12 เม.ย. 2022 เวลา 03:59 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตอนที่1
อุตสาหกรรมบันเทิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้?
1. จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1997 เศรษฐกิจของเกาหลีต้องหยุดชะงักจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย รัฐบาลจึงเล็งเห็นว่าเกาหลีต้องสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตนเอง เกาหลีใต้จึงได้ปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศใหม่ จากเดิมที่มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เปลี่ยนมาส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมสมัยนิยมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแทน การปรับตัวครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่เพียงแต่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจากการส่งออกสินค้า แต่ยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเกาหลีอีกด้วย
เกาหลีใต้เริ่มส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 และมีอัตราการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นหลังจากปี 2000 เป็นต้นมา ธุรกิจอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ที่สามารถสร้างฐานผู้ชมซึ่งเป็นแฟนละครเกาหลีจากทั่วโลกทั้งในเอเชีย อเมริกา และตะวันตก จนเกิดเป็นกระแสวัฒนธรรมเกาหลี (Korean Wave) หรือ Hallyu เป็นปรากฏการณ์ของการแพร่วัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ออกไปทั่วโลกผ่านสื่อบันเทิง โดยปรากฏการณ์นี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกาหลีได้มากถึง 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านการส่งออกวัฒนธรรม ความเป็นที่นิยมนี้ถูกมองว่าเป็นกระแสใหม่ที่ทำให้เกิดการติดตามผลผลิตด้านความบันเทิงและวัฒนธรรมเกาหลีอื่น ๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ เกม เครื่องสำอาง แฟชั่น อาหาร และภาษา ตลอดจนเป็นที่มาของการท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ถ่ายทำในละคร
2. ปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงในเกาหลีใต้
บทบาทของรัฐบาล
รัฐบาลเกาหลีใต้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ผ่านการสนับสนุนและส่งเสริมการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี
1) การก่อตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมประจำชาติ
เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมประจำชาติ องค์กรเหล่านี้มีลักษณะเป็นองค์กรเชิงพาณิชย์ที่เน้นการสร้างและเผยแพร่ภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมเกาหลี โดยไม่มุ่งหวังผลกำไรทางธุรกิจ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล
อย่างเช่น การก่อตั้งองค์กรแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ สำหรับการรักษาความนิยมและความก้าวหน้าของกระแสวัฒนธรรมเกาหลีในอนาคต
2) การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างพลเมืองกับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลี โดยกิจกรรมจะถูกจัดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น การจัดงานดนตรี โดยมีศิลปินเป็นตัวแทนในการเผยแพร่วัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์
3) การสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง
รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมผลผลิตที่สามารถนำเสนอเนื้อหาด้านวัฒนธรรมและคุณค่าของประเทศ โดยการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในด้านการผลิตและให้ความช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยี โดยในบางปีอุตสาหกรรมบันเทิงได้รับเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาลในการเผยแพร่สื่อบันเทิงสูงถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4) การผลักดันให้มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านสื่อ การสื่อสาร และ ความบันเทิง
รัฐบาลผลักดันให้มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่เน้นเฉพาะด้านการผลิตสื่อ การสื่อสาร และการเป็นศิลปิน เพื่อสร้างศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง และดึงดูดให้เยาวชนทั้งในและต่างประเทศต้องการเข้าศึกษาต่อในหลักสูตร
โดยในปี ค.ศ. 2020 มีศิลปินไอดอลที่จบการศึกษาจาก School of Performing Arts Seoul หรือ SOPA มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อีอึนซัง, ดายอน Kep1er, เรย์ IVE และจีฮอน fromis_9
บทบาทของภาคอุตสาหกรรมบันเทิงหรือภาคเอกชน
ภาคอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี การผลิตและส่งออกผลผลิตด้านความบันเทิงไม่เพียงแต่ส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ แต่ยังเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีอีกด้วย
1) บทบาทของบริษัทโทรทัศน์ในเกาหลีใต้
บทบาทของบริษัทโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี แบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้
- การสร้างสรรค์และผลิตรายการที่มีเนื้อหาสะท้อนวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ของประเทศ
ละครเกาหลีได้มีการผสมผสานกับวงการเพลง K-pop เพื่อที่จะดึงดูดผู้ชมต่างชาติ ส่วนรายการวาไรตี้โชว์ของเกาหลีก็ถูกพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมทั่วโลก ส่งผลให้ต่างชาติมีต้องการเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ละครและรายการวาไรตี้ของเกาหลีเพื่อนำไปเผยแพร่
- การส่งออกรายการโทรทัศน์
รายการโทรทัศน์ของเกาหลีถูกส่งออกไปยังหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย รวมไปถึงตะวันออกกลาง ยุโรป และ อเมริกา
โดยในปี ค.ศ. 2018 เกาหลีทำรายได้จากการส่งออกละครเกาหลีเป็นเงิน 239 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- การสร้างภาพลักษณ์และการปรากฏตัวของนักแสดงเกาหลี
การสร้างภาพลักษณ์ให้นักแสดงเป็นที่ประทับใจและกลายเป็นบุคคลในอุดมคติ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ละครและกระแสวัฒนธรรมเกาหลีควบคู่กันไป
รวมไปถึงการจัดงานแฟนมีตติ้ง เพื่อให้นักแสดงและแฟนคลับได้มาพบปะกัน
2) บทบาทของบริษัทเพลงในเกาหลีใต้
บทบาทของบริษัทเพลงในเกาหลีใต้ในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้
- การสร้างศิลปินและผลงานเพลง
K-pop คือ กลุ่มศิลปินที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ภาพลักษณ์ของกลุ่มเด็กวัยรุ่นหน้าตาดีตามอุดมคติของคนในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความสามารถในการเต้นและการแสดงบนเวที รวมไปถึงการมีสมาชิกที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา และสมาชิกต่างชาติ เพื่อเป็นการกระจายฐานแฟนคลับไปยังต่างประเทศ เช่น ศิลปินวง EXO ที่มีสมาชิกต่างชาติอย่างจีนรวมอยู่ด้วย
- การส่งออกเพลงเกาหลี
บริษัทเพลงเกาหลีใช้พลังของโซเชียลมีเดียในการดึงดูดความสนใจจากแฟนคลับทั่วโลก โดย เพลง มิวสิควิดีโอ คลิปวิดีโอ คอนเสิร์ต และกิจกรรม ที่เกี่ยวกับศิลปิน K-pop จะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
- การจัดกิจกรรมพิเศษ
บริษัทเพลงเกาหลีนิยมจัดกิจกรรมพิเศษ อย่างการทัวร์คอนเสิร์ต และการไปปรากฏตัวของศิลปินทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงมีการผลักดันให้ศิลปิน K-pop ได้มีโอกาสเปิดตัวในฐานะศิลปินระดับสากลบนเวทีประกาศรางวัลสำคัญระดับโลก อย่างเช่น Grammy Music Awards
โดยในปี ค.ศ. 2021 คอนเสิร์ตของวง BTS ที่ลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้เข้าชมสูงถึง 210,000 คน และสามารถทำรายได้เป็นเงินกว่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- การขยายศูนย์จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับเพลงและวัฒนธรรม
บริษัทเพลงเกาหลีมีการลงทุนเพื่อจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับเพลงและวัฒนธรรมเกาหลีทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมไปถึงการขยายสาขาไปยังต่างประเทศ โดยศูนย์จำหน่ายสินค้าสามารถดึงดูดแฟนคลับศิลปิน K-pop จากทั่วโลกให้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ได้อีกด้วย
โฆษณา