15 เม.ย. 2022 เวลา 12:52 • อาหาร
“ปราดทอ: ‘กล้วยนาก’ ผู้ ‘กลัวผี’ หากปลูกไกลบ้านมักจะไม่ค่อยออกลูก”
คนโบร่ำโบราณสมัยก่อนเล่ากันต่อ ๆ มา กล้วยนากขี้กลัวผี ต้องปลูกไว้ข้าง ๆ บ้านจึงจะตกลูก ออกเครือยาว ลูกใหญ่ ถ้าไปปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาห่าง ๆ บ้านจะไม่ค่อยออกลูก มีบ้างก็หวีสองหวี ลูกเล็ก ๆ น้อย ๆ …
มิ กยฺาง, ปราชญ์ชาวบ้านบ้านองทิ อำเภอทองผาภูมิ
1
คนมอญเรียกกล้วยที่มีเปลือกสีม่วงคล้ำคล้าย “นาก” (Pinchbeck) ที่คนไทยเรียก “กล้วยนาก” ว่า “ปราดทอ” (ဗြာတ်ထဝ်) แปลตรงตัวว่า “กล้วยทอง” เพราะในสายตาคนมอญ เปลือกกล้วยชนิดนี้เมื่อแก่จัดมีสีทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อในของมันสีเหลืองเหมือนทองคำสุกปลั่ง
กล้วยนากพันธุ์สีอ่อน ต่างจากกล้วยนากบางพันธ์ุที่มีสีม่วงเข้ม ซึ่งบางถิ่นของไทยนิยมเรียกว่า “กล้วยครั่ง” เพราะสีออกแดงคล้ายตัวครั่งที่ใช้ย้อมผ้า มีบ้างที่เรียก “กล้วยกุ้ง” คงด้วยรูปทรงโค้งงอและมีสีแดงเหมือนกุ้งตอนสุก
คนมอญมักใช้ “กล้วยนาก” เป็นเครื่องบูชาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมักจะปรากฏอยู่ในพาน ถาด หรือ กะละมังเครื่องเซ่นสังเวยพร้อมกับมะพร้าว ดอกไม้ ใบหว้า ธูป เทียน เครื่องหอม และฉัตรธง
“ฮะอุ๊บ” (ဂအုပ်) เครื่องสูงสำหรับกษัตริย์และพระสมณสงฆ์ของมอญ บรรจุเครื่องเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันได้แก่ กล้วยนาก มะพร้าว ใบหว้า ดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องหอม และฉัตรธง
คนมอญไม่นิยมกินกล้วยนากนัก ถึงแม้จะลูกใหญ่ เนื้อนุ่ม รสหวาน สีสวยน่ากิน เพราะทุกอย่างที่ว่ามายกเว้นขนาด เป็นรองกล้วยน้ำว้า ที่มอญเรียก “ปราดด้าจก์เต่าะฮ์” (ဗြာတ်ဍာ်တှ်) แปลตรงตัวว่า “กล้วยน้ำนม” ชัดเจนว่ามอญใช้กล้วยน้ำว้าเป็นอาหารหลักสำหรับเด็กทารกคู่กับน้ำนมแม่ ผมเองก็ถูกแม่ป้อนกล้วยน้ำว้าย่างไฟขูดเอาแต่เนื้อบี้หรือไม่แม่ก็เคี้ยวจนแหลกก่อนคายออกมาป้อนใส่ปากผมอย่างยอมจำนนมาตั้งแต่ได้ 3 เดือน
“กล้วยนาก” หรือ “ปราดทอ” ของมอญจึงมักถูกใช้บูชาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีกรรมเซ่นสรวงสังเวย ประกอบขันครูบายศรี หรือถวายพระภิกษุสามเณร เพราะผิวกล้วยให้สีสวย เปลือกหนา ไม่ชอกช้ำและสุกงอมไวจนเกินไป
ตลาดเกรณา ตลาดสดย่านคนมอญแถบรัฐมอญ ประเทศเมียนมา เราสามารถพบเห็นใบหว้า กล้วยนาก หรือ ปราดทอ และ “มะพร้าวหางหนู” วางขายอยู่ทั่วไป
“มะพร้าวหางหนู” มะพร้าวที่ยังมีขั้วติดอยู่กับผลครบสมบูรณ์ ตามข้อกำหนดของมะพร้าวที่มีคุณสมบัติดีสำหรับประกอบเครื่องเซ่นไหว้ ในภาพจึงจะพบว่า “หางหนู” ถูกผูกประกบด้วยไม้ขนาดเล็ก มีเชือกพัน ป้องกันมิให้หลุดร่วงหรือขาดหาย ซึ่งจะทำให้ราคาตกจาก “มะพร้าวพิธี” เป็น “มะพร้าวแกง” ธรรมดา
กล้วยนาก หรือ ปราดทอ ในฮะอุ๊บ (ဂအုပ်) เครื่องสูงเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองมอญ ประเทศเมียนมาจะมีการจัดไว้เป็นชุดจำหน่ายให้ผู้ศรัทธาตามบริเวณรายรอบสถานที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ เช่น พระธาตุ พระพุทธรูป และผีนัต (Nat) แบบพม่า
คนมอญบ้านเกาะซ่าก บ้านเกาะซั่ว แขวงเมืองกย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ รัฐมอญ ประเทศเมียนมา เทินหม้อน้ำ ฮะอุ๊บ และกะละมังเครื่องเซ่นสักการะเข้าวัดในพิธีบรรพชาหมู่สามเณร (บวชลูกแก้ว) ของหมู่บ้าน
กล้วยนาก หรือ ปราดทออีกพันธุ์หนึ่งซึ่งหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมอญในเขตหมู่บ้าน “ญี่ซา” ย่าน ปะเละตุ่นพัด รัฐมอญ ประเทศเมียนมาโยนให้ผมกินเล่นเป็นของว่างรับแขกของท่านเพราะญาติโยมถวายมามาก จนท่านขบฉันไม่ทัน
จะว่าไป คนไทยก็ยกให้ “กล้วยนาก” เป็นผลไม้มงคลทำนองเดียวกับคนมอญ เพราะเห็นว่าเป็นกล้วยโบราณ หายาก ลูกใหญ่ รสชาติดี และสีสวย บางตำราว่าเป็นกล้วยสิริมงคลสำหรับผู้เป็นเจ้าของ
“เป็นกล้วยที่ใช้สำหรับบูชาเทวดาในพิธีต่าง ๆ เป็นกล้วยมงคล รสชาติดีมาก ๆ นิยมปลูกทางฝั่งตะวันออกของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพื่อเสริมดวง วาสนาแก่คนที่อยู่อาศัย…” (เนาวรัตน์ ดำรงศักดิ์)
2
เรื่องเล่าของ ป้าวิทย์ คนมอญบ้านห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ ก็ไม่ต่างไปจาก ป้ากยฺาง คนมอญบ้านองธิ ที่ว่า กล้วยนากกลัวผี ทำให้ต้องปลูกไว้ใกล้ ๆ บ้าน
1
คนเก่าคนแก่เขาเล่ากันมา แต่เดี๋ยวนี้ไม่จริงแล้ว เห็นมีคนปลูกขายกันเป็นไร่ ๆ …กล้วยมันจะกลัวผีไปทำไม ในตัวมันก็มีผี (ผีกล้วยตานี ผี) กล้วยนาก อยู่แล้ว แต่ผีพวกนั้นสู้ผีมอญไม่ได้ ผีมอญ (บรรพชนปู่ย่าตายาย - ผู้เขียน) ดุกว่า คนเขาถึงตัดกล้วยนากมาเซ่นไหว้ผีมอญ…
ป้าวิทย์, ปราชญ์ชาวบ้านบ้านห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ
สรุปว่าผีจะดุแค่ไหนก็สู้คนไม่ได้ แถมยังน่าเชื่อได้ว่า คนนี่แหละที่ปลุกผีขึ้นมาหลอกคนด้วยกันเอง อ้างผีเพื่อตะล่อมคนให้จำนนและเชื่อตาม เข้าทำนอง “เขาว่ากันมา” ไม่ก็ขู่ด้วยกฎของการห้าม “ผิดผี” จะได้ไม่ต้องตั้งคำถามกวนใจให้รำคาญ
โฆษณา