27 มี.ค. 2022 เวลา 13:57 • หนังสือ
DeFi การเงินไร้ศูนย์กลาง นวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเงินรูปแบบเดิม
จะเกิดอะไรขึ้นหากเราสามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง?
การทำธุรกรรมแต่ละทีนั้นจำเป็นต้องผ่านตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือโบร้กเกอร์ จึงทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมเกิดขึ้น อีกทั้งยังเกิดความคลางแคลงใจขึ้นด้วยว่า ตัวกลางจะนำเงินของเราไปทำอะไรหรือไม่? ผมจึงมาแนะนำทุกคนให้รู้จักกับ DeFi หรือ Decentralized Finance การเงินไร้ศุนย์กลาง
ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า DeFi นั้นเป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรง ทั้ง Bitcoin และ Ethereum ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับ DeFi ทั้งสิ้น เป็นนวัตกรรมที่จะเข้ามาปฏิวัติรูปแบบการเงินแบบดั้งเดิม การตัดตัวกลางและความเชื่อใจทิ้งไป จะช่วยให้ผู้ใช้งานมีอิสระในการใช้จ่าย มีความเป็นเจ้าของตัวเงินอย่างแท้จริง พร้อมประโยชน์มากมายที่ผมกำลังจะกล่าวต่อไป
โดยในโพสต์นี้ผมก็จะมาอธิบายถึง DeFi และองค์ประกอบคร่าวๆของมัน ว่ามันคืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และทำไมมันถึงสำคัญขนาดนั้น
DeFi
1
อย่างที่ได้กล่าวไป DeFi หรือ Decentralized Finance คือการเงินที่ไร้ศูนย์กลาง ซึ่งจะแตกต่างจากรูปแบบการเงินที่เราคุ้นชินกันอย่างเช่นธนาคาร การที่เราจะทำธุรกรรมกับธนาคารซักแห่งหนึ่ง สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีคือ ความเชื่อใจ เนื่องจากเราต้องเชื่อมั่นก่อนว่าธนาคารนี้จะปกป้องเงินของเราได้ ไม่ล้มละลายหรือโกงเงินของเรา แต่ใน DeFi ได้ตัดเรื่องความเชื่อใจทิ้งออกไป เนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมผ่าน Smart Contract หรือก็คือสัญญาที่เขียนโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีความถูกต้องและไม่สามารถแก้ไขใดๆได้ การทำธุรกรรมทุกครั้งจึงเชื่อมั่นได้ว่าเงินของเราจะถูกโอนไปยังปลายทางอย่างแน่นอนและไม่ได้ถูกนำไปใช้โดยบุคคลอื่น
อีกสิ่งหนึ่งที่ DeFi ตัดออกไปก็คือหน้าร้าน การทำธุรกรรมกับธนาคารแบบเดิมนั้นสิ่งที่เราต้องเสียคือค่าธรรมที่สูง เนื่องจากกระบวนการที่ต้องใช้บุคลากรที่เยอะและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ หรือค่าอุปกรณ์ ที่เมื่อเป็น DeFi จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนั้น เนื่องจากทั้งหมดเกิดจากการเขียน Smart Contract ธุรกิจ DeFi จึงสามารถดำเนินการได้แม้จะมีบุคลากรไม่ถึงสิบคน ซึ่งทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆผ่าน DeFi นั้นถูกมากเมื่อเทียบกับธนาคาร
นอกจากจะตัดเรื่องของหน้าร้านไปแล้ว DeFi ยังช่วยให้การทำธุรกรรมมีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากเป็นการทำงานภายใต้บล็อกเชนเดียวกัน จึงเหมือนกับการใช้ภาษาเดียวกันในการทำงาน ซึ่งต่างจากธนาคารที่แต่ละที่ก็จะมีเทคโนโลยีต่างกัน การทำงานต่างกัน ทำให้การทำธุรกรรมต่างธนาคารนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่ DeFi ก็ได้แก้ปัญหาเรื่องนั้นไป เราสามารถโอนเงินหากันได้ถึงแม้จะอยู่คนละซีกโลกก็ตาม
DeFi นั้นเรียกได้ว่ามีธุรกรรมที่เหมือนธนาคารในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น การให้กู้ยืม (lending) ตลาดซื้อขาย สินทรัพย์ ล็อตเตอรี การฝากเงิน และอื่นๆอีกมากมาย โดยในโพสต์นี้ผมจะมากล่าวถึงเรื่องการกู้ยืม และการฝากเงิน ที่ผมคิดว่าเป็นบริการหลักๆของ DeFi
1.การให้กู้ยืม (Lending)
การกู้ยืมในรูปแบบ DeFi นั้นจะคล้ายกับธนาคารคือการนำเงินฝากมาปล่อยกู้และนำดอกเบี้ยเงินกู้มาจ่ายตอบแทนผู้ฝากเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือการที่ DeFi ใช้รูปแบบการกู้ยืมด้วย Smart Contract ทำให้แพล็ตฟอร์มกู้ยืมนั้นไม่สามารถยุ่งกับเงินฝากของผู้ฝากได้ ซึ่งแตกต่างจากธนาคาร ที่เราทราบกันดีจากวิกฤตซับไพม์ว่าธนาคารสามารถสร้างความเสียหายจากเงินฝากของเราได้ขนาดไหน
ถึงจะบอกว่าเป็นการกู้ยืม แต่แท้จริงแล้วมันเหมือนกับการจำนำเสียมากกว่า เพราะว่าการใช้งาน DeFi นั้นไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จึงไม่สามารถตามหนี้หรือตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ การที่จะกู้ได้นั้นเราจึงจำเป็นต้องนำสกุลเงินดิจิตอลที่แพล็ตฟอร์มปล่อยกู้กำหนดไปทำการค้ำประกัน เช่น BTC ETH USDT เป็นต้น
ผู้ขอกู้ยืมจะต้องทำการค้ำประกันด้วยสกุลเงินดิจิตอลที่มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าที่เราอยากจะกู้ยืม เช่นเราอยากจะกู้ 1000 USDT เราก็จำเป็นต้องค้ำประกันด้วย ETH ที่เทียบเท่า 1000 USDT เช่นกัน
แต่โดยปกติแล้วแพล็ตฟอร์มปล่อยกู้นั้นจะไม่ให้เรากู้ได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นการป้องกันความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอล ดังนั้นแพล็ตฟอร์มจึงได้กำหนด Collateral Factor ที่จะแสดงเป็น % เมื่อนำมาคูณกับเงินค้ำประกัน เราก็จะได้วงเงินการกู้ยืม หรือก็คือ Borrow Limit แต่ปกติแพล็ตฟอร์มจะไม่อนุญาตให้เรากู้ได้ทั้งหมดของวงเงินการกู้ยืมอีกเช่นกัน ปกติจะอยู่ประมาณ 80% ของวงเงินการกู้ยืม (แล้วแต่แพล็ตฟอร์ม)
สมมติว่า 1 ETH = 2000 USDT Collateral Factor 70%
หากเราฝากเงินเข้าไป 1 ETH เราจะมีวงเงินการกู้ยืม 2000 x 70% = 1400 USDT ซึ่งก็คือ Borrow Limit ของเรา แต่เราจะสามารถกู้ได้ 80% หรือก็คือ 1120 USDT
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มูลค่าที่เรากู้นั้นเกิน Borrow Limit ระบบจะทำการขายสกุลดิจิตอลที่เราค้ำประกันและนำมาหักลบกับจำนวนหนี้สิน เพื่อเป็นการป้องกันความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอลที่เรากู้ยืม
1
เช่น เมื่อ ETH ราคาตกมาเหลือ 1 ETH = 1599 USDT จะทำให้ Borrow Limit เป็น 1119 USDT (1599 x 70%) ซึ่งจำนวนเงิน 1120 USDT ที่เรากู้มาตอนแรกจะเกิน Borrow Limit ระบบก็จะทำการขาย ETH ของเราเพื่อนำไปทบกับหนี้สินนั่นเอง
หลายคนคงสงสัยว่า แล้วเราจะกู้ทำไมในเมื่อไม่ได้เงินเพิ่ม?
อย่างที่ได้กล่าวไปว่ามันเหมือนกับการจำนำเสียมากกว่า การกู้ยืมจึงจะนำไปใช้กับผู้ที่ต้องการเงินไปใช้จ่ายแต่ไม่ต้องการที่จะขายสกุลเงินดิจิตอลของตัวเอง เพราะการขายสกุลดิจิตอลแล้วซื้อใหม่อาจจะทำให้เราได้ราคาที่แย่ลง การกู้ยืมของ DeFi จึงเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้
2. การฝากเงิน
การฝากเงินหรือที่เราคุ้นชินกันดีคือ Yield Farming เป็นนโยบายที่แพล็ตฟอร์มต่างๆจัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับแพล็ตฟอร์มของตัวเอง เรียกง่ายๆก็คือการระดุมจากนักลงทุนนั่นเอง แพล็ตฟอร์มที่มีบริการแลกเปลี่ยนคู่สกุลเงินดิจิตอลต่างๆจำเป็นต้องมีสภาพคล่องมากเพียงพอเพื่อให้ราคาของคู่เหรียญนั้นไม่ผันผวน จึงได้คิดค้น Yield Farming ขึ้นมา
โดยสภาพคล่องของแพล็ตฟอร์มจะเรียกว่า Liquidity Pool เปรียบเสมือนเงินกองกลางที่ให้นักลงทุนนำเงินมาฝาก ส่วนผู้ฝากเงินจะถูกเรียกว่า Liquidity Provider ซึ่งจะทำการฝากเงินเข้าไปในแพล็ตฟอร์มและจะได้รายได้จากค่าธรรมเนียมของผู้ที่มาแลกเปลี่ยนคู่สกุลเงินดิจิตอลนั่นเอง
การฝากเงินหรือการ Add Liquidity นั้น จำเป็นต้องฝากสกุลเงินดิจิตอลเป็นคู่ในมูลค่าที่เท่ากัน เช่นต้องจะฝากเงิน 1 ETH ก็จำเป็นต้องฝากเงิน 2000 USDT เข้าไปด้วยเช่นกัน (สมมตว่า 1 ETH = 2000 USDT เช่นเดิม)
เมื่อฝากคู่เงินดิจิตอลเข้าไปแล้ว เราจะได้ LP Token เปรียบเสมือนการยืนยันธุรกรรมว่าเราได้ฝากเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การจะถอนเงินคืนคือการนำ LP Token ไปขายนั่นเอง
ไม่เพียงแค่นั้น การสร้างรายได้จาก LP Token ยังสามารถต่อยอดได้อีก คือการที่เรานำ LP Token ไปทำการ Staking โดย Stake คือการยืนยันการทำธุรกรรม หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าการขุดเหรียญ ที่ก่อนหน้านี้เราจะเห็นการขุดเหรียญด้วยการ์ดจอ การขุดเหรียญแบบนั้นจะเรียกว่า Proof of Work ซึ่งถูกมองว่าเปลืองไฟและทำให้โลกร้อน แพล็ตฟอร์มส่วนใหญ่จึงได้เปลี่ยนมาใช้ Proof of Stake คือการนำเงินมาฝากไว้เพื่อเป็นการยืนยันการทำธุรกรรมแทน และจะได้เหรียญดิจิตอลของแพล์ตฟอร์มนั้นมา โดยแต่ละแพล็ตฟอร์มจะมีเหรียญของตัวเอง เหรียญนี้จะถูกเรียกว่า Governance Token โดยเราสามารถนำ LP Token ที่ได้จากการ Yield Farming มาทำการ Staking เพื่อรับ Governance Token ของแพล็ตฟอร์มนั้นก็ได้เช่น โดยสามารถ Governance Token ไปขายหรือสามารถถือไว้ก็จะได้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่นการโหวตเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายของแพล์ตฟอร์มเป็นต้น
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับ DeFi นวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันเป็นนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่างเลยครับ การเงินที่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อใจคนกลาง ค่าธรรมเนียมต่ำ แถมไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการทำธุรกรรมได้ด้วย เรียกได้ว่านี่คือการมอบอำนาจทางการเงินให้แก่ผู้ใช้งานทุกๆคนเลยก็ว่าได้ครับ
นอกจากบริการทั้งสองอย่างที่ผมได้กล่าวไป DeFi นั้นก็ยังสามารถต่อยอดไปได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสินทรัพย์เสมือน ที่สามารถซื้อหุ้นโดยใช้สกุลเงินดิจิตอลได้ GameFi ที่ทำให้การเล่นเกมไม่เพียงแต่จะมอบความสนุกแต่ยังสร้างรายได้ได้อีกด้วย หรือ NFT ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้บล็อกเชนที่ทำให้ผลงานศิลปะของเรามีเพียงชิ้นเดียวในโลก! รายละเอียดต่างๆนั้นน่าสนใจมาก ผมจึงอยากแบ่งปันหนังสือดีๆสองเล่มนี้ที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับ DeFi
DeFi และ NFT ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล
เล่มแรก “DeFi และ NFT ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล” ที่เขียนโดย คุณ นเรศ เหล่าพรรณราย CEO Ricco Wealth ที่นำเสนอเนื้อหาของ DeFi ฉบับเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็น DeFi คืออะไร คำศัพท์ต่างๆ และสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ DeFi อีกทั้งยังมีเรื่องของ NFT และ Metaverse โลกเสมือนที่ทุกคนกำลังจับตามอง
DeFi Farming 101 เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล
เล่มสอง “DeFi Farming 101 เส้นทางสู่การเป็นชาวนาดิจิทัล” ที่เขียนโดย คุณ พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว และ คุณ ณัฐชนน โพธิ์เงิน และยังมีแขกรับเชิญที่มาร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้อีกด้วย เป็นหนังสือเกี่ยวกับ DeFi ที่มีเนื้อหาที่เข้มข้นมาก โดยเนื้อหาจะคล้ายกับเล่มแรก แต่มีการเพิ่มรายละเอียดของแต่ละหัวข้อ และมีเนื้อหาจากแขกรับเชิญที่จะทำให้เราได้รับรู้ถึงมุมมองต่างๆเกี่ยวกับ DeFi เพิ่มเติมอีกด้วย
2
ทั้งสองเล่มถือว่าเป็นเล่มทรงคุณค่า และคู่ควรแก่การอ่านมากเลยครับ สำหรับผมแล้ว เล่มแรกจะมีความอ่านง่ายกว่า เหมาะสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเกี่ยวกับ DeFi มาก่อนเลย ส่วนเล่มสองจะมีความอ่านยากนิดหน่อย แต่ด้วยความเข้มข้นของเนื้อหา รับรองว่าได้ประโยชน์เต็มๆแน่นอนครับ
ถึงจุดๆนี้ทุกคนคงจะได้รู้จักกับ DeFi การเงินรูปแบบใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยจากโพสต์นี้นะครับ ถึงแม้ผมจะอธิบายถึงประโยชน์มากมายจากการเงินรูปแบบนี้ แต่มันก็ตามมาด้วยความเสี่ยงเหมือนเงาตามตัว การอ่านหนังสือทั้งสองเล่มที่ผมได้แนะนำไปถือเป็นการเตรียมตัวชั้นดี หวังว่าทุกคนจะพร้อมสำหรับโลกใบใหม่ทางการเงินที่กำลังโคจรเข้ามานะครับ!
โฆษณา