3 เม.ย. 2022 เวลา 05:16 • ปรัชญา
“ถือศีลเพื่อไม่ให้แพ้กิเลสเท่านั้น
แต่การจะเอาชนะกิเลส
เป็นเรื่องของการฝึกสมาธิ แล้วก็การเจริญปัญญา
ชนะได้เด็ดขาดต้องอาศัยปัญญา”
“ … เตรียมกองทัพของเราให้พร้อม
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนมีปัญญา
มันไม่ใช่ศาสนาที่จะเชื่ออะไรงมงาย
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่าเชื่ออะไรง่าย
อย่าเชื่อกระทั่งตำรา เชื่อเขาพูดต่อๆ กันมา
อันนั้นมิใช่วิสัยของชาวพุทธ
ชาวพุทธเราเป็นศาสนาของความมีเหตุผล
ธรรมะทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าสอน
เป็นเรื่องเหตุกับผลทั้งหมด
ทำเหตุอย่างนี้ก็จะมีผลอย่างนี้
ทำเหตุอย่างนั้นก็มีผลอย่างนั้น
ทำเหตุดีก็มีผลดี
ทำเหตุไม่ดี ทำความชั่วก็มีผลของความชั่ว
ภาวนาเรียนรู้ความจริงไป เจริญศีล สมาธิ ปัญญาไป
ก็มีผล คือได้ ”เห็นพระนิพพาน” พ้นทุกข์
เป็นเรื่องเหตุเรื่องผลทั้งหมด
ไม่ใช่เรื่องเชื่อๆ ตามๆ กัน
ศาสนาพุทธนั้นสอนให้เราพึ่งตนเอง
ไม่ใช่พึ่งเทวดา ไม่ใช่พึ่งกระทั่งพระโพธิสัตว์
แต่พึ่งความสามารถของเราเอง
เพราะเวลาเราทำชั่ว เราก็ทำของเราเอง
คนอื่นไม่ได้มาทำแทนเรา
เวลาเราทำความดี เราก็ทำของเราเอง
คนอื่นไม่ได้มาทำแทนเรา
เวลาเราจะปฏิบัติธรรมเจริญศีล สมาธิ ปัญญา
เราก็ต้องทำเอง เทวดาที่ไหนก็มาทำแทนเราไม่ได้
เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาของการพึ่งตัวเอง
มีเหตุมีผล ไม่เชื่ออะไรงมงาย
ความงมงายเป็นศัตรูตัวหนึ่ง
เป็นกิเลสตัวสำคัญเลยที่พระโสดาบันละได้
เชื่ออะไรงมงาย
รักษาศีลเพื่อฝึกใจตัวเองไม่ให้ยอมแพ้กิเลส
เนื้อหาสาระของการปฏิบัติธรรม
ก็มีอยู่ในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา
จุดสำคัญในการฝึกจิตตัวเองจริงๆ
ก็คือเรื่องเหล่านี้ล่ะ
เราถือศีลไม่ใช่ว่าเพื่อจะเป็นคนดี
แต่เราถือศีลเพื่อฝึกตัวเอง
อย่างเราโกรธคนอื่นเราอยากทำร้ายเขา
เราถือศีลเราไม่ไปทำร้ายเขา
เป็นการฝืนใจตัวเองไม่ยอมทำชั่ว คือศีล
ถ้าเราปล่อยใจของเราตามกิเลสไปเรื่อยๆ
เราก็ทำชั่วไปเรื่อย ไปทำร้ายคนอื่นทำร้ายสิ่งอื่น
ไปลักไปขโมยเขา ไปนอกใจสามีนอกใจภรรยา
ไปพูดโกหกหลอกลวงคนอื่น
สิ่งเหล่านี้มันเกิดจากกิเลสทั้งหมด
ในเบื้องต้นถ้าเรายังฝึกไม่เข้มแข็ง
เราตั้งใจรักษาศีลไว้ก่อน
เราจะไม่ยอมตามใจกิเลส
เพราะถ้าตามใจกิเลสครั้งหนึ่งแล้วนี่
โอกาสที่จะตามใจกิเลสครั้งต่อไปมันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเราไม่เคยพูดโกหก ไปโกหกครั้งหนึ่ง
ทีแรกโกหกยากไม่อยากพูด พูดไม่ถูก
พอโกหกเก่ง พูดไปเรื่อยๆ โกหกเก่ง
โกหกมันทุกคำเลย
พูดอะไรความจริงหาไม่ได้แล้ว มันเคยชิน
ฉะนั้นเราตั้งใจรักษาศีล
เพื่อฝึกใจตัวเองไม่ให้ยอมแพ้กิเลส
กิเลสนั่นล่ะเป็นศัตรูของชีวิตเรา
คนอื่นไม่ใช่ศัตรูของเราหรอก
สิ่งที่ทำให้จิตใจเราไม่มีความสุขไม่มีความสงบ
ก็คือกิเลสนั่นล่ะ
ฉะนั้นเราก็ต้องต่อสู้เอาชนะมันให้ได้
เบื้องต้นกิเลสมันยังเข้มแข็ง
สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังไม่เข้มแข็งสู้กิเลสไม่ไหว
เราก็ตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ก่อน
ถึงจะโกรธอย่างไรก็ไม่ทำร้ายคนอื่น
ถึงจะอยากได้อย่างไรก็ไม่ขโมยคนอื่น
ฝึกตัวเองไปไม่ตามใจกิเลส
เพราะยิ่งตามใจมัน กิเลสมันจะยิ่งเข้มแข็ง
พอเราไม่ตามใจมัน มันก็เอาชนะเราไม่ได้
เราก็มาฝึกจิตใจให้เข้มแข็งมากขึ้น
เพื่อจะเอาชนะกิเลส
ทีแรกถือศีลนี่เพื่อไม่ให้แพ้กิเลสเท่านั้นล่ะ
ถ้าไม่ถือศีลเราก็แพ้กิเลสง่าย
แต่การจะเอาชนะกิเลส
เป็นเรื่องของการฝึกสมาธิแล้วก็การเจริญปัญญา
ชนะได้เด็ดขาดต้องอาศัยปัญญา
ฝึกให้จิตใจอยู่กับตัวเองให้ได้ คือการฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร
เราเข้าใจสมาธิจริงๆ
มันคือสภาวะที่จิตใจเราอยู่กับตัวเอง
ไม่หลงลืมตัวเองไป
รู้สึกตัวไปสบายๆ
ภาษาไทยเขาเรียกว่า จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
จิตใจอยู่ที่ตัวเองนี่ไม่หนีไป
ธรรมชาติของจิตมันหนีตลอดเวลา มันหนีไปได้ 6 ทาง
บางทีมันก็หนีไปดู
อย่างเราเห็นอะไรน่าสนใจ ใจเราก็ส่งไปดู
อย่างเราเห็นดอกไม้สวยๆ
หรือเห็นผู้หญิงสวยเห็นผู้ชายรูปหล่อ ใจเราชอบ
หรือเห็นดาราภาพยนตร์เห็นนักร้องที่เราชอบ
ใจเราก็อยากเห็นเขาอยากดูเขา
บางคนเดินตามดูเลย
ตรงที่ใจเราอยากดูเขา ใจเราจะวิ่งไป ไปดู
ขณะที่ใจเราวิ่งไปดูนักร้องนี่
เรามีร่างกายเราก็ลืมร่างกาย
เรามีจิตใจเราก็ลืมจิตใจ
ฉะนั้นการที่จิตเราหลงไปดูรูป
เราก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง
ขณะที่เราตั้งใจฟัง มีคนเขาคุยเราอยากฟังอยากรู้เรื่อง
ขณะที่เราตั้งใจฟังนี่เรามีกายลืมกาย มีใจลืมใจ
หรือมีเพลงเพราะๆ ที่เราชอบได้ยินเสียงเพลง
เพลินมีความสุข ในขณะนั้นเพลินๆ
มีร่างกายก็ลืมร่างกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจของตัวเอง
เวลาเราได้กลิ่น ได้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น
จิตใจเราสนใจ เอ กลิ่นอะไร
สมมติว่ามีกลิ่นเหม็นๆ อยู่ในบ้านเรา
เราก็สงสัยมีสัตว์ตัวเล็กๆ มาตายอยู่ในบ้านเราหรือเปล่า
หรือหนูมาตายในบ้านเราหรือเปล่า
จิตใจมันสนใจ เอ กลิ่นอยู่ตรงไหน
เที่ยวดมว่าตรงไหนกลิ่นแรง
ขณะที่ตั้งอกตั้งใจดมกลิ่น
เรามีร่างกายเราลืมร่างกายตัวเอง
เรามีจิตใจเราลืมจิตใจตัวเอง
มันมีแต่ความอยากจะดมกลิ่น
เวลาเรากินของอร่อยลิ้นเรากระทบรสนี่เราพอใจ
จิตใจมันชอบ มันเพลิดเพลิน
ฉะนั้นเวลากินเจอของอร่อยเข้า
เราก็ลืมกายลืมใจของเรา กินเอาๆ
กิริยามารยาทก็ดูไม่งามแล้ว
เพราะตะกละอยากกินเยอะๆ อยากกินเร็วๆ
ร่างกายเราเคลื่อนไหวไม่สวยไม่งาม เราไม่รู้หรอก
เราลืมร่างกายของเรา
จิตใจเรากำลังเต็มไปด้วยความตะกละ เราก็ไม่เห็น
ฉะนั้นเวลามันสนใจที่จะลิ้มรส
เราก็ลืมกาย ลืมใจของตัวเอง
เวลามีอะไรมาสัมผัสร่างกายเรา
บางทีจิตใจเราก็หลงไปทางร่างกาย
อย่างอากาศเย็นจัดๆ มาถูกร่างกายเรา เราก็ตัวเราสั่น
โอ้ เมื่อไรมันจะหายหนาวสักที ใจไม่ชอบเลย
มันหนาวมากเกินไป ร่างกายเราทนไม่ไหวแล้ว กลุ้มใจ
โดนความหนาวขนาดนี้เดี๋ยวจะเป็นไข้เดี๋ยวจะไม่สบาย
ในขณะนั้นมัววุ่นวายอยู่กับความหนาว
เราลืมจิตใจของตัวเอง ลืมกายลืมใจของตัวเองไป
กำลังกอดอกตัวสั่นอะไรอย่างนี้ เราก็ไม่เห็น
ลืมไป สั่นๆ เราไม่ได้รู้สึกที่ร่างกายของเรา
แล้วก็ไม่รู้สึกว่าจิตใจเรากำลังกังวล
ฉะนั้นสิ่งที่มาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
มันมาดึงดูดความสนใจของเราไปในรูป
ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่สัมผัสร่างกาย
พอมันดึงไปแล้ว เราก็ลืมตัวเองลืมกาย ลืมใจของตัวเอง
สนใจที่จะดูนางงาม ไปชะเง้อ
ดูเขาก็ลืมตัวเอง ไม่เห็นหรอกว่ากำลังทำท่าเขย้อแขย่ง
น่าเกลียดอะไรอย่างนี้ ไม่เห็น
จิตใจกำลังอยากดู ไม่เห็นว่าอยาก
ฉะนั้นไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในร่างกายก็ไม่รู้
อะไรเกิดในจิตใจก็ไม่รู้
หรือเวลาเราเห็นคนอื่นเขาโทรศัพท์
เขาเดินถือโทรศัพท์คุยไปเรื่อยๆ
บางทีทำท่าทำทางแปลกๆ เวลาคุยโทรศัพท์ใช่ไหม
เพลิดเพลินอยู่กับการคุยการฟังการพูด
เราเพลินๆ ทำท่าทำทางอะไรตัวเองยังไม่รู้เลย
หลวงพ่อเคยเจอผู้หญิงสวยๆ ดูคล้ายๆ ไฮโซเลย
ดูเรียบร้อยดูดี โทรศัพท์มาลุกขึ้นรับโทรศัพท์
หมดท่าเลยความสวยความงามไม่เหลือแล้ว
โมโหว่าคนพูดมาไม่ถูกอกถูกใจ ก็แยกเขี้ยวยิงฟัน
ตวาดแว้ดๆ อะไรอย่างนี้
ความเรียบร้อยอะไรไม่เหลือแล้ว เพราะอะไร
เขาโกรธแล้วเขาลืมตัวเอง
เขาถูกความโกรธครอบงำใจ
เขาก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง
เวลาเราหลง ไม่ว่าจะหลงไปดูรูป
หลงไปฟังเสียงหลง ไปดมกลิ่น
หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางร่างกาย
หรือหลงไปคิดทางใจ
เวลาเราหลงไป เราจะลืมกายลืมใจของตัวเอง
อย่างเราคุยกับคน
เราได้ยินเขาคุยเราตั้งใจฟังเขา
ขณะนั้นเราหลงไปฟังทางหูแล้ว เราลืมกายลืมใจ
พอฟังแล้วโทสะมันขึ้น ไม่ชอบเลย
เราก็ไม่เห็นว่าใจเรากำลังโกรธ
เราไปสนใจคนที่ทำให้เราโกรธ
เราสนใจของข้างนอก
เราไม่สนใจกายไม่สนใจจิตใจของตัวเอง
ฉะนั้นเราจะต้องมาฝึกให้จิตใจอยู่กับตัวเองให้ได้
อันนั่นล่ะคือการฝึกสมาธิ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กุมภาพันธ์ 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา