19 เม.ย. 2022 เวลา 02:05 • ประวัติศาสตร์
เจมส์ วัตต์ นักประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ ผู้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่โลกใหม่
300 ปีก่อน ผู้คนรู้จักแต่การใช้ฟืนไฟในการให้แสงสว่างและหุงต้ม ในขณะที่ประชากรโลกเพิ่มจำนวนแบบทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ
โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ประชากรมีจำนวนมากกว่าอาหารที่ใช้บริโภค สิ่งใดๆ ล้วนแล้วแต่ถูกครอบครองโดยคนบางกลุ่ม ยกตัวอย่างที่แผ่นดินอังกฤษ ทรัพยากรกระจุกตัวอยู่แต่กับราชวงศ์ ชนชั้นสูง และนักบวช ขณะที่ประชาชนตาดำๆ ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่กำลังขาดแคลน
จนกระทั่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อปี ค.ศ.1777 นักประดิษฐ์เชื้อสายสกอตที่มีชื่อว่า ‘เจมส์ วัตต์’ สามารถประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ นำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทรัพยากรไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นสูงต่อไป เพราะคนธรรมดาฐานะจนๆ อย่างเจมส์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีได้
แล้วสิ่งประดิษฐ์ของเจมส์ เปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้อย่างไร ? เทคฮีโรจะพาไปหาคำตอบกัน..
เริ่มต้นกันที่ชีวประวัติของเจมส์ วัตต์
เขาเกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม ปี 1736 ในเมืองกรีนนอค ประเทศสกอตแลนด์ พ่อของเขาชื่อ โทมัส วัตต์ มีอาชีพเป็นช่างไม้ และดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าไม้ทุกชนิด ส่วนแม่ของเขาเป็นผู้มีการศึกษาจากตระกูลผู้ดี
ตอนเป็นเด็กเล็กเจมส์มีร่างกายที่อ่อนแอมาก และฐานะทางการเงินของครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน ทำให้เขาต้องเรียนที่บ้านโดยมีแม่เป็นผู้สอน เจมส์ฉายแววเป็นอัจฉริยะตั้งแต่ยังเด็ก เขาถนัดในการคิดคำนวณคณิตศาสตร์ และสนใจเทววิทยาของสกอตแลนด์ แต่อ่อนวิชาภาษาละตินและกรีกโบราณ
นอกจากการเรียนกับแม่แล้ว เจมส์ยังใช้เวลาส่วนใหญ่คลุกคลีกับงานของพ่อ ทำให้เขามีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประดิษฐ์เป็นอย่างดี แต่ทว่าในปี 1754 แม่ของเจมส์เสียชีวิตลง และพ่อก็เริ่มสุขภาพไม่ดี ชายหนุ่มสกอตวัย 17 ปี จึงตัดสินใจเดินทางไปผจญชีวิตที่เมืองกลาสโกว์ และสมัครงานในตำแหน่งผู้ช่วยช่างในร้านทำเครื่องใช้แห่งหนึ่ง
เขาใช้เวลาช่วงเช้าทำงานและใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานไปเรียน เมื่อหักโหมขึ้นเรื่อยๆ สุขภาพของเขาก็ยิ่งอ่อนแอลง เจมส์จึงตัดสินใจเลือกสักทาง ซึ่งทางที่เลือกก็คือการศึกษา เขาลาออกจากจากงานแล้วเดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเรียนการผลิตเครื่อชั่งตวงวัดอย่างจริงจัง
ทว่าระหว่างที่เขาอยู่ลอนดอนได้เกิดสงครามยุโรปขึ้น ซึ่งสงครามครั้งนั้นถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่า “สงคราม 7 ปี” และรัฐบาลอังกฤษมีคำสั่งให้เกณฑ์ชายหนุ่มเข้ามาฝึกทหาร
เจมส์ไม่อยากเป็นทหารและไม่ชอบสงคราม จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในปี 1756
เจมส์ตั้งใจเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนชั่งตวงวัดมาก่อตั้งธุรกิจ เพราะเวลานั้นสกอตแลนด์กำลังขาดแคลนช่างทำเครื่องมือชั่งตวงวัด แต่เนื่องจากขาดคุณสมบัติ เพราะกฎหมายท้องถิ่นของเมืองกลาสโกว์กำหนดไว้ว่า “ต้องจดทะเบียนกับสมาคมพ่อค้า ซึ่งผู้จดทะเบียนได้ต้องเป็นบุตรของพ่อค้า หรือเคยฝึกงานอย่างน้อย 7 ปี ในสมาคมช่างกลาสโกว์ เจมส์จึงถูกระงับใบอนุญาต เลยต้องวิ่งหางานอื่นทำ
จนในที่สุด เจมส์ วัตต์ ก็เจอทางออก เมื่อเขาได้ไปพบกับอาจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งให้โอกาสเจมส์ได้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ ทำหน้าที่ดูแล ประดิษฐ์และซ่อมเครื่องมือ เครื่องจักร สื่อการสอน โดยได้รับค่าจ้างปีละ 35 ปอนด์
หลังจากคลุกคลีทำงานกับอาจารย์ได้สักพัก เจมส์ วัตต์ ก็มีโอกาสตั้งเวิร์คชอปขนาดเล็กของตัวเองในมุมเล็กๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้เหล่าอาจารย์และนักศึกษาหลายคนเวียนมาจ้างให้เขาซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้อยู่บ่อยๆ
ครั้งหนึ่งเครื่องจักรไอน้ำต้นแบบนิวโคแมนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเสีย และกำลังจะถูกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญที่ลอนดอน พอเจมส์ วัตต์ ได้ทราบข่าวเขาเสนอตัวซ่อมให้ทันทีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเครื่องจักรไอน้ำนิวโคแมนก็กลับมาใช้งานได้
แต่ทว่าเครื่องจักรนิวโคแมนมีข้อเสียคือขนาดใหญ่และทำงานช้า มันจึงจุดประกายให้เจมส์พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
อย่างไรก็ดี การจะประดิษฐ์เครื่องจักรสักชิ้น ไม่สามารถทำได้ด้วยเงินเพียงตำลึงเดียว โชคดีที่เจมส์ วัตต์ ได้รับเงินทุนจาก “จอห์น โรบัค” เศรษฐีเจ้าของโรงงานรีดโลหะ เงินทุนส่วนนี้ทำให้เจมส์สามารถซื้อชิ้นส่วนต่างๆ มาประดิษฐ์ตามที่จินตนการไว้ได้
เขานำกระบอกสูบทั้งหมดใส่ในโลหะทรงกระบอก เพื่อทำให้เครื่องจักรมีขนาดเล็กลงและต่อท่อให้ไอน้ำเข้าเครื่องจักรโดยตรงเพื่อให้ไอน้ำเข้าไปดันลูกปืนให้เครื่องทำงาน ในระยะแรกเครื่องจักรไอน้ำยังมีปัญหาเพราะเมื่อไอน้ำกลายเป็นน้ำ จะทำให้ไอน้ำที่ส่งเข้าไปใหม่กลายเป็นหยดน้ำไปด้วย ซึ่งส่งผลให้เครื่องจักรทำงานได้ไม่เต็มที่หรือไม่ก็หยุดทำงานไปเลย
ความพยายามของเจมส์ วัตต์ ในครั้งนี้ถือว่าล้มเหลวในสายตาของจอห์น โรบัค ผู้ให้เงินทุนสนับสนุน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีนายทุนใจดีอีกคนที่มองเห็นความสามารถในตัวเขา “แมทธิว โบลตัน” เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมหล่อโลหะและเครื่องเคลือบโซโฮ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเจมส์ วัตต์ ทำให้เขาได้รับเงินทุนอีกจำนวนหนึ่ง และแก้ปัญหาของเครื่องจักรที่มีอยู่เดิมโดยการเพิ่มท่อส่งไอน้ำเข้าแยกออกมาจากท่อที่ให้ไอน้ำเย็นซึ่งจะกลายเป็นหยดน้ำ และสามารถใช้ในอุตสาหกรรมได้จริง
เมื่อวัตต์สามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จในปี 1777 เขานำผลงานไปจดสิทธิบัตรและร่วมมือกับโบลตันผลิตเครื่องจักรไอน้ำออกจำหน่ายในชื่อ “Watt Steam Engine” ซึ่งได้ปรับปรุงให้ทำงานเรียบขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เครื่องจักรไอน้ำภายใต้การคิดค้นของเจมส์ วัตต์ นับว่าตอบโจทย์ต่อแวดวงอุตสาหกรรมในยุโรปเวลานั้น มันคือจุดเปลี่ยนสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยใช้เครื่องจักรมาเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ธุรกิจทอผ้า ถลุงเหล็ก ถ่านหิน เริ่มใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรไอน้ำ ปริมาณการผลิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิ่งประดิษฐ์ของเขาได้รับความนิยมซึ่งไม่ใช่แค่ในยุโรป แต่ยังข้ามไปถึงแผ่นดินสหรัฐ เจมส์ วัตต์ จึงถือเป็นบุคคลยุคแรกๆ ที่ไม่ได้เพียงแค่ปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเดียวแต่ยังปฏิวัติชนชั้นสังคมขึ้นด้วย เพราะเขาคือหนึ่งในบุคคลแรกในประวัติศาสตร์โลก ที่คนเราเป็นเศรษฐีได้โดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การเกิดมาในฐานันดรสูงศักดิ์ เช่น ราชวงศ์ หรือชนชั้นสูง
Source
-เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดย ปาร์กพยองนยูล
โฆษณา