21 มี.ค. 2022 เวลา 01:08 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 23 | 🌳🌲วันป่าไม้โลก...กับป่าที่หายไป กระทบอย่างไรต่อคนและสัตว์🌿🐛
กว่า 30 ปีที่มีการกำหนดให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันป่าไม้โลก” (World Forestry Day) เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ตลอดจนประโยชน์และผลิตผลต่างๆ ที่ได้รับจากป่า
แต่สถานการณ์ปัจจุบันป่าไม้ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบทุกชีวิตทั่วโลกโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่า
🔥🌳ป่าหายไปสัตว์ตายจาก☠️
โลกของเรามีพื้นที่ป่าคิดเป็น 31% ของพื้นที่บก (4.06 พันล้านเฮกตาร์) ประกอบด้วย
  • ป่าเขตร้อน (Tropical Forest) 45%
  • ป่าไม้เขตหนาว (Boreal Forest) 27%
  • ป่าไม้เขตอบอุ่น (Temperate Forest) 16%
  • ป่ากึ่งเขตร้อน (Subtropical Forest) 11%
Global Forest Resources Assessment (FAO, 2020)
แต่ในทุกๆ วันการตัดไม้ทำลายป่าทำให้โลกต้องสูญเสีย พืช สัตว์ และแมลงมากถึง 137 สายพันธุ์ต่อวัน (รายงานของ World Animal Foundation)
เพราะป่าไม้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทั่วโลกจากการช่วยดักจับและกักเก็บคาร์บอน ทำให้เรามีอากาศและน้ำที่ บริสุทธิ์และที่สำคัญคือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนบก
แต่การหายไปของป่าก็เกิดขึ้นทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่าหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในพื้นที่ ๆ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์ที่เป็นเหมือนมาสค็อตของบางประเทศ
ซึ่งแม้จะมีคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์และการเรียกร้องจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมให้ยุติการทำลายพื้นที่ป่าขนาดใหญ่แต่อัตราการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอย่างน่าตกใจ
และนี่คือสัตว์ 4 ชนิดที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการตัดไม้ทำลายป่า
🐨โคอาล่า (Koala): ป่าออสเตรเลีย
โคอาล่า สถานภาพของ IUCN คือ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) https://taronga.org.au/sydney-zoo/animal-encounters/koala
เมื่อปี 2019 จากเหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลีย ทั่วโลกได้เห็นภาพสัตว์ป่ามากมายหนีตายและได้คร่าชีวิตสัตว์มีถึงถุงหน้าท้อง (marsupial) กว่า 5,000 ตัว
และหนึ่งในนั้นคือโคอาล่าซึ่งนับเป็นสัตว์มาสค็อตของประเทศออสเตรเลีย แต่ก่อนจะเกิดไฟป่าครั้งนั้นประชากรโคอาล่าก็มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าอยู่แล้ว
จากข้อมูลของ WWF ของออสเตรเลีย พบว่าระหว่างปี 2555-2559 มีโคอาล่าอย่างน้อย 5,183 ตัวถูกฆ่าเนื่องจากการรุกล้ำพื้นที่ป่า
ปัจจุบันพบโคอาลาได้ที่ รัฐควีนส์แลนด์, รัฐนิวเซาท์เวลส์, รัฐวิกตอเรีย และรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
ถิ่นที่อยู่อาศัยของโคอาลาอยู่ในป่าที่มีต้นยูคาลิปตัส สำหรับโคอาล่าแล้วต้นยูคาลิปตัสเป็นทั้งแหล่งอาหารและที่พักพิง
โดยการเข้าทำลายพื้นที่ขนาดใหญ่ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของโคอาล่าถูกทำลายไป ไม่ก็แปรสภาพเป็นหย่อมป่ากระจัดกระจาย
และนั่นทำให้โคอาล่าถูกกดดันให้ต้องลงมาสู่พื้นดินเพื่อหาที่หลบภัยใหม่ ซึ่งนำไปสู่การตายของโคอาล่าจากการถูกรถชน ถูกสุนัขทำร้ายตลอดจนการติดโรคต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน IUCN จัดให้โคอาล่าเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และจากอัตราการลดลงของประชากรในปัจจุบันทั้งจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและปัญหาไฟป่า คาดว่าสัตว์น่ารักขนปุยตัวนี้อาจสูญพันธุ์ภายในปี ค.ศ. 2050
และวิธีการเดียวที่จะรักษาโคอาล่าเอาไว้ก็คือการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายของรัฐบาลกลางมุ่งเน้นไปที่การปกป้องโคอาล่าเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยด้วย ดังนั้น มูลนิธิโคอาล่าแห่งออสเตรเลียจึงได้เสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองโคอาล่าซึ่งครอบคลุมไปถึงการปกป้องต้นไม้ที่เป็นที่อยู่อาศัยของโคอาล่าด้วย
🦅นกอินทรีฮาร์ปี (Harpy Eagle): ป่า Amazon
นกอินทรีฮาร์ปีและลูกนกน้อย สถานภาพของ IUCN คือ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) https://www.manakinnaturetours.com/help-us-save-the-harpy-eagle-in-colombia-the-largest-raptor-in-the-americas/
อ่านผ่านๆ นึกว่าน้องชื่อ Happy Eagle แต่ที่จริงน้องคือนกอินทรีฮาร์ปี (Harpia harpyja) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์อินทรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งกำลังมีจำนวนประชากรลดน้อยลง
และชีวิตปัจจุบันของน้องก็ไม่ค่อยจะ Happy เท่าไหร่ด้วย เพราะจากการศึกษานักวิจัยพบว่านกชนิดนี้มีพฤติกรรมการจับเหยื่อที่ค่อนข้างจำเพาะ โดยมักจะจับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าไม้ทรงพุ่ม ได้แก่ สลอธสองนิ้ว (two-toed sloths) ลิงคาปูชินสีน้ำตาล (brown capuchin monkeys) และลิงขนสีเทา (grey woolly monkeys)
ตามผลการศึกษาในพื้นที่ซึ่งป่าถูกทำลาย 50-70% เมื่อต้นไม้ใหญ่ในป่าฝน Amazon หายไปจากการตัดไม้ทำลายป่า
ส่งผลให้เหยื่อของนกชนิดนี้ลดลงไปด้วย แต่นกอินทรีฮาร์ปีกลับไม่ได้เปลี่ยนไปหาเหยื่อชนิดอื่นแทนซึ่งนั่นส่งผลให้พ่อแม่นกหาอาหารมาเลี้ยงดูลูกได้น้อยลง จนทำให้ให้ประชากรนกอินทรีย์มีน้ำหนักที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
นอกจากนี้ การศึกษาในพื้นที่ซึ่งมีการทำลายป่ามากกว่า 70% มีการพบลูกนกที่ตายจากการอดอยากเป็นจำนวนมากหรืออาจไม่พบการทำรังของนกเลย
โดยในปัจจุบัน IUCN จัดให้นกอินทรีย์ฮาร์ปี้อยู่ในสถานะใกล้ถูกคุกคาม (near threatened) และมีจำนวนประชากรลดลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ พื้นที่ป่าฝนของประเทศบราซิลมีเนื้อที่มากกว่า 65% ของป่าฝนทั้งโลก (มากถึง 2.1 ล้านตารางไมล์) แต่เนื่องจากการรัฐบาลบราซิลให้ความสำคัญกับการค้าเนื้อสัตว์และเครื่องหนัง ทำให้ผืนป่าเขตร้อนของโลกถูกทำลายปริมาณมากในแต่ละปี
ด้วยเหตุนี้เอง นกอินทรีย์ฮาร์ปี้จึงมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ตามสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 ชนิด นก 20 ชนิดและสัตว์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 8 ชนิด ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมากจากการตัดไม้ทำลายป่า
นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่าปัจจุบัน Apex predators ทั่วโลกกำลังถูกคุกคามและสาเหตุสำคัญเกิดจากวิกฤตการขาดแคลนเหยื่ออย่างรุนแรงนั่นเอง
🐯เสือลายเมฆ (Clouded leopards): ป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เสือลายเมฆ สถานภาพของ IUCN คือ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) https://www.wildcatsworld.org/2014/10/clouded-leopard-cub-named-baton/
