29 มี.ค. 2022 เวลา 03:10 • ไลฟ์สไตล์
“โลกภายใน == โลกภายนอก = ว่าง”
“ … เราปฏิบัติธรรม มันก็มีความแปลก
เรารู้สึกมีความสุข ยิ่งภาวนายิ่งมีความสุข
ในขณะเดียวกัน ยิ่งภาวนายิ่งเห็นทุกข์
ก็เลยไม่รู้ว่ามันสุข หรือมันทุกข์
1
อย่างภาวนาไปเรื่อย ใจโปร่ง สบาย
มีความสุขอยู่ในตัวเอง
ไม่ต้องง้อใครทั้งสิ้น
ในการภาวนา ยิ่งเราเห็นทุกข์มากขึ้น ๆ
ใจมันยิ่งคลายออกจากโลก คลายออกจากทุกข์
ใจยิ่งมีความสงบ มีความสุขมากขึ้น ๆ
ความสงบสำคัญ
ในความสงบ มันจะมีความสุขอยู่
พระนิพพานนะ พูดถึงนิพพาน ๆ
เราก็วาดภาพกันไปคนละอย่างสองอย่าง
บางคนก็วาดภาพนิพพานเหมือนโลก ๆ หนึ่ง
พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าอะไรไปอยู่รวม ๆ กัน ในโลกอันนั้น
อันนั้นยังไม่ใช่ นิพพาน ของศาสนาพุทธหรอก
นิพพาน มันมีลักษณะเฉพาะ เรียก วิเสสลักษณะของนิพพาน
คือมันสงบ เรียกว่า มันมีสันติลักษณะ
ลักษณะของพระนิพพาน คือ สงบ
ในขณะเดียวกันท่านก็พูดถึงพระนิพพาน ว่าเป็น ความว่างอย่างยิ่ง
ไม่มีความว่างอะไรเสมอเหมือน
แล้วท่านก็พุดว่านิพพานนั้นมีความสุขอย่างยิ่งใหญ่
นิพพานัง ปรมัง สุขัง
ฉะนั้นในความสงบ มีความว่าง
มีความสุขอยู่ด้วยกันนี่ล่ะ
ถ้าเราภาวนา เราไม่สามารถไปยึดครองพระนิพพานได้หรอก
เราภาวนา เมื่อไรใจเราสงบสุข
ถ้าใจเราเข้าถึงความสงบสุข มันไม่ทุกข์
ก็จะเห็นโลกนี้ว่าง
ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน
ว่างจากความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา
1
ว่างตั้งแต่ภายใน ในธรรมชาติรู้ ในธาตุรู้
ไม่ใช่ธรรมชาติรู้ในธรรมะ
ธรรมธาตุ ธาตุรู้ มันก็ว่าง
มันกลืนเข้ากับความว่างของโลก ของจักรวาล
เป็นเนื้อเดียวกันหมด เสมอกันหมด
ในขณะที่ใจของเราที่ยังไม่เข้าถึง
ยังไม่ได้สัมผัสพระนิพพาน
ใจเรากับโลกข้างนอก มันไม่เสมอกัน
ถ้าเราสังเกตให้ดี เราสังเกตว่าจิตใจเราก็อย่างหนึ่ง
โลกข้างนอกก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
เราก็ชอบมองว่าโลกข้างนอกนี่ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ วุ่นวาย
ไม่มีความสงบที่แท้จริง
ที่จริงโลกข้างนอกมันก็ว่าง
ที่ไม่ว่าง คือ ใจของเราเอง
ใจเรากระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลง
ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา
เราก็ไปโทษว่าโลกมันวุ่นวาย
โลกก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร
ใจเราต่างหากที่วุ่นวาย
ไปหลงยินดีกับสภาวะอันนี้
ไปหลงยินร้ายกับสภาวะอันนี้
ใจก็ดิ้นรน ใจก็ปรุงแต่ง ใจไม่ว่าง ใจไม่สงบ
ไม่มีสันติในจิตใจ
ในใจมันไม่มี สันติ เสียอย่างเดียว
จะไปโทษว่าโลกไม่มีสันติ
ทีนี้เราภาวนาจนวันหนึ่งเราเข้าใจโลก
สิ่งที่เรียกว่า โลก มีโลกภายใน กับโลกภายนอก
โลกภายนอก ก็คือ ของข้างนอก สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่แวดล้อมเราอยู่
โลกภายใน ก็คือ ขันธ์ ๕ เรานี้ กายนี้ใจนี้เป็นโลกภายใน
เฝ้าเรียนรู้ความจริงของโลก จนมันเข้าใจ
โลกนี้ว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน
โดยเฉพาะการเห็นลงมาที่ขันธ์ ๕ นี้
ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวใช่ตน ว่างเปล่า
เห็นตรงนี้แล้ว โลกข้างนอกกับโลกข้างใน
มันจะเสมอกัน มันจะว่างเสมอกัน
หลวงปู่ดุลย์ท่านเคยสอน บอก
“เมื่อไหร่ที่เราสามารถเห็นว่า จิต กับสภาวะที่แวดล้อมอยู่ เป็นสิ่งเดียวกัน เราจะพ้นจากทุกข์แล้ว”
มันเป็นสิ่งเดียวกัน มันว่างเสมอกันหมด
มันเป็นเรา เป็นเขา เป็นคน เป็นสัตว์อะไรนี่
เพราะจิตมันเข้าไปสำคัญมั่นหมาย
ในความเป็นจริงแล้ว มันว่างอยู่โดยตัวของมันเอง
แต่ว่างนี่ ไม่ใช่ ว่างเปล่า
ไม่ใช่ว่างแบบแห้งแล้ง ไม่มีอะไรเลย
ที่ว่างอยู่นั้น มันสงบ ๆ
มันไม่กระเพื่อมหวั่นไหว
แล้วมันก็มีความสุขอันมหาศาล
เวลาเราภาวนา จิตมันเข้าถึงนิพพาน
สัมผัสพระนิพพาน มันจะมีความสุขอันมหาศาล
ธรรมะอย่างนี้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า จะไม่มีใครค้นพบเลย
ยกเว้น พระปัจเจกพระพุทธเจ้า
คนนอกนั้น ไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้ด้วยตัวเอง
อย่างพวกเรา บุญบารมีเราไม่ได้ถึงขนาดจะเป็นพระพุทธเจ้า
หรือจะเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
เราก็อาศัยได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกทีหนึ่ง
เราได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
เราก็มาปฏิบัติ มาเรียนรู้โลก
โลกภายใน ก็คือ ขันธ์ ๕
รูป นาม กาย ใจของเรานี้
ถ้าเข้าใจตรงนี้แจ่มแจ้ง ก็เข้าใจโลกข้างนอกเหมือนกัน
อย่างเราภาวนา เราจะรู้สึกเลย
ร่างกายเรากับโลกข้างนอก มันอันเดียวกัน
มันก็เป็นวัตถุธาตุเสมอกัน
ที่รู้สึกว่านี่เรา นั่นของข้างนอก อะไรนี่
มันเกิดจากจิตมันหมายรู้ผิด มันคิดผิด
มันมีความเห็นผิดเท่านั้นเอง
ร่างกายเรา รู้สึก แหม ..​. เรารัก เราหวงแหน
ที่จริงก็แค่เศษธุลี เป็นฝุ่นละอองเล็ก ๆ ของโลก
โลก เราก็ว่าใหญ่โต เทียบกับจักรวาล โลกก็เล็กนิดเดียวอีก
มันใหญ่ด้วยความสำคัญมั่นหมาย
โดยตัวมันเอง แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย
มันว่าง
มีขึ้นมาแล้วก็แตกดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป
จักรวาลเองก็เกิดดับ หมุนเวียนแปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ
ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เรามีสติรู้ลงในกาย
จิตหมดความสำคัญมั่นหมายในกาย
เราจะรู้เลย ร่างกายเรากับโลกข้างนอก
มันเป็นของอย่างเดียวกัน เป็นวัตถุ
ตัวตนที่แท้จริงของเรา ไม่มีหรอก
ที่ว่าร่างกายของเรา ๆ
ที่แท้ก็เป็นวัตถุธาตุของโลกทั้งหมดทั้งสิ้น
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย อาศัยผัสสะเกิดขึ้น
ตามองเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น
ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส
ก็เกิดความสุข ความทุกข์
เกิดความสำคัญมั่นหมาย
เกิดความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วต่าง ๆ ขึ้นมา
ตัวจักขุประสาท ประสาทตาที่ไปเห็นรูป ตัวมันก็ว่างเปล่า
รูปที่มันเห็น ก็เหมือนฝัน ๆ ไปเท่านั้นเอง มันก็ว่างเปล่า
ประสาทหู มันก็เป็นวัตถุธาตุ
มันก็ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร มันก็ว่างเปล่า
มันไปกระทบกับเสียง เสียงมันก็ว่างเปล่า
อย่างในโลกมีเสียงตั้งเยอะตั้งแยะ
เกิดขึ้นแล้วก็หาย หาย ๆ ไปเรื่อย ๆ
มานั่งทีแรกร้อน เปิดพัดลมแล้วเสียงเลยหายไป
นี่เสียง เห็นไหม ว่างเปล่าไปแล้ว
เราออกเสียงแป๊บเดียว หายไปหมดแล้ว
กระจายออกไปในโลกธาตุ
กลิ่นทั้งหลาย ประสาทจมูก มันก็เป็นแค่วัตถุ
ไปกระทบกับกลิ่น กลิ่นมันก็เป็นของอยู่ชั่วคราว
แล้วก็กระจายตัวออกไป
ค่อย ๆ ดูลงไป ในตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นของโลกทั้งหมดเลย
ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นวัตถุ
วัตถุทั้งหลายเรายืมโลกมาใช้
เอาไว้กระทบกับวัตถุ
กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
สิ่งที่กระทบกาย
ถ้าเราเห็นตา หู จมูก ลิ้น กาย มันว่างเปล่า
รูป เสียง กลิ่น รส โผสฐัพพะภายนอก มันก็ว่างเปล่า
มันไม่มีสาระแก่นสารอะไร
ใจ เป็นธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง
เป็นธรรมชาติแห่งความรับรู้อารมณ์
ตัวจิต ตัวใจ มันก็อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม
ดิน น้ำ ไฟ ลม ปรุงขึ้นมา
หลวงปู่ดุลย์ท่านเคยสอน ไปนั่งอยู่กับท่าน ท่านก็เล่าให้ฟัง ต้นเหตุให้เกิดรูปนามของจักรวาล เป็นเหตุให้เกิดภพ พิภพต่าง ๆ และดวงดาวต่าง ๆ นับจำนวนไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็มีพัฒนาการเกิดขึ้น
จากสภาวะวัตถุทั้งหลาย กับช่องว่าง ที่ขั้นระหว่างวัตถุ
ระหว่างรูป กับอรูป
วัตถุมันตั้งอยู่ในช่องว่าง มันถึงเคลื่อนไหวได้
อาศัยรูปกับอรูปนั้น มันก็เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น
สิ่งมีชีวิตยุคแรก มีแต่วัตถุ ยังไม่มีจิตวิญญาน ท่านสอนอย่างนี้นะ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ อันนั้นความรู้ของท่าน
