12 พ.ย. 2022 เวลา 05:01
ภาพลวงตาทางการเงิน (Money Illusion)
บรรยากาศยามเช้าที่เริ่มย่างเข้าสู่หน้าหนาวให้รู้สึกสบายจนผมย่อตัวนั่งบนเก้าอี้ริมบึงและปล่อยความคิดไปเรื่อยๆ
ภาพสวยงามที่อยู่เบื้องหน้าคือบึงขนาดใหญ่ที่สะท้อนเงากิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ทิ่ทิ้งใบร่วงแผ่กระจายอยู่ทั่วผืนน้ำที่นิ่งสงบ
Three Worlds : M. C. Escher - December 1955.
"แม่ครับ ดูสิครับ ในน้ำมีปลาตัวใหญ่ด้วย"
เสียงเด็กชายตัวน้อยที่วิ่งนำมารดาตรงมายังบึงใหญ่ทำให้ความคิดของผมสะดุดหยุดลง
"ต๋อม.."
ก้อนหินที่เด็กชายขว้างกระทบกับผิวน้ำ ริ้วคลื่นขนาดเล็กที่เกิดขึ้นทำให้เงาสะท้อนของต้นไม้ใหญ่สั่นไหวไปตามริ้วคลื่น แต่ใบไม้บนผิวน้ำกลับเพียงแค่ลอยขึ้นลงตามลูกคลื่นแต่ละลูกเท่านั้น ไม่ได้ไหลไปตามริ้วคลื่น
"ปลาว่ายหนีไปแล้วครับแม่" เด็กน้อยพูดพลางหัวเราะอย่างชอบใจ ดูเด็กน้อยจะสนใจแต่เฉพาะฝูงปลาที่ว่ายอยู่ในบึงน้ำเพียงเท่านั้น
ผมนึกถึงภาพพิมพ์แนวศิลปะลวงตาชื่อ "Three Worlds" ของแอ็ชเชอร์ (M.C. Escher)
"Three Worlds" ที่สื่อโลกสามมิติผ่านการสะท้อนและการหักเหของแสง โลกที่อยู่ในภาพมองเห็นผิวน้ำที่ปกคลุมด้วยใบไม้และเงาสะท้อนของต้นไม้ใหญ่ บดบังโลกที่สอง…ใต้ผิวน้ำที่ปลาแหวกว่ายไปมา ขณะที่โลกใบที่ 3 โลกเหนือผิวน้ำแม้ไม่อยู่ในภาพแต่เราสามารถมองเห็นต้นไม้ใหญ่ริมบึงผ่านโลกผิวน้ำ
ภาพของผิวน้ำที่สวยงามจากการสะท้อนแสงและการแต่งเสริมของใบไม้ที่ลอยแผ่ทั่วผิวน้ำ ภาพลวงตาที่บดบังและดึงความสนใจจากโลกที่เป็นโลกจริงอีกสองโลก
ในทางการเงิน บ่อยครั้งที่เราถูกครอบงำด้วยสิ่งที่เรียกว่า ภาพลวงตาทางการเงิน หรือ Money illusion ที่ทำให้เราสนใจตัวเงินมากกว่าค่าที่แท้จริงของเงินจำนวนนั้น ภาพลวงตาทางการเงินเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องสำคัญ คือ ภาพลวงตาจากจากค่าครองชีพที่ต่างกัน และภาพลวงตาจากเงินเฟ้อ
1
Credit : ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน
ภาพลวงตาจากค่าครองชีพ
คงเคยได้ยินคำว่า Big Mac Index ที่ถูกใช้เพื่อเปรียบเทียบอำนาจซื้อของของเมนูเบอร์เกอร์เดียวกันในแต่ละประเทศ ราคาที่แตกกันส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้เงินตราในแต่ละสถานที่มีอำนาจซื้อที่ไม่เท่ากัน และการที่จะอาศัยในสถานที่ที่มีค่าครองชีพสูง จำเป็นต้องมีรายได้หรือเงินที่มากกว่า
1
เราสามารถคาดการณ์ค่าครองชีพที่แตกต่างกันได้ด้วยการเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นค่าของเงิน ณ จุดของเวลาเดียวกัน การวางแผนการเงินของแต่ละคนมักสะท้อนค่าครองชีพไว้ในค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว เช่น นาย A อาศัยในเมืองใหญ่ประมาณค่าใช้จ่ายอาหาร วันละ 150 บาท หรือเดือนละ 4,500 บาท ขณะที่ นาย B อาศัยในเมืองเล็กประมาณค่าใช้จ่ายอาหารแบบเดียวกัน วันละ 120 บาท หรือ เดือนละ 3,600 บาท เนื่องจากพื้นที่ที่นาย B อาศัยมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่านาย A เป็นต้น
ภาพลวงตาจากเงินเฟ้อ
เงิน 100 บาท ในอดึต ปัจจุบัน อนาคต มีมูลค่าที่แท้จริงหรืออำนาจซื้อไม่เท่ากัน ผลจากเงินเฟ้อที่บั่นทอนอำนาจซื้อของเงินลงตลอดเวลา ราคาข้าวราดแกงในอดีตจานละ 30 บาท ปัจจุบันจานละ 40 บาท ราคาในอนาคตก็จะสูงขึ้น เงิน 100 บาทที่มีสามารถซื้อข้าวราดแกงได้น้อยลง
Credit : Twitter Olivier Crottaz CEFA on Twitter
เมื่อเงินเฟ้อคือตัวการสำคัญที่ทำลายอำนาจซื้อหรือมูลค่่าที่แท้จริงของเงิน เราจึงควรเข้าใจเรื่องมูลค่าของเงินตามเวลา หรือ Time value of money เพื่อให้เรามองเห็นเป้าหมายทางการเงินที่เป็นค่าเงินหรืออำนาจซื้อที่แท้จริง
