2 เม.ย. 2022 เวลา 13:00 • หนังสือ
Gone Fishing นั่งตกปลากับบัฟเฟตต์ บทเรียนการลงทุนแบบเน้นคุณค่าจากชายชราลึกลับ
หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ ฌอน เซีย ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ผู้สูญเสียเงินให้แก่ตลาดหุ้นจนถึงขั้นวิกฤต ด้วยความผิดหวังนั้นเขาจึงได้หนีไปยังสถานที่ที่ไม่ต้องพบเจอผู้คน ในขณะที่เขากำลังนั่งอยู่ที่ท่าเรือ ด้วยจิตใจอันว่างเปล่านั้น เขาก็ได้พบกับชายชราลึกลับที่ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล
บอกได้เลยครับว่าใครที่สนใจในการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ยิ่งถ้าคุณชื่นชอบ วอร์เรน บัฟเฟต์ แล้วด้วย คุณไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้! เป็นหนังสือที่ใช้ภาษาที่เรียบง่าย อธิบายได้เห็นภาพ สอดแทรกเรื่องราวของการลงทุนและการใช้ชีวิต ที่ผมเชื่อว่าทุกคนจะสามารถตกผลึกข้อคิดจากหนังสือเล่มนี้ได้อย่างมากมายเลยทีเดียวครับ
1
ก่อนอื่นผมต้องบอกเลยว่าผมเป็นคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องปัจจัยพื้นฐานเลยครับ ด้วยความคิดที่ว่ากราฟราคาสะท้อนทุกอย่างในตลาดมาหมดแล้ว ผมจึงไม่ได้สนใจข้อมูลเบื้องหลังเลย แต่ผมก็เริ่มมีความคิดว่าการที่เรามีความรู้ที่หลากหลายขึ้นมันไม่ดีหรอ? ผมจึงเปลี่ยนความคิดเป็น “ปัจจัยพื้นฐานสะท้อนมูลค่า กราฟราคาบ่งบอกจังหวะเวลา” ไม่แน่นะครับ การที่คุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบอาจจะทำให้คุณเจอแนวทางในการลงทุนรูปแบบใหม่เป็นของตัวเองก็ได้
โดยภายในเล่มก็จะเป็นแนวคิดของวอร์เรน บัฟเฟต์ ชายที่ได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก ที่จะนำความรู้และเทคนิคมาสอนให้ผู้อ่านสามารถตกปลาได้เองในตลาดหุ้น เริ่มตั้งแต่มุมมองต่อหุ้น การหาธุรกิจที่ยั่งยืน จนถึงการประเมินราคาที่สมเหตุสมผล
ต่อมาผมก็จะอธิบายถึงสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ให้กับทุกคนครับ
จงมองหุ้นเป็นธุรกิจ
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าปัจจัยพื้นฐานเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยนึกถึงเลย ไม่ได้สนข้อมูลเบื้องหลังว่ามันจะมีที่มาอย่างไร ประเภทของธุรกิจนั้นเป็นแบบไหน มีรายได้มาจากอะไร หรือแม้กระทั่งมันจะอยู่รอดได้หรือไม่ในอนาคต
แต่ผมก็ได้เข้าใจจากหนังสือเล่มนี้ว่าการซื้อหุ้นโดยที่ไม่ได้พิจารณาข้อมูลเบื้องหลังนั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการซื้อรถซื้อบ้านโดยไม่ได้ดูคุณสมบัติของมัน ขนาดแค่เราจะซื้อเสื้อผ้าเรายังต้องดูลวดลาย ดูเนื้อผ้า ดูราคา ดูขนาดเลยจริงไหมครับ
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมองหุ้นให้เหมือนกับเรามองธุรกิจครับ อย่ามองเพียงผิวเผิน ให้มองถึงลักษณะธุรกิจ ผลประกอบการ การเติบโตในอนาคต และอื่นๆ เพื่อที่เราจะได้หา “ธุรกิจที่ดีในราคาที่สมเหตุสมผล” และซื้อมันในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง นี่คือหลักของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าเลยก็ว่าได้ครับ
ความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (Competitive Advantage)
จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือการหาธุรกิจที่มีความยั่งยืน สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้เป็นสิบๆปีครับ เพราะฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา สิ่งที่เราใช้เพื่อพิจารณาก็คือความได้เปรียบเชิงการแข่งขันนั่นเองครับ
ถ้าคุณจำเป็นต้องเดิมพันครั้งใหญ่ คุณอยากจะเดิมพันกับฝั่งไหนครับ ระหว่างฝั่งที่มีความได้เปรียบ และมีโอกาสชนะสูง กับฝั่งที่แค่จะอยู่รอดก็ยังลำบาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่จะเอาชนะเลย แน่นอนว่าถ้าไม่ได้เป็นคนชอบความท้าทายก็คงเลือกฝั่งแรกใช่ไหมครับ(ฮา)
ธุรกิจก็เช่นกันครับ ถ้าเราต้องการธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นสิบๆปี เราต้องมั่นใจว่าธุรกิจมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจนั้นมีผลประกอบการที่ดีในช่วงตลาดขาขึ้นและยังอยู่รอดในช่วงตลาดขาลง โดยในหนังสือก็ได้แบ่งขั้นตอนไว้ 5 ขั้นด้วยกันเพื่อเป็นการพิจารณาว่าธุรกิจที่เราสนใจนั้นมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันหรือไม่
1.ธุรกิจนี้มอบคุณค่าใดให้แก่ลูกค้า
สิ่งสำคัญสำหรับการมองหุ้นเป็นธุรกิจคือการเข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้แบบที่ผมได้กล่าวไป ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราจะเข้าใจได้ ธุรกิจนั้นต้องอยู่ในขอบเขตความรู้ของเรา รู้ว่าธุรกิจนั้นส่งมอบสินค้าหรือบริการใดให้แก่ลูกค้า รู้ว่าธุรกิจนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมใด มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากน้อยแค่ไหน
โดยเราอาจจะเลือกธุรกิจจากอุตสาหกรรมที่เราทำงานอยู่ หรือเลือกที่จะขยายขอบเขตความรู้ของเราก็ได้ เราจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่เราไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นอย่าใจร้อนนะครับ การลงทุนในตัวเองก่อนเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในขั้นตอนนี้
2.มีคู่แข่งหรือไม่
หลังจากที่เราเลือกธุรกิจที่อยู่ในขอบเขตความรู้ของเราเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมาพิจารณาในขั้นตอนต่อไปก็คือ ธุรกิจนั้นมีคู่แข่งหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ไม่มี แสดงว่าเราเจอธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันแล้ว หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีการผูกขาดเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าคำตอบคือ มี เราจะนำธุรกิจนั้นไปพิจารณาต่อในขั้นตอนต่อไป
3.เราจะเลือกรับคุณค่าจากที่นี่หรือที่อื่น
สืบเนื่องจากข้อ 2 ถ้าธุรกิจนั้นมีคู่แข่ง เราจะเลือกใช้สินค้าหรือบริการจากธุรกิจที่เราสนใจหรือธุรกิจคู่แข่ง ถ้าเลือกธุรกิจคู่แข่ง เราก็ตัดธุรกิจที่เราสนใจทิ้งไป หรืออาจจะนำธุรกิจคู่แข่งมาพิจารณาแทนก็ได้ครับ แต่ถ้าเรายังเลือกธุรกิจที่เราสนใจอยู่ เราก็นำธุรกิจที่เราสนใจนี้ไปพิจารณาต่อในข้อต่อไปได้เลยครับ
4.ทำไมถึงเลือกที่นี่
ถ้าเราเลือกที่จะตัดธุรกิจคู่แข่งทิ้งไปเพื่อที่จะเลือกธุรกิจที่เราสนใจ เราต้องให้เหตุผลว่า เพราะเหตุใดเราถึงเลือกธุรกิจนี้ อาจจะเป็นเพราะชื่อเสียงของธุรกิจ การประหยัดต่อขนาด(Economies of Scale) ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้คู่แข่งที่สูง หรือมีกฎหมายคุ้มครอง เป็นต้นครับ
5.เหตุผลในข้อ4นั้นยั่งยืนหรือเปล่า
สุดท้ายเมื่อเราได้เหตุผลที่จะใช้สินค้าและบริการของธุรกิจนี้แล้ว เราก็จะมาพิจารณาว่าธุรกิจนี้จะมีความยั่งยืนหรือเปล่า โดยดูจากปัจจัยต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตว่ากระทบธุรกิจเราในด้านที่ดีหรือไม่ดี โดยเครื่องมือวิเคราะห์ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีก็คือ PEST Analysis
1
P - Political ปัจจัยทางการเมือง
ไม่ว่าจะนโยบายหรือกฎหมายของรัฐบาล เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตแล้วนั้น จะส่งผลต่อธุรกิจในด้านใด เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด นโยบาย Thailand 4.0 เป็นต้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองด้วย เช่น ประเทศนั้นมีความมั่นคงทางการเมืองหรือไม่ รัฐบาลมีความสามารถหรือไม่ เป็นต้น
E - Economic ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
เราต้องพิจารณาว่าในอนาคตเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางใด และจะส่งผลทำให้ลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง หรือธุรกิจมีต้นทุนที่สูงขึ้นหรือไม่ เช่น อัตราการแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ เงินฝืด เป็นต้น
แต่เนื่องจากเราต้องการหาธุรกิจที่มีความยั่งยืนที่สามารถทำกำไรได้ดีในช่วงขาขึ้น และยังอยู่รอดในช่วงขาลง เราจึงควรหากลุ่มธุรกิจที่ไม่เป็นวัฐจักร (non-cyclical sector) ก็คือกลุ่มธุรกิจที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางใด เราก็ยังจำเป็นต้องซื้อสินค้าหรือบริการนั้นอยู่ดี พูดง่ายๆก็คือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราต้องใช้ในทุกๆวันนั่นเองครับ เช่น อาหาร เครื่องอาบน้ำ เป็นต้น
S - Social Cultural ปัจจัยทางสังคม
เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาถึงสังคม วัฒนธรรม รวมถึงลูกค้า ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจเราจะยังขายได้หรือไม่ เช่น ความนิยมต่อตัวสินค้าและบริการ ค่านิยมของคนในสังคม พฤติกรรมของผู้บริโภค ความต้องการของคนในรุ่นถัดๆไป เป็นต้น
T - Technology ปัจจัยทางเทคโนโลยี
เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตจะเข้ามากระทบต่อธุรกิจเราในด้านใด เข้ามาสนับสนุนหรือเปลี่ยนแปลงธุรกิจ การพิจารณาว่าธุรกิจนั้นลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างไรก็เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการพิจารณาประเทศนั้นว่ามีการเปิดรับเทคโนโลยีแค่ไหน การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตของประชาชนเป็นอย่างไร เป็นต้น
เมื่อธุรกิจที่เราเลือกมานั้นผ่านเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อแล้ว เราก็จะได้ธุรกิจที่มีความยั่งยืน ต่อมาเราจะไปดูผลประกอบการย้อนหลังของธุรกิจนั้นเพื่อเป็นการยืนยันการคาดการณ์ของเรา และเพื่อเป็นการหาราคาที่สมเหตุสมผลในการซื้อหุ้นครับ
ROE
ตัวแปรแรกที่เราจะใช้ในการพิจารณาผลประกอบการคือ ROE หรือ Return on Equity จะแสดงถึงอัตราส่วนกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หมายความว่าธุรกิจจะนำทุนของผู้ถือหุ้นไปทำกำไรได้เท่าไหร่
วิธีการคิดคือนำ กำไร หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น คูณด้วย 100 สมมติว่าบริษัทมีกำไร 100 ล้านบาทและมีส่วนของผู้ถือหุ้น 500 ล้านบาท เท่ากับว่าธุรกิจมี ROE เท่ากับ 20% [(100/500)*100]
การมี ROE ที่สูงนั้นแสดงถึงความสามารถของธุรกิจในการทำกำไรที่สูงตามไปด้วย โดยเราควรเลือกธุรกิจที่มี ROE มากกว่า 15% เป็นสัดส่วนที่กำลังพอดี สามารถสร้างกำไรได้ดีโดยไม่ใช้ส่วนของผู้ถือหุ้นที่เยอะ แต่เพราะว่ามันเป็นตัวเลขที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจ จึงมีโอกาสที่บริษัทนั้นจะปลอมแปลงตัวเลขเพื่อทำให้ ROE สูงขึ้นได้
ถ้าสังเกตจากวิธีการคิด ROE นั้นจะพบว่าไม่มีการนำหนี้สินมาคิดและการลดส่วนของผู้ถือหุ้นสามารถทำให้ตัวเลข ROE เพิ่มขึ้นได้ สมมติว่าบริษัทมีกำไร 100 ล้านบาทและมีส่วนของผู้ถือหุ้น 500 ล้านบาทเท่าเดิม แต่บริษัทเลือกที่จะจ่ายเงินปันผลคืนแก่ผู้ถือหุ้น 200 ล้านบาทและกู้เงินมาจำนวน 200 ล้านบาทแทน ตัวเลข ROE จึงจะเท่ากับ 33.3% ซึ่งตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นมา แต่ก็ตามมาด้วยหนี้ที่สูงขึ้นเช่นกัน นักลงทุนอาจถูกดึงดูดด้วยตัวเลขที่อันตรายนี้ได้ ดังนั้นการดูแค่ ROE อย่างเดียวจึงไม่พอ
ROA
ตัวแปรต่อมาเราจะมาพิจารณาถึง ROA หรือ Return on Asset คืออัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์รวม เนื่องจากสินทรัพย์นั้นมาจาก หนี้สิน+ส่วนของผู้ถือหุ้น เราจึงนำมาพิจารณาควบคู่กับ ROE เพื่อไม่ให้โดนหลอกหากมีการเพิ่มตัวเลข ROE ด้วยหนี้สิน
วิธีคิด ROA นั้นจะคล้ายกับ ROE ก็คือ กำไร หารด้วย สินทรัพย์รวม คูณด้วย100
ธุรกิจที่ดีควรมี ROA มากกว่า 7% ซึ่งแสดงถึงการสร้างกำไรจากสินทรัพย์ได้ดี และหากบริษัทมี ROE เพิ่มสูงขึ้น ROA ก็ควรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
การตรวจสอบสัญญาณอันตราย
สองตัวแปรที่ผ่านมานั้นเป็นการพิจารณาถึงความสามารถในการสร้างกำไรของบริษัท ต่อมาเราจะมาดูถึงตัวแปรที่แสดงถึงสัญญาณอันตราย ว่าบริษัทจะมีสุขภาพทางการเงินที่ดีพอสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนหรือไม่
หนี้สิน
การมีหนี้สินที่เยอะกว่าสินทรัพย์ย่อมแสดงถึงความไม่มั่นคงทางการเงิน อาจทำให้บริษัทไม่สามารถอยู่รอดได้ในช่วงเศรษฐกิจเป็นขาลง ถ้าเราต้องการธุรกิจที่ยั่งยืน หนี้สินระยะยาวควรน้อยกว่า 5 เท่าของกำไรสุทธิ
ดอกเบี้ย
เราต้องพิจารณาว่าธุรกิจจะมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยในระยะยาวหรือไม่ การไม่สามารถชำระดอกเบี้ยในระยะยาวได้จะทำให้ดอกเบี้ยนั้นพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นบริษัทควรมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี หรือ EBIT (Earnings Before Interest and Taxes) เป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งหมายความว่าหากเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง บริษัทจะสามารถชำระดอกเบี้ยได้เป็นระยะเวลา 3 ปีนั่นเอง
งบกระแสเงินสดอิสระ
การพิจารณาถึงกำไรของบริษัทเบื้องต้นนั้นเราสามารถดูจาก ROE และ ROA อย่างที่ได้กล่าวไป แต่ถึงอย่างนั้นสองตัวแปรนี้ก็ยังเป็นแค่มูลค่าทางบัญชีที่สามารถถูกบิดเบือนได้ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับกำไรที่เป็นเงินสดมากกว่า
งบกระแสเงินสดอิสระนั้นจะประกอบไปด้วย
1. กระแสเงินสดจากการดำเนินการ (Cash Flow From Operation) คือรายได้ที่ได้จากการดำเนินการของธุรกิจหักกับค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อดำเนินธุรกิจ และ
2.รายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) คือรายจ่ายที่ใช้สำหรับการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจเติบโต เช่นการขยายสาขา
นำกระแสเงินสดจากการดำเนินการมาลบกับรายจ่ายลงทุน เราจะได้งบกระแสเงินสดอิสระ ซึ่งแสดงถึงกระแสเงินสดที่เหลือจากการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือพูดง่ายๆก็คือเป็นความสามารถในการเก็บเงินของบริษัท หากบริษัทสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แต่งบกระแสดเงินสดอิสระนั้นติดลบ แสดงว่าบริษัทไม่สามารถรักษากำไรนั้นไว้กับตัวได้นั่นเอง ดังนั้นกำไรและงบกระแสเงินสดควรสอดคล้องกัน
เมื่อเราตรวจดูผลประกอบการย้อนหลังแล้วพบว่าเป็นบริษัทที่ดี มีผลประกอบการที่สนับสนุนความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เราคาดการณ์เอาไว้ ต่อมาเราก็จะมาหาราคาที่สมเหตุสมผลสำหรับการซื้อหุ้นตัวนั้นกันครับ
การหาราคาที่สมเหตุสมผล
หลักการในการหาราคาหุ้นนั้นเราต้องคาดการณ์ถึงมูลค่าของหุ้นตัวนั้น ย้ำนะครับว่ามูลค่า ไม่ใช่ราคาที่เราเห็นกันบนกระดาน เราจะทำการหามูลค่าของหุ้นตัวนั้นแล้วนำมาเทียบกับราคาในปัจจุบันว่ามันสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าของหุ้น ถ้าราคานั้นต่ำกว่ามูลค่าของหุ้นแสดงว่าตลาดนั้นยังไม่รับรู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั่นเอง เราจะใช้จังหวะนี้ในการลงทุนครับ
กำไรต่อหุ้นและราคาหุ้นของไนกี้ ตั้งแต่ปี 2012-2021
ขอบคุณข้อมูลจาก www.macrotrends.net
ขั้นตอนแรก
ใช้เครื่องคิดเลขอัตราการเติบโตต่อปี (Compound Annual Growth Rate) เพื่อหาอัตราการเติบโตในอนาคต เราสามารถใช้จากเว็บไซต์ต่างๆได้เลยครับ (ผมแนะนำเว็บไซต์ https://th.foxcalculators.com/finance/6759.html) โดยใส่กำไรต่อหุ้นปีของปีแรก ปีล่าสุด และจำนวนครั้งที่ปรับกำไรต่อหุ้น (ถ้าเป็นข้อมูล 10 ปี จะปรับ 9 ครั้ง เราจึงใช้ 9 แทน)
Start Value: 1.18
Final Value: 3.56
Number of Years: 9
เราก็จะได้อัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 13.05%
ขั้นตอนที่สอง
ใช้เครื่องคิดเลขคำนวณดอกเบี้ยทบต้น เพื่อหากำไรในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยจะใส่ กำไรต่อหุ้นปีล่าสุด อัตราการเติบโตต่อปีที่ได้จากขั้นตอนแรก และจำนวนปีในอนาคต (ครั้งนี้เราจะใช้ 10 เพราะเราต้องการหาข้อมูลในอีก 10 ปี)
Start Value: 3.56
อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR): 13.05
Number of Years: 10
เราจะได้กำไรต่อหุ้นในอนาคตอยู่ที่ 12.14
ขั้นตอนที่สาม
เมื่อเราได้กำไรต่อหุ้นในอนาคตมาแล้ว เราจะหาราคาหุ้นในอนาคตกันต่อ โดยนำกำไรต่อหุ้นในอนาคตนั้นมาคูณกับ P/E เฉลี่ย เนื่องจากสูตรของ P/E นั้นมาจาก ราคาหุ้น/กำไรต่อหุ้น ดังนั้นการที่เรานำกำไรต่อหุ้นมาคูณกับ P/E เราจึงจะได้ราคาหุ้นนั่นเอง
1
กำไรต่อหุ้นในอนาคต 12.14
P/E เฉลี่ยปี 2021 37.8
เราจะได้ราคาหุ้นในอนาคตเท่ากับ 458.89
ขั้นตอนที่สี่
ต่อมาเราจะมาหาราคาที่จะซื้อหุ้นกัน โดยเราต้องกำหนดผลตอบแทนที่เราต้องการต่อปีซะก่อน ผมสมมติว่าผมต้องการผลตอบแทน 20% ต่อปี หลักการง่ายๆเพียงแค่เราลดทอนค่าของราคาหุ้นในอนาคตลงมาเท่านั้นเองครับ
ใช้เครื่องคิดเลขคำนวณมูลค่าในปัจจุบัน โดยจะใส่มูลค่าในอนาคต อัตราคิดลด(ในเว็บไซต์จะใช้คำว่า Interest Rate) และจำนวนปี
Future Value 458.89
Interest Rate 20%
Time period 10 ปี
เราจะได้ราคาหุ้นที่ต้องการคือ 73.97
ราคาหุ้นนี้หมายความว่าถ้าเราซื้อตั้งแต่ราคา 73.97 โดยมีผลตอบแทน 20% ต่อปี เมื่อทบต้นไปเรื่อยๆจนถึงปีที่ 10 ราคาหุ้นจะขึ้นไปถึง 458.89 นั่นเองครับ
ขั้นตอนที่ห้า
ราคาหุ้นที่เราจะซื้อนั้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้นครับ อาจจะไม่แม่นยำทั้งหมด ดังนั้นเราจึงต้องคำนวณส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเข้าไปด้วย โดยแต่ละธุรกิจนั้นก็มีความเสี่ยงและความผันผวนแตกต่างกันไป ขั้นตอนนี้จึงต้องอาศัยความเข้าใจในตัวธุรกิจนั้นๆครับ ซึ่งในหนังสือให้แนวทางเบื้องต้นมาคือ 15% เราก็แค่นำราคาที่ต้องการหักออกด้วยส่วนแบ่งเพื่อความปลอดภัยครับ
ราคาที่ต้องการ 73.97
ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย 15%
ราคาเป้าหมาย 73.97 - 15% = 62.87
อย่างที่ได้กล่าวไป ถ้าเราเข้าใจธุรกิจตัวนั้นดีว่ามีความยั่งยืนในอนาคตก็สามารถลดส่วนแบ่งเพื่อความปลอดภัยได้ครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเนื้อหาภายในเล่มของ “Gone Fishing with Buffet นั่งตกปลากับบัฟเฟตต์” นอกจากการหาราคาที่สมเหตุสมผลด้วยวิธีข้างต้นแล้ว ในเล่มก็ยังมีวิธีการหาอีกแบบนั่นก็คือ การหาต้นทุนค่าเสียโอกาสของการลงทุน (Opportunity Cost of Investment) ด้วยนะครับ น่าสนใจมากจริงๆ
สุดท้ายนี้ผมอยากจะแนะนำทุกคนให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ “Gone Fishing with Buffet นั่งตกปลากับบัฟเฟตต์” ของคุณฌอน เซีย ผมมั่นใจว่าทั้งเงินทั้งเวลา คุ้มค่าที่จะลงทุนกับหนังสือเล่มนี้ครับ
โฆษณา