31 มี.ค. 2022 เวลา 04:00 • ธุรกิจ
เช็คชีพจร 3 บิ๊ก “ร้านหนังสือ” เมืองไทย ในวันที่ “หนังสือ” คือ สิ่งเกินจำเป็น!
ชวนเช็คชีพจรร้านหนังสือ เชนสโตร์ 3 รายใหญ่เมืองไทย "ซีเอ็ด-บีทูเอส-นายอินทร์" ยังเต้นดีอยู่ไหม ในยุคที่เงินในกระเป๋ามีจำกัด จนทำให้ "หนังสือ" อาจถือเป็นสิ่งเกินจำเป็นสำหรับกระเป๋าสตางค์!
เช็คชีพจร 3 บิ๊ก “ร้านหนังสือ” เมืองไทย ในวันที่ “หนังสือ” คือ สิ่งเกินจำเป็น!
ชวนเช็คชีพจร 3 บิ๊ก! ร้านหนังสือ ยังเต้นดีอยู่ไหม ในยุคที่ "หนังสือ" อาจถือเป็นสิ่งเกินจำเป็น!
ข่าวการปิดตัวของ ร้านหนังสือนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์ อาจทำให้นักอ่านบ่นเสียดาย แต่ถ้าถามถึงความใจหายสำหรับ “ชาวอมรินทร์” แล้ว สาขาท่าพระจันทร์ นี้ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมของการรุกเข้าสู่ “ธุรกิจร้านหนังสือ” ของเครืออมรินทร์ ซึ่งก่อตั้ง บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งร้านค้าปลีกขึ้น ให้ชื่อว่า “ร้านนายอินทร์” โดยเปิดสาขาแรกขึ้นที่ท่าพระจันทร์ ในปี 2536
โดยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่อมรินทร์เปิด #ร้านนายอินทร์ ก็พบว่า มีอีกสองกลุ่มธุรกิจ ที่เข้าสู่ตลาดนี้เช่นเดียวกัน นั่นคือ #ร้านบีทูเอส ในเครือเซ็นทรัล ซึ่งจดทะเบียนในนาม บริษัท บีทูเอส จำกัด เมื่อเดือนมีนาคม 2538 และ #ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ของ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รุกเข้าธุรกิจร้านหนังสือช่วงปลายปี 2534 เปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ โดยขณะนั้นยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ และจดทะเบียนในชื่อ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
🌊 เมื่อร้านหนังสือถูกดิสรัป!
เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ร้านหนังสือทั้ง 3 แบรนด์ ได้แตกสาขาเป็นร้านหนังสือเชนสโตร์รายใหญ่ กลายเป็น "บิ๊กทรี" ที่ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เมืองไทย แต่ด้วยสภาพสังคมและพฤติกรรมนักอ่านที่เปลี่ยนไป รวมถึงคลื่นดิจิทัลที่ถาโถม แน่นอนว่า ธุรกิจร้านหนังสือ ถูกดิสรัปโดยตรง
ขณะที่จำนวนนักอ่านกลับหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักอ่านที่ควักสตางค์จ่ายที่ดูจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เห็นได้จาก “มูลค่าตลาดหนังสือ” ที่มีแต่ลดลง โดยข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุตัวเลขมูลค่าตลาดในปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 29,300 ล้านบาท ผ่านมาแค่ 4 ปี เม็ดเงินก็หล่นวูบหายไปกว่า 5 พันล้าน เหลือเพียง 23,900 ล้านบาทในปี 2560
🌪 Winter is Coming! 3 บิ๊ก ขาดทุนพร้อมหน้า
1
เมื่องานเลี้ยงยังต้องมีวันเลิกรา.. ธุรกิจร้านหนังสือ ที่เคยกวาดรายได้กันปีละหลายพันล้าน จึงไม่ได้สวยงามราวอยู่ในทุ่งดอกไม้อย่างก่อน เพราะ Winter is Coming!
แม้ที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวต่อเนื่องของทั้งสามผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นการปรับพอร์ตสินค้าที่วางขาย เพิ่มไลน์เครื่องเขียน งานฝีมือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงขนมขบเคี้ยว และล่าสุดที่กลายเป็นไอเทมประจำทุกร้าน ก็คือ สินค้าป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงสำคัญที่สุด ก็คือ การปรับเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ ร่วมด้วย
อย่างไรก็ดี แม้จะสู้สุดใจ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าไรนัก เมื่อดูจากผลประกอบการล่าสุดของทั้งสามบริษัท ในปี 2563 ต่างประสบภาวะขาดทุนพร้อมหน้า
จากปี 2562 ที่ต่างฝ่ายต่างยังมีกำไร ก็กลายเป็นติดลบอย่างพร้อมเพรียงในปีถัดมา รายละเอียด ดังนี้
📌 ร้านบีทูเอส
จำนวนสาขาปัจจุบัน : 109 สาขา
ผลประกอบการ ปี 2562
- รายได้ 4,515.72 ล้านบาท
- กำไร 233.34 ล้านบาท
ผลประกอบการ ปี 2563
- รายได้ 3,287.03 ล้านบาท ลดลง 27.20 %
- ขาดทุนสุทธิ 286.45 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 222.76%
📌 ร้านหนังสือนายอินทร์
จำนวนสาขาปัจจุบัน : 125 สาขา
ผลประกอบการ ปี 2562
- รายได้ 1,040.03 ล้านบาท
- กำไร 15.36 ล้านบาท
ผลประกอบการ ปี 2563
- รายได้ 768.88 ล้านบาท ลดลง 26.07%
- ขาดทุนสุทธิ 18.23 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า -218.70%
📌ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์
จำนวนสาขาปัจจุบัน 261 สาขา
ผลประกอบการ ปี 2562
- รายได้ 2,812.78 ล้านบาท
- กำไร 2.9 ล้านบาท
ผลประกอบการ ปี 2563
- รายได้ 1,903.66 ล้านบาท ลดลง 32.32%
- ขาดทุนสุทธิ 43.46 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 1,590.44%
โฆษณา