23 มี.ค. 2022 เวลา 21:16 • นิยาย เรื่องสั้น
ตอนที่ 14 ความต่างระหว่าง Gen
อนิรุจนั่งมองกวาดตาไปในออฟฟิศ ได้เห็นความหลากหลายของกลุ่มอายุพนักงงาน เมื่อเพ่งลงพิจารณไปแล้ว อนิรุจสังเหตุได้ว่านอกจากอายุที่แตกต่างกัน พฤติกรรมรวมถึงทัศนคติก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งความแตกต่างนี้อนิรุจเชื่อว่าคือความสวยงาม หากทุกคนเหมือนกันหมด เราคงไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์
ดังนั้น ความเข้าใจระหว่างวัยหรือระหว่างเจนเนอเรชั่นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในที่ทำงาน ซึ่งประกอบด้วยคนต่างวัย หลากหลายของชุดความคิด เนื่องจากเกิดและโตในสภาพแวดล้อมต่างกัน การอบรมสั่งสอนต่างกัน พื้นฐานวัฒนธรรมและความเชื่อที่ต่าง การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง การตัดสินใจ และให้คุณค่ากับบางอย่าง หรือทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน ก็ไม่แปลกที่ช่องว่างของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่จะขยายกว้างมากขึ้นทุก
ก่อนจะเข้าใจตัวตน ให้สนใจที่ชุดความคิดของคนแต่ละเจนก่อน
Baby Boomer หรือ "Gen-B" คือคนในช่วง พ.ศ. 2489-2507 เกิดและเติบโตในยุคเทคโนโลยีแบบ Analog อาจจะเกษียณอายุงานแล้ว หรือยังเป็นผู้บริหาร ที่ปรึกษาระดับสูง ในองค์กรเอกชน อย่างที่บอกว่าเขาโตมาในยุคเก่า มีชุดความคิดและความเชื่อในยุคเก่า (ส่วนใหญ่) ลักษณะพื้นฐานมีความอดทนสูง สู้งาน ชอบทำงานและประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ถูกอบรบสั่งสอนให้ซื่อสัตย์ อดออม เรียบง่าย และระมัดระวัง เคารพในกฎเกณฑ์และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในกรอบหรือหลักการที่เชื่อว่าถูกต้อง และจะไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ
คนรุ่นใหม่ๆ จึงมักมองว่าคนกลุ่มนี้ ‘หัวโบราณ’ อนุรักษ์นิยม ไม่ทันโลก ไม่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ใส่ใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น เชื่องช้า และติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ แต่ความหนักแน่นและรอบคอบ คือลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้ ที่สำคัญเขาผ่านโลกมานาน มองคน มองสถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้งไม่ฉาบฉวย แต่ก็ทำให้บางครั้งคนรุ่นใหม่พิจารณาว่าคน Gen-B ไม่เหมาะกับสภาพงานยุคปัจจุบัน ยึดติดกับความอาวุโส และชอบใช้อภิสิทธิ์
Generation X หรือ "Gen-X" เกิดในช่วง พ.ศ.2508-2522 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีแบบ Analog ไปสู่ Digital ช่วงต้นๆ แต่ยังไม่ถือว่าทันสมัยมากนัก ทำให้คน Gen-X จึงยืดหยุ่น ไม่ติดกรอบ และเปิดใจรับความคิดหรือสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า Gen-B แต่ยังจัดในกลุ่ม “หัวรั้น” เพราะด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิที่เพียบพร้อม จึงมีความคิดเป็นของตัวเองสูง ทำให้คนกลุ่มนี้คือลักษณะของ “เจนผู้นำ” ที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ รักความก้าวหน้า และเปิดรับฟังความคิดเห็นถ้ามีเหตุผลเพียงพอ คนกลุ่มนี้แสวงหาความมั่นคงและความสุขของครอบครัว
แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังมองว่าคน Gen-X เข้าถึงยากและค่อนข้างเผด็จการ ไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ ยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ทำให้เกิดการต่อต้านอยู่ลึกๆ หรือแม้แต่การตั้งข้อสงสัยถึงความสามารถที่แท้จริง ซึ่งหากอยู่ในองค์กร คน Gen-X ย่อมเป็นหัวหน้างานระดับสูง มีลูกน้องที่มีความแตกต่างของวัยมากมาย
Generation Y หรือ "Gen-Y" เกิดพ.ศ. 2523 -2540 เกิดและเติบโตในยุคโลกาภิวัฒน์หรือช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ทำให้มีแนวคิดและพฤติกรรมแตกต่างไปจาก Gen ก่อนหน้า คนกลุ่มนี้มีความ “ซับซ้อน” มากที่สุด ชอบด้านนวัตกรรม พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ มีความเป็นวัตถุนิยมสูง ต้องการการยอดรับ และตอบสนองที่รวดเร็ว ต้องการลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้ ทำงานจากที่บ้านหรือที่อื่นๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ชอบทางลัด สะดวก รวดเร็ว ต้องการความอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าลอง กล้าตัดสินใจ ต้องการให้ประเมินผลการทำงานจากผลงานที่ได้ มากกว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ใช้ ซึ่งแตกต่างกับพนักงานรุ่นก่อนที่คิดว่า การทำงานหนักในที่ทำงานจะทำให้มีความก้าวหน้าได้เลื่อนตำแหน่ง
จุดที่คน Gen-B และ Gen-X มองคน Gen-Y คือมีความจงรักภักดีต่อองค์กรต่ำ เชื่อแต่ตัวเอง แสวงหาความสุขให้ตัวเอง ไม่สนโลก ความอดทนน้อย ไม่ชอบการรอคอย และบางครั้งก็ยังมองว่าขาดความรับผิดชอบ และชอบแหกกฎ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ขวางหู ขวางตา’ ระว่างคนทำตามระเบียบ กับคน Gen-Y ที่ชอบแหกกฎ การปรับตัวให้เหมาะสมตามระเบียบของแต่ละองค์กรจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
ส่วนคน Gen-B และ Gen-X ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ลงรอยกับคน Gen-Y มากที่สุดในด้านวิธีคิด เพราะคนเจนนี้มองความสำเร็จไม่สนวิธีการ มองผลลัพธ์ไม่สนขั้นตอน แต่คน Gen-B และ Gen-X อยากรู้ขั้นตอน เห็นชัดว่าช่องว่างระหว่างวัยส่งผลต่อวิธีคิดของการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน แต่อย่างที่กล่าวในข้างต้น บางครั้งคน Gen-B และ Gen-X อาจต้องรับฟังความเห็นของผู้อื่นและเชื่อมั่นอย่างจริงจังบ้าง จึงจะเปิดโอกาสให้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพราะเขาต้องการโอกาสในการแสดงฝีมือ แต่ขณะเดียวกันก็อย่าละเลยมากเกินไป หากเกิดปัญหาหรือผิดพลาดต้องระงับหรือหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงที บนพื้นฐานของการยืดหยุ่นและประนีประนอม แต่อย่าให้ดูอ่อนแอเกินไป เพราะคน Gen-Y มีพฤติกรรมชอบต่อต้านเช่นกัน
Generation Z หรือ "Gen-Z” เกิดหลังปี พ.ศ. 2540 เติบโตมากับสังคมดิจิตอล และ social media เพียบพร้อม เทคโนโลยีทันสมัยและแพร่หลาย รวมถึงองค์ความรู้เพียงกระดิกนิ้ว ทำให้มีตัวเลือกมากมาย และเป็นคนกลุ่มที่เรียกว่ายัง “สับสน” และชอบตั้งคำถาม รักตัวเอง ต้องการความห่วงใย เชื่อง่าย เปลี่ยนเร็ว ปัจเจกบุคคล ยึดติดกับเทคโนโลยีและความรวดเร็ว ใจร้อน ไม่เคยชินกับการรอคอย มองความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ และยังเป็นคนที่อ่อนต่อโลกในแง่ของการทำงาน แต่ก็เป็นกลุ่มที่หลายๆ องค์กรพยายามส่งเสริมให้เป็นกำลังสำคัญในอนาคต และคาดหวังกับคนกลุ่มนี้มากที่สุด
ปกติคน Gen-Z มักเชื่อมั่นคน Gen-Y เพราะด้วยวัยที่ยังพอจะคุยกันรู้เรื่องมากกว่า คน Gen-B และ Gen-X ที่ถูกมองว่าอยู่คนละโลก และอย่างที่บอกว่าคน Gen-Z มีความขัดแย้งในทุกอย่างสูง มีคำถามที่ต้องการคำตอบมากมาย เพราะส่วนหนึ่งคือการต้องการความเอาใจใส่ ปกป้อง ให้ความสำคัญ เพราะยังเป็นต้นอ่อนของวัยทำงานที่คนทุก Gen ต้องคอยประคับประคองไม่ให้เผชิญปัญหาและความกดดันที่มากเกินไป เพราะเขาจะจากองค์กรไปอย่างรวดเร็ว จนคนกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็น “มนุษย์หลายงาน” ดังนั้นหากเห็นแววว่าปั้นได้ก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเขาเป็นอย่างไร ให้ทำงาน ให้แสดงออก และให้เกิดความสุขในการทำงาน เพราะคนGen นี้คืออนาคตของทุกองค์กร
ถ้าเราปรับใจได้ว่าโลกต้องเดินไปข้างหน้า และอนาคตอยู่ในมือของคนรุ่นถัดไป เราก็จะเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้บอกมากว่า 2,500 ปี ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป’
โฆษณา