9 เม.ย. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ครั้งหนึ่งในประเทศอังกฤษ หมีและสุนัขเคยถูกนำมาต่อสู้กันในสังเวียน หรือเรียกว่า "Bear-baiting" และยังมองว่าการทารุณสัตว์เช่นนี้เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สร้างความสนุกและความบันเทิงให้แก่ผู้ชม
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ลุงเบ็นจะเล่าให้ฟังครับ
Bear-baiting ถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่โหดร้ายและทารุณต่อสัตว์ กีฬาชนิดนี้จะนำหมีเข้าไปในสังเวียนและล่ามคอล่ามขาไว้ด้วยโซ่ และผู้ชมก็จะวางเงินพนันก่อนเริ่มการแข่งขัน หลังจากนั้นฝูงสุนัขจะถูกปล่อยออกมา (ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์บูลด็อกหรือมัสติฟ) เพื่อสู้กับหมี
“มันช่างเป็นกีฬาที่ดูแล้วเพลิดเพลินเสียจริง” ราชวงศ์ในยุคอลิซาเบแทน (Elizabethan) ได้กล่าวไว้ในปี 1575 และพวกเขายังกล่าวถึงเหตุการณ์ขณะทำการแข่งขันอีกว่า “หมีที่มีดวงตาสีชมพู โจมตีศัตรูด้วยการกัด ข่วน บ้างก็คำราม หรือกัดแล้วโยนจนอีกฝ่ายล้มไป ”
การแข่งขันนองเลือดนี้จะจบลงได้ก็ต่อเมื่อหมีได้ฆ่าสุนัขทุกตัวในสังเวียนแล้ว
แล้วถ้าหมีเป็นฝ่ายล้มลงแล้วแพ้ไปล่ะ? เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะหมีเป็นสัตว์ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้หมีหนึ่งตัวมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้จัดต้องแน่ใจว่าหมีของพวกเขาจะไม่ตายในระหว่างการต่อสู้
ภาพประกอบ 1 : การแข่งขัน Bear-baiting ในศตวรรษที่ 16
จากการแข่งขันนี้ หมีบางตัวได้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์คนดังเพราะต่อสู้ได้ถูกใจคนดู จนหลาย ๆ คนถึงกับตั้งชื่อหรือฉายาให้หมีเหล่านี้ เช่น Ned Whiting, Harry Hunks, Blind Bess และหนึ่งในชื่อตัวละครในละครของเชคสเปียร์เรื่อง The Merry Wives of Windsor ก็ถูกอ้างอิงมากจากหมีที่โด่งดังอย่าง Sackerson อีกด้วย
Bear-baiting ในอังกฤษเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคกลาง และเริ่มกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงปี 1500
ผู้จัดแสดงอย่างฟิลลิป เฮนสโลว์ (Philip Henslowe) ได้ก่อตั้งสถานที่ต่อสู้ของสัตว์โดยเฉพาะ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝั่งทางใต้ของแม่น้ำเทมส์ เป็นสนามกีฬาขนาดเล็ก ที่มีเสียงเชียร์ดังสนั่น และชุ่มโชกไปด้วยเลือด จนสนามกีฬาแห่งนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม
ถึงแม้การเขียนบทละครของเชคสเปียร์, คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ และเบ็น จอห์นสัน จะนำอังกฤษเข้าสู่ยุคทองของการแสดงและการละคร แต่ผู้ชมจากทุกชนชั้นทางสังคมยังคงเพลิดเพลินไปกับการต่อสู้อันไร้ศิลปะและไร้ซึ่งความเมตตาในสังเวียนหมีแห่งนี้
ภาพประกอบ 2 : Bear-baiting ที่ถูกจัดขึ้นที่ลอนดอน โดยมีผู้คนจากหลายชนชั้นเข้ามาร่วมชม
ควีนอลิซาเบธที่ 1 ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแฟนตัวยงของการจัด Bear-baiting และยังเคยจัดนิทรรศการสำหรับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่มาเยี่ยมเยียนอังกฤษอีกด้วย ในขณะเดียวกัน พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ก็เป็นแฟนตัวยงของ Bear-baiting เช่นกัน โดยเขาเคยจัดการแข่งขันส่วนตัวระหว่างหมีขั้วโลกและสิงโตที่ยืมมาจากโรงเลี้ยงสัตว์ใน Tower of London
นอกจากหมีแล้ว สนามกีฬาในอังกฤษยังเป็นเจ้าภาพในจัดการต่อสู้ของสัตว์ต่างๆ เช่น หนู, แบดเจอร์, สุนัข, การชนไก่ และการแสดงที่ทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนอื่น ๆ เช่น การแสดงของหมีตาบอด หรือการต่อสู้ระหว่างวัวกระทิงกับสุนัขที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะผู้ชมต่างตื่นเต้นเร้าใจที่ได้เห็นกระทิงขวิดสุนัขจนลอยขึ้นไปในอากาศ
ภาพประกอบ 3 : Bull-baiting หรือการนำวัวกระทิงมาต่อสู้กับสุนัข
ผู้ชมหลายคนที่ได้ชมการแสดงเหล่านี้ต่างออกมาวิพากษ์วิจารย์ถึงความโหดร้ายทารุณที่มีต่อสัตว์ รัฐมนตรีและนักบวชหลายคนออกมากล่าวว่า การแสดงเหล่านี้ต่างส่งเสริมการพนัน การเมาสุรา รวมถึงการค้าประเวณี
แม้จะมีการประท้วงจากเหล่านักวิจารณ์ แต่กีฬาอันโหดร้ายนี้ยังคงถูกจัดขึ้นต่อเนื่องตลอดศตวรรษที่ 17
สนามแข่งขันหลักของ Bear-baiting ในลอนดอนได้ปิดตัวลงในช่วงสั้น ๆ ในปี 1656 ซึ่งการปิดตัวลงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามทางศีลธรรมที่จัดโดยลอร์ดโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Lord Oliver Cromwell) แต่หลังจากปิดตัวไม่นาน การแข่งขันก็กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1662
จนกระทั่งถึงช่วงปี 1700 ความนิยมของ Bear-baiting ก็ลดลง เพราะทัศนคติที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการทารุณสัตว์ได้ทำให้หลายคนมองว่ากีฬาเหล่านี้เป็นการกระทำที่เลวทรามและน่ารังเกียจ
1
จนสุดท้าย รัฐสภาอังกฤษมีมติสั่งห้ามการจัดการแข่งขันทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการทารุณสัตว์ในปี 1835 ส่งผลให้ Bear-baiting ถูกยกเลิกไปในที่สุด
แต่ร่องรอยประวัติศาสตร์ของ Bear-baiting ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้อย่างถนนสองสายในลอนดอนใต้ยังคงเรียกว่า "Bear Gardens" และ "Bear Lane" เพราะถนนสองสายนี้เคยเป็นสถานที่การจัดการแข่งขัน Bear-baiting มาก่อน
ภาพประกอบ 4 : ป้ายถนน Bear Gardens ในปัจจุบัน
อีกทั้งชื่อสายพันธุ์สุนัขอย่าง “อิงลิช บูลด็อก” ก็ได้ชื่อมาจากอดีตที่สุนัขพันธุ์นี้เคยถูกนำมาต่อสู้กับหมีและกระทิงนั่นเอง
หากชอบเรื่องราวนี้และอยากติดตามเรื่องราวใหม่ ๆ อย่าลืมกดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้ลุงเบ็นด้วยนะครับ
References:
ภาพประกอบ 3 : https://en.wikipedia.org/wiki/Bull-baiting
โฆษณา