23 มี.ค. 2022 เวลา 12:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
พูดคุยกับ ‘พี่ซานเจย์’ สัญชัย ปอปลี แห่ง Cryptomind หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญและผู้บุกเบิกวงการสกุลเงินดิจิทัลของเมืองไทยทั้งเรื่องเส้นทางสู่การเป็น CEO แห่ง Cryptomind Advisory การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองหลงใหลจนประสบความสำเร็จ ไปจนถึงคำแนะนำด้านการลงทุน
.
.
1
#ชีวิตในต่างแดน
.
พี่ซานเจย์เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่เติบโตและเรียนโรงเรียนไทยมาตั้งแต่เกิดก่อนจะไปเรียนปริญญาตรีสาขา Business and Information Technology ที่มหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างเรียนอยู่ที่นั่นเขาได้ประสบการณ์ทำงานพาร์ทไทม์สองอย่างคือ เป็น Call Center โทรไปสัมภาษณ์คนเพื่อให้ตอบแบบสอบถามและเป็น IT Support ช่วยเหลือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เช่น ช่วยซ่อมคอมพิวเตอร์ที่เสียหรือกรอกข้อมูลใน Spreadsheet
.
.
#ค่อยๆค้นหา
.
เนื่องจากอยู่ไปแล้วเขารู้สึกชอบเมืองไทยมากกว่าจึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทยหลังเรียนจบ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยเขาก็ตระเวนสมัครงานที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียนมาตามประสาเด็กจบใหม่ที่ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน และได้งานแรกที่ Thomson Reuters แต่ด้วยความเป็นเด็กจบใหม่ทำให้ไม่ได้ทำงานที่ท้าทายหรือได้สร้างสรรค์อะไรเท่าไรนัก บวกกับหลังจากทำไปได้ระยะหนึ่งก็โดนชักชวนให้กลับไปช่วยงานกิจการค้าขายผ้าของครอบครัว
.
ถึงแม้การเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านในครั้งนี้จะเป็นในฐานะเจ้านายที่มีลูกน้องให้ดูแล เขาก็ยังไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากเท่าไรนักเพราะต้องทำตามแบบแผนเดิมของครอบครัว เมื่อทำไปเข้าปีที่ 4 เขาจึงรู้สึกว่าควรหาความสนใจใหม่เพื่อให้ตัวเองได้เปิดมุมมอง จนกระทั่งไปเจอกับหลักสูตรปริญญาโทสาขา MBA ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต่างจาก MBA ทั่วไปตรงที่เน้นด้าน Entrepreneurship และ Innovation เป็นหลักเขาจึงสนใจขึ้นมา
.
นับว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะการเข้าเรียนที่นี่ทำให้เขาได้เปิดมุมมองด้านสตาร์ทอัปและ Tech Innovation ทั้งยังได้ลงมือทำธุรกิจของตัวเองเป็นโปรเจกต์จบจริงๆ ธุรกิจที่พี่ซานเจย์ทำคือ CSA Munching Box หรือบริการขนส่งวัตถุดิบออร์แกนิคจากเกษตรกรอินทรีย์ทั่วประเทศถึงพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ
.
เขาพยายามนำสิ่งที่ได้เรียนมาปรับใช้กับกิจการของที่บ้านแต่สุดท้ายแล้วเขาก็ยังรู้สึกว่าธุรกิจสิ่งทอเป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงถดถอยและคงไม่โตไปกว่านี้แล้ว ประจวบกับมีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดบริษัทเทรนนิ่งให้กับบริษัท Corporate มาชวนพี่ซานเจย์ไปเป็นเทรนเนอร์พาร์ทไทม์ด้าน Innovation เขาจึงได้ลองจัดเวิร์คช็อป สอนทักษะการพรีเซนต์ให้กับบริษัทใหญ่หลายที่
.
.
#จุดเริ่มต้นเส้นทางบล็อกเชน
.
พี่ซานเจย์เริ่มรู้จักและสนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘บล็อกเชน’ ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ขณะที่อ่านบทความจาก The Economist แต่ยังไม่เข้าใจวิธีการทำงานของมันอย่างถ่องแท้นัก เขาจึงซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม หลังจากเป็นฝ่ายศึกษามาแล้วเขาก็เริ่มเป็นฝ่ายให้ความรู้บ้างด้วยการเขียนเรื่อง Cryptocurrency (สกุลเงินดิจิทัล) ลงเฟสบุ๊ค จนปีถัดมาที่ตลาดเงินดิจิทัลเริ่มขึ้นมาพี่ซานเจย์มีได้โอกาสพบปะพูดคุยกับคนที่สนใจเรื่องเดียวกันในชีวิตจริงบ้าง
.
หนึ่งในคนที่พี่ซานเจย์ได้พูดคุยด้วยคือ ดร.การดี เลี่ยวไพโรจน์ ประธานบริษัท ICOra ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้าน ICO (Initial Coin Offering) หรือการรดมทุนบน Token Digital ในเมืองไทย แต่กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าการพบปะครั้งนี้ไม่ใช่แค่การมาเพื่อพูดคุยธรรมดาแต่เป็นการสัมภาษณ์งานกลายๆ ก็ตอนที่ ดร.การดี เฉลยว่าจะให้เขาไปสัมภาษณ์ต่อกับหุ้นส่วนที่สิงคโปร์ จนสุดท้ายเขาก็ได้รับข้อเสนอตำแหน่ง Head of Business Development
.
ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ในเมืองไทยยังไม่มีความรู้เรื่อง Digital Asset มากนัก ช่วงแรกทาง ICOra จึงจัดทำคอร์สเรียนชื่อ Crypto Asset Revolution โดยพี่ซานเจย์มีส่วนช่วยดูแลว่าคอร์สควรครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง และต่อมาบริษัทก็เริ่มมีการให้คำปรึกษากับธุรกิจในภาคต่างๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
.
แต่สุดท้ายด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้การทำให้การดำเนินการของโปรเจกต์ต่างๆ รวมถึงการขอ ICO Portal License เกิดความล่าช้า ซึ่งสวนทางกับธรรมชาติของ Cryptocurrency ที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างไว ICOra จึงตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจ
.
.
#ยังไปต่อ
.
แม้เส้นทางจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พี่ซานเจย์ก็ยังคงเดินบนเส้นทางสายนี้ต่อ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ Future Block บริษัทบล็อกเชนจากเกาหลีใต้ติดต่อพี่ซานเจย์ให้มาร่วมงานด้วยกันพอดี ตอนแรกเขาคิดว่าบริษัทจะได้ License ภายใน 2-3 เดือนแต่เมื่อเข้าไปทำงานจริงๆ ถึงรู้ว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายอย่างมากจนอาจทำให้การขอใบอนุญาตล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้เพราะก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ก็ยกเพดานก็ขอให้ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเห็นกรณีตัวอย่างความผิดพลาดของระบบที่เกิดขึ้นจากผู้ถือใบอนุญาตเจ้าอื่นๆ สุดท้ายประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยเดิมคือบริษัทเลือกที่จะไม่ไปต่อ
.
.
#Cryptomind
.
Cryptomind ถือกำเนิดขึ้นในปี 2018 ระหว่างที่พี่ซานเจย์ยังอยู่ที่ Future Block โดยเริ่มมาจากคนในวงการชวนกันมาก่อตั้งบริษัทที่ให้บริการครบวงจรสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Cyptocurrency และเทคโนโลยีบล็อกเชน ส่วนอีเวนท์ Blockchain Thailand Genesis ที่ Cryptomind เป็นผู้จัดนั้นมาจากพี่ซานเจย์ที่สังเกตว่ามีอีเวนต์เกี่ยวกับบล็อกเชนจากต่างประเทศมาจัดที่เมืองไทยแล้วขายตั๋วราคาแพงอยู่บ่อยๆ เขาจึงตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยไม่จัดงานนี้กันเองโดยเก็บค่าเข้าไม่แพงบ้าง เพราะอยากให้คนไทยมีความรู้เรื่องนี้มากกว่านี้
.
หลังจากผ่านไปราวหนึ่งปี ทุกคนในทีมก่อตั้งก็มาจับเข่าคุยกันว่าโอกาสหรือช่องว่างทางการตลาดของ Cryptocurrency คืออะไร บริษัทจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาใหญ่ที่คนในวงการเจออย่างไรได้บ้าง หรือมีอะไรที่บริษัทจะต่อยอดได้อีกนอกเหนือจากด้านการศึกษาและสื่อที่ค่อนข้างแข็งแรงแล้ว ก่อนจะเจอกับกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่มีในประเทศไทยมาก่อน แถมยังตอบโจทย์คนที่ไม่กล้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพราะรู้สึกว่าตัวเองขาดความรู้ Cryptomind จึงเปิดตัว Merkle Capital เพื่อรองรับตลาดนี้
.
สำหรับพี่ซานเจย์ Cryptomind เหมือนกับ Digital Asset Companion หรือ ‘เพื่อน’ ที่เรานึกถึงเมื่ออยากหาความรู้หรือพูดคุยเรื่องคริปโตฯ และเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการลงทุนไปด้วยในตัว
.
.
#บทบาทในฐานะCEO
.
ปัจจุบันพี่ซานเจย์ได้ก้าวขึ้นมาเป็น CEO ของ Cryptomind Advisory ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาแบบครบวงจรในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการให้คำแนะนำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล การให้คำแนะนำการลงทุน การสอนหลักสูตรการศึกษา และการตลาดและอีเวนต์ ซึ่งปัจจุบันได้รับใบอนุญาติที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
.
พี่ซานเจย์กล่าวว่า ปีนี้ Cryptomind Advisory ตั้งเป้าจะทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำของไทยมากขึ้น สร้างโมเดลธุรกิจสินทัพย์ดิจิทัล และสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ลูกค้าใหม่ ด้วยการนำสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าไปรวมกับธุรกิจ Cryptomind Advisory ต้องการพาคนและธุรกิจเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมั่นใจ
.
.
#ถ้าอยากหัดลงทุนคริปโตต้องเริ่มต้นอย่างไร
.
พี่ซานเจย์อยากให้เริ่มจากศึกษาข้อมูลพื้นฐานและทำความเข้าใจสินทรัพย์แต่ละอย่างก่อน เพราะถ้าไม่เข้าใจ เราก็จะไม่เชื่อใจในสิ่งที่เราลงทุนลงไป เวลาเห็นราคาผันผวนเราก็จะเลือกขายผิดจังหวะทำให้เสียโอกาสทำกำไรได้ดีกว่านี้ไป ยิ่งในปัจจุบันที่มีคอร์สสอนเต็มไปหมด การเข้าถึงข้อมูลความรู้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอีกต่อไป
.
.
#งานด้านนี้เป็นอย่างไร
.
พี่ซานเจย์มองว่าในภาพรวมงานด้าน Cryptocurrency จะอาศัยความรู้ 3 อย่างคือ 1. ด้านการเงิน 2. ด้านเทคโนโลยี 3. ด้านธุรกิจ ถ้าเป็นบริษัทด้านกองทุนตำแหน่งก็จะไม่ต่างจากกองทุนทั่วไปที่มีตำแหน่งด้าน Research, Strategy หรือ Marketing แต่ถ้าเป็นบริษัทเทคฯ ก็อาจจะต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดในภาษาที่ใช้สำหรับบล็อกเชนโดยเฉพาะ ซึ่งถ้า Programmer หรือ Developer คนไหนมีความรู้ตรงนี้ก็จะได้เปรียบมากเพราะดีมานด์ในตลาดงานค่อนข้างสูง
.
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
ติดตาม Career Fact ทุกช่องทางได้ที่ https://linktr.ee/careerfact
โฆษณา