30 มี.ค. 2022 เวลา 07:50 • ความคิดเห็น
บทวิเคราะห์ “สิ่งที่จีนต้องการสื่อสารและแสดงให้โลกเห็น (และเชื่อ) ในประเด็น ยูเครน-รัสเซีย” ฉบับการทูตอันมีเอกลักษณ์แบบจีน ภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง
1
ภาพจาก CGTN
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้ว และดูเหมือนว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่การเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ดำเนินขึ้นหลายครั้งยังหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งในสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศดังกล่าว ไม่ได้เป็นเรื่องแค่ของยูเครนและรัสเซีย แต่มีประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาและจีน เข้ามาด้วย
จีนเองมีท่าทีในมุมที่ “ขอเป็นตัวกลาง” และ ยึดหลัก “สันติภาพ” แบบที่จีนพยายามบอกมาตลอด ไม่ใช่แค่ในสถานการณ์นี้เท่านั้น แต่ครั้งตั้งแต่เกิดข้อพิพาทสงครามการค้าจีน-อเมริกา ต่อด้วย วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 จีนก็ย้ำเรื่อง สันติภาพ การร่วมมือกันแบบพหุภาคี ทวิภาคี และประชาคมโลก มาโดยตลอด
1
ภายใต้คำถามจากคนนอกจีน โดยเฉพาะอเมริกาและตะวันตก ว่า “จีนเป็นกลางจริงหรือไม่?” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนด้วย แต่ถ้าเราวิเคราะห์ “สิ่งที่จีนกำลังสื่อ และอยากให้ทั่วโลกเข้าใจ ว่าจีนอยู่ในมุมไหน ประเด็นนี้เราสามารถวิเคราะห์ได้จากสิ่งที่จีนสื่อสารออกมา โดยเฉพาะสื่อหลัก และสื่อต่างๆที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจีน
1
1. จีนยังคงยึดแนวทาง “เจรจา” โดยเฉพาะในเวทีสากล อย่างสหประชาชาติ
ภาพจาก CGTN
ตั้งแต่เกิดปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียในยูเครน ผู้แทนถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเจรจา
ล่าสุดรองผู้แทนถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวจุดยืนของจีนในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อ 29 มีนาคม 2565 เน้นย้ำ “วิธีพื้นฐานที่สุดที่ควรทำ ในการหาข้อยุติของสงครามยูเครน-รัสเซีย คือ การเจรจา” โดยจีนพร้อมส่งเสริมทั้งสองประเทศในการเจรจาจนกว่าจะบรรลุข้อยุติและเกิดสันติภาพ
จีนแสดงให้เราเห็นมาโดยตลอดว่า จีนยึดถือการเจรจา แม้ว่าจะเป็นฝ่ายขั้วตรงข้ามก็ตาม อย่างการต่อสายตรงคุยกันระหว่างผู้นำจีน-อเมริกา การจัดประชุมเสมือนจริง และอีกหลายการประชุมที่เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่จีนพยายามสื่อและแสดงให้เห็น
1
2. จีนพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า “จีนเคารพมนุษยธรรม” เป็นอย่างมาก
ถ้าใครที่ติดตามข่าวต่างประเทศ อย่างยิ่งประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและอเมริกามาโดยตลอด จะเห็นว่า ประเด็นมนุษยธรรม ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อพิพาท ที่อเมริกาและพันธมิตรมีต่อจีน
คือฝั่งอเมริกาและพันธมิตรมองว่า จีนละเมิดหลักมนุษยธรรมในซินเจียง รวมถึงประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจีนเองก็พยายามแก้ต่างมาโดยตลอด
สองสามปีมานี้ เราจึงได้เห็น “การดำเนินทางการทูต” และ “แผนพัฒนาในประเทศจีน” ที่มุ่งเน้นประเด็นมนุษยธรรมมากขึ้น เสมือนเป็นการ “ทำให้โลกเห็น” ว่าจีนไม่ได้เป็นแบบที่ประเทศอื่นกล่าวอ้างนะ
ทั้งการส่งวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปยังร้อยกว่าประเทศทั่วโลก ภายใต้หลักการทูตวัคซีน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และประชาคมโลก ตามที่ทาง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เคยลั่นวาจาเอาไว้ จนถึงประเด็นอัฟกานิสถาน ที่จีนส่งสิ่งของไปช่วยเหลือ โดยทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศและสื่อจีนเอง เรียกสิ่งของที่ส่งไปช่วยว่า “สิ่งของช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม”
1
และในสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย แม้จะมีคนมองว่า จีนอยู่ทางฝั่งรัสเซีย แต่จีนก็ส่ง "สิ่งของช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม" ไปยูเครนอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการโจมตีขึ้นในยูเครน
3. จีนแสดงจุดยืน “ต่อต้านการคว่ำบาตร” โดยเน้นย้ำว่า “การคว่ำบาตรเป็นหนทางที่จะให้เกิดวิกฤติทั่วโลก”
หลายต่อหลายครั้งที่มีการประชุมกันระหว่างผู้นำจีนและอเมริกา รวมถึงการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่น รัฐมนตรีการต่างประเทศของทั้งจีนและอเมริกา ทางฝ่ายจีนจะกล่าวถึงประเด็น “การคว่ำบาตร” ว่า ทางอเมริกา รวมถึงพันธมิตร ควรจะล้มเลิกการใช้วิธีนี้ในการกดดันประเทศฝ่ายตรงข้าม
โดยจีนให้เหตุผลว่า “การคว่ำบาตร ไม่ได้ให้ผลบวกใดๆ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม เพราะผลสุดท้ายก็เสียกันหมด” โดยยกตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่ สงครามการค้าจีนอเมริกา กำแพงภาษีที่ทั้งคู่ตั้งขึ้น การแบนบริษัทต่างๆ ส่งผลกระทบไม่ใช่แค่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ แต่ทั่วโลก
ในประเด็น ยูเครน-รัสเซีย ก็เช่นกัน ทางรองผู้แทนถาวรของจีนประจำองค์การสหประชาชาติ ได้ระบุถึงประเด็นนี้ว่า “การใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั่วโลก ไม่ว่าจะทั้งด้านพลังงาน อาหาร เศรษฐกิจและการค้าโลก” ทั้งระดับประเทศและระดับของการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงและล้มเลิกมาตรการคว่ำบาตร
4. จีนพยายามแสดงให้เห็นถึงจุดยืน “ไม่แทรกแซงประเทศอื่น” และ ต้องการเป็น “ตัวกลางแห่งการเชื่อมความร่วมมือประชาคมโลก”
มาถึงข้อนี้ ผมเชื่อครับว่า คงมีคนรู้สึกว่า ไม่น่าใช่ คงมีคนคิดเห็นไม่ตรงกับข้อนี้เป็นแน่ เพราะเมื่อมองถึงประเด็นขัดแย้งจีน-ไต้หวัน หรือดินแดนอื่นๆที่จีนระบุว่าเป็นของจีน แต่คนจำนวนไม่น้อยมองว่า ไม่ใช่ มันก็จะดูเป็นเรื่องที่จีนไปแทรกแซงดินแดนเหล่านั้น แต่อย่างที่ผมเขียนตั้งแต่ต้นครับว่า “นี่คือการวิเคราะห์ สิ่งที่จีนต้องการสื่อออกมา”
2
โดยถ้าวิเคราะห์โดยฟังจากเหตุผลของจีน จีนระบุว่า ดินแดนเหล่านั้นเป็นของจีนอย่างถูกต้อง จีนยึดตามมติของสหประชาชาติเมื่อครั้งรับรองให้จีนกลับเข้าสู่เวทีสหประชาชาติยกให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น จีนเดียว ในเวทีนั้น
ดังนั้นจีนจึงไม่ถือว่าสิ่งที่จีนทำคือการแทรกแซง และจีนก็ใช้ข้อนี้ในการโต้แย้งอเมริกามาโดยตลอดว่า “อเมริกาต่างหากที่แทรกแซง พยายามทำให้เกิดจีนสอง สองจีน ในสหประชาชาติ ทั้งที่มีการรับรองแล้วนะ”
2
การกระทำของจีนที่ออกมาในประเด็นความขัดแย้ง จีนอเมริกา และ ยูเครน รัสเซีย เราจึงได้เห็นคำว่า “ประชาคมโลก” “ความร่วมมือระหว่างประเทศ” ในทุกครั้งที่ผู้นำจีนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน กล่าวสุนทรพจน์และให้สัมภาษณ์
หนึ่งในการลงมือทำอย่างรูปธรรมที่จีนภูมิใจอย่างมาก ตามที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ระบุเอาไว้ว่าคือผลงานชิ้นโบว์แดงทางการทูตอันมีเอกลักษณ์ของจีน ก็คือการร่วมมือระหว่างประเทศ การช่วยเหลือทางด้านวัคซีนและทางการแพทย์เพื่อต้านการระบาดของโควิด-19 นี่แหล่ะครับ
ทั้งนี้ ก็ยังต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปว่า ยูเครน รัสเซีย จะยุติที่จุดไหน และท่าทีจีน อเมริกา ต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร แต่ ณ ขณะนี้ ทั้ง 4 ข้อที่ผมวิเคราะห์ข้างต้น คือท่าทีและสิ่งที่จีนต้องการแสดงให้โลกเห็น ครับ ^^
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
1
โฆษณา