8 เม.ย. 2022 เวลา 11:06 • ประวัติศาสตร์
“มาซิโดเนีย (Macedonia)” นครรัฐผู้พิชิตครึ่งโลก
กองทัพแกะที่นำโดยสิงโต ย่อมดีกว่ากองทัพสิงโตที่นำโดยแกะ
ผู้นำ (Leader) คือ ผู้ที่มีอิทธิพลและสามารถใช้อำนาจให้คนอื่นทำงานต่างๆ ตามที่ต้องการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้...
ความเป็นผู้นำของมนุษย์นั้นมีได้หลากหลายรูปแบบ...
ทั้งผู้นำที่เก่งในเรื่องดึงความสามารถและศักยภาพของผู้ตาม...
หรือผู้นำที่เก่งในเรื่องการบริหารคนและงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด...
1
และอีกประเภทคือผู้นำที่มีความทะเยอทะยานสูงและสามารถขับเคลื่อนผู้ตามให้สามารถตอบสนองความทะเยอทะยานนั้นได้สำเร็จ...
ทุกท่านครับ ในตอนนี้เราก็ได้เดินทางมาถึงเรื่องราวสุดท้ายของอารยธรรมกรีก...
เรื่องราวที่นครรัฐเล็กๆ ได้พัฒนาตนเองแล้วกลายเป็นม้ามืดขึ้นสู่อำนาจเหนือแผ่นดินกรีก...
1
อีกทั้งนครรัฐนั้นได้มีการนำโดยชายผู้มีความฝันและความทะเยอทะยานอย่างแรงกล้า...
โดยประวัติศาสตร์ก็ได้นำพาให้ชายคนนี้เดินหน้าเข้าห้ำหั่นดินแดนต่างๆ กว่าครึ่งค่อนโลก...
พร้อมหลอมรวมอารยธรรมของกรีกและอารยธรรมของตะวันออกให้เป็นหนึ่งเดียว...
และนี่คือเรื่องราวของการพิชิตโลกของ "มาซิโดเนีย (Macedonia)" โดยการนำของชายผู้มีชื่อว่า "อเล็กซานเดอร์ (Alexander the Great)"
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
1
ภาพจาก Peakpx
หากกล่าวถึงชื่อของ "มาซิโดเนีย (Macedonia)" หลายท่านอาจจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่ ดังนั้น เราลองมาทำความรู้จักกับดินแดนนี้กันก่อน...
โดยมาซิโดเนียเป็นดินแดนที่อยู่ทางด้านเหนือของแผ่นดินกรีก ซึ่งมีชาวมาซิโดเนียนเป็นผู้เข้ามาตั้งรกราก โดยชาวมาซิโดเนียนนั้นก็เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์กรีกเช่นเดียวกันกับชาวดอเรียน (มีศูนย์กลางคือสปาร์ตา) และชาวไอโอเนียน (มีศูนย์กลางคือเอเธนส์)
1
แต่ทว่า นครรัฐต่างๆ ของกรีกที่อยู่ทางตอนใต้ในแถบเพโลพอนเนซุสและอัตติกานั้นก็ต่างมองหมู่ชนชาวมาซิโดเนียนว่าเป็นพวกชนกลุ่มน้อยหลังเขาห่างไกลจากความเจริญ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่เป็นช่วงพีคของสปาร์ตาและเอเธนส์นั้น มาซิโดเนียแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย...
แต่แล้ว ก็ได้มีเจ้าชายคนหนึ่งของมาซิโดเนียชื่อฟิลิป ได้มีโอกาสไปเรียนรู้วัฒนธรรมแบบกรีก ซึ่งพอกลับมาที่มาซิโดเนีย ฟิลิปก็ไม่ได้กลับมาตัวเปล่า แต่ได้นำเอาวิธีการรบอันไร้เทียมทานของกรีกกลับมาด้วย
นั่นคือ การรบโดยใช้กองทหารแบบฟาแลงซ์ (Phalanx) โดยจะเป็นการจัดทัพให้ทหารยืนแถวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและให้ถือหอกยาวเฟื้อยระดับ 5 เมตรชี้ไปข้างหน้า แล้วเดินกระหน่ำแทงข้าศึกไปเรื่อยๆ (ซึ่งถือว่าเป็นการรบยอดนิยมของกรีกในช่วงนั้นเลยล่ะครับ)
และเมื่อฟิลิปขึ้นเป็นกษัตริย์คือฟิลิปที่ 2 ก็ได้มีการนำเอาฟาแลงซ์มาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับลักษณะเฉพาะของทัพมาซิโดเนียนั่นคือการใช้ทหารม้า
พร้อมกับสร้างอุดมการณ์ของทหารในแบบฉบับมาซิโดเนียนั่นคือ "การรักและภักดีในแผ่นดินของตนเอง" ทำให้ทหารต่างพากันรบในความคิดแบบ "กองทัพแห่งชาติ" ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับกรีกในยุคนั้น
1
โดยตรงนี้จะแตกต่างจากอุดมการณ์ของสปาร์ตานะครับ เนื่องจากทหารสปาร์ตาไม่ได้รบเพื่อชาติหรือแผ่นดินตนเองเป็นหลัก แต่จะรบเพื่อเกียรติของตนเองมากกว่า...
1
และแล้ว กองทัพมาซิโดเนียนก็เริ่มกลายเป็นทัพที่น่าเกรงขาม ซึ่งเหมาะเจาะกับที่ทางฝั่งเอเธนส์และสปาร์ตาพึ่งตีกันมาหมาดๆ ในสงครามเพโลพอนเนเชียน ทำให้ทั้งสองมหาอำนาจอ่อนแอลงแบบสุดๆ
1
จึงเป็นโอกาสทองที่กษัตริย์ฟิลิป จะนำทัพมาซิโดเนียประกาศศักดาให้กับเหล่าแผ่นดินกรีกอันศิวิไลซ์ได้รับรู้ว่า "มาซิโดเนียไม่ได้ล้าหลังเหมือนแต่ก่อนแล้วนะ!"
ว่าแล้วทัพมาซิโดเนียก็นำทหารม้าผนวกกับทัพแบบฟาแลงซ์เข้าขยี้นครรัฐต่างๆ และรวมแผ่นดินกรีกให้อยู่ภายใต้มาซิโดเนียในที่สุด...
1
ภาพจาก Research Gate (กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย)
การจัดขบวนทัพแบบฟาแลงซ์
ภาพจาก Weapon and Warfare (ทัพฟาแลงซ์ของมาซิโดเนีย)
ภาพจาก Realms of History (ทัพม้าของมาซิโดเนีย)
หลังพิชิตกรีกได้แล้ว ฟิลิปมีความทะเยอทะยานอยากพิชิตมหาอำนาจต่างชาติอย่างเปอร์เซียซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกรีกมานานแสนนานอีกด้วย...
1
แต่ระหว่างที่เตรียมการรบนั้น ดันเกิดปัญหาภายในครอบครัวขึ้นมาก่อน โดยฟิลิปนั้นมีชายาองค์หนึ่งคือโอลิมเปียส และมีโอรสด้วยกันชื่อ "อเล็กซานเดอร์" แต่ฟิลิปมีนิสัยออกแนวคาสโนว่านิดๆ มีเมียเล็กเมียน้อยอยู่ไม่น้อยกว่า 2-3 คน ทำให้ไม่ค่อยกินเส้นกันกับโอลิมเปียสและมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอยู่ตลอด
สุดท้ายในวันหนึ่งฟิลิปก็ตัดสินใจแต่งงานใหม่กับหลานสาวแม่ทัพ ซึ่งเผอิญว่าแม่ทัพที่เป็นพ่อตาดันประกาศกลางงานแต่งว่า "ขอให้ทั้งสองมีโอรสที่จะกลายเป็นทายาทสืบทอดบัลลังก์อย่างถูกต้องชอบธรรม"
1
ซึ่งพออเล็กซานเดอร์ได้ยินเข้า ก็เลยขว้างแก้วใส่ปากแม่ทัพอย่างจัง! ทำให้ฟิลิปโกรธมากจนไล่อเล็กซานเดอร์ออกจากวัง
2
ในวันรุ่งขึ้นฟิลิปก็ได้เดินทางไปตะวันออกเพื่อเจรจาการทูต และก็ถูกลอบสังหารแบบฉับพลัน (บ้างก็ว่าโดนแทงหรือไม่ก็วางยาพิษ)
และตัวของฆาตกรก็ถูกจับตายโดยไม่มีการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตัดสินออกมาว่าฆาตกรเป็นสายที่เปอร์เซียส่งมาเด็ดหัวฟิลิป...
ซึ่งก็มีการสันนิษฐานต่ออีกทางหนึ่งครับว่า อาจจะเป็นฝีมือของโอลิมเปียสหรือไม่ก็อเล็กซานเดอร์เองก็ได้...
เพราะในท้ายที่สุด เหล่าแม่ทัพขุนนางก็ได้ยกให้อเล็กซานเดอร์ซึ่งเป็นทายาทเพียงหนึ่งเดียวขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของมาซิโดเนีย...
ภาพจาก History.com (การลอบสังหารกษัตริย์ฟิลิปที่ 2)
คราวนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับชายที่ชื่อว่าอเล็กซานเดอร์กันดีกว่าครับ...
โดยอย่างที่เล่าไปว่าอเล็กซานเดอร์เป็นโอรสเพียงองค์เดียวของกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 และโอลิมเปียส ทำให้ในช่วงวัยเด็กจึงถูกเลี้ยงดูมาในแบบฉบับของทายาทกษัตริย์
แต่ทว่า อเล็กซานเดอร์ค่อนข้างขาดความอบอุ่นจากพ่อ เนื่องจากฟิลิปสนใจแต่การเมืองและการรบของนครรัฐ จึงเลี้ยงดูลูกโดยการให้ลูกของแม่ทัพชื่อว่า "เฮฟาอีสเตียน" มาเป็นเพื่อนเล่นรวมถึงคอยรับใช้อยู่ข้างกายตลอดเวลา ทำให้ทั้งอเล็กซานเดอร์และเฮฟาอีสเตียนจะทำอะไรก็ต้องทำด้วยกันอยู่เสมอ
1
ในเรื่องของการเรียนหนังสือนั้น ก็มีการจ้างปรมาจารย์ระดับหัวกระทิอย่างอริสโตเติลมาถ่ายทอดเคล็ดวิชาทั้งปรัชญาและประวัติศาสตร์...
ซึ่งทั้งอเล็กซานเดอร์และเฮฟาอีสเตียนต่างก็ได้ซึมซับเรื่องราววัฒนธรรมในแบบของกรีกทางใต้อย่างเอเธนส์และสปาร์ตา รวมถึงโลกทางฝั่งตะวันออกอย่างเปอร์เซีย
1
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ความกระหายอยากรู้ก็ได้เกิดขึ้นในใจของอเล็กซานเดอร์ว่า "แล้วถัดไปจากเปอร์เซียล่ะ คืออะไร?"
1
อีกทั้ง อเล็กซานเดอร์ยังมีวีรกรรมสุดแสนวิเศษ ที่เมื่อฟิลิปได้ม้าตัวหนึ่งมา ซึ่งเป็นม้าที่พยศไม่ยอมฟังใคร แต่อเล็กซานเดอร์ก็ทำการปราบพยศม้าตัวนี้ได้อย่างหน้าตาเฉย ทำให้ม้าตัวนี้กลายเป็นม้าคู่ใจมาตั้งแต่ตอนนั้น พร้อมตั้งชื่อให้เสร็จสรรพว่า "บูเซฟาลัส"
1
และเมื่ออายุได้ 20 อเล็กซานเดอร์ก็ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์หลังจากกษัตริย์ฟิลิปถูกลอบสังหาร
การเป็นผู้นำอายุน้อยในช่วงที่มาซิโดเนียกำลังถึงจุดพีค แน่นอนว่าย่อมต้องถูกตั้งคำถามต่างๆ นานา รวมถึงข้อสงสัยที่ว่าอเล็กซานเดอร์จะนำพามาซิโดเนียไปในทิศทางไหนและจะไปรอดหรือไม่...
1
แต่ทว่า อเล็กซานเดอร์นั้นกลับมีความทะเยอทะยานอันแรงกล้ายิ่งกว่าฟิลิปในการสร้างมาซิโดเนียให้ก้าวไปอีกขั้น
มาซิโดเนียจะไม่หยุดแค่ที่กรีก...
แต่จะขยายอำนาจไปทางตะวันออกอย่างเปอร์เซียและไกลออกไปมากยิ่งกว่านั้นในดินแดนอันเป็นปริศนาชวนฉงนสงสัยสำหรับอเล็กซานเดอร์มาโดยตลอด...
ภาพจาก ภาพยนตร์เรื่อง Alexander (อเล็กซานเดอร์และเฮฟาอีสเตียน)
ภาพจาก Wikimedia Commons (การปราบม้าพยศบูเซฟาลัส)
อเล็กซานเดอร์ไม่ทิ้งช่วงเวลาให้นานเกินไป ตัดสินใจเตรียมทัพแบบรวดเร็วแล้วเข้าตีเอเชียไมเนอร์ (แถบตุรกี) แล้วข้ามทะเลลากยาวไปตีอียิปต์จนสำเร็จ และก้าวขึ้นเป็นฟาโรห์ของอียิปต์...
การใช้ทัพม้าผนวกกองทหารฟาแลงซ์เป็นการผสานที่กลมกล่อม ทำให้ทัพมาซิโดเนียถึงขั้นไร้เทียมทานแบบสุดๆ และการปลูกฝังอุดมการณ์ทหารในเรื่องของความภักดีต่อชาติ ทำให้ทหารสามารถติดตามอเล็กซานเดอร์ไปรบได้แทบทุกที่ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน...
1
หลังจากเก็บอียิปต์ได้แล้ว เป้าต่อไปคือจักรวรรดิเปอร์เซีย ซึ่งเรียกได้ว่าเหมือนเป็นการล้างแค้นของกรีก ที่ในช่วงก่อนหน้านี้เปอร์เซียได้พยายามแผ่อำนาจสู่กรีกจนเกิดเป็นมหาสงครามอยากกรีก - เปอร์เซียขึ้นมา...
1
โดยอเล็กซานเดอร์ก็ไม่รอช้า นำพากองทัพคู่ใจบุกตะลุยอาณาจักรแถบซีเรีย ปาเลสไตน์ และไปปะทะกับทัพเปอร์เซียซึ่งมีผู้นำคือกษัตริย์ดาริอุสที่ 3
อย่างไรก็ตาม สเกลกองทัพทั้งสองก็ต่างกันพอสมควร โดยทัพมาซิโดเนียมีทหารอยู่ 20,000 ส่วนเปอร์เซียมีทหารอยู่ 100,000 แต่ด้วยการรบอันไร้เทียมทานของมาซิโดเนีย ทำให้ศึกนี้ค่อนข้างยืดเยื้อแบบสุดๆ
1
ตัวของอเล็กซานเดอร์เล็งเห็นแล้วว่าหากทำศึกระยะยาวจะทำให้มาซิโดเนียเสียเปรียบ เพราะฉะนั้น ต้องจัดการที่ตัวของผู้นำ!
ว่าแล้วในการตะลุมบอนครั้งหนึ่ง อเล็กซานเดอร์ก็ล็อคเป้าไปที่ดาริอุสที่ 3 ซึ่งอยู่แนวหลัง ใช้กลยุทธ์ให้ทหารตัวเองเบิกทางทัพเปอร์เซียให้ได้มากที่สุด แล้วทำการควบบูเซฟาลัส บุกเดี่ยวอย่างบ้าระห่ำฝ่าทัพเปอร์เซีย จนไปถึงระยะสังหารจึงซัดหอกใส่ดาริอุสที่ 3 แต่ทว่า ดันพลาดเฉียดเป้าไปนิดเดียว...
อย่างไรก็ตาม แม้จะซัดหอกไม่ถูก แต่ก็ทำให้ดาริอุสที่ 3 ตกใจแบบสุดขีด หนีออกจากสนามรบและทิ้งเมืองไปหลบบนเขาในที่สุด
2
เมื่อผู้นำขวัญกระเจิง เหล่าทัพเปอร์เซียก็ไม่รู้ว่าจะสู้ไปเพื่ออะไร ทำให้ฝ่ายที่กำชัยชนะคือมาซิโดเนีย และอเล็กซานเดอร์ก็เข้ายึดศูนย์กลางอำนาจของเปอร์เซียที่เปอร์ซีโปลิส (Persepolis) พร้อมก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ของเปอร์เซีย อีกทั้งยังลากไปตีอาณาจักรข้างเคียงอย่างบาบิโลเนียได้อย่างง่ายดายอีกด้วย...
1
ทำให้จักรวรรดิของกรีกภายใต้อเล็กซานเดอร์ในช่วงเวลานั้น กลายเป็นดินแดนที่มีขนาดพื้นที่อำนาจใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณเลยล่ะครับ
ภาพจาก History.com (การเข้าตีเปอร์เซีย)
ภาพจาก AKG (อเล็กซานเดอร์ซัดหอกใส่ดาริอุสที่ 3)
หลังจากยึดเปอร์เซียได้แล้ว ดูเหมือนว่าอเล็กซานเดอร์ต้องการที่จะไปเห็นดินแดนถัดจากเปอร์เซียออกไป ทำให้พักรบได้ไม่นาน ก็นำทหารมุ่งสู่ดินแดนตะวันออก...
และแล้วทัพมาซิโดเนียก็ได้เดินทางไปจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ เข้าตีนครแห่งปัญญาของอารยธรรมตะวันออกอย่างตักสิลา แล้วรุกเข้าสู่ปัญจาบ (อยู่ทางด้านเหนือของอินเดีย) ซึ่งมีกษัตริย์คือ "เปารวะ (Porus)" ตั้งด่านเตรียมต้อนรับผู้มาเยือนเป็นอย่างดี...
ว่าแล้วทัพทั้งสองก็เข้าห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด กองทหารฟาแลงซ์ยังคงใช้ได้ดีเมื่อเจอกับทหารอินเดีย แต่ทว่า ฝ่ายเปารวะก็ควักอาวุธหนักมาใช้ถล่มทัพอเล็กซานเดอร์แบบไม่ทันตั้งตัว
ซึ่งอาวุธหนักที่ว่า คือ ช้างศึกนั่นเองครับ...
1
ทัพมาซิโดเนียที่แน่นอนว่าไม่เคยประสบพบเจอกับสัตว์มหึมารายนี้มาก่อน ทำให้โดนช้างศึกถล่มจนแตกกระเจิง ขบวนฟาแลงซ์อันไร้พ่ายเมื่ออยู่ต่อหน้าสัตว์ร้ายนี้ก็ยากที่จะต้านทานไว้ได้!
1
ทหารมาซิโดเนียที่ไม่รู้วิธีรับมือกับช้างก็พากันแตกทัพ บุกทลวงมั่วซั่วไปหมด ศึกในครั้งนี้กลับกลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของทัพมาซิโดเนียเลยล่ะครับ...
เมื่อเห็นแบบนั้นอเล็กซานเดอร์จึงสั่งให้ถอยทัพกลับอย่างห่อเหี่ยว แต่ทว่า ระหว่างที่ถอยนั้น ฝ่ายทหารมาซิโดเนียได้จับกุมเชลยคนหนึ่งที่บาดเจ็บสาหัส ซึ่งปรากฏว่าเชลยคนนั้นดันเป็นกษัตริย์เปารวะ!
1
ทำให้คราวนี้ก็เข้าทางอเล็กซานเดอร์พอดี มีการให้เปารวะเข้ามาพูดคุยเป็นการส่วนตัว ซึ่งสุดท้ายอเล็กซานเดอร์ก็ให้เปารวะกลับไปเป็นกษัตริย์ต่อ แต่อยู่ในฐานะประเทศราชของฝ่ายกรีก (อาจนับได้ว่าอเล็กซานเดอร์สามารถพิชิตภาคเหนือของอินเดียได้แล้ว)
3
และความทะเยอทะยานของอเล็กซานเดอร์เหมือนจะยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะมีการสั่งให้เดินทัพไปทางตะวันออกที่ไกลกว่านี้อีก
แต่ทว่า จากมาซิโดเนียมาจนถึงอินเดียนั้น ระยะทางไม่ใช่เล่นๆ เลยล่ะครับ เหล่าทหารที่ถึงแม้จะภักดีต่อมาซิโดเนียและอเล็กซานเดอร์ขนาดไหนก็ย่อมต้องบ่นอิดออดอยากกลับบ้านกันเป็นธรรมดา...
เมื่อทหารไม่มีใจแล้ว ทำให้อเล็กซานเดอร์ต้องพับโครงการพิชิตเอเชียไว้เพียงแค่นี้...
1
ซึ่งน่าคิดเหมือนกันนะครับว่า หากอเล็กซานเดอร์เดินทัพต่อไปจนถึงจีน ซึ่งตรงกับไทม์ไลน์ในช่วงยุคจ้านกว๋อที่นครรัฐต่างๆ กำลังตะลุมบอนแย่งชิงแผ่นดินจีนกันอย่างดุเดือด หากมีทัพมาซิโดเนียเข้าไปผสมโรงด้วย ประวัติศาสตร์ของโลกอาจจะเปลี่ยนไปอีกแบบเลยก็ได้ (เรื่องยุคจ้านกว๋อสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ "ฉิน (Qin)" นครรัฐผู้พิชิตแผ่นดินจีน)
2
ภาพจาก Mocah Wallpapers (ช้างศึกอินเดีย)
ภาพจาก inf.news (ช้างศึกอินเดีย)
ภาพจาก Research Gate (พื้นที่อำนาจและการเดินทัพของอเล็กซานเดอร์)
หลังจากศึกที่อินเดีย ทัพมาซิโดเนียก็เดินทางกลับ ตัวของอเล็กซานเดอร์ก็ไปพักผ่อนระยะยาวที่บาบิโลเนีย และหลังจากนั้นไม่นานเฮฟาอีสเตียน ซึ่งเป็นสหายคู่ใจและเป็นที่ปรึกษาร่วมรบกับอเล็กซานเดอร์มาตลอดดันป่วยและเสียชีวิตลง...
2
การตายของเฮฟาอีสเตียนทำให้อเล็กซานเดอร์เสียศูนย์แบบสุดๆ เนื่องจาก เฮฟาอีสเตียนเป็นทั้งคนรับใช้ ทหาร ที่ปรึกษา เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนรักสำหรับอเล็กซานเดอร์เลยทีเดียว
ความเศร้าโศกที่สุดแสนจะบรรยายนั้น ทำให้อเล็กซานเดอร์เก็บตัวเงียบไม่พูดกับใคร มีเพียงแค่น้ำเมาเป็นเพื่อนย้อมหัวใจถึง 7 วัน 7 คืน (โดยอากาศของบาบิโลเนียเรียกได้ว่าร้อนสุดๆ)
ทำให้อเล็กซานเดอร์เกิดทรุดและป่วยอย่างหนัก จนจากโลกไปในวัยเพียงแค่ 33 (บ้างก็ว่าป่วยด้วยโรคมาลาเรีย)
1
และแล้วบัลลังก์ที่ครอบคลุมพื้นที่อำนาจกว่าครึ่งโลกก็เกิดสั่นคลอน ข่าวการจากไปของอเล็กซานเดอร์ได้ถูกกระพือไปทั่วทุกสารทิศ เหล่าอาณาจักรต่างๆ ที่เคยตีได้ก็พากันประกาศอิสรภาพตัวเอง รวมถึงนครรัฐต่างๆ ในกรีกก็ทยอยปลดแอกจากมาซิโดเนีย...
เหล่าแม่ทัพก็ต่างพากันแย่งชิงอำนาจเพื่อไขว่คว้าบัลลังก์ของมาซิโดเนีย เกิดเป็นสงครามกลางเมืองยาวนานกว่า 40 ปี
จักรวรรดิครึ่งโลก ในท้ายที่สุดก็ได้ล่มสลายลงไปตามร่างกายและจิตวิญญาณของอเล็กซานเดอร์...
ภาพจาก ภาพยนตร์ Alexander (การตายของเฮฟาอีสเตียน)
ภาพจาก History.com (การตายของอเล็กซานเดอร์)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจักรวรรดิของอเล็กซานเดอร์จะล่มสลายลงไป แต่แบบแผนอารยธรรมกลับถูกสานต่อออกไปในรูปแบบที่เรียกว่า "เฮลเลนิสติก (Hellenistic)" ซึ่งเป็นการผสานระหว่างความเป็นกรีกอันเป็นอารยธรรมแบบตะวันตกเชื่อมเข้ากับอารยธรรมแบบตะวันออก...
1
ก่อนการเข้ามาของมาซิโดเนียและอเล็กซานเดอร์ โลกตะวันตกและตะวันออกนั้นถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยกำแพงที่ชื่อว่าเปอร์เซีย...
การพิชิตเปอร์เซียของอเล็กซานเดอร์ ทำให้วัฒนธรรมทั้งสองถูกหลอมรวมเข้าด้วยกัน มีการสนับสนุนให้คนตะวันตกแต่งงานกับคนตะวันออก ทั้งยังสร้างเมืองใหม่ไม่น้อยกว่า 70 แห่ง เพื่อเป็นเมืองที่ผู้คนทั้งทางตะวันตกและตะวันออกได้มาอยู่รวมกัน ทำให้โลกทั้งสองฝั่งสามารถทำรู้จักกันและกันได้มากยิ่งขึ้น...
สิ่งเหล่านี้ในท้ายที่สุดก็ได้ทำให้เกิดการปฏิวัติทางเศรษฐกิจในยุคโบราณ เมื่อมีการเชื่อมเส้นทางการค้าจากแม่น้ำไนล์ไปสู่แม่น้ำสินธุตามเส้นทางการเดินทัพของอเล็กซานเดอร์...
และในอนาคตเส้นทางการค้านี้จะขยายใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นเส้นทางการค้าทางบกขนาดใหญ่ในชื่อ "เส้นทางสายไหม (Silk Route)" ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและก่อเกิดมหานครตามรายทางขึ้นมากมาย
1
กล่าวได้ว่า ความเป็นเฮลเลนิสติกที่เกิดขึ้นจากการพิชิตโลกของมาซิโดเนียภายใต้การนำของอเล็กซานเดอร์นั้น ได้เป็นการเร่งกงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและมนุษยชาติสามารถมุ่งไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด...
2
และนี่ คือเรื่องราวของ "มาซิโดเนีย (Macedonia)" นครรัฐผู้พิชิตครึ่งโลก
ภาพจาก English with Sophia (อเล็กซานเดรีย มหานครใหม่ที่สร้างตามชื่ออเล็กซานเดอร์ และเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในยุคนั้น คาดการณ์ประมาณ 500,000 - 1,000,000 คน  และกลายเป็นศูนย์กลางการสร้างวิทยาการของโลกตะวันออก)
References
Boardman, John. The Oxford History of Greece and the Hellenistic World. Oxford : Oxford University Press, 1991.
Freeman, Phillip. Alexander the Great. New York : Simon & Schuster, 2011.
History, Housley. Persian Empire : A History from Beginning to End. Chicago : ‎Independently published, 2021.
โฆษณา