20 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ลี กวน ยู “ปัจฉิมภาค” จากโลกที่สามสู่โลกที่หนึ่ง
ในปี 1965 หลังจากที่สิงคโปร์ได้แยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย ลีกวนยูได้เปิดเผยในภายหลังว่า ท่านเองประเมินว่าโอกาสรอดของสาธารณรัฐสิงคโปร์มีน้อยมาก เพราะสิงคโปร์ที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ เลย ถ้าหากสิงคโปร์จะอยู่รอดได้ สิงคโปร์ต้องทำตัวเองให้มีค่า และต้องตอบให้ได้ว่าเหตุใดโลกถึงจะต้องการสิงคโปร์
2
แต่ในปีแรกที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชนั้น ลีกวนยูแทบจะกินไม่ได้และนอนไม่หลับ เพราะสิงคโปร์ต้องเผชิญกับวิกฤตแทบจะทุกด้าน แต่เรื่องที่น่ากังวลที่สุด คือ สองกองพันของมาเลเซียยังมีฐานทัพอยู่ในสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ในขณะนั้นไม่มีความสามารถในการป้องกันการรุกรานได้เลย ไม่มีกองทัพ หรือแม้กระทั่งกรมตำรวจเป็นของตนเอง
นโยบายเร่งด่วนที่สุดของลีกวนยู คือ การสร้างกองทัพ เพื่อปกป้องประเทศ ตามมาด้วยการสร้างเศรษฐกิจ หารายได้เข้าประเทศ ทำให้ประชาชนมีงานทำ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2
แต่เคราะห์ดีที่เวลานั้น อังกฤษยังคงมีฐานทัพตั้งอยู่ที่เกาะสิงคโปร์ หนังสือพิมพ์ London Sunday Times ได้กล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์จะล่มสลาย หากอังกฤษถอนกำลังออกจากสิงคโปร์ทั้งหมด ลีกวนยูเองได้เคยประเมินว่าฐานทัพอังกฤษ สร้างรายได้ให้ถึงร้อยละ 20 ของ GDP ของสิงคโปร์
แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ลีกวนยูกังวลกว่า ไม่ใช่รายได้ที่จะหายไป แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่น หากกองทัพอังกฤษถอนกำลังออกไปหมดนั้น จะทำให้ประชาชนเสียขวัญ และนักลงทุนต่างประเทศไม่กล้ามาลงทุน และจะส่งผลให้เศรษฐกิจสิงคโปร์จะไปไม่รอดด้วย
2
ในช่วงแรกรัฐบาลอังกฤษ ได้ให้คำมั่นกับลีกวนยู ว่าจะไม่ถอนกำลังทหารออกก่อนกลางทศวรรษ 1970 แต่จากแรงกดดันทั้งการเมืองและค่าเงินปอนด์ที่เพิ่งถูกปรับลดค่า จึงทำให้ทางอังกฤษจึงต้องเร่งถอนกำลังทหารออกจากสิงคโปร์ให้สิ้นสุดในปี 1971 เร็วกว่าที่ลีกวนยูคิดไว้หลายปีมาก การเร่งสร้างกองทัพของชาติสิงคโปร์ จึงเป็นก้าวที่สำคัญ หากสิงคโปร์จะอยู่รอดได้
ลีกวนยูจึงได้ติดต่อทางอิสราเอลให้มาเป็นที่ปรึกษาในการสร้างกองทัพ เพราะอิสราเอลมีความเชี่ยวชาญและมีการเตรียมกำลังสำรองที่สามารถเรียกประชาชนมาเป็นส่วนช่วยในกองทัพได้ รวมถึง ผู้หญิงและคนชรา แต่ในสิงคโปร์มีประชากรเชื้อชาติมาเลย์ค่อนข้างมาก เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง ในช่วงแรกลีกวนยูจึงต้องบอกทุกคนในกองทัพว่า ที่ปรึกษาเหล่านี้คือคนเม็กซิกัน !
นอกจากนั้น ผู้ชายชาวสิงคโปร์ทุกคนต้องถูกเกณฑ์ทหารเป็นเวลาสองปี ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชายชาวสิงคโปร์ทุกคน เพราะไม่ว่า คุณจะเป็นลูกนายก ลูกเศรษฐี ลูกกรรมกร หรือ ลูกแม่ค้าแผงลอย คุณไม่มีการได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารเป็นอันขาด ลีกวนยูมองว่านี่เป็นการฝึกทำงานเป็นทีมของชาวสิงคโปร์และเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างคนทุกชนชั้น
2
แต่ในที่สุดลีกวนยูก็สามารถสร้างกองทัพ เพื่อปกป้องสิงคโปร์ได้สำเร็จ และยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ากองทัพสิงคโปร์เป็นกองทัพที่มีศักยภาพสูง
1
📌 การผลักดันให้ชาวสิงคโปร์มีบ้านเป็นของตนเอง
ลีกวนยูพยายามให้ทุกคนในประเทศเป็นเจ้าของบ้านให้ได้ โดยรัฐบาลจัดสร้างบ้านให้ โดยเป็นบ้านที่มีคุณภาพ เพราะท่านเชื่อว่าการเป็นเจ้าของบ้านจะทำให้คนสิงคโปร์มีความภูมิใจ มีความรับผิดชอบ และรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียกับประเทศ เพราะราคาบ้านจะปรับตัวสูงขึ้นถ้าเศรษฐกิจดี
3
และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ชาวจีนไม่อยากส่งลูกให้ไปเป็นทหาร แต่การที่พ่อแม่ได้มีบ้านเป็นของตัวเอง ทำให้ลูกที่เป็นทหารรู้สึกว่าในการเป็นทหารนั้น ไม่ได้ไปเสี่ยงชีวิตปกป้องทรัพย์สมบัติของเศรษฐีทั้งหลายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวตนเองด้วย
2
ลีกวนยูอยากสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความยุติธรรม แต่ไม่เห็นด้วยสร้างรัฐสวัสดิการที่เน้นแจกเงิน หรือแจกของฟรีกับประชาชน เพราะนโยบายเหล่านี้ไม่ยั่งยืน แต่ทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมในช่วงเวลาสั้นๆ แต่จะบ่อนทำลายความมั่งคั่ง และความมั่นคงของประเทศในภายภาคหน้า
6
อย่างเช่น บ้านที่รัฐบาลจัดสร้างขึ้น ลีกวนยูก็ออกนโยบายให้หักจากเงินเดือนของประชาชน เพื่อนำไปผ่อนซื้อบ้านได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานของชาวสิงคโปร์ด้วย
2
📌 รัฐต้องดูแลประชาชนอย่างทั่วถีง
1
ลีกวนยูเชื่อว่า ถ้าประเทศยิ่งเจริญรุ่งเรือง ประชาชนจะต้องอยู่ดีกินดีมากขึ้น โดยมีการจัดตั้ง Central Provident Fund หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง ที่คล้ายกับประกันสังคมในไทย ที่เมื่อเกษียณประชาชนจะมีรายได้เพียงพอในการดูแลตัวเองได้อย่างเพียงพอ เป็นเงินก้อนสำคัญในการดูแลประชาชนทั้งในด้านสินเชื่อบ้าน และด้านการรักษาพยาบาล
3
ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่เราเห็นสถานการณ์ รวยกระจุก จนกระจาย ที่คนรวยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่คนระดับล่างไม่เห็นการพัฒนาของคุณภาพชีวิต ไม่สามารถซื้อบ้าน หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างสิงคโปร์กับฮ่องกง ที่เราเห็นการออกมาประท้วงของเยาวชนในฮ่องกง เมื่อปี 2019 ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคือ เยาวชนฮ่องกงมองไม่เห็นอนาคตของตัวเองและราคาบ้านที่แพงเกินเอื้อม ก่อให้เกิดเป็นความสิ้นหวัง จนผลักดันให้ออกมาประท้วง แต่ในขณะที่เราไม่เห็นเหตุการณ์เหล่านี้กับเยาวชนในสิงคโปร์
2
อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ทางลีกวนยู อยากเห็นประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียกับประเทศมากขึ้น ในปี 1993 รัฐบาลได้นำบริษัท Singapore Telecom มาเข้าตลาดหุ้น และได้ให้สิทธิการซื้อหุ้นกับประชาชนที่ถูกกว่าราคาตลาด 50% โดยให้โบนัสอีกด้วย หากยังถืออยู่ใน ปีที่ 1 2 4 และ 6 จึงส่งผลให้ร้อยละ 90 ของประชากรวัยทำงานเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท Singtel เพราะลีกวนยูอยากให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนและจับต้องความสำเร็จของสิงคโปร์ได้
1
📌 วิสัยทัศน์ของลีกวนยู
การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นอีกหัวจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะแรก เพราะการที่ต่างประเทศมาลงทุนทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการสร้างศักยภาพของบุคลากรในสิงคโปร์ ในช่วงแรกรัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสร้างนิคมอุตสาหกรรม Jurong ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะสิงคโปร์ขาดแคลนน้ำ ขาดตลาดในประเทศที่ใหญ่เพียงพอ และไม่มี Supply Chain อื่นๆ รองรับ
2
แต่ด้วยความพยายามของลีกวนยู และรัฐบาล ในการแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มี ประชากรที่ขยันขันแข็ง ไว้ใจได้ เป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าลงทุน รัฐบาลรักษากฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ไม่เล่นพรรคเล่นพวก สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่า รัฐบาลไม่มีการคอรัปชั่น ทำกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อกับการทำธุรกิจ จนในที่สุด มีบริษัทข้ามชาติมาลงทุนอย่างมากมาย จนทำให้สิงคโปร์ร่ำรวยขึ้นมา และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ
4
วิสัยทัศน์ของลีกวนยู คือ การที่สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย จึงต้องทำให้สิงคโปร์แตกต่างจากที่อื่น การเป็นที่สองจึงไม่ดีพอ สำหรับการอยู่รอดของสิงคโปร์ สิงคโปร์จะต้องเป็นประเทศโลกที่หนึ่งในภูมิภาคประเทศโลกที่สาม สิงคโปร์จะต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุด ประชาชนต้องมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย รัฐบาลต้องโปร่งใส ปราศจากคอรัปชั่น กฎหมายต้องมีความชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องดึงดูดคนเก่งไม่ว่าจะเป็นคนประเทศอะไรก็ตามให้เข้ามาทำงานที่สิงคโปร์ และเมื่อประเทศเจริญ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนต้องดีขึ้นด้วย
4
📌 ลีกวนยูมองไทยอย่างไร
ลีกวนยูกล่าวว่าท่านประทับใจกับคุณภาพของข้าราชการกระทรวงต่างประเทศของไทยมาก ซึ่งในสมัยก่อนข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ได้ทำงานที่มีเกียรติ ได้เดินทางต่างประเทศบ่อย และได้รับค่าตอบแทนที่ดีมาก จึงสามารถดึงดูดคนที่มีคุณภาพมาทำงาน
2
คงเป็นผลพวงจากการที่ประเทศไทยโดนกดดัน ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส และท่านยังย้ำว่าไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นชาติตะวันตก แต่ลีกวนยูได้กล่าวว่า ข้าราชการหน่วยงานอื่นนั้นคุณภาพไม่สามารถเทียบเท่ากับข้าราชการกระทรวงต่างประเทศได้
2
ลีกวนยู ได้กล่าวชื่นชม พลเอก เปรม ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยที่มีความสามารถและแทบจะไม่มีปัญหาการคอรัปชั่นในช่วง 8 ปีที่ท่านดำรงตำแหน่ง ทำให้ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นวางรากฐานพัฒนาประเทศได้ และกำจัดอิทธิพลของเวียดนามที่มีต่อความมั่นคงของประเทศไปได้
1
📌 บททิ้งท้าย
ลีกวนยูได้สร้างประเทศสิงคโปร์บนหลักการที่ให้ความสำคัญกับความสามารถของคน ไม่ใช่เส้นสาย หรือฐานะ สิงคโปร์ก่อร่างสร้างตัวจากการที่เป็นสังคมที่ยุติธรรม ไม่สนใจเชื้อชาติ ศาสนา หรือ เส้นสาย โดยเน้นสนับสนุนคนที่มีความสามารถ
2
ลีกวนยูได้พูดถึงประเด็นที่หลายคนอาจจะมองว่า ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นลูกชายของลีกวนยู ได้รับตำแหน่งเพราะเป็นใช้เส้นสายและลีกวนยูสืบทอดอำนาจให้คนในครอบครัว ซึ่งประเด็นนี้
หากเราได้ศึกษาประวัติของลีเซียนลุง ท่านเองก็เป็นคนที่เรียนเก่งมาก สอบได้ที่หนึ่งของคณะคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนอาจารย์ต้องมาขอร้องให้ลีเซียนลุงเรียนต่อและกลับมาเป็นอาจารย์ในคณะ แต่ลีเซียนลุงได้ปฏิเสธเพราะตั้งใจแน่วแน่ว่าจะกลับมาพัฒนาสิงคโปร์
2
หลังจากลีกวนยูได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1990 ลีเซียนลุงได้กลับมาทำงานกับ นายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊กตง ถึงสองสมัย จนได้แสดงให้เห็นความสามารถจนได้รับความไว้วางใจเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด
ลีกวนยูได้กล่าวว่าการตัดสินใจว่าจะให้ใครเป็นหัวหน้าพรรค PAP ขึ้นอยู่กับทางมติพรรค ตัดสินด้วยความสามารถ มิใช่ การที่ตนเข้าไปใช้เส้นสาย
ลีกวนยูได้เคยพูดว่า ท่านยินดีที่ได้เห็นสิงคโปร์ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าท่านจะต้องแลกกับการทุ่มเทมาตลอดชีวิตก็ตาม !
1
อ่านบทความพิเศษเกี่ยวกับท่านลีกวนยู :
ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : www.bnomics.co
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
  • From third world to first: The Singapore Story 1965-2000, Memoirs of Lee Kuan Yew
เครดิตภาพ : Getty Image via CNBC และ Singapore Press Holdings Ltd.
โฆษณา