26 มี.ค. 2022 เวลา 02:51 • หนังสือ
ชื่อหนังสือ: นายพลในเขาวงกต (The General in His Labyrinth)
ผู้เขียน: Gabriel García Márquez
ผู้แปล: ไพรัช แสนสวัสดิ์
สำนักพิมพ์: สามัญชน
ชีวิตมีขึ้นก็มีลง มีรุ่งโรจน์ก็มีเสื่อมถอย มีช่วงเปล่งประกายเจิดจ้าก็มีช่วงเวลาดับอับแสง ล้วนเป็นเรื่องธรรมดา คงเป็นถ้อยคำประเภทที่เราน่าจะเคยได้ยินได้ฟังกันจนคุ้นเคย เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของตัวละครในหนังสือเล่มนี้ ที่ก็หนีไปไม่พ้นเช่นกัน
นายพลในเขาวงกต เป็นเรื่องราวในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซิมอน โบลิวาร์ หนึ่งในผู้ปลดปล่อยดินแดนส่วนหนึ่งของละตินอเมริกาจากอาณานิคมสเปน ผู้ที่มีความฝันในการรวบรวมรัฐต่างๆให้อยู่ภายในสมาพันธ์รัฐเดียวกัน โดยเรื่องราวเล่าถึงการเดินทางเพื่อออกนอกประเทศของนายพลและคณะผู้ติดตามของเขา ผ่านเมืองต่างๆที่ทำให้เขาหวนรำลึกถึงเหตุการณ์และความทรงจำในอดีต ในโมงยามแห่งช่วงเวลาอับแสงของชีวิต
…เขาเต้นรำไปตลอดสามชั่วโมงโดยขอให้วงดนตรีเล่นซ้ำเพลงเดิมทุกครั้งที่เขาเปลี่ยนคู่ลีลาศ นั่นอาจเป็นความพยายามพลิกฝันก่อร่างสิ่งวิเศษจรัสแสงแห่งวันวานขึ้นอีกครั้งจากเถ้าถ่านที่พลัดหลงอยู่ในความทรงจำ…
การเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้มีความแตกต่างจาก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว หนังสืออีกเล่มของผู้เขียนที่เป็นการเขียนในแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ โดยในหนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนแนวสมจริงลักษณะนินายในเชิงบันทึกหรือชีวประวัติมากกว่า โดยเนื้อเรื่องในช่วงแรกจะเล่าเหตุการณ์ในระหว่างการเดินทางไปเรื่อยๆ สลับกับเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีตจากความทรงจำของนายพล หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มเข้มข้นขึ้นจากเหตุการณ์ปัจจุบันในช่วงหลัง มีการบรรยายให้เห็นประวัติศาสต์ของเมืองต่างๆ รวมถึงบรรยากาศสภาพบ้านเมืองของละตินอเมริกาในขณะนั้น อีกลักษณะพิเศษในการเล่าเรื่องคือการเล่าแบบบอกกล่าวให้ผู้อ่านรับรู้ถึงอนาคตของตัวละครในเรื่องไปก่อน ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นในการเล่าเรื่องของผู้เขียน
…นายพลกำลังออกเดินสูดอากาศอยู่ที่ด้านท้ายแพขณะโฮเซ ปาลาซิโอสจูงเจ้าหมาเข้าหาเขา
“เราตั้งชื่ออะไรให้มันดีครับ” เขาถาม
นายพลไม่ได้หยุดคิดแม้สักนิด
“โบลิวาร์” เขาบอก…
ด้วยวิธีการเขียนของผู้เขียน ทำให้เรื่องเล่าทั้งในส่วนบรรยายหรือส่วนที่เล่าจากตัวละครเอง กลายเป็นเรื่องราวที่มีสีสัน โดยเฉพาะการบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละครหลักหรือนายพล ทั้งในส่วนของการแสดงออก ถ้อยคำต่างๆ การแสดงให้เห็นถึงความโดดเดี่ยว ความเกรี้ยวกราด ความวิตกกังวล การประชดประชันตัวเอง หรือความหมดอาลัยตายอยาก ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ของมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือคนที่เคยยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็มีเหมือนๆกัน ความรู้สึกในระหว่างอ่านทำให้นึกถึงพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา กับปลาทองของเขาในหนังสือหนึ่งร้อยปีฯอยู่ไม่น้อย
และแม้จะเป็นการเขียนในลักษณะนิยายเชิงบันทึกชีวประวัติ แต่ด้วยจินตนาการ การตีความ และสำนวนภาษาที่โดดเด่นของผู้เขียน (รวมถึงผู้แปล) ทำให้หนังสือเล่มนี้ยังมีความน่าติดตามอยู่ อีกจุดหนึ่งที่เป็นข้อดีของหนังสือคือเนื่องจากผู้อ่านรู้จุดสุดท้ายของเขาว่าจะลงเอยอย่างไรแน่นอนอยู่แล้ว ความน่าสนใจของเรื่องจึงอยู่ที่เรื่องราวระหว่างที่จะไปถึงจุดนั้นว่าจะดำเนินไปยังไง ซึ่งผู้เขียนก็ทำให้ยังอยากติดตามอ่านได้
…เขากล่าวต่อเนื่องเสมือนท่องบทสวดบ่นพร่ำเพ้ออย่างผิดหวังขมขื่น เป็นสิ่งที่หลงเหลือจากวาสนาบารมีที่พังภินท์ลงแล้วสายลมแห่งมรณะหอบพัดพาเศษธุลีเหล่านั้นหายไป…
โดยสรุปแล้วนายพลในเขาวงกต ไม่ได้หวือหวาในด้านเนื้อเรื่อง หากผู้อ่านที่คาดหวังความเข้มข้นของเนื้อหาตั้งแต่แรกอาจมีผิดหวังอยู่บ้าง แต่ส่วนที่ดีของหนังสือเล่มนี้คือส่วนของการสะท้อนให้เห็นสภาพบ้านเมืองของละตินอเมริกาในยุคนั้น การฉายภาพชีวิตบุคคลผู้มีชีวิตเป็นทั้งวีรบุรุษที่ได้รับการเคารพบูชาและเป็นทั้งบุคคลที่ถูกก่นด่าสาปแช่ง ซึ่งเรื่องราวทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นและดำเนินไปจากการตัดสินใจและการกระทำของเขาเอง การสะท้อนภาพของการยึดติดกับอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมได้เสมอแม้ในยุคปัจจุบัน เช่นคำพูดของนายพลที่ว่า เมื่อไหร่ที่เขาจะหลุดพ้นจากเขาวงกตเสียที ซึ่งคงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่าตัวของเขาเอง
ที่สุดแล้วคำตอบของท่านนายพลหรือแม้แต่ของเราเองนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ฟังดูเหมือนง่ายแต่อาจทำได้ยากที่สุดของคนเรานั่นก็คือการปล่อยวางนั่นเอง สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้เหมือนบันทึกเรื่องเล่าของชายวัยใกล้ชราคนหนึ่งที่สะท้อนภาพต่างๆให้เราได้มองและทบทวน เรื่องเล่าอีกเรื่องที่คุ้มค่าพอที่จะเสียเวลานั่งฟัง
โฆษณา