เสือลายเมฆ (Neofelis nebulosa) เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางที่ถือได้ว่าเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากมีเขี้ยวที่ยาวและแข็งแรงเหมาะสมในการล่าเหยื่อ มีความคล่องตัว สามารถปีนป่ายต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว มีหางที่ยาวและช่วยในการทรงตัว และมักหากินบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดิน
สำหรับประเทศไทย มีการพบเสือลายเมฆครั้งแรกในรอบ 20 ปี ผ่านภาพถ่ายจาก Camera Trap เมื่อปี 2563 แถบป่าเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งนับเป็นความสำเร็จด้านการลาดตระเวนเพื่อคุ้มครองพื้นที่ป่า
อย่างไรก็ตามปัจจุบันเสือลายเมฆมีจำนวนประชากรลดลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนโดยคาดว่ามีประชากรเหลืออยู่น้อยกว่า 10,000 ตัว เนื่องจากการถูกคุกคามจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการตัดไม้ทำลายป่าและถูกล่าเพื่อเอาหนังและส่วนต่างๆ ของร่างกาย
🦍กอริลล่าภูเขา (mountain gorillas): ป่าแอฟริกา
สถานภาพของ IUCN คือ ใกล้การสูญพันธุ์ (Endangered: EN) https://www.awf.org/wildlife-conservation/mountain-gorilla
คองโกมีแม่น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้าและหนองน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด รวมทั้งช้างป่า ชิมแปนซี และกอริลลาภูเขา
ซึ่งไม่ใช่แค่สัตว์ป่าเท่านั้นแต่ผู้คนกว่า 75 ล้านคนก็ได้รับประโยชน์มากมายจากป่าและลุ่มน้ำคองโก อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาป่าเพื่อการดำรงชีวิตและวัตถุดิบอย่างมาก และเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทำให้เกิดแรงกดดันต่อป่าไม้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับชื่อ กอริลล่าภูเขา (Gorilla beringei beringei) อาศัยอยู่ในป่าสูงบนภูเขา ที่ระดับความสูง 8,000 ถึง 13,000 ฟุต มีขนที่หนามากเมื่อเทียบกับลิงใหญ่อื่น ๆ ซึ่งช่วยในการดำรงชีวิตในถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งอุณหภูมิอาจลดลงจนต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
เป็นสัตว์กินพืชซึ่งสามารถกินพืชผักได้มากถึง 18 กก. ในแต่ละวันและไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำเพราะในพืชผักที่กินเข้าไปมีน้ำในปริมาณmเพียงพออยู่แล้ว
ภัยคุกคามที่สุดต่อการอยู่รอดของกอริลล่ายักษ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งนี้มาจากความไม่มั่นคงทางการเมือง การบุกรุกป่าของมนุษย์ และความเสื่อมโทรมของป่า
ทำให้ปัจจุบันพบลิงชนิดนี้เหลืออยู่ในป่าประมาณ 1,000 ตัวเท่านั้น โดยแหล่งที่พบได้มากคือในอุทยานแห่งชาติ Virunga ซึ่งมีพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมีความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ
ปัจจุบันมนุษย์ขยายที่อยู่อาศัยและย้ายเข้าไปอยู่ในอาณาเขตของกอริลล่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่สำหรับการเกษตรและปศุสัตว์ ไม้เว้นกระทั่งพื้นที่คุ้มครอง
ซึ่งในปี 2004 มีรายงานการบุกรุกและแผ้วถางพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของกอริล่าอย่างผิดกฎหมายมากถึง 3700 เอเคอร์ นอกจากนี้การผลิตถ่านกัมมันต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมายและได้ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของกอริลลา
การบุกรุกของคนทำให้กอริลล่าถูกผลักดันให้ต้องขึ้นไปอยู่บนภูเขาที่ไกลขึ้นเรื่อยๆ เป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงต่ออันตรายและตายในที่สุด นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการติดโรคจากมนุษย์โดยแค่ไข้หวัดธรรมดาก็อาจคร่าชีวิตกอริลล่าได้เลยทีเดียว
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา