3 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Antony J. Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มือขวาคนสนิทของไบเดน ในเกมการทูตสงครามยูเครน
2
ถ้าถามว่า ใครคือ ขุนพลคนสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีไบเดน ในเกมการทูตในสงครามยูเครน คำตอบของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องราวนี้เกือบจะทั้งหมดจะต้องออกมาเป็น “แอนโทนี่ บลิงเคน (Antony Blinken)” อย่างไม่ต้องสงสัย
ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะว่า คุณบลิงเคนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ คนปัจจุบันเพียงเท่านั้น แต่เขายังเป็นมือขวาคนสนิทที่ทำงานร่วมกับคุณไบเดนมา ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี คิดเป็นระยะเวลาความสัมพันธ์ในการทำงานกว่า 20 ปีแล้ว
นอกจากนี้ บทบาทในด้านการต่างประเทศของเขาก็โดดเด่นเป็นอย่างมาก จากการเคยช่วยงานทั้งกับกระทรวงต่างประเทศและความมั่นคงของชาติมาหลายสมัย ซึ่งผลงานอันเตะตาของเขาก็ทำให้ได้รับความไว้ใจดำรงตำแหน่งสำคัญเสมอมา
ซึ่งก็ชีวิตการทำงานที่โดดเด่นและพิเศษนี้ ก็คือเรื่องราวที่ทาง Bnomics จะนำมาแบ่งปันให้ทุกคนอ่านกันในบทความนี้นั่นเองครับ
📌 เส้นทางการเติบโตของนักการทูตฝีมือเยี่ยม
ต้องบอกว่า การที่คุณบลิงเคนเติบโตขึ้นมาเป็นนักการทูตที่ยอดเยี่ยม อาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มันฝังอยู่ในสายเลือดของเขาเลยต่างหาก เพราะทั้งคุณพ่อ “Donald Blinken” และคุณลุง “Alan Blinken” ของเขาต่างเคยเป็นเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯ ประจำประเทศฮังการี และเบลเยียม ตามลำดับ
นอกจากนี้ คุณแม่ของคุณบลิงเคน “Judith Frehm” ยังพาเขาไปอาศัยอยู่ที่กรุงปารีส ซึ่งที่นี่เองเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้เขาเห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ และทำให้เขาเป็นนักการทูตหนึ่งคนที่ให้ความสำคัญใน “มิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอย่างมาก”
และยิ่งไปกว่านั้นอีก คุณบลิงเคนยังมีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์จากคุณพ่อบุญธรรม “Samuel Pisar” ที่เป็นนักกฎหมายชื่อดังอีกท่าน ที่เคยเป็นที่ปรึกษากับทั้งประธานาดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ และประธานาธิบดีฝรั่งเศส และก็ยังเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดจากการรอดชีวิตจากสงครามโลกให้บลิงเคนฟังด้วย ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่ก่อร่างแนวคิดในด้านการคานอำนาจ โดยการทหารในตัวเขาต่อมาด้วย
ทางด้านประวัติการศึกษาของเขาก็โดดเด่นอย่างมาก เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Harvard University และก็เข้าศึกษาต่อด้านกฎหมายใน Columbia Law School
📌 เส้นทางชีวิตการทำงานช่วงแรก
จากประวัติการเติบโตในวัยเด็กอันโดดเด่น ก็ตามมาด้วยประวัติการทำงานที่โดดเด่นยิ่งไม่แพ้กัน ตั้งแต่สมัยก่อนจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว
บทบาทแรกที่สำคัญ คือ บทบาทของการเป็น Democratic staff director, U.S. Senate Foreign Relations Committee ที่เริ่มตอนปี 2002 ที่ตอนนั้นคนที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนี้ ก็ไม่ใช่คนอื่นไกลแต่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน นายโจ ไบเดน นั่นเอง
ซึ่งในตอนนั้น หน้าที่ของเขาก็เหมือนกับเป็น “คนกระซิบข้างหูคุณไบเดน” ว่าเรื่องใดของการต่างประเทศสำคัญ ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ในการทำงานที่ค่อยๆ พัฒนามากว่า 20 ปี
ด้วยความสามารถทั้งด้านความรู้ และเซนส์ในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศ ก็ทำให้คุณบลิงเคนเติบโตในตำแหน่งการงานคู่มากับการเติบโตของคุณไบเดนขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของโอบามาด้วย
โดยเขาได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับไบเดนตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจระหว่างประเทศครั้งสำคัญๆ ในช่วงนั้นเสมอมา
ไล่ตั้งแต่ การตัดสินใจเรื่องบุกอิรัก การเข้าแทรกแซงปัญหาของประเทศลิเบียเพื่อให้ “เลิกใช้อาวุธเคมี” หรือแม้แต่ในห้อง War room ในตอนปฏิบัติการบุกบ้านบินลาดิน คุณบลิงเคนก็เข้าไปมีที่นั่งในการประชุมเหล่านั้นทั้งหมด
รูปห้องบินลาดิน
(เกร็ด:ซึ่งถ้าติดตามประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่าง ดไวท์ ไอเซนฮาวน์ เชื่อเหมือนกัน)
ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การแสดงออกในแนวคิดทางการทูตของบลิงเคนที่มีทัศนะว่า “การทูตจำเป็นต้องทำรับการสนับสนุนโดยความสามารถในการยับยั้ง ซึ่งก็รวมถึงการปรับการใช้กองกำลังทหารอย่างเหมาะสม” เช่น การที่เขาสนับสนุนให้ส่งทหารเข้าไปสู่ซีเรียและอิรัก
  • (เกร็ด : ซึ่งถ้าติดตามประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ก็จะเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่าง ดไวท์ ไอเซนฮาวน์ เชื่อเหมือนกัน) เช่น การที่เขาสนับสนุนให้ส่งทหารเข้าไปสู่ซีเรียและอิรัก
และต่อมาคุณบลิงเคนก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ ในสมัยที่นางฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) รับบทบาทเป็นหัวเรือใหญ่ของกระทรวงต่างประเทศในตำแหน่งรัฐมนตรี
สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบ คือ นางฮิลลารีสนิทสนมกับครอบครัวของคุณบลิงเคนมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะว่า ภรรยาของบลิงเคน คุณ “Evan Ryan” เคยทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับนางฮิลลารีมาก่อนในสมัยที่ยังเป็น “สตรีหมายเลขหนึ่ง”
และในตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ Evan ได้พบกับบลิงเคนเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งในตอนนั้นเขารับหน้าที่เป็นคนเขียนสคริปต์ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ ในยุคของประธานาธิบดี บิล คลินตัน
ซึ่งในงานแต่งงานของทั้งคู่ใน ปี ค.ศ. 2002 ก็ได้เชิญนางฮิลลารีไปร่วมงานด้วย
ช่วงการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปัจจุบัน
Thomas E. Donilon อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในยุคของประธานาธิบดีโอบามา ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ถึงความสำคัญของคุณบลิงเคนไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า
แม้ท่านประธานาธิบดีจะไม่อยู่ตรงนั้น แต่การพูดกับคุณโทนี่ บลิงเคนก็สำคัญเหมือนกับพูดกับท่านประธานาธิบดีโดยตรงแล้ว
(If you are speaking to Tony Blinken, you’re essentially speaking as directly as you can to President Biden with him not being there)
Thomas E. Donilon
แสดงให้เห็นว่า ตัวบลิงเคนมีความสำคัญ และได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีไบเดนอย่างมาก
โดยบทบาทสำคัญที่เขาถูกวางไว้ในตอนแรก คือ การพาอเมริกากลับมาสู่ทิศทางเดิมในฐานะ “ผู้นำความร่วมมือนานาชาติ” ซึ่งก็ทำผ่านการเดินทางไปเยือนหลายชาติ เพื่อเสนอ “โลกแห่งความร่วมมือ” ให้กับมาอีกครั้ง แตกต่างจากสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยจะเดินไป ที่จะแบ่งแยกให้อเมริกากลับมาพึ่งตัวเองมากขึ้น
ซึ่งหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญในสายตาของอเมริกาอย่างมาก ก็คือ “อาเซียน” ของเรา และก็มีความพยายามจะตั้งความร่วมมือทางการค้าขึ้นมาใหม่ อันที่จริง โครงการความร่วมมือ TPP ส่วนหนึ่งก็เป็นฝีมือของคุณบลิงเคนในสมัยประธานาธิบดีโอบามา
ซึ่งในช่วงแรกของรัฐบาลยุคไบเดน การดำเนินนโยบายด้านการทูตก็เหมือนจะดำเนินไปได้อย่างดี จนเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คะแนนความนิยมลดลงฮวบ “หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน” ที่ภาพการอพยพของคนอย่างวุ่นวาย รวมถึงการที่ต้องปิดที่ทำการสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคาบูล ก็ทำให้สหรัฐฯ ดูเป็นผู้แพ้กลายๆ ในสงครามครั้งนี้
ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อคะแนนนิยมของคุณไบเดนไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อน ที่สหรัฐฯ ถอนกำลังพลออกจากอัฟกันอย่างเบ็ดเสร็จ เส้นกราฟความนิยมของคุณไบเดนก็ลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50% อย่างชัดเจน และก็มีจำนวนคนที่ไม่ approve การทำงานของไบเดนมากขึ้นเรื่อยๆ
(อย่างไรก็ดี ก็มีผลจากนโยบายทางด้านอื่นด้วย เช่น การจัดการโควิดในสหรัฐฯ และนโยบายการลงทุน ที่ก็มีคนไม่ชอบเช่นกัน)
แต่ในเรื่องการจัดการปัญหาสงครามยูเครน ที่คุณบลิงเคนเป็นมือขวาและที่ปรึกษาเชิงยุทธศาสตร์คนสำคัญ เหมือนจะสร้างความนิยมในใจของคนสหรัฐฯ กับคุณไบเดนในด้านการต่างประเทศกลับมาพอสมควร
ตัวเลขหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้ คือ คนอเมริกันยินดีที่จะต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนมากกว่าชาวซีเรีย หรืออัฟกานิสถาน ที่เกิดความขัดแย้งในประเทศเช่นกัน อ้างอิงจากการรายงานของ The Economist ที่ใช้ข้อมูลจาก YouGov
ซึ่งคะแนนความนิยมของคุณไบเดนที่เราเห็นมีความสำคัญกับการกำหนดทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงต่อไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะอเมริกาจะมีการเลือกตั้ง mid-term กันในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งด้วยเสียงในวุฒิสภาที่ปริ่มน้ำอยู่แล้วของพรรคเดโมแครต ถ้าแพ้เลือกตั้งนี้อีกก็ยากที่จะผ่านกฎหมายหรือนโยบายเศรษฐกิจอะไรได้ตามใจแล้ว ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่อเนื่องยาวไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกสองปีให้หลังด้วย
นอกจากนี้ บลิงเคนยังมีบทบาทในการคอย “ปรับความเข้าใจ” ในส่วนที่คุณไบเดนพูดไปแล้วสร้างความขุ่นมัวให้กับผู้อื่น เห็นได้จากสองเหตุการณ์สำคัญๆ
ครั้งแรกเกิดขึ้นก่อนตอนที่รัสเซียจะส่งทหารเข้าสู่ยูเครน ที่นายไบเดนเผลอพูดว่า “การบุกขนาดย่อม (Minor incursion)” ออกมา ซึ่งทำให้ถูกตั้งคำถามว่า มีการบุกขนาดย่อมและขนาดใหญ่ด้วยเหรอ อย่างไรก็บุกก็คือ การบุกหรือเปล่า ทำให้คุณบลิงเคนต้องต่อสายไปปรับความเข้าใจกับประเทศยูเครนว่า พวกเขาจะช่วยปกป้องอธิปไตยของยูเครนแน่
และครั้งล่าสุดที่เพิ่งจะเกิดขึ้นไปเมื่อไม่กี่วันนี้ เมื่อคุณไบเดนประณามว่า คุณปูตินเป็นเหมือนคนเฉือดสัตว์ (Butcher) และไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งก็ถูกประธานาธิบดีฝรั่งเศสเตือนไว้ว่าอาจจะเป็นการพูดแรงเกินไป
1
สุดท้ายคุณบลิงเคน ก็ออกมาแก้ต่างให้ว่า ท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯ หมายความแค่ว่า ไม่ควรมีการใช้กองกำลังบุกโจมตีประเทศใด หรือใช้เพื่อรุกล้ำอธิปไตยของใครเพียงเท่านั้น ไม่ได้ข่มขู่คุณปูตินว่า หมดยุคสมัยของเขาแล้วแต่อย่างใด
จนถึงตอนนี้ ชีวิตตั้งแต่เด็กจนถึงเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่เป็นกุนซือหลักในปัญหายูเครน ของคุณบลิงเคนก็โดดเด่นและพิเศษเป็นอย่างมากแล้ว ซึ่งก็ต้องจับตามองกันต่อไปข้างหน้าว่า เส้นทางที่ยากจะมีใครเหมือนนี้ จะดำเนินไปสู่ตอนจบที่พิเศษขนาดไหน...
3
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : Brookings Institution และ Jonathan Ernst / Reuters
โฆษณา