แล้วมันก็มีพัฒนาการออกมา จากสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิตวิญญานก็พัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญานขึ้นมา ฉะนั้นตัวจิตก็อาศัยวัตถุเกิดขึ้นมาเหมือนกัน
เกิดขึ้นมาแล้วมันมีพลังงาน มีการทำงานขึ้นมา มีการกระทำกรรม
พอมีกระทำกรรมขึ้นมา คราวนี้มันก็เข้าวงจร
มีกิเลสขึ้นมา มีกรรมขึ้นมา มีวิบากขึ้นมา
ก็หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ
พอร่างกายนี้แตกสลายลง
มันก็ไปหาร่างกายใหม่อยู่
ตัวจิตนั้นเกิดดับ ไม่ใช่เที่ยง
ภาวนาไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นอย่างที่ท่านบอก
สุดท้าย ร่างกายนี้ จิตใจนี้ โลกภายใน โลกภายนอก มันเสมอกันไปหมดเลย มันว่างเปล่า ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย
เหมือนเราฝันอยู่แท้ ๆ เลย
เราคิดว่าขันธ์ ๕ มันมีจริง
ที่จริงเราฝัน ว่ามันมีขันธ์ ๕
ที่จริงก็เป็นสมบัติของโลก
เราฝัน ๆ เอาว่า นี่เป็นตัวเรา ๆ ขึ้นมา
เราภาวนาเรียนรู้ความจริงของกาย
เรียนรู้ความจริงของจิตใจเรื่อย ๆ ไป
วันหนึ่งก็เข้าใจ แท้จริงแล้วขันธ์ ๕ นี้ว่างเปล่า
มีเหตุก็ประชุมกัน มีเหตุมาประชุมกันแล้วมันก็เกิดขึ้นมา
อยู่ชั่วคราว
พอหมดกำลังของเหตุ มันก็แตกสลายออกจากกัน
ไม่มีใครครอบครอง เป็นเจ้าของขันธ์ ๕ ไว้ได้สักคนเดียวเลย
กระทั่งพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังไม่สามารถครอบครองขันธ์ ๕ นี้ไว้ได้ ถึงเวลาก็ต้องคืนเจ้าของ เพราะความจริงมันเป็นอย่างนั้น
มันไม่มีเจ้าของ มันของโลก ไม่ใช่ของเรา
ภาวนาถึงจุดหนึ่ง เราก็จะเห็น
ร่างกาย กับ โลกภายนอก มันเป็นอันเดียวกัน
ความรู้สึกนึกคิดก็อาศัยการกระทบอารมณ์ อาศัยผัสสะ
เกิดขึ้นเป็นคราว ๆ แล้วมันก็สลายไป
ภาวนามากเข้า ๆ มันจะเข้ามาถึงตัวจิต
หลวงปู่ท่านสอน “วันใดที่เธอเห็นจิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ เป็นสิ่งเดียวกัน วันนั้นเธอจะถึงที่สุดแห่งทุกข์” ท่านสอนอย่างนี้เลย
เรารู้สึกไหม จิตเรากับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ ไม่ใช่อันเดียวกัน
คนไม่ภาวนา จะรู้สึกว่า ตัวเรานี้ทั้งตัว ไม่เฉพาะจิต
ทั้งตัวนี้เลย กับ สิ่งที่แวดล้อมอยู่ เป็นคนละอันกัน
พอเราภาวนา ต่อมาเราก็เห็นตัวนี้ กับสิ่งที่แวดล้อมอยู่ เป็นอันเดียวกัน
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็เหมือนความฝัน
แต่สุดท้ายของการภาวนา มันจะเห็นว่า ตัวจิตเองมันก็ว่าง
มันก็ว่างเปล่าเสมอกับโลกข้างนอกนั่นเอง
การที่จิตมีความเคลื่อนไป เคลื่อนมา วิ่งไปวิ่งมา
มีความทะยานอยากเกิดขึ้น
เพราะว่ามันมีการเข้าคู่กัน ระหว่างสิ่งสองสิ่ง ซึ่งไม่เสมอกัน
เหมือนอย่างเรามีน้ำอันหนึ่ง กระบอกนี้สูง อีกอันหนึ่งเตี้ย
พอลิงค์ต่อท่อเข้าด้วยกัน
น้ำจากที่สูงก็จะไหลลงที่ต่ำ
แต่ถ้าน้ำเสมอกันเมื่อไหร่ มันก็หยุดไหล
จิตนี้มันเห็นโลกข้างนอก ไม่เสมอกัน
มันก็เลยไหลเข้าไป ไหลไปที่นู้น ไหลไปที่นี่ เรื่อย ๆ
แต่ถ้าเมื่อไหร่มันเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกัน
คำว่า เสมอกัน ไม่ได้เสมอในทางเอามาตรอะไรมาวัด
จริง ๆ มันเป็นไตรลักษณ์เสมอกันหมด
ร่างกายนี้ กับโลกข้างนอก ก็เป็นไตรลักษณ์
จิตใจนี้ก็เป็นไตรลักษณ์
ฉะนั้นใจก็จะเสมอกับโลกข้างนอก
มันจะมีความรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ
มันจะรู้สึกว่าจิตใจของเรา กับโลกข้างนอกนี้
มันว่างเปล่าเสมอกัน
ตรงนี้จิตมันจะหมดความทะยานอยาก
ทะยาน ก็คือ กระโจนไป
ตัวที่จิตมันทะยานอยาก นั่นแหละตัณหา
กระโจนเข้าไปตะครุบอารมณ์โน้น ตะครุบอารมณ์นี้
ถ้าเมื่อไหร่เราเห็น จิตกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ เป็นสิ่งเดียวกันรวด เสมอกันรวด ก็จะไม่มีการไหลไปไหลมา หมดการกระทำกรรม
เพราะฉะนั้นหมดกิเลส คือ หมดอวิชชา
รู้แจ้งแทงตลอดแล้วในโลกทั้งหลาย
ในรูปนามทั้งหลาย ว่าเป็นไตรลักษณ์
การที่จิตจะทะยานออกไป ก็จะไม่มีอีก
ฉะนั้นรู้โลกแจ่มแจ้ง รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือ รูปนามนี้เอง
รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัย ละตัณหา
จิตจะไม่ไหลไปอีกแล้ว
ของเราจิตมันยังกระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลง
ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไหลแล้วก็หลง เรียกว่า หลงใหล
หลงไปเรื่อย ๆ เพราะว่ามันเห็นว่าอันนี้ดี ดีกว่าอันนี้
อันนี้เลวกว่าอันนี้ มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น
เรียกมีการไหลไปเกิดขึ้น
แต่ถ้าเห็นทุกอย่างมันเสมอภาคกันไปหมด
การไหลมันก็ไม่เกิดขึ้น โลกทั้งโลกก็ว่าง
ใจก็ว่าง โลกก็ว่าง
พอใจว่าง ใจก็ไม่มีแรงทะยานอยาก
หมดแรงดิ้น ไม่ไหลไป ไม่ดิ้นไป
ใจก็เข้าถึงสันติสุข เข้าถึงสันติ สงบแล้วคราวนี้
3
โลกข้างนอกมาทำให้ใจนี้กระเพื่อมไม่ได้อีกแล้ว
ในขณะที่ถ้าเรายังภาวนาไม่เต็มที่
โลกข้างนอกนี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
ใจเราก็กระเทือนไปด้วยทุกที
คนนี้เรารักใช่ไหม พลัดพรากไป ใจเราก็กระเทือน
หรือเราชอบเขา ยังไม่ได้มา เราอยากได้มา ใจเราก็กระเทือน
แต่ถ้าเราเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง
มันเหมือนความฝัน เหมือนกันหมด
สิ่งที่เราชอบ หรือสิ่งที่เราไม่ชอบ
ที่เราเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตานี้
สุดท้ายก็หมดไปสิ้นไป
เวลาสิ่งทั้งหลายหมดไปสิ้นไป
มันเหมือนเราตื่นขึ้นจากความฝัน
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ตอนฝันอยู่ … ไม่มีแล้ว
ถ้าเราภาวนาเรื่อย ๆ เราจะรู้เลย
