20 มี.ค. 2022 เวลา 00:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินปันผลจากหุ้นที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย 10% คนมีฐานภาษีเท่าไหร่ควรยื่นขอคืน??
1
สำหรับเงินปันผลที่เราได้รับจากหุ้น และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วนั้น เราสามารถเลือกได้ว่า จะนำมาคิดเครดิตภาษีเงินปันผลตอนยื่นภาษี หรือจะปล่อยเลยตามเลยสำหรับเงินที่ถูกหักไปก็ได้ แล้วแต่เรา
ซึ่งถ้าเราจะนำเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นมาคิด ต้องนำปันผลที่ได้รับจากหุ้นทุกตัวในทุกครั้งที่ได้รับมารวมเป็นมูลค่าเงินปันผลเพื่อคำนวณเครดิตภาษีในปีภาษีนั้น ไม่สามารถเลือกเฉพาะบางตัวหรือการจ่ายปันผลบางครั้งได้
เครดิตภาษีเงินปันผลนั้น เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ในการขอคืนภาษีที่ถูกหักไปคืน เนื่องจากมีการหักภาษีซ้ำซ้อน เพราะก่อนที่จะจ่ายปันผลนั้น บริษัทถูกหักภาษีนิติบุคคลไปแล้วครั้งหนึ่งจากกำไรของบริษัท และผู้ถือหุ้นยังถูกหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก ก็จะเห็นว่าเป็นการเสียภาษีถึง 2 รอบ แบบนี้…
บริษัทมานะ กำไร 100 บ. เสียภาษีนิดิบุคคล อัตรา 20% (อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นโดยทั่วไปเสีย 20% แต่บางบริษัทอาจเสียมากน้อยกว่านี้นะ) เหลือกำไรหลังหักภาษี = 80 บ. จ่ายปันผล ให้มานี 50 บ. เก็บไว้ทำทุน 30 บ.
แต่ก่อนจะถึงมือมานี(ผู้ถือหุ้น) เงิน 50 บ. นี้ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10%
เงินปันผลออกมาถึงมือมานี 45 บ. เพราะถูกหักภาษีไป 5 บ.
จะเห็นว่าเสียภาษี 2 รอบ ดังนั้นกฎหมายจึงให้เราสามารถนำเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นมาคำนวณคิดเครดิตภาษีเงินปันผลได้
ลองมาดูกันต่อว่า เครดิตภาษีเงินปันผลของมานี จะหน้าตาเป็นยังไง คำนวณออกมายังไง
เครดิตภาษีเงินปันผลของมานี
= (มูลค่าปันผล X อัตราภาษีนิติบุคคล)/ (100 – อัตราภาษีนิติบุคคล)
= (50 x 20) / (100 -20)
= 1000/ 80 = 12.5 บ.
จากที่เราคำนวณได้ตรงจุดนี้ หมายความว่า มูลค่าเงินปันผลที่เราได้มา 50 บ. มีเครดิตภาษีเงินปันผลอยู่ 12.5 บ. ซึ่งเป็นเงินที่เราถูกหักไปในช่วงแรกของภาษีนิติบุคคลในอัตรา 20% ตรงนั้น
และเครดิตภาษีเงินปันผลนี้ ก็ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีอย่างหนึ่ง ดังนั้นเราต้องนำเครดิตภาษีตรงนี้มาบวกกับเงินปันผลที่เราได้ เพื่อรวมเป็นรายได้ในก้อนนี้เพื่อเสียภาษี ดังนั้น
เงินได้ = เงินปันผล + เครดิตภาษีเงินปันผล
= 50 + 12.5 บ. = 62.5 บ.
ถ้าเมื่อคำนวณรายได้ของมานีทั้งปี รวมรายได้อื่นๆ หักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว มานีเสียภาษีอยู่ในช่วงอัตราภาษี ขั้น 10% จะเห็นว่าเงินได้ในก้อนนี้ ก็จะถูกเสียภาษีแค่ 10% = 62.5 x 10% = 6.25 บ. เท่านั้น
ลองมาเทียบกันดู…
ไม่ใช้เครดิตภาษีเงินปันผล คือ ไม่นำมาคิดตอนยื่นภาษี ซึ่งเราก็สามารถเลือกทำได้
แต่จะทำให้เราเสียภาษีทั้งหมด = เครดิตเงินปันผล รวมกับภาษีเงินปันผลที่เราถูกหัก ณ ที่จ่าย รวมเป็น 12.5 บ. + 5 บ. = 17.5 บ.
แต่ถ้านำมาคิดเครดิตภาษีเงินปันผล เราจะถูกนำมาคิดรวมเสียภาษีขั้นดียวไม่ซ้ำซ้อน และเสียแค่ 6.25 บ. ดังนั้นเราจะได้เงินที่เราถูกหักภาษีไป เพราะหักไปทั้งหมดในขั้นตอนกำไรของบริษัท และจากเงินปันผลที่จ่ายให้ 17.5 บ. ดังนั้นเราจะได้ภาษีคืน 17.5 – 6.25 = 11.25 บ. นะ
จะเห็นว่าเราจะได้เงินที่ถูกหักไปคืนมามากน้อย ขึ้นกับฐานอัตราภาษีที่เราต้องเสีย
เนื่องจากอัตราภาษีนิดติบุคคล มีตั้งแต่ 0-50% ส่วนใหญ่คือ 20% เวลายื่นภาษีให้ลองคิดทั้งแบบนำเครดิตภาษีปันผลมารวม กับแบบไม่นำมารวม ถ้าเสียภาษีแบบไหนน้อยกว่าก็เลือกแบบนั้น
แสดงให้ดูเพื่อจะได้เข้าใจว่า หลักการคิดเครดิตภาษีเงินปันผลเป็นยังไง แต่ปกติไม่ต้องมานั่งคิดเอง และไม่ต้องมาคอยกรอกเลขที่ละตัวเวลายื่นภาษี เพราะเราสามารถโหลดเอกสารจาก TSD และโปรมแกรมยื่นภาษีออนไลน์ก็จะคิดออกมาให้เราอยู่แล้ว
.
“Update วิธีการยื่นเครดิตภาษีเงินปันผล (หุ้น)” อ่านเพิ่มเติมขั้นตอนแต่ละขั้นในการยื่นภาษีเงินปันผลจากหุ้นได้จากลิงค์นี้นะคะ
#ภาษี #ภาษีเงินปันผล #ยื่นภาษี #คิดภาษี #เครดิตภาษีเงินปันผล #เงินปันผล #เงินปันผลหุ้น #หุ้น #คำนวณภาษี #หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา