23 มี.ค. 2022 เวลา 16:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
015 ความแตกต่างของ งาขาว vs. งาดำ
ใคร ๆ ก็รู้ว่า ‘งา’ เป็นเมล็ดของพืชชนิดหนึ่งที่ภายในอุดมไปด้วยน้ำมัน เป็นแหล่งของโปรตีน ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินหลายชนิด
แต่เคยสงสัยกันหรือเปล่า ว่า “งาขาว” และ “งาดำ” ต่างกันยังไง ?
หลายคนที่เข้าใจว่า งาขาวและงาดำ คืองาชนิดเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
1
ความแตกต่างทางโภชนาการระหว่างงาดำและงาขาว
ข้อมูลทั่วไปของ ‘งา’
งาเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุฤดูเดียว ชอบอาการร้อนและแดดจัด
ต้นงาอาจแตกกิ่งหรือไม่แตกกิ่งแขนง ลำต้นสูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะสี่เหลี่ยม อวบน้ำ และมีขนสั้น ๆ คลุมลำต้น
source: https://arit.kpru.ac.th/ และ https://vegetweb.com/
ผลงา เรียกว่า ฝัก
มีลักษณะทรงกระบอกยาว ผิวฝักเรียบ ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง และแบ่งออกเป็นร่องพู 2-4 ร่อง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว และมีขนปกคลุม ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา จากนั้น ร่องพูจะปริแตกเพื่อปล่อยเมล็ดออกมาสู่พื้นดิน
ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 80-100 เมล็ด
ฝักงาที่ยังไม่แก่จัด
ดังนั้น การเก็บเกี่ยวงา จะต้องทำก่อนที่ฝักจะแตกออก
เพื่อป้องกันการสูญเสียเมล็ดงาที่ร่วงลงดิน และเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มากที่สุด
งาขาว และ งาดำ เป็นงาคนละสายพันธุ์
งาขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesamum orientale L.
งาดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesamum indicum L.
และแม้ว่าเราจะเรียกว่างาขาว
แต่จริง ๆ แล้วมันคืองาที่มีสีน้ำตาลอ่อนที่ยังไม่เอาเปลือกหุ้มเมล็ดออก
ถ้าเอาเปลือกออกจะเห็นเมล็ดงาสีขาวด้านใน
ส่วนงาดำจะต่างออกไป คือเป็นงาที่มีเปลือกหุ้มในตัวเอง ไม่ต้องกะเทาะเปลือกหุ้มออก ทำให้มีเนื้อสัมผัสที่กรอบกว่า มีกลิ่นหอมมากกว่า
เปรียบเทียบ งาดำ งาขาวที่ยังไม่กระเทาะเปลือก และงาขาวที่กระเทาะเปลือกแล้ว
องค์ประกอบในเมล็ด
งาขาว มีปริมาณน้ำมัน 44-58% โปรตีน 18-25% ใยอาหาร 4.6%
นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยแคลเซียมและธาตุเหล็ก นอกจากนี้ ยังพบปริมาณวิตามินบี 1 และกรดโฟลิคในปริมาณสูง
ในขณะที่งาดำมีปริมาณน้ำมันน้อยกว่างาขาว แต่มีปริมาณใยอาหาร 9.9% ซึ่งสูงกว่าใยอาหารในงาขาว รวมทั้งงาดำยังมีปริมาณวิตินบี 2 และสาร Hesperidin ในปริมาณสูง
source : HerbaZest
ส่วนสารอาหารอื่น ๆ ที่พบในเมล็ดงา ทั้งงาดำและงาขาว ได้แก่ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ทองแดง แมงกานีส แมกนีเซียม ซีลีเนียม และสังกะสี
องค์ประกอบของน้ำมันงา
ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) ได้แก่ กรดโอเลอิก (Oleic acid) และกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายและดีต่อต่อสุขภาพ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ป้องกันเลือดข้น ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
เมล็ดงามียังสารสำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ Lignans ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) โดยสารในกลุ่มนี้ ได้แก่ เซซามิน (Sesamin) เซซาโมลิน (Sesamolin) และเซซามอล (Sesamol) ที่ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงส่งเสริมการทำงานของวิตามินอี
อย่างไรก็ตาม ในการรับประทานงาขาวในบางรายอาจมีอาการแพ้ได้ เนื่องจากมีสาร Sesamol ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ลมพิษ คันจมูก หายใจลำบาก เปลือกตาและริมฝีปากบวมแดงได้
source: https://hd.co.th/sesame-oil-and-benefits
การนำงาขาวและงาดำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น
งาขาว เหมาะกับการนำไปสกัดน้ำมันงา มากกว่างาดำ
แต่ถ้าต้องการเพิ่มปริมาณใยอาหาร งาดำก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่างาขาว
อาหารหรือขนมหลายชนิดก็ใช้เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมไทย คุกกี้ ขนมปัง แฮมเบอร์เกอร์ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำสลัด โดยอาจใช้เพียงงาขาวหรืองาดำ หรือใช้ทั้งงาดำและงาขาวผสมกัน เพื่อให้ได้กลิ่นรสที่ต้องการ เป็นต้น
หลายคนรับประทานงาดำหรืองาขาวเพราะเชื่อในคุณประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น รักษาเบาหวาน อัลไซเมอร์ มะเร็ง ข้อเข่าอักเสบ กระดูกเสื่อม วัยทอง ภาวะมีบุตรยาก ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวด ท้องผูก ป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
ส่วนน้ำมันงานั้น จัดเป็นน้ำมันจากพืชมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีคุณภาพดี ทำให้น้ำมันงาเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ เพราะสามารถช่วยป้องกัน รักษา และบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้ เช่น ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง บำบัดโรคข้อเข่าเสื่อม ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคสมองเสื่อม ส่งเสริมการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพ และบำรุงผิวพรรณเพื่อลดริ้วรอย เป็นต้น
โฆษณา