29 มี.ค. 2022 เวลา 01:17 • การเมือง
สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะจบลงอย่างไร? รวมในโพสต์เดียว
Photo by Psychedelic Lulo on Unsplash
สืบเนื่องจากบทความของคุณ เอสเชอร์ เททรูแอชวิลี (Escher Tetruashivly) ค่อนข้างยาว ผมจึงหั่นเป็นตอนๆ ลงไปหมดแล้ว แต่อาจมีบางคนอาจอยากอ่านยาวๆ จบในบทความเดียว ก็เลยจะโพสต์ลงเป็นบทความเดียวในที่นี้ (ไม่รู้ทางเพจจะให้ลงยาวยืดได้ไหม มาลองดูกันครับ ^^")
เอสเชอร์ เททรูแอชวิลี (Escher Tetruashivly) ผู้เขียนบทความ ‘How Does the Ukraine War End?’ นี้ เป็นนักวิชาการด้านเทคโนโลยี อดีตนักการทูตสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายที่ศูนย์กฎหมายมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์
เธอเขียนบทความชิ้นนี้ลงในเว็บไซต์ Foreign Policy ตาม link ต่อไปนี้
Photo by Yana Hurskaya on Unsplash
*** สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะจบลงอย่างไร? ***
17 มี.ค. 2022
ห่างจากการโจมตียูเครนของเขาในปี 2014 เกือบทศวรรษ วลาดิมีร์ ปูติน ที่แม้จะถือดี แต่ก็ออกจะคับข้องใจ, โดนโดดเดี่ยวมากกว่าเคยและหวาดระแวงกว่าที่เคย ได้รุกรานเพื่อนบ้างอีกครั้งอย่างโจ่งแจ้ง แต่คราวนี้ต่างจากปี 2014 และโลกก็เตรียมตัวรับมือมากกว่าเดิม
ประธานาธิบดีรัสเซียคำนวณผิดพลาดเรื่องความเห็นของคนทั้งโลกที่ต่อต้านเขา และการต่อต้านของชาวยูเครนที่เป็นไปอย่างดุดัน เขาคำนวณพลาดเรื่องคนของตนเองว่าจะช่วยสนับสนุน และแน่นอนว่า เขาย่อมไม่ได้จินตนาการว่า จะมีผู้เล่นระดับประเทศและระดับอื่นที่ปรารถนาจะฉุดรั้งม่านแห่งคำลวงของเขาไม่ให้หย่อนลงมา รัฐบาลชาติต่างๆ ดาหน้าเข้ามา, ร่วมกับคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วงที่สุด เท่าที่เคยทำกันมาต่อชาติใดชาติหนึ่งนับจนถึงปัจจุบัน
แต่การคว่ำบาตรขนาดนี้เพียงพอหรือไม่?
นักสังเกตการณ์จำนวนมากอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงในตัวปูติน บ้างก็ว่าเขาเป็นคนมีหลักการเหตุผล ขณะที่บ้างก็ว่าเขาไม่ยึดโยงกับความเป็นจริงไปเสียแล้ว แต่ผู้คนย่อมเปลี่ยนแปลงเสมอ เผด็จการก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น และความเห็นทั้งสองแบบข้างต้นก็อาจจะมีส่วนถูก หากเราเชื่อเช่นนี้เสียแล้ว โลกประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องใคร่ครวญอย่างระมัดระวังว่า ทางออกใดที่รัสเซียและยูเครนจะสามารถยอมรับได้—หรืออาจจะโดนบังคับให้ต้องทำ
การรักษาหน้าปูตินซึ่งพยายามสถาปนาระบอบที่ต่างออกไป และ/หรือลดอำนาจทางการทหารของยูเครน โดยไม่เปิดโอกาสให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้หรือสหภาพยุโรป เป็นเรื่องที่เขากล่าวอย่างชัดแจ้งในการสนทนากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมแมนูเอล มาครง
1
สงครามในซีเรียและเชชเนีย แสดงให้เห็นว่า ปูตินจะยังคงยกระดับการสู้รบขึ้นไปเอง เพื่อให้ราคาของการไม่ยอมจำนนมีค่าสูงมากสำหรับประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และผู้คนชาวยูเครน
ในการนี้อาจสร้างเป็นฉากทัศน์ (scenario) ที่อาจเกิดขึ้นได้เป็น 3 แบบคือ
[1] คุมเชิง: สถานการณ์แบบต่างสูญเสีย
[2] รุกฆาต: ปูตินได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
[3] บีบให้จนมุม: เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย
Photo by Remy Gieling on Unsplash
=============================
ฉากทัศน์แบบคุมเชิง: สถานการณ์แบบต่างสูญเสีย
(Stalemate: A lose-lose situation)
=============================
ในฉากทัศน์แบบนี้ ปูตินจำยอมแพ้บางส่วน โดยอาจจะยึดครองพื้นที่ Donetsk และ Luhansk อาจจะในฐานะดินแดนของรัสเซียหรืออาจจะยินยอมให้ตั้งเป็นพื้นที่ดูแลตนเองได้ และจะยึดครองไครเมียในฐานะส่วนหนึ่งของรัสเซีย ฝ่ายตะวันตกจำเป็นต้องเห็นชอบด้วยกับการค่อยๆ ถอนการคว่ำบาตร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการถอนกองกำลังออกจากยูเครน
1
บริษัทเอกชนรายต่างๆ อาจจะโดนโน้มน้าวใจให้หันกลับมาทำธุรกิจกับรัสเซียอีกครั้ง จากนั้น ปูตินก็จะเริ่มลงโทษผู้คัดค้านในสภา, คนที่อยู่ในวงใกล้ชิดเขามากที่สุด และใช้มาตรการต่างๆ ต่อไปอีกเพื่อจำกัดความเห็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล สื่อต่างๆ จะโดนเซนเซอร์ และรัสเซียจะหันมาใช้การควบคุมไซเบอร์แบบเบ็ดเสร็จแบบจีน เพื่อควบคุมการไหลของข้อมูลภายในประเทศ
เซเลนสกี้จำเป็นต้องป้องกันการเสียชีวิตเพิ่มอีก และหันมาเห็นด้วยกับการหยุดยิง การทำเช่นนี้จะทำให้ทั้งสองประเทศยังคงตกอยู่ในภาวะแช่แข็งความขัดแย้งอีกต่อไป ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่าชาติอื่นใดที่มีเขตแดนติดกับรัสเซีย แต่เซเลนสกี้จะยังคงสามารถควบคุมรัฐบาลอยู่ได้ และยูเครนจะยังมีศักยภาพพอจะเข้าสหภาพยุโรปได้ต่อไป
ยูเครนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจขึ้นใหม่อีกครั้ง และน่าจะมีการกวาดล้างนักการเมือง, พลเมือง และแอกทิวิสต์ที่โปรรัสเซียตามมา วิกฤตผู้อพยพจำนวนมากน่าจะยากจะหวนกลับมา เพราะมีชาวยูเครนมากกว่า 3 ล้านคนแล้วที่ออกนอกประเทศ และมีอีกหลายล้านคนที่หวังว่าจะได้ออกนอกประเทศในสัปดาห์ต่อๆ ไป
นาโต้น่าจะยังคงไม่เข้ามาในสมการ แต่น่าจะยังมีภูมิภาคที่แยกตัวออกจากรัสเซีย ซึ่งต้องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ อันจะทำให้เกิดวงจรอันไม่จบสิ้นทางการทหาร หากยูเครนจะเข้าร่วมกันนาโต้
การถอนกำลังของรัสเซีย จะทำโดยไม่สนใจคำสั่งใดๆ ของนานาชาติ และมีความเป็นไปได้มากที่จะโดนฟ้องร้องอาชญากรรมสงครามต่อบุคลากรทางทหารและนักการเมืองหลายๆ คน น่าจะมีการวางโรดแมป (road map) เพื่อปรับระดับความสัมพันธ์ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง แต่จะยังคงไม่ชัดเจนว่าจะมีรายละเอียดเป็นเช่นใดแน่ การยุติการคว่ำบาตรจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะแน่ใจว่า ปูตินจะเคารพต่อบูรณภาพดินแดนของชาวยูเครน
Photo by Ehimetalor Akhere Unuabona on Unsplash
===============================
ฉากทัศน์แบบรุกฆาต: ปูตินได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
(Checkmate: Putin achieves his objectives)
===============================
ในฉากทัศน์แบบนี้ รัสเซียชนะเหนือยูเครน และจัดตั้งระบอบหุ่นเชิดที่ปกครองอย่างกดขี่ กองทัพรัสเซียจะขจัดกองทัพยูเครนและพลเรือนอย่างโหดร้าย ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่อดีตผู้นำโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ ทำในฮังการีปี 1956
1
รัสเซียจะยังคงแยกตัวออกจากฝ่ายตะวันตก และจะสร้างม่านเหล็กขึ้นรอบๆ ยูเครนและเบลารุส, ผู้คนชาวยูเครนไม่น่าจะยอมจำนนต่อผู้นำที่คนรัสเซียตั้งขึ้น น่าจะเกิดกบฏที่ต่อต้านในระยะยาวอย่างรุนแรง
หากมองไปที่มติของที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ ที่ประณามการรุกรานของรัสเซีย เมื่อดูรายชื่อของประเทศที่งดออกเสียง แทบจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงสมาชิกภาพของ องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ประเทศต่างๆ เหล่านี้ให้กำลังใจปูตนิ และมองเรื่องนี้เป็นความสำเร็จของเขา และจะกลายมาเป็นพันธมิตรของรัสเซียในระเบียบโลกใหม่แบบหลายขั้ว
หากปูตินยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป รัสเซียกับจีนน่าจะวางแผนร่วมกันต่อไปเกี่ยวกับการสร้างอิสระทางเศรษฐกิจ เพื่อแยกตัวออกจากฝ่ายตะวันตก อันที่จริง สหรัฐได้ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีสำคัญของตนไปยังรัสเซียไว้แล้ว เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ทำให้นึกถึงมาตรการต่างๆ ที่ใช้กับจีน อันทำให้ห่วงโซ่อุปาทานทางเลือก และการจัดหาทรัพยากรให้กับตัวเองได้อย่างมากพอ กลายมาเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของรัสเซียอีกครั้ง
โครงการของรัสเซียและจีนที่จะแทนที่ความเป็นใหญ่ด้านการเงินของสหรัฐจะเร่งตัวเร็วมากขึ้นอีก ย้อนกลับไปที่ปี 2015 เมื่อจีนเปิดตัวระบบการจ่ายเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดน (Cross-Border Interbank Payments Systems) นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้การคว่ำบาตรของรัสเซียต่อไครเมียโดยชาติตะวันตก ในตอนนั้นจีนและรัสเซียเห็นพ้องว่า การแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้หันกลับมาสานต่อใหม่อีกครั้ง แน่นอนว่าระบอบที่เกี่ยวข้องของทั้งสองขาติ ซึ่งอาจจะจบลงที่การโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไปทั้งแพ็กเกจ ก็เป็นแรงจูงใจให้ต้องขยับตัวออกห่างจากเงินดอลลาร์ด้วย
สุดท้าย เราคงไม่อาจลืมได้ว่า รัสเซียยังคงจะเป็นผู้จัดหาน้ำมันและก๊าซรายหลักให้กับยุโรป ในฉากทัศน์นี้ ไม่แน่ว่าความกังวลเรื่องพลังงานอาจจะบีบบังคับให้เกิดการแตกแยกขึ้นในยุโรป และบ่อนเซาะความพยายามของคนยุโรปที่พยายามจะจัดการกับรัสเซียในฐานะก่ออาชญากรรมสงคราม
ทิวทัศน์สวยงามของประเทศยูเครน. Photo by Wolfgang Hasselmann on Unsplash
=============================
ฉากทัศน์ที่ 3 บีบให้จนมุม: เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย
(Forced-mate: Revolution in Russia)
=============================
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปูตินใช้วาทศิลป์เรื่องความรักชาติเพื่อเน้นย้ำและสร้างความเกลียดชังให้เกิดกับชาวรัสเซีย ต่อผลการคว่ำบาตรโดยผู้นำชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ หลังยุคปูติน รัสเซียจะเป็นเช่นไรนั้น ดูท่าน่าจะไม่ใช่รัสเซียแบบที่ชาติตะวันตกที่มีประชาธิปไตยต้องการเป็นแน่
ชาติตะวันตกจำเป็นต้องเริ่มนึกถึงตัวเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้นับแต่นี้
แนวโน้มความเป็นไปได้มากที่สุดของสงครามครั้งนี้ ผลน่าจะเป็นการพ่ายแพ้บางส่วน ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตของชาวยูเครนได้ ขณะที่ก็เป็นการโยนห่วงชูชีพให้กับพลเมืองชาวรัสเซียทั่วไปด้วยในตัว การจะเป็นเช่นนี้ได้จำเป็นต้องใช้ความพยายามทางการทูตอย่างหลากหลายรูปแบบ
ชาวยุโรปจำเป็นต้องเห็นพ้องกันในเรื่องการต้อนรับยูเครนเข้าสู่สหภาพยุโรป พร้อมเสนอปูตินว่าจะยกเลิกการคว่ำบาตร เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลดระดับความรุนแรงลง และต่อรองให้เกิดสนธิสัญญา ที่จะช่วยรับประกันบางอย่างให้กับรัสเซียว่า จะได้รับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงตามความต้องการ
ผู้มีบทบาทหลักแต่ละคนควรต้องพยายามเดินหน้าเรื่องอาชญากรรมสงคราม โดยไม่จำเป็นต้องมีประเทศผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วม และนาโต้ควรทบทวนกฎข้อบังคับว่าด้วยการส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซง ว่าอาจทำได้แม้ไม่มีการประกาศสงครามขึ้นก็ตาม เพื่อเป็นการปกป้องสมาชิกในสหภาพยุโรป เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้การบังคับและยกระดับการคว่ำบาตรการทำธุรกรรมทางการเงินในทันที และการสนับสนุนกองกำลังจำนวนหนึ่งตามแนวคิดการใช้กองกำลังเพื่อรักษาสันติภาพ
หากมีการจัดตั้งระบอบหุ่นเชิดขึ้นในยูเครน ชาติตะวันตกก็จะต้องจำแนกผลที่จะตามมาสำหรับระบอบรัสเซียซึ่งจะอยู่ยาวออกไปให้ได้ว่า จะเป็นเช่นไร ซึ่งก็รวมทั้งการคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าไปที่ผู้นำทางทหารที่เป็นตัวหลัก และเซ็กเตอร์พลังงาน ชาวยูเครนจะยังคงต่อสู้ไม่เลิก และกองกำลังกบฏดังกล่าวก็จะมองหาความสนับสนุนจากนาโต้และประเทศยุโรปชาติต่างๆ แน่
การร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการตอบสนอง และน่าจะเกิดการตอบโต้ โดยอาศัยการปราบปรามอย่างรุนแรง หากมองฉากหลังเช่นนี้แล้ว ผู้นำนาโต้ก็จำเป็นต้องระบุให้ได้ชัดเจนว่า กำลังต่อสู้กับใครและจะต้องต่อสู้อย่างไร เช่น หากขณะรัสเซียบดขยี้ขบวนการต่อต้าน กลับทำให้เกิดการโจมตีขาตินาโต้โดยไม่เจตนา จะถือว่านี่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้ทางทหารได้หรือไม่?
Photo by Julia Rekamie on Unsplash
หากปูตินเข้ายึดครองยูเครนได้สำเร็จ และใช้วิธีการบางอย่างทำให้เศรษฐกิจรัสเซียกลับสู่สมดุลได้อีกครั้ง จากนั้นก็ตัดสินใจจะรุกต่อไปยังชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ชาติอื่นๆ อีก เช่น มอลโดวาหรือจอร์เจีย – ยุโรปจะตอบสนองเช่นใด?
จะไม่ส่งผลกระทบอะไรตามมาอีกสำหรับการลงมือของปูตินหรือ?
ไม่แน่นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะจะใช้ทบทวนมาตราต่างๆ ในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และใช้ความพยายามแบบกึ่งการแทรกแซงด้วยกองกำลัง – คาบเกี่ยวกับมาตรา 5 หรือไม่ทำอะไรเลย – เช่น การจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพ หรือกองกำลังสังเกตการณ์ ตามแนวชายแดนประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกนาโต้
เราจำเป็นต้องทำให้นาโต้ยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบัน เพ่อที่จะสามารถตอบสนองต่อสงครามในรูปแบบใหม่ได้
หากมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและผู้นำจริง ก็จำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความโกลาหลอย่างไม่น่าเชื่อที่จะต้องตามมาอย่างแน่นอน กลียุคที่เกิดกับเศรษฐกิจของประเทศใหญ่อันดับ 11 ของโลก และผู้นำในอนาคตของรัสเซีย ซึ่งน่าจะเป็นนักประชานิยมและเป็นคนแสดงออกว่ารักชาติมากกว่าที่เคยมีมา คงยากมากที่จะผนวกรวมเข้ากับระเบียบโลกที่เป็นอยู่ตอนนี้
เมื่อพวกชนชั้นนำของรัสเซีย ประชาสังคม และผู้คนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาคต่อสู้กันเพื่อบัลลังก์ เส้นทางการสื่อสารกับจีนและชาติอื่นๆ ในภูมิภาค จะเข้าสู่วิกฤตซึ่งจำเป็นต้องใช้ควบคุมความรุนแรง, ใช้ควบคุมอาชญากรรมไซเบอร์, และลดความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะจากนิวเคลียร์
สำหรับการจัดการกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หนัก อาจจำเป็นต้องยกเลิกการคว่ำบาตร เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปถึงประชาชนรัสเซียทั่วไปได้ หากยังเชื่อว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ กล่าวคือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม รัสเซียกลายมาเป็นชาติประชาธิปไตยแบบเดียวกับตะวันตก
การสนับสนุนประชาสังคมก็อาจมีส่วนช่วยได้ แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่คนรัสเซียจะยังคงเลือกข้างชาตินิยม และผู้นำเผด็จการที่เข้มแข็ง ให้เป็นคนที่สร้างสมดุลในประเทศให้กลับมาอีกครั้ง
ชาติต่างๆ จำเป็นต้องสร้างสัมพันธ์กับผู้นำใหม่นี้ และในช่วงเวลาเดียวกัน กลไกของสหประชาชาติและพันธมิตรด้านความมั่นคงต่างๆ ก็ควรจะปฏิรูปให้ตอบสนองต่อความก้าวร้าวแบบไม่ยั่วยุและเป็นไปทางเดียว
Photo by Dovile Ramoskaite on Unsplash
ย้อนกลับไปปี 2014 เมื่อดิฉันเข้าร่วมในปฏิบัติการของสหรัฐต่อการค้นหาความจริงโดยนาโต้ ก็สังเกตเห็นว่าชาติตะวันตกไม่ต้องการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง เพื่อปกป้องประชาธิปไตยของยูเครน ยูเครนจึงยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ และด้วยเหตุนี้เองจึงไม่อาจอุทธรณ์ให้ใช้กำลังทหารเข้าช่วยเหลือได้
เมื่อกองทหารของปูตินใช้การทำสงครามแบบลูกผสม ชาติตะวันตกจึงทำได้เพียงการกล่าวสุนทรพจน์และส่งความช่วยเหลือ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ปรารถนาจะทำมากกว่านั้น ในที่สุดแล้ว นับจนถึงตอนนี้ ยูเครนได้แสดงให้เห็นว่า โลกตะวันตกต้องผูกพันและให้คุณค่ากับประชาธิปไตยและเสรีภาพให้มากที่สุด
ถึงวันนี้ ชาวยูเครน และความร่วมมือในการตอบสนองอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งโลก ทำให้ดิฉันเกิดความหวัง แต่เราจำเป็นต้องตระหนักให้ชัดในใจว่า เราจำเป็นต้องการสร้างโลกที่แข็งแรงกว่าเดิมให้ได้.
===========
ผู้เขียนคือ เอสเชอร์ เททรูแอชวิลี เป็นนักวิชาการด้านเทคโนโลยี และกำลังเรียนระดับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายในศูนย์กฎหมายมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เธอยังเป็นสมาชิกของสถาบันจอร์จทาวน์เพื่อเทคโนโลยี, กฎหมาย และนโยบาย ซึ่งศึกษาเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และธรรมาภิบาลดิจิทัลของโลก
ก่อนหน้านี้ เธอเคยทำหน้าที่เป็นนักการทูตในสถานทูตในเอเชียกลางและจีน และเคยได้รับเลือกเป็น Forbes 30 Under 30 ทางด้านกฎหมายและนโยบายในปี 2019 และเคยเป็น Thomas Pickering foreign affairs fellow และ Paul and Daisy Soros fellow ในปี 2012.
โฆษณา