1 เม.ย. 2022 เวลา 08:30 • สัตว์เลี้ยง
Zero Waste : เศษผักในตลาด แปลงเป็นอาหารสัตว์ กำจัดขยะให้เหลือศูนย์
• หลายธุรกิจในไทย กับแนวคิด Zero Waste ลดขยะเหลือศูนย์
• เริ่มต้นที่การคัดแยกขยะ หัวใจสำคัญของการลดขยะได้จริง ยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย
• มองให้มากกว่าขยะ เปลี่ยนเศษผักในตลาด เป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม
ในแต่ละวันมนุษย์เราสร้าง "ขยะ" ตั้งแต่ลืมตาตื่นจากที่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ทำอาหารเช้า ทุกกิจกรรมล้วนมีสิ่งที่ทำให้เกิดขยะ ซึ่งในแต่ละวันมนุษย์เราสร้างขยะเฉลี่ยคนละ กว่า 1 กิโลกรัม ดังนั้น ปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด และในขณะเดียวกันหากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะลงได้
ดังเช่น "แนวคิดขยะเหลือศูนย์" หรือ Zero Waste ซึ่งเป็นการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ขยะที่จะถูกนำไปกำจัดเหลือน้อยที่สุด หรือเหลือศูนย์ ซึ่งหลายธุรกิจในประเทศไทยได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ อาทิ ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ร้านอาหารที่ให้ลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือแม้แต่การนำแก้วน้ำส่วนตัว ไปเติมเครื่องดื่ม แทนการรับแก้วพลาสติก
และที่น่าสนใจก็คือการเปิดร้านค้าแบบเติม หรือร้านรีฟิล (Bulk Store) ซึ่งเป็นร้านที่แบ่งขายผลิตภัณฑ์ตามปริมาณ ซึ่งลูกค้าจะต้องนำภาชนะมาใส่เองเพื่อลดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง สำหรับร้านแบบนี้จะเห็นได้มากในต่างประเทศโดยเฉพาะโซนยุโรป ซึ่งคนไทยอาจจะยังไม่คุ้นชิน
• ขยะกว่า 230 ตันต่อวันจากตลาด กับต้นทุนการกำจัด
นอกจากร้านค้าขนาดเล็กแล้ว ตลาดค้าส่งผักและผลไม้ขนาดใหญ่อย่าง ตลาดสี่มุมเมือง ก็ได้นำแนวคิด Zero Waste มาปรับใช้โดยนำขยะอินทรีย์ในตลาด มาทำเป็นอาหารโคและอาหารปลาเพื่อลดต้นทุนการกำจัดขยะและยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม
รู้หรือไม่ว่า ในแต่ละวันตลาดสี่มุมเมืองเจอกับปัญหาใหญ่ใน
การกำจัดขยะจำนวนมากถึง 230 ตัน ทำให้ต้องแบกภาระต้นทุนในการฝังกลบกำจัดขยะสูงถึงปีละ 35 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะสามารถลดต้นทุนในการกำจัดขยะได้ถึงปีละ 4 ล้านบาททีเดียว
"การแยกขยะ" สำคัญ ใช้ได้ทุกสถานการณ์
สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการนั้น ในแต่ละตลาดจะมีถังสำหรับทิ้งขยะตามประเภทไว้ และจะมีการกำหนดเวลาในการเก็บ เมื่อเก็บมาแล้วจะทำการคัดแยกสิ่งที่ปนออกมา เช่น ถุงพลาสติก หรือ ขยะอื่นๆ ออกจากเศษผัก ผลไม้ ซึ่งขั้นตอนนี้ คือหลักการขั้นพื้นฐานในการคัดแยกขยะ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการลดปริมาณขยะ เพราะการคัดแยกขยะ ทำให้ขยะถูกส่งต่อไปในกระบวนการที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น
จากนั้น ใบกะหล่ำ ผักกาดขาว และผักตกเกรด จะถูกแยกไปเตรียมจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการบ่อปลา สำหรับเปลือกข้าวโพด ข้าวโพดตกเกรด เปลือกขนุน จุกสับปะรด จะนำไปสับหยาบรวมกันตามสัดส่วนที่ฟาร์มต้องการ
บางฟาร์ม ต้องการแค่เปลือกข้าวโพด/ข้าวโพดตกเกรด (ตกเกรด คือ สินค้าที่ไม่สวย ไม่สามารถจำหน่ายได้ แต่ยังรับประทานได้โดยไม่เสียคุณค่าทางอาหาร) เนื่องจากต้องนำไปสต๊อก สามารถเก็บได้นานกว่า หรือ บางฟาร์มต้องการเปลือกข้าวโพด/ข้าวโพดตกเกรด เปลือกขนุน/ขนุนตกเกรด จุกสับปะรด/สับปะรดตกเกรด รวมกัน เนื่องจากมีกลิ่นหอมทำให้โคกินอาหารได้มากขึ้น เพื่อทำน้ำหนัก
สำหรับข้อมูลอาหารโค วัตถุดิบหลัก ได้แก่ เปลือกข้าวโพด/ข้าวโพดตกเกรด เปลือกขนุน/ขนุนตกเกรด จุกสับปะรด/สับปะรดตกเกรด
• ปริมาณการผลิต : 18 ตัน/วัน (อ้างอิงข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)
• ปริมาณการขาย : 18 ตัน/วัน (อ้างอิงข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)
• จํานวนลูกค้า : 17 ราย (ฟาร์มใหญ่ 1 ราย, เกษตรกรเลี้ยงโค 16 ราย) (อ้างอิงข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)
- เขตพื้นที่ของลูกค้า : กาญจนบุรี, สระบุรี, นครราชสีมา, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ปทุมธานี
- ราคาขาย : บริษัทจัดส่ง 0.92 บาท/กก., ลูกค้ามารับเอง 0.82 บาท/กก.
• สรุปข้อมูลอาหารปลา (เศษใบผัก) วัตถุดิบหลัก ได้แก่ ใบผักกะหล่ำ/ผักกาดขาวและผักตกเกรด
• ปริมาณการขาย : 40 ตัน/วัน (อ้างอิงข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)
• จํานวนลูกค้า : 44 ราย (รายใหญ่ 4 ราย, รายย่อย 40 ราย) (อ้างอิงข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)
- เขตพื้นที่ของลูกค้า : พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, ปราจีนบุรี, นครนายก, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา
- ราคาขาย : บริษัทจัดส่ง 0.32 บาท/กก., ลูกค้ามารับเอง 0.18 บาท/กก.
อย่างไรก็ตามจะพบว่า ขยะเศษผัก ผลไม้ เมื่อนำไปจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ในฟาร์มแล้ว ก็จะเป็นการกำจัดขยะให้เหลือศูนย์ หรือ "Zero Waste".
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
👇อ่านบทความเพิ่มเติม👇
โฆษณา