ซึ่งเงินเฟ้อจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่อง รายได้ การออม การลงทุน และค่าใช้จ่าย ในลักษณะสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
รายได้ :
คนที่มีรายได้ในรูปของเงินเดือนมักให้ความสำคัญกับการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน และคิดว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เรามีเงินเพื่อจับจ่ายเพิ่มขึ้นได้ ในความเป็นจริงเราสามารถจัดจ่ายเพิ่มขึ้นได้หากเรามีอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น หรือ มีการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ไม่ใช่รายได้ที่อยู่ในรูปตัวเงินที่เพิ่มขึ้น
1
Credit : Rational Exuberance Deflating stagnation arguments - by Addison Lewis
ภาพข้อมูลค่าจ้างเฉลี่ยในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 จนถึง 2018 แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างตามปกติ เป็นเพียงการคงอำนาจซื้อของเงินเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เราสามารถซื้อหรือจับจ่ายเพิ่มเติมจากตัวเงินที่ได้รับมากขึ้น จาก $2.50 เป็น $22.65 แต่อย่างใด
ลองเปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของเงินรายได้ของเราในหลายปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร รายได้ที่เพิ่มขึ้นของเรา ชนะ หรือ สูงกว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
จากข้อมูลย้อนหลังของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทย เราอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อต่ำมาเป็นเวลาสิบกว่าปี และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ช่วง 1-3% ในแต่ละปี หากเรามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% ต่อปี ก็น่าจะถือว่าเรามีรายได้ที่ชนะเงินเฟ้อได้
เงินเฟ้อกับการลงทุน
เป้าหมายการลงทุนขั้นต่ำที่สุดคือการรับผลตอบแทนที่สามารถรักษาค่าของเงินลงทุนเอาไว้ให้ได้ แต่หากเราเพียงสามารถรักษาค่าของเงินหรือเติบโตในอัตราเดียวกับเงินเฟ้อ การสร้างความมั่งคั่งหรือการไปถึงเป้าหมายการเงินจะต้องพึ่งพาการออมที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการไปให้ถึงเป้าหมายของเรา สามารถอ่านเพิ่มเติมในบทความก่อน เพื่อเป็นข้อมูล
1
เงินเฟ้อกับการใช้จ่าย
เราสามารถจัดจ่ายเพิ่มขึ้นได้หากเรามีอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น หรือ มีการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ไม่ใช่รายได้ที่อยู่ในรูปตัวเงินที่เพิ่มขึ้น
วิธีการที่ง่ายที่สุดในการใช้จ่ายให้เหมาะสม คือการวางแผนการออม หรือการหักเงินออมออกไปจากเงินได้ก่อนแล้วค่อยนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้จ่าย ซึ่งทำให้เรามีจำนวนเงินที่แน่นอนสำหรับการใช้จ่ายนั่นเอง
เมื่อเราต้องหักเงินออมออกไปก่อนใช้ เราจึงควรทราบเงินออมที่เราควรหักออกจากรายได้ สำหรับผู้ที่มีแผนการเงินจะทรายอัตราการออมที่เราควรมี แต่หากไม่มีแผนการเงิน คำแนะนำที่มักได้ยินก็คือ ระดับการออมขั้นต่ำที่สุดที่ควรมีคือ 10% ระดับการออมที่ควรจะเป็นคือ 25% และระดับการออมที่ทำให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นคือ 40% อย่างไรก็ตามคำแนะนำเหล่านี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น อาจปรับให้เหมาะกับภาระของเราครับ
1
ภาพลวงตาทางการเงินข้างต้นเป็นเพียงภาพลวงตาหลักๆ ที่ทุกคนประสบและอาจไม่รู้ตัวจากทักษะทางการเงินที่ไม่เพียงพอ ยังมีภาพลวงตาทางการเงินอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะจากข้อมูลที่เราได้รับโดยที่ไม่สามารถกลั่นกรองหาข้อเท็จจริง
โฆษณา