั่งลงโทษโดยการตัดมือตัดเท้า ก็เป็นเพราะต้องการประหยัดกระสุนปืน
เจ้าหน้าที่ของเบลเยี่ยมชูแขนของชาวคองโกคนหนึ่งที่ถูกตัดมือ
ตลอดช่วงเวลาที่เบลเยี่ยมหรือก็คือพระเจ้าเลโอโปลด์ปกครองเสรีรัฐคองโก ได้มีการคาดการณ์ว่า มีชาวคองโกเสียชีวิตจากยุคสมัยอันโหดร้ายนี้เป็นหลักล้านคน โดยอาจจะสูงมากถึง 15 ล้านคน ภายหลังได้มีการเรียกช่วงเวลาอันโหดร้ายนี้ว่า 'Rubber Terror' หรือยุคน่าสะพรึงกลัวยางพารา รวมถึง 'Congo Genocide' หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวคองโก
2
สำหรับพระเจ้าเลโอโปลด์ พระองค์ได้พยายามปกปิดความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในคองโก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา ในปี 1908 พระเจ้าเลโอโปลด์ก็ได้มอบอำนาจในการปกครองคองโกให้กับรัฐบาลเบลเยี่ยม คองโกยังคงเป็นอาณานิคมของเบลเยี่ยมต่อไปจนได้รับเอกราชในปี 1960 ส่วนพระเจ้าเลโอโปลด์พระองค์ก็สวรรคตในปี 1909 โดยที่พระองค์ไม่เคยถูกพิจารณาคดีแต่อย่างใด
หลังจากนั้นมาคำว่า อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก็ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในปี 1915 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำไปใช้ประณามรัฐบาลออตโตมันที่กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย (Armenian Genocide) และการพิจารณาคดีในข้อหาอาชญกรรมต่อมนุษยชาติก็ได้มีการพิจารณาคดีครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials) เพื่อลงโทษสมาชิกของนาซีเยอรมัน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา