1 เม.ย. 2022 เวลา 12:12 • หนังสือ
ชื่อหนังสือ: โลกที่เราเชื่อ (Brave New World)
ผู้เขียน: Aldous Huxley
ผู้แปล: กมล ญาณกวี
สำนักพิมพ์: ฟรีฟอร์ม (Freeform)
จะเป็นอย่างไรถ้าชีวิตของเรา ไม่แก่ชรา ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่อดอยาก ไม่มีความขัดแย้ง มีสิ่งที่ช่วยปรับสภาพอารมณ์ให้คงที่ได้เสมอ และถ้าทั้งหมดนี้ต้องแลกมาด้วยราคาบางอย่าง เราจะยินดีจ่ายเพื่อสิ่งเหล่านี้ไหม
Brave New World เล่าถึงโลกในอนาคต ที่มีระบบระเบียบหนึ่งเดียว ชีวิตของผู้คนได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น ทุกคนถูกปลูกฝังให้มีหน้าที่ของตัวเอง ด้วยแนวคิดที่ว่า เราทุกคนเป็นของทุกคน ความสันโดษ การครองคู่เดียว ความผูกพันหรือครอบครัวจึงเป็นเรื่องเป็นเรื่องผิดปกติ
โดยเนื้อเรื่องในหนังสือเป็นเรื่องราวของตัวละครหลัก ‘เบอร์นาร์ด’ ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองนั้นแตกต่างจากสังคมที่เป็นอยู่ ‘เลนินา’ หญิงสาวสวยผู้เป็นที่ชื่นชอบของชายหนุ่ม และ ’เฮล์มโฮลทซ์’ ชายที่รู้สึกถึงการขาดหายไปของบางสิ่ง ทั้งสามดำเนินชีวิตไปตามปกติในโลกของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีเค้าลางของความไม่ปกติบางอย่างในตัวของพวกเขาเกิดขึ้นมาอย่างช้าๆ จนวันหนึ่งที่เบอร์นาร์ดและเลนินาได้ไปท่องเที่ยวในเขตดินแดนสงวนของคนเถื่อน ที่ซึ่งทั้งสองได้พบกับชายหนุ่มชื่อจอห์นและแม่ของเขา ที่ภายหลังได้เดินทางกลับมาพร้อมกับพวกเขาด้วย เรื่องราวความขัดแย้งภายในตัวละครแต่ละตัวจึงเริ่มชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับคำถามถึงโลกที่พวกเขาดำรงอยู่
การดำเนินเรื่องเป็นการเล่าไปตามลำดับเวลา โดยโครงเรื่องเริ่มแรกเป็นเรื่องราวของตัวละครในโลกอนาคต จนถึงจุดเปลี่ยนในช่วงกลางเรื่อง การให้น้ำหนักจึงย้ายไปที่ตัวละครจากโลกอดีตแทน ในส่วนของการเซ็ทฉากและการสร้างตัวละครเพื่อรองรับประเด็นเนื้อหาหรือป็นตัวแทนทางความคิดที่ผู้เขียนต้องการสื่อนั้นทำได้อย่างดี โดยเฉพาะการใส่ตัวละครอย่างจอห์นและลินดาเข้ามาเป็นจุดหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องราวในนิยาย ด้วยการสร้างให้พวกเขาเป็นตัวแทนของคนนอกที่ช่วยสะท้อนภาพของการปะทะกันของชุดความคิด ความเชื่อในเนื้อเรื่องได้อย่างชัดเจน รวมถึงการผสานความรู้ต่างๆเข้ากับจินตนาการของผู้เขียนนั้นถือเป็นอีกจุดเด่นของนิยาย ส่วนโทนการเล่าเรื่องนั้นค่อนข้างมีความจริงจัง และด้วยแนวคิดศีลธรรมของโลกอนาคตในนิยายนั้นกลับหัวกลับหางกับปัจจุบันของเรา ระหว่างอ่านจึงต้องสะกิดตัวเองให้ตามเนื้อเรื่องให้ทันอยู่ตลอดและทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ
1
ในส่วนที่ชื่นชอบจุดหนึ่งของเรื่องคือการที่ผู้เขียนเซ็ทฉากในเรื่องให้มีทั้งโลกใหม่ในอนาคตและโลกเก่า แต่ทว่าในพื้นที่ของโลกเก่ากลับมีภาพของโลกที่เก่ากว่านั้นซ้อนอยู่ภายในอีกที ทำให้ต้องหยุดคิดตามตัวละครไปเรื่อยๆ ถึงสิ่งที่ส่งผลต่อความคิดของตัวละคร ว่าผิดไหมที่แต่ละตัวละครจะรู้สึกในแบบนั้นๆ เพราะในเมื่อสิ่งที่พวกเขายึดถือนั้นเป็นคนละชุดความคิดกัน ในส่วนนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าการปลูกฝังความคิด การหล่อหลอมจากสังคมนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ส่วนที่รู้สึกขัดอยู่บ้างคือการดำเนินเรื่องที่เรื่องเริ่มเรื่องจากตัวละครบางตัว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของเรื่อง น้ำหนักกลับไปอยู่ที่ตัวละครอีกตัวจนจบเรื่อง ซึ่งทำให้ขณะอ่านรู้สึกขัดๆขึ้นมาบ้าง ว่าแท้จริงแล้วตัวละครใดเป็นตัวละครหลักกันแน่
และนอกจากประเด็นในเรื่องการปกครองที่มีคนเพียงกลุ่มเดียวคอยควบคุมโลกที่เห็นได้อยู่บ่อยๆ ของนิยายแนวนี้แล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือคือประเด็นการเลือกที่จะมีชีวิตอย่างมนุษย์ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เช่นการถกเถียงกันของแซฟเวจและผู้ควบคุมโลกในช่วงท้ายของเรื่อง ซึ่งหากเราเป็นตัวละครในนิยายนั้นเราจะเลือกอย่างไร
“แต่ฉันไม่ต้องการความสะดวกสบาย ฉันต้องการพระเจ้า ฉันต้องการบทกวี ฉันต้องการอันตรายที่แท้จริง ฉันต้องการเสรีภาพ ฉันต้องการความดี ฉันต้องการบาป”
“สรุปแล้ว…คุณกำลังเรียกร้องสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างไร้ความสุขสบาย”
“ถูกแล้ว…ฉันกำลังเรียกร้องสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างไร้ความสุขสบาย”
โดยสรุปแล้วโลกที่เราเชื่อเป็นหนังสือที่ควรค่าต่ออ่านสักครั้ง แม้จะถูกเขียนขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะทั้งการสร้างเรื่องราวหรือจินตนาการของผู้เขียนที่น่าติดตาม ประเด็นต่างๆที่อยู่ในเนื้อเรื่องยังทำให้เราได้ย้อนมองและตั้งคำถามต่อตัวเองหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราว่าแท้จริงแล้วมันดีในแบบที่เห็นจริงหรือไม่ หรือซุกซ่อนอะไรไว้นั้นด้วยหรือเปล่า เป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกสั่นสะเทือนหรือตระหนักถึงบางอย่างขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง จึงไม่แปลกใจถ้าหากว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแรงบันดาลใจต่อหนังสือหรือสื่ออื่นๆต่อมา
หมายเหตุ
ในนิทรรศการหนังสือ ณ ศูนย์เพื่อมนุษยธรรมของห้องสมุดสาธารณะแห่งนิวยอร์ก (New York Public's Center For The Humanities) ยกย่อง Brave New World เป็น "หนังสือแห่งศตวรรษ" (Books of the century) พร้อมกับวรรณกรรมแนวเดียวกันที่นักอ่านทั่วโลกรู้จักกันดี ได้แก่ The Time Machine (H.G.Wells) , The Wonderful Wizard Of Oz (L.Frank Baum) , 1984 (George Orwell) และ Farenheit 451 (Ray Bradbury)
โฆษณา