27 มี.ค. 2022 เวลา 07:40 • การศึกษา
❓ สอนคณิตศาสตร์อย่างไรให้สนุกและได้ผลดี
อันดับแรกเลยนะคะ เราต้องโฟกัสไปที่ผู้เรียน หากต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดหรือมโนทัศน์ (concept) ทางคณิตศาสตร์ สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ เราต้องทำตัวเหมือนคุณหมอเพื่อวินิจฉัยผู้เรียนให้ได้ว่า ความรู้ก่อนหน้า (prior knowledge) ที่ผู้เรียนควรจะต้องรู้เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ที่เรากำลังจะอำนวยความรู้ (facilitate) นั้น ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจหรือไม่ หรือเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า หากยังไม่รู้เราต้องช่วยเติมสิ่งเหล่านี้ให้ผู้เรียนได้รู้ก่อน เราถึงค่อยให้เด็กสนใจในการเข้าสู่ความรู้ใหม่และเรียนรู้ต่อไปได้ นี่คือมุมแรก
มุมถัดมาคือ ผู้สอนควรมีความเข้าใจในเนื้อหาแบบ conceptual understanding ก็คือการเข้าใจแนวคิดหรือคอนเซปต์นั้นๆ ว่ามีความสำคัญอย่างไร เชื่อมโยงไปสู่คอนเซปต์อื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง นำมาประยุกต์กับการแก้ปัญหาอย่างไร และปัญหาแบบใดที่เหมาะกับคอนเซปต์นี้ ไม่ใช่แค่เข้าใจแบบ procedural knowledge ที่รู้เพียงว่าขั้นตอนการแก้ปัญหานั้นทำอย่างไรให้ได้คำตอบ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ การหารเศษส่วน 2/3 ÷ 5/6 หลายคนตอบได้ทันทีว่า “แค่เปลี่ยนหารเป็นคูณ แล้วกลับเศษเป็นส่วน” และตอบได้อย่างรวดเร็วว่า ผลหารนี้คือ 12/15 หรือ 4/5 เพราะทุกคนรู้ “วิธีและขั้นตอน” การหารเศษส่วนนี้ คนที่ตอบได้แสดงว่ามี procedural knowledge แล้ว ก็คือไม่ต้องเข้าใจอะไรมากไปกว่าการรู้ว่าขั้นตอนวิธีการหารเศษส่วนทำอย่างไร
แต่หากมีผู้เรียนถามเราต่อว่า “ครูครับ/ครูคะ ทำไมต้องเปลี่ยนหารเป็นคูณแล้วกลับเศษส่วน” หรือ “ครูครับ/ครูคะ ช่วยยกตัวอย่างการหารเศษส่วนให้เห็นภาพการใช้ในชีวิตประจำวัน” จากสองคำถามนี้ ผู้สอนต้องมีความเข้าใจแบบ conceptual understanding ในเรื่องของการหารและเรื่องเศษส่วน ผู้สอนต้องเข้าใจความแตกต่างของการหารเศษส่วนในแบบ partitive division (เพื่อหาจำนวนสมาชิกในแต่ละกลุ่ม) กับแบบ measurement division (เพื่อหาจำนวนกลุ่ม) จึงจะสามารถช่วยผู้เรียนให้เข้าใจได้
ปัญหาของครูทั่วโลกคือส่วนใหญ่จะสอนวิธีการแก้ปัญหาแบบใช้ขั้นตอนการทำ ซึ่งจะเห็นว่าผู้เรียนทำได้และได้คำตอบที่ถูกต้อง แต่ผู้เรียนจะไม่มีความเข้าใจเลยว่าทำไปทำไม ทำไมต้องคิดแบบนี้ ซึ่งโลกปัจจุบันควรจะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนเพื่อให้เด็กเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างมีความหมายทั้งต่อตัวผู้เรียนเองและต่อสังคม ไม่ติดอยู่เพียงแค่การจำสูตรหรือวิธีการแก้โจทย์ ถ้าผู้เรียนเข้าใจไปถึงแก่นของแนวคิด ผู้เรียนจะมีทัศนคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์มากขึ้นและอยากจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
และยิ่งถ้าผู้เรียนได้เรียนรู้จากการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) นอกจากจะมีความเข้าใจในแนวคิดนั้นอย่างแท้จริงแล้ว ยังทำให้สิ่งที่เข้าใจนั้นติดทนนานยากที่จะลืม และสนุกไปกับการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกว่ากำลังเรียนอยู่เลย
👩‍🏫 วีณา เนาวประทีป (พี่นุ้ย)
นักวิจัยประจำ SageFox Consulting Group สหรัฐอเมริกา
ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ NSTDA Podcast รายการ Sci เข้าหู EP 9 Mathematical Mindset คิดแบบคณิตศาสตร์
โฆษณา