23 เม.ย. 2022 เวลา 05:12 • ปรัชญา
การตัดขาด 3 อย่าง
1
การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องดี อย่างน้อยคุณได้รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ในขณะนี้ มีความคิดหรือมีความเชื่ออย่างไรต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต รวมถึงการรู้ว่าตัวเองชอบอะไรและไม่ชอบอะไร
ออตโต ชาร์มเมอร์ เจ้าของทฤษฎี Theory U ก็ได้พูดถึงประเด็นการตัดขาด 3 อย่างที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมยุคปัจจุบัน ซึ่งผมสังเกตว่าหลายคนที่ด่ำดิ่งอยู่กับการทำความรู้จักตนเองก็ประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน (ตัวผมเองก็เคยเป็นมาก่อน)
1. เวลาคุณสนใจแค่ตัวเองอย่างมาก คุณสังเกตไหมว่าคุณมักหลงลืมคนรอบข้าง อาจเรียกได้ว่าคุณหมกมุ่นอยู่กับโลกความคิดและความรู้สึกของตัวเอง จนบางครั้งการหมกมุ่นของคุณส่งผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อน แฟน สามี ภรรยา ลูก และสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ บางครั้งคุณไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกและรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาเท่าที่ควร
การเรียนรู้ทำความเข้าใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่การใส่ใจและรักษาความสัมพันธ์ก็สำคัญเช่นกันครับ
2. การตัดขาดจากสังคม ผมพบว่าผู้ปฎิบัติธรรมบางคนมองว่าการรับรู้ข่าวสารทางสังคมเป็นเรื่องสร้างภาระทางใจ วุ่นวายหรือไม่เกิดประโยชน์ต่อการปฎิบัติธรรม ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหรอกครับ หากคุณมีความคิดเห็นทำนองนี้
แต่ผมอยากชวนคุณลองคิดว่าพวกเรายังเป็นคนที่ต้องอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อีกทั้งการใส่ใจต่อประเด็นทางสังคมก็เป็นหนทางในการพัฒนาตัวเองอีกวิธีหนึ่ง
หลายคนบอกว่าการทำงานจิตอาสาช่วยให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างมากขึ้น และใจเย็นลง มากกว่านั้นคือการเห็นพฤติกรรมและท่าทีการแสดงออกของตัวเองชัดขึ้นเวลาเจอเรื่องราวที่ไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการทำความรู้จักตัวเองเช่นกันครับ
3. การตัดขาดจากตัวเอง ข้อนี้อ่านแล้วอาจทำให้รู้สึกแปลกใจหรือสงสัยว่า ฉันกำลังพยายามเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจตัวเองอยู่ ฉันจะตัดขาดจากตัวเองได้อย่างไร
ในทีนี้หมายถึงการปิดกั้นความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ผมก็เคยหลงเข้าใจผิดว่าเมื้อตัวเองศึกษาทำความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งและฝึกสติอย่างต่อเนื่อง ตัวเองจะกลายเป็นคนสงบนิ่งตลอดเวลา
ความจริงคือผมเก็บกดหลายความรู้สึกเอาไว้และไม่กล้าแสดงออก เช่น ความรู้สึกกลัว โกรธ หงุดหงิด รำคาญ กลายเป็นว่าผมมีภาวะความเครียดสะสมจนวันหนึ่งผมระเบิดออกมาคล้ายภูเขาไฟระเบิดหรือคนสติแตก
ผมจึงพบว่าการยอมรับความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาช่วยให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย โล่งและสบายใจ ผลที่ไม่คาดคิดคือผมเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าผมเป็นคนอย่างไร ซึ่งผมเป็นคนขี้รำคาญครับ
เมื่อยอมรับได้ ความรู้สึกรำคาญเมื่อเวลาพบเจอเรื่องราวที่ไม่ชอบใจก็ยังมีอยู่ครับ แต่ความรู้สึกนี้ส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของผมน้อยลง ความรู้สึกรำคาญหายไปไวขึ้น ไม่ลุกลามไปสู่ความโกรธจนเหวี่ยงคนอื่น ซึ่งช่วยให้ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวดีขึ้นด้วยครับ
การเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจและรู้จักตัวเองเป็นเรื่องดี แต่อะไรที่ตึงมากเกินหรือหย่อนมากเกินมักส่งผลเสียนะครับ
ลองสังเกตตัวเองดูนะครับ ฝึกฝนและเรียนรู้ไปด้วยกันครับ
โฆษณา