เรากำลังฝันอยู่แท้ ๆ เลย
เมื่อไหร่เราตื่นขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่าจริงจัง
ก็จะหายไปหมด
ใจก็หลุดออกจากโลกของความฝัน
ไม่ยึดถืออะไร มีความสุข มีความสงบ
เข้าถึงธรรมะที่สูง คือ พระนิพพาน
นิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานไม่มีเจ้าของ
นิพพานไม่มีใครครอบครอง
แต่นิพพานนั้นสัมผัสได้ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์
นิพพาน คือ ตัวธรรมแท้ เป็นธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง
ในขณะที่สิ่งอื่น ๆ นั้น เป็นธรรมะฝ่ายปรุงแต่ง
พอเข้าใจธรรมะฝ่ายปรุงแต่งอย่างถ่องแท้
จิตหมดความปรุงแต่ง
จิตก็เข้าถึงธรรมะที่ไม่ปรุงแต่ง คือ พระนิพพาน
มันมีความสุข มีความสงบ ไม่มีอะไรเหมือน
นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ๆ มาอย่างนี้นะ
หลวงพ่อก็จำมาบอกพวกเรา
อย่ามาหาเรื่องเรานะ
ค่อย ๆ ภาวนา ชีวิตยิ่งเห็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์
ก็ตัวรูปนาม ขันธ์ ๕ นี้ ตัวโลกนี้เป็นทุกข์
ตัวรูปตัวนามนี้ก็คือตัวโลก โลกภายใน โลกภายนอก
จริง ๆ แล้วมันก็เป็นเหมือนตัวทุกข์ทั้งหมดเลย เป็นภาระ
เราจะเห็นทุกข์ในแง่ของมันเป็นภาระ
ที่จิตใจต้องเข้าไปแบกหามอยู่
ใจมันรู้ตรงนี้ มันวาง วางภาระในโลกลงแล้ว
ก็ไม่หยิบฉวยภาระใหม่ด้วย
บางทีวางภาระในโลกนี้ลงแล้ว
ก็ไปหยิบฉวยภาระในโลกที่ละเอียดขึ้นไปอีก
ในรูปโลก อรูปโลก
ถ้าภาวนาไปเรื่อย ก็เห็นโลกทั้งหมด ทั้ง ๓ โลก
กามวจร รูปาวจร อรูปาวจร
กามโลก รูปโลก อรูปโลก
ว่างเปล่า เหมือนความฝันทั้งสิ้น
ใจตรงนี้ก็จะหมดความหิวโหย
ใจไม่มีภาระอีกต่อไปแล้ว
มันมีสันติสุขเกิดขึ้น
จิตใจไม่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตามโลก
จิตใจไม่เศร้าโศก
จิตใจไม่มีธุลีของกิเลสใด ๆ เข้ามาแต่งแต้ม
จิตใจเข้าถึงความปลอดภัย เรียกเข้าถึงความเกษม
ปลอดภัยจากอะไร ?
ปลอดภัยจากมารทั้ง ๕
จิตใจดวงนี้ เวลาร่างกายมันจะแตกดับ ขันธมารมันทำงาน
ร่างกายมันจะแตกดับ ก็ไม่เดือนร้อน
จิตใจไม่ได้เศร้าหมองด้วย
กิเลสมารก็มาทำอะไรให้จิตใจนี้ให้เศร้าหมองไม่ได้
อภิสังขารมาร ความปรุงแต่งทั้งหลายก็มาทำให้จิตใจนี้เศร้าหมองไม่ได้
เทวปุตตมาร จิตใจขี้อิจฉา จิตใจอะไรพวกนี้ ก็ทำให้จิตใจที่พ้นแล้ว กระเพื่อมหวั่นไหวอะไรไม่ได้
ความตายเองก็มาทำให้จิตใจดวงนี้ กระเพื่อมหวั่นไหวไม่ได้อีก
เพราะฉะนั้นจิตดวงนี้ เข้าถึงความปลอดภัยที่แท้จริง พ้นจากอำนาจของมาร พ้นจากมารทั้ง ๕
ฉะนั้นค่อย ๆ ภาวนา ทุกวัน ๆ …​“
.
หลวงพ่อปราโมชย์ ปาโมชฺโช
28 กุมภาพันธ์ 2564
วัดสวนสันติธรรม
รับฟังพระธรรมเทศนาฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา