16 เม.ย. 2022 เวลา 11:50 • ประวัติศาสตร์
“เขมรแดง (Khmer Rouge)” ยุคสมัยแห่งการชำระล้างในกัมพูชา
เราจะเผาหญ้าเก่าให้หมดสิ้น เพื่อให้หญ้าใหม่ที่งอกงามกว่าได้เติบโตขึ้นมา
พอล พต
2
"ความเปลี่ยนแปลง" เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์
1
ความเปลี่ยนแปลงนั้น บางครั้งอาจนำพาสังคมไปสู่ความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง และความดีงาม
แต่บางครั้งอาจนำพาสังคมไปสู่ความถดถอย ความขัดแย้ง และความโหดร้าย
1
โลกในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นโลกที่เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมากที่สุดช่วงหนึ่ง
สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างเป็นกลไกที่ทำให้สังคมมนุษย์เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านอำนาจ เศรษฐกิจ และการเมือง
อีกทั้งสงครามทั้งสองครั้งก็ได้นำพาโลกเข้าสู่สงครามรูปแบบใหม่อย่างสงครามเย็น อันเป็นกลไกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในดินแดนต่างๆ จวบจนปัจจุบัน...
เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี คิวบา อัฟกานิสถาน ฯลฯ
2
เหล่านี้ต่างเกิดความเปลี่ยนแปลงจากสงครามเย็นที่แตกต่างกันออกไป...
เช่นเดียวกับดินแดนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกฟันเฟืองสงครามเย็นขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง...
ความเปลี่ยนแปลงที่ถอนรากถอนโคนระบบต่างๆ...
ความเปลี่ยนแปลงที่ล้างบางแทบทุกสิ่ง...
12
ความเปลี่ยนแปลงที่ไร้ซึ่งทฤษฎีหรือจุดมุ่งหมายที่แน่นอน...
1
ความเปลี่ยนแปลงที่นำพาดินแดนนั้นไปสู่โศกนาฏกรรมอันโหดร้ายทารุณ...
3
สังคมนิยมคอมมิวนิสต์...
เสรีประชาธิปไตย...
สงครามประชาชน...
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์...
ทุ่งสังหาร...
S21...
1
ตวลสเลง...
และนี่ คือเรื่องราวของ "เขมรแดง (Khmer Rouge)" ยุคสมัยแห่งการชำระล้างในกัมพูชา
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ภาพจาก ภาพยนตร์ First Day Kill My Father
ดินแดนที่เป็นฉากหลังของเรื่องราวในครั้งนี้ถูกเรียกว่า "กัมพูชา" ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่บริเวณคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประกอบไปด้วยลาว เวียดนาม และกัมพูชา)
1
ในดินแดนกัมพูชามียุคสมัยที่พีคสุดๆ คือในช่วง "เขมรพระนคร" ที่เป็นมหาอำนาจแผ่ขยายอิทธิพลของตัวเองทั้งการเมืองและวัฒนธรรม รวมถึงมีการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่และชวนพิศวงในยุคโบราณ
4
แต่เขมรพระนครนั้นตั้งอยู่ได้ด้วยความเชื่อในเรื่องเทวราชาเป็นหลัก ทำให้เมื่อมีความเชื่อใหม่อย่างพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามา ยุคสมัยเหล่านั้นจึงค่อยๆ ดรอปลงไป
2
หลังจากยุคเขมรพระนครนั้น ดินแดนนี้ก็ผลัดไปอยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจในดินแดนข้างเคียงอย่างไทยและเวียดนาม
1
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 19 ยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการตามล่าดินแดนและทรัพยากร มหาอำนาจจากตะวันตกนามว่าฝรั่งเศสก็ได้เล็งบริเวณอินโดจีนเพื่อเป็นฐานสำคัญในการทำการค้ากับจีน
ฝ่ายกัมพูชาที่ทำศึกสามเส้าระหว่างไทยกับเวียดนามมายาวนาน ก็อยากดึงฝรั่งเศสเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับสองหน่อเพื่อหลุดพ้นจากวังวนเหล่านี้
2
ว่าแล้วก็มีการทำสัญญาให้กัมพูชาเป็นรัฐอารักขาฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสจะเข้าควบคุมเรื่องต่างประเทศ แต่จะรับรองอำนาจของกษัตริย์กัมพูชา
ไม่เพียงแต่กัมพูชาเท่านั้น แต่อินโดจีนทั้งหมดอย่างลาวกับเวียดนามก็ถูกฝรั่งเศสเข้าควบคุมในภายหลัง ซึ่งหลักๆ นั้นจะเป็นเวียดนามที่ฝรั่งเศสใส่ใจเป็นพิเศษ มีการเข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเวียดนามจนถึงราก (แตกต่างกับกัมพูชาที่ยังคงรูปแบบวัฒนธรรมเดิมเอาไว้อยู่)
2
แต่แล้ว ในเวลาต่อมา ฝรั่งเศสก็ปิ๊งไอเดียทำการรวมทั้งสามดินแดนให้เป็นประเทศเดียวกันภายใต้ "สหพันธ์อินโดจีน" เพื่อง่ายต่อการปกครอง ทำให้ทั้งสามดินแดนมีการเคลื่อนย้ายทั้งประชากรและทรัพยากรไปมาได้อย่างอิสระ
4
ซึ่งแน่นอนว่าตลอดการปกครองในรูปแบบนี้ของฝรั่งเศสย่อมมีผู้ต่อต้าน โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นหัวหอกในการกระด้างกระเดื่องต่อฝรั่งเศส พร้อมกับแพร่ขยายอุดมการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมไปสู่ลาวและกัมพูชา
2
และแล้วใน ค.ศ.1917 ก็ได้เกิดการปฏิวัติรัสเซียขึ้นโดยพรรคบอลเชวิก ซึ่งใช้หลักการโฉมใหม่อย่างคอมมิวนิสต์ขับเคลื่อนคณะปฏิวัติ จนสร้างสหภาพโซเวียตได้ใน ค.ศ.1922
2
เทรนด์ของคอมมิวนิสต์ได้แพร่มาจนถึงอินโดจีน จนมีชายคนหนึ่งนามว่า "โฮจิมินห์" ที่ได้ใช้ไอเดียของคอมมิวนิสต์ มาเป็นตัวจุดชนวนให้เหล่ามหาชนอินโดจีนลุกขึ้นปฏิวัติโค่นล้มเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส
1
โฮจิมินห์มีการสร้าง "พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม" พร้อมขยายเครือข่ายไปทั่วอินโดจีนจนกลายเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน" รวมถึงขยายไปสู่ดินแดนข้างเคียงอย่างไทย เพื่อดึงแนวร่วมให้ได้มากที่สุด แต่ทว่า ก็ยังอ่อนกำลังมากเกินไปไม่สามารถล้มฝรั่งเศสได้อยู่ดี
2
จนในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ามาควบคุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเข้าครองอินโดจีนแทนฝรั่งเศส
1
แต่เมื่อสงครามจบ ญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้ก็ต้องถอนตัวออกไป ทำให้เหล่าอินโดจีนโดยเฉพาะเวียดนามตื่นเต้นดีใจกันสุดๆ ว่า "จะเป็นอิสระแล้ว!"
1
แต่ดีใจได้ไม่นาน ฝรั่งเศสเจ้าเดิมก็ดันกลับเข้ามาเป็นมาเฟียคุมอินโดจีนอีกครั้ง
5
คราวนี้ทั้งเวียดนาม ลาว และแม้กระทั่งกัมพูชาต่างคิดตรงกันว่าควรต่อต้านฝรั่งเศสอย่างจริงจังโดยใช้หลักการคอมมิวนิสต์เป็นตัวนำ
2
ซึ่งในกัมพูชาก็ได้มีการจัดตั้ง "พรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชา" ขึ้นมาเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส
รวมถึงอีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มนักศึกษาของกัมพูชาซึ่งไปเรียนที่ฝรั่งเศสได้มีการศึกษาแนวคิดคอมมิวนิสต์ พร้อมกับเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในฝรั่งเศส
โดยนักศึกษาเหล่านี้นี่แหละ จะเป็นรากฐานที่สร้างความเป็น "เขมรแดง" ในอนาคต...
5
ภาพจาก viator (นครวัด หนึ่งในสถาปัตยกรรมของยุคเขมรพระนคร)
ภาพจาก Flickr (โฮจิมินห์)
เหล่านักศึกษาที่ได้ไปร่ำเรียนในฝรั่งเศส ประกอบไปด้วย เขียว พอนนารี, ซอล เซน, เทียน มูม, เขียว สัมพันธ์, เคน วัง สัก, ฮู ยวน, และซาลอธ ซาร์
3
ช่วงเวลาที่กลุ่มนี้ได้ไปเรียนนั้น เป็นช่วงที่คอมมิวนิสต์เริ่มบูมในยุโรป โดยฟากยุโรปตะวันออกอย่างโซเวียตและยูโกสลาเวียต่างเป็นคอมมิวนิสต์และพยายามแพร่ขยายหลักการของตนเองเข้าสู่ยุโรปตะวันตก
1
ภาวะแบบนี้นี่แหละครับ ที่เป็นตัวบ่มเพาะสำคัญต่อแนวคิดทางการเมืองของนักศึกษาเหล่านี้
ซึ่งคนที่มีเค้าของความเป็นผู้นำมากที่สุดในกลุ่ม คือ ซาลอธ ซาร์ หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ "พอล พต" ที่ได้นำกลุ่มเดินทางกลับกัมพูชาแล้วเข้าร่วมกับกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสใน ค.ศ.1953
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกัมพูชาที่นำโดยกษัตริย์นโรดมสีหนุ ก็เดินทางไปเจรจากับฝรั่งเศสรวมถึงสหรัฐอเมริกาเพื่อให้กัมพูชาได้รับอิสรภาพ
1
ทำให้ในกัมพูชาก็ได้มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่เข้ากับฝ่ายเวียดนาม และ 2) กลุ่มที่เข้ากับฝ่ายรัฐบาล
1
และแล้ว ฝ่ายอินโดจีนที่มี "กองกำลังเวียดมินห์" ของเวียดนามเป็นหัวเรือหลักก็มีการขยายกองทัพจนใหญ่โต ทำศึกตัดสินกับฝรั่งเศสที่เตียนเบียนฟูใน ค.ศ.1954 และเป็นผู้กำชัยชนะจนนำไปสู่การเจรจาที่เจนีวา
3
โดยการเจรจานี้มีมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ทั้งอินโดจีนได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส แต่เวียดนามต้องถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนตามเส้นขนานที่ 17
4
โดยเหนือเส้นขึ้นไปคือเวียดนามเหนือ ที่อยู่ภายใต้กลุ่มเวียดมินห์ขับเคลื่อนโดยคอมมิวนิสต์...
1
และใต้เส้นลงมาคือเวียดนามใต้ ที่จะขับเคลื่อนโดยใช้ประชาธิปไตย...
2
แน่นอนว่า หลังการแบ่งนี้เวียดนามเหนือมีการพยายามที่จะรวมเวียดนามใต้ แต่สหรัฐที่เป็นผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยย่อมไม่มีทางให้เกิดเรื่องแบบนั้นเด็ดขาด!
1
และจากการที่จีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1949 รวมถึงเรื่องเวียดนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์พยายามรวมเวียดนามใต้
ทำให้สหรัฐเริ่มหันมาสนใจต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในเวียดนามใต้ทำการยันกับเวียดนามเหนือ และมีการเข้าแทรกแซง พร้อมให้ทุนสนับสนุนรัฐบาลในแถบนี้ทั้งไทย ลาว และกัมพูชาเพื่อต่อต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์
โดยในกัมพูชา สหรัฐก็เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยนโรดมสีหนุในการต่อต้านคอมมิวนิสต์...
1
และฝ่ายพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชาที่เป็นกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศส ก็ได้มีเหล่านักศึกษากัมพูชาที่นำโดย "พอล พต" เข้ามาเป็นแกนหลักแล้วแปรเปลี่ยนเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา" หรือ "เขมรแดง (Khmer Rouge)" ที่มีจุดหมายเพื่อปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลและเปลี่ยนกัมพูชาเป็นคอมมิวนิสต์
1
เรียกได้ว่า แทนที่การหลุดพ้นจากฝรั่งเศสของเหล่าอินโดจีนจะนำไปสู่สันติสุขและอิสรภาพ แต่กลับนำพาไปสู่สงครามอุดมการณ์ที่แสนจะวุ่นวายและลากยาวไปเกือบ 20 ปี...
2
ภาพจาก Mynewsdesk (ซาลอธ ซาร์ หรือพอล พต)
ภาพจาก Alpha History (กษัตริย์นโรดม สีหนุ)
ภาพจาก ResearchGate (การแบ่งเวียดนาม)
ในช่วงแรกนั้น นโรดมสีหนุค่อนข้างเอนเอียงไปทางสหรัฐ แต่ในเวลาต่อมาสีหนุต้องการที่จะวางกัมพูชาให้เป็นกลางในความอีรุงตุงนังนี้ เลยหันหน้าไปเจรจากับจีนจนมีการทำความสัมพันธ์ทางการทูตกัน เพราะ "จีนจะรับรองความเป็นกลางของกัมพูชา"
2
ทำให้ ภายในรัฐบาลของกัมพูชาเกิดเสียงแตกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่โปรจีนนำโดยสีหนุ และฝ่ายที่โปรสหรัฐนำโดยนายพลลอน นอล ซึ่งฟาดฟันกันอยู่ภายใน
และตั้งแต่ ค.ศ.1965 เป็นต้นมา ที่สหรัฐนำโดยประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ได้มีการส่งทหารเข้ามาในเวียดนามใต้อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้สงครามในเวียดนามขยายตัวและรุนแรงขึ้น
กองทัพสหรัฐมีการถล่มเวียดกง (ขบวนการคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้) และเวียดนามเหนืออย่างหนักหน่วง จนสเกลของสงครามลามมาถึงชายแดนกัมพูชา
ทำให้ด้านสีหนุคิดว่าสหรัฐข้ามเส้นมากเกินไปแล้ว! เลยอนุญาตให้เวียดนามเหนือพร้อมเวียดกงมาตั้งฐานในกัมพูชา และประสานงานให้จีนเป็นสปอนเซอร์ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลกัมพูชาจะขอแค่ส่วนแบ่งเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น...
อีกทั้งสีหนุยังมีการใช้นโยบายเศรษฐกิจขยายพื้นที่ปลูกยางพาราและบังคับประชาชนให้ขายข้าวแก่รัฐบาล!
1
แน่นอนว่า เหล่าชาวนาต่างพากันลุกฮือเพื่อต่อต้านรัฐบาลขึ้นมาในภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ และรัฐบาลก็ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการเติมเชื้อไฟความโกรธแค้นเข้าไปอีก...
1
ฝ่ายเขมรแดง จึงใช้โอกาสนี้เริ่มขยายอิทธิพลและกองกำลัง โดยยึดกลยุทธ์หลักตามแบบฉบับเหมา เจ๋อตงของจีน คือการทำ "สงครามประชาชน (People's war)"
3
โดยจะมีการเผยแพร่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์เข้าไปในพื้นที่ชนบทเพื่อรวบรวมกองกำลังไปเรื่อยๆ และมีการใช้ชาวนาเป็นกำลังหลักในการต่อสู้
6
ซึ่งชาวนาที่โดนรัฐบาลปราบอย่างรุนแรง ก็แห่กันมาเข้าร่วมกับเขมรแดงที่อ้าแขนรับอย่างเต็มใจ
ฝ่ายรัฐบาลก็มีการใช้ความรุนแรงที่มากขึ้นเพื่อสยบพวกที่ต้องสงสัยว่าเป็นเขมรแดง ทั้งการอุ้มฆ่า ใช้ทหารกวาดล้าง หรือแม้กระทั่งใช้กำลังรบทางอากาศเข้าถล่มหมู่บ้าน
1
การใช้ความรุนแรงแบบไม่บันยะบันยัง ทำให้เหล่าปัญญาชนในเมืองหลวงอย่างพนมเปญก็เกิดความไม่พอใจสิครับทีนี้ เลยพากันลุกขึ้นประท้วงบ้าง!
1
ความวุ่นวายแบบไม่หยุดหย่อน ทำให้อำนาจและความนิยมของสีหนุพุ่งดิ่งลงอย่างรวดเร็ว
1
ฝ่ายสหรัฐเลยใช้โอกาสนี้สนับสนุนกลุ่มของลอน นอล ทำการรัฐประหารโค่นล้มสีหนุใน ค.ศ.1970 นำพากัมพูชาเข้าสู่สมัยของลอน นอล ที่มีสหรัฐเป็นผู้ควบคุมอยู่ฉากหลังในที่สุด...
2
ภาพจาก Britannica (ลินดอน บี. จอห์นสัน)
ภาพจาก Wikipedia (การส่งกองกำลังเข้ามาในเวียดนามใต้ของสหรัฐอเมริกา)
ภาพจาก Flickr (ลอน นอล)
หลังจากที่ลอน นอลเข้าควบคุมประเทศ กัมพูชาก็ได้เข้าสู่สงครามเวียดนามและต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบเต็มตัว
รัฐบาลมีการถล่มฐานที่มั่นของเวียดกงและเวียดนามเหนือที่อยู่ในกัมพูชาอย่างเละเทะ จนความขัดแย้งขยายไปเป็นสงครามกลางเมือง
ภาวะที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามหันไปเข้าร่วมกับเขมรแดงมากขึ้น
1
อีกทั้งในเวลาต่อมา สงครามในเวียดนามทำให้สหรัฐเริ่มตึงมือและมองไม่เห็นหนทางที่จะชนะสงครามครั้งนี้ จนประชาชนภายในสหรัฐก็เริ่มต่อต้านรัฐบาลเรื่องการทุ่มงบประมาณและเกณฑ์คนหนุ่มสาวไปทำสงครามที่แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
1
ทำให้รัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องถอนกองกำลังต่างๆ ออก ทั้งในเวียดนามใต้ ลาว กัมพูชา และไทย จนสุดท้ายมีการลดการสนับสนุนรัฐบาลรวมถึงกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์
เหล่ารัฐบาลทั้งในไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชาที่โดนสหรัฐลอยแพ ทำให้อำนาจที่มีจึงเริ่มคลอนแคลน...
2
ฝ่ายเขมรแดงที่กองกำลังเริ่มเข้าสู่จุดพีค ก็ทำการเปิดสงครามแบบกองโจรยึดหมู่บ้านต่างๆ ไปจนถึงหัวเมืองใหญ่ๆ โดยฝ่ายรัฐบาลก็ยังใช้กองกำลังทางอากาศเข้าถล่มเขมรแดงอย่างต่อเนื่อง...
1
แต่ทว่า การอยู่รอดของรัฐบาลลอน นอล เกี่ยวพันกับการสนับสนุนของสหรัฐที่นับวันยิ่งลดน้อยลง...
1
ตรงข้ามกับเขมรแดง ที่จีนเริ่มเป็นสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธ จนมีกองทัพที่สามารถฟัดกับรัฐบาลได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ...
3
และแล้ว ในวันที่ 17 เมษายน 1975 เขมรแดงก็สามารถเผด็จศึกรัฐบาลลอน นอล แล้วยึดพนมเปญได้ในที่สุด
กองกำลังคอมมิวนิสต์ของเขมรแดงได้เดินแถวเข้าสู่พนมเปญอย่างเคร่งขรึม ท่ามกลางเสียงเชียร์ที่เต็มไปด้วยความดีใจของประชาชนซึ่งต้อนรับเหล่าวีรบุรุษผู้หยุดสงครามกลางเมืองอันแสนโหดร้ายในกัมพูชา...
2
และด้วยความบังเอิญหรือจงใจก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ เมื่อในวันที่เขมรแดงย่างเท้าเข้าสู่พนมเปญนั้นตรงกับวันปีใหม่ของกัมพูชาพอดิบพอดี...
เหมือนเป็นนัยสำคัญที่บอกว่ายุคใหม่ของกัมพูชาได้เดินทางมาถึงแล้ว และการเปลี่ยนแปลงเพื่อชำระล้างสิ่งเก่าๆ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นภายใต้ผู้นำหน้าใหม่...
2
ภาพจาก University of Michigan (ประชาชนอเมริกันต่อต้านการทำสงครามเวียดนาม)
ภาพจาก Time (กองกำลังเขมรแดงเข้าสู่พนมเปญ)
ภาพจาก The Cambodia Daily (ประชาชนออกมาต้อนรับเขมรแดง)
เมื่อเขมรแดงเข้าควบคุมประเทศ ตัวของผู้นำอย่างพอล พต และพรรคพวกนั้นแทบไม่มีแผนการใดๆ ในการฟื้นฟูหรือพัฒนาประเทศต่อ
7
ซึ่งสุดท้ายก็ลงเอยที่การต้องเปลี่ยนแปลงกัมพูชาจนถึงรากถึงโคน โดยสร้างกัมพูชาโฉมใหม่ "ที่ประเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐานของเกษตรกรรมและระบบสหกรณ์เป็นหลัก รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน!"
1
ว่าแล้ว เขมรแดงก็สั่งอพยพประชาชนออกจากเมืองทั้งพนมเปญและเมืองใหญ่อื่นๆ ในหลักล้านคน เพื่อเดินเท้าเข้าสู่ชนบทไปใช้แรงงานทำเกษตร และมีการรวมประชาชนใหม่ (ที่เดินทางเข้าไป) กับประชาชนเก่า (คนในพื้นที่) เป็นครอบครัวเดียวกันและใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
4
อีกทั้ง ยังมีการแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) ผู้ใหญ่ = คนที่มีกำลังทั้งชายและหญิง
2) เด็กเล็กและคนแก่ = คนที่อ่อนแอ
โดยกลุ่มผู้ใหญ่จะต้องทำงานอย่างหนักทั้งปลูกข้าว ตัดไม้ สร้างเขื่อน ทำระบบชลประทาน ฯลฯ และทำงานอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน หากอู้ก็จะถูกเจ้าหน้าที่จดชื่อ ซึ่งหากถูกจดเกินลิมิต ก็จะโดนเก็บในที่สุด...
3
ส่วนกลุ่มที่อ่อนแอ อย่างคนแก่ก็ต้องดูแลเด็กเล็กแทนแม่ที่ออกไปใช้แรงงาน พร้อมทำงานอย่างเลี้ยงไก่ ทำสวน ฯลฯ และเด็กเล็กก็ต้องทำงานเหมือนกัน เช่น กำจัดวัชพืช เก็บมูลสัตว์ ฯลฯ โดยจะทำงานอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน (แน่นอนว่าหากอู้ก็จะถูกจดชื่อ)
2
อีกทั้ง เขมรแดงยังมีการสั่งห้ามประชาชนนับถือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม! ทำให้มีการสึกพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ออกมาใช้แรงงานไม่ต่างกับประชาชนธรรมดา
2
รวมถึงประเพณีต่างๆ ที่เคยทำมาก็ถูกยกเลิกทั้งหมด เหลือไว้แค่การแต่งงาน ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนไม่สามารถเลือกคู่ได้เอง แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นภายใต้เขมรแดงจะเป็นคนเลือกให้
4
เรียกได้เลยว่า เขมรแดงได้ทำการถอนรากถอนโคนทั้งสถาบันครอบครัว ศาสนา และการศึกษาจนหมดสิ้น
อีกทั้งรัฐบาลยังมีการออกนโยบายรวมทรัพย์สินของประชาชนทั้งหมดเข้าสู่ส่วนกลาง และบังคับให้เพิ่มการผลิตข้าวให้สูงยิ่งขึ้น!
ทำให้ประชาชนต้องมีการทำงานหนักทวีขึ้นไปอีก เพื่อสร้างผลผลิตให้ได้ตามที่รัฐบาลต้องการ โดยไม่มีผลตอบแทนใดๆ กลับมาเลย นอกจากอาหารอันน้อยนิด...
2
และเหมือนเป็นการซ้ำเติมครับ เมื่อในช่วงเวลานั้นดันเกิดภัยแล้งขึ้น ทำให้การทำงานหนัก ผนวกกับความอดอยาก ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันหลักแสนคน
แน่นอนว่าก็ได้มีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ก็ถูกรัฐบาลส่งกองกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าถล่มจนเหี้ยน และจับคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสังหารอย่างทารุณ
1
ส่วนในหมู่บ้านไหนที่ทำผลผลิตได้ไม่ตามเป้า ก็จะถูกลงโทษหรือถึงขั้นสังหารหมู่ทั้งหมู่บ้านเลยทีเดียว
2
และแล้ว สถานการณ์ทั่วทั้งดินแดนกัมพูชานั้นก็ได้แปรสภาพไปเป็น "ทุ่งสังหาร (Killing Field)" ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ย้อมไปด้วยเลือดและความตาย...
การแบ่งเขตพื้นที่ทำเกษตรในยุคเขมรแดง โดยประชาชนในแต่ละเขตไม่มีสิทธิ์ข้ามไปเขตอื่นหากไม่ได้รับอนุญาต
ภาพจาก SEARAC (การอพยพประชาชนเข้าสู่ชนบท)
ภาพจาก TIME (การอพยพประชาชนเข้าสู่ชนบท)
ภาพจาก Cambodia News English (โครงกระดูกที่ขุดพบในบางพื้นที่)
การปกครองในแบบของพอล พต นั้น ใช่ว่าเหล่าแกนนำเขมรแดงจะเห็นด้วยไปหมดทุกคน ยังมีกลุ่มที่เกิดอาการต่อต้านนิดๆ และพยายามเลื่อยขาเก้าอี้พอล พต อยู่ตลอดเวลา
เมื่อสถานการณ์ภายในเริ่มตึงเครียดมากขึ้น พอล พตและพรรคพวกจึงต้องปราบศัตรูทางการเมืองรวมถึงเหล่าปัญญาชนที่อาจลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจตัวเองในอนาคตอย่างจริงจัง!
4
ว่าแล้ว จึงจัดตั้ง "S-21" ซึ่งเป็นหน่วยลับมีหน้าที่ในการตามล่าบุคคลทั่วประเทศที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของเขมรแดงภายใต้พอล พต
4
โดย S-21 จะจับตัวผู้ต้องสงสัยไปขังไว้ที่ "ตวลสเลง (Tuol Sleng)" ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นตึกโรงเรียนมาก่อน แล้วทำการทรมานเพื่อรีดรายชื่อคนที่คิดต่อต้านเขมรแดงออกมา
3
โดยวิธีทรมาน มีทั้งให้อดอาหาร รุมซ้อม จับกดน้ำ จับขึงกลางอากาศ หรือแม้กระทั่งใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า
คนที่เริ่มไม่ไหวต่อการทรมานก็จะหลุดปากพูดรายชื่อออกมา ซึ่ง S-21 ก็จะไปตามล่าคนที่ถูกซักทอดต่อไปโดยไม่สนใจว่า "คนๆ นั้นคิดต่อต้านเขมรแดงและพอลพตจริงหรือไม่"
3
ส่วนคนที่หลุดรายชื่อออกมา ก็อาจโดนทรมานต่อเพื่อรีดรายชื่อออกมาอีก จนเห็นว่าไม่สามารถเค้นอะไรออกมาได้อีกแล้ว ก็จะจัดการเก็บคนๆ นั้นไปในที่สุด...
3
บุคคลที่ถูก S-21 เล็งเป็นพิเศษนั้นจะเป็นพวกนักการเมือง นักการทูต นักวิชาการ ข้าราชการ ครู อาจารย์ และนักศึกษา เพราะคนเหล่านี้มีความรู้มากเกินไป เสี่ยงที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านเขมรแดงมากที่สุด (โดยเฉพาะคนที่สวมแว่นตาจะถูกรวบก่อนเพื่อน...)
8
จำนวนนักโทษทวีขึ้นตามระยะเวลาการปกครองของเขมรแดง ซึ่งโดยรวมแตะถึงระดับ 15,000 คน ทั่วประเทศ และมีคนสังเวยชีวิตไปกว่าครึ่งหนึ่ง (S-21 และตวลสเลงมีอยู่หลายที่กระจายกันไป)
1
ภาพจาก New Madala (ตวลสเลงในพนมเปญ)
ภาพจาก Sonya and Travis (คราบเลือดภายในที่ยังคงเอาไว้)
ภาพจาก Witness (เตียงที่ใช้ทรมาน)
ภาพจาก History Hit (ภาพเหล่าผู้สูญเสียจากข้อมูลของ S-21 ที่จะเก็บภาพนักโทษเอาไว้)
ภาพจาก Colin Pantall’s blog (การทรมานในตวลสเลง)
ภาพจาก BBC (การทรมานในตวลสเลง)
ภาพจาก Artist Notes (การทรมานในตวลสเลง)
ภาพจาก Witness (ภาพอมตะที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มทารกโดยมีเครื่องช็อตไฟฟ้าจ่อหัว)
ยุคแห่งความหวาดกลัวภายใต้เขมรแดงได้ดำเนินไป จนกระทั่งกัมพูชาดันไปมีปัญหาขัดแย้งเรื่องดินแดนแถบชายแดนกับเวียดนาม (เวียดนามในตอนนี้มีการรวมเป็นประเทศเดียวกันแล้ว)
2
โดยความตึงเครียดของทั้งสองประเทศเริ่มมากขึ้น จนใน ค.ศ.1977 เวียดนามได้เซ็นสัญญาเป็นมิตรกับลาว ซึ่งทำให้พอล พต คิดว่าเวียดนามต้องการรวมอินโดจีนให้เป็นหนึ่งเดียว...
1
ในเวลาต่อมา เวียดนามที่พยายามเข้ามาเจรจาเรื่องดินแดน กลับโดนเขมรแดงปฏิเสธไปอย่างไม่ใยดี ทำให้ความตึงเครียดได้เปลี่ยนไปเป็นการปะทะกันตามแนวชายแดน
แล้วสถานการณ์ก็ดันซับซ้อนมากขึ้น เมื่อจีนได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักให้กัมพูชาอีกครั้งเพื่อตีกับเวียดนาม เพราะจีนเห็นว่าเวียดนามนั้นโปรโซเวียตมากกว่า (จีนกับโซเวียต แม้จะเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกันแต่ก็มีหลักการที่ต่างกันและขัดแย้งกัน)
2
เวียดนามเห็นแบบนั้นเลยอยากจบเกมกับกัมพูชาให้เด็ดขาด เลยส่งกองกำลังบุกกัมพูชาแบบจริงจัง...
แน่นอนว่า กัมพูชาก็ยันเวียดนามแบบสุดกำลัง แต่สถานการณ์ภายในประเทศก็อยู่ในจุดวิกฤตด้วยน้ำมือของเขมรแดงเอง...
"ทุ่งสังหาร" ทำให้เหล่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีแรงหรือกำลังในการต่อต้านเวียดนาม...
1
และ "ตวลสเลง" ทำให้เหล่าปัญญาชน หรือแม้กระทั่งเหล่าผู้นำทางทหารของเขมรแดงเอง หันไปเข้าร่วมกับเวียดนาม...
ทางฝ่ายเวียดนามก็ได้เดินเกมทำสัญญามิตรภาพกับโซเวียตเพื่อคานอำนาจกับจีน แล้วเดินหน้าบุกกัมพูชาเต็มกำลัง สามารถยึดหัวเมืองสำคัญต่างๆ จนล้อมพนมเปญได้ในที่สุด
2
โดยพอล พต และเหล่าแกนนำเขมรแดงนั้นได้ชิงขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกจากเมืองไปก่อน
1
ทิ้งกองกำลังเขมรแดงที่เหลืออยู่ต่อสู้อย่างเต็มกำลังและพ่ายแพ้อย่างราบคาบในวันที่ 7 มกราคม 1979 ซึ่งถือเป็นจุดจบยุคสมัยของเขมรแดงที่กินเวลาเกือบ 4 ปี
โดยระยะเวลา 4 ปีนั้น เรียกได้ว่า เป็นช่วงที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดช่วงหนึ่งในกัมพูชา...
3
อีกทั้ง ยังเป็นความเปลี่ยนแปลงที่นำพาสังคมกัมพูชาไปสู่ความถดถอย ความขัดแย้ง รวมถึงโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์...
1
และแล้ว หญ้าเก่าก็ได้ถูกแผดเผาจนหมดสิ้น...
1
ภาพจาก YoairBlog
References
Chandler, David. A History of Cambodia. Boulder : Westview Press, 1993.
Evans, Grant and Rowley, Kelvin. Red Brotherhood at War. Great Britain : theford Press, 1984.
Vikery, Micheal. Cambodia 1975 - 1982. Boston : South End Press, 1